BY StolenHeart
7 Aug 19 12:04 pm

Steam เสือนอนกิน หรือผู้ชนะที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

0 Views

มีเรื่องหนึ่งที่รบกวนจิตใจของผู้เขียนมาพอสมควร และเป็นประเด็นที่หลายคนต่างพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง นั่นก็คือการขับเคี่ยวกันระหว่าง Epic Games Store กับ Steam ที่กำลังแย่งชิงตำแหน่งผู้นำทางด้านร้านขายเกมแบบ Digital กันอยู่ในตอนนี้นั่นเอง และดูเหมือนว่าความเข้มข้นในเรื่องราวสุดดราม่านี้ก็ทวีความดุเดือดมากขึ้นทุกขณะ

Steamอย่างที่เราทราบกันดีว่าในช่วงปีที่ผ่านมานี้ Epic Games Store ใช้กลยุทธ์ที่ซื้อใจผู้พัฒนาแบบเต็ม ๆ แต่ไม่ถูกใจเกมเมอร์หลายอย่าง เช่นการเอาเงินทุ่มซื้อเกมที่ได้รับเงินระดมทุนจากทาง Kickstarter และแหล่งอื่น ๆ มาเป็นเกม Exclusive ของตนเอง เช่น Metro Exodus, Phoenix Point หรือ Shenmue 3 ฟีเจอร์ที่สัญญาว่าจะอัพเดตเพิ่มให้ก็ไม่มาตามนัดแถมแอบเลื่อนโดยไม่บอกกล่าว หรือ CEO ของบริษัทที่โพสแต่ละอย่างลง Twitter แล้วชวนปวดขมับเหลือเกิน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นดราม่าชามโตที่เกมเมอร์ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจเข้าไปบวกกันยับอยู่ร่ำไป

ที่สำคัญคือทาง Epic Games เองก็เคยออกมาประกาศว่า พวกเขานี่แหละจะมาเป็นผู้ปราบการผูกขาดของ Steam ที่เป็นร้านขายเกมแบบดิจิทัลเจ้าใหญ่ในปัจจุบันนี้อีกด้วย ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนจะซาบซึ้ง แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็มีหลักฐานฟ้องอยู่ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย (ฮา)

แล้ว Steam ล่ะ? ได้ทำอะไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา หรือเป็นเสือนอนกินอย่างที่ถูกกล่าวหาจริง ๆ ?

ถ้าเราลองย้อนไป ในช่วงที่ผู้พัฒนาเกมฝ่ายที่ถือหาง Epic Games Store เต็มที่ หรือทาง Epic พูดเองและมีการพาดพิงเกี่ยวกับ Steam เราแทบไม่เคยเห็นพนักงานของ Valve คนปัจจุบันคนไหนออกมาพูดโต้ตอบหรือแก้ต่างในเรื่องนี้เลย (อาจจะมีอดีตพนักงานที่พูดเล่าถึงสภาพภายในและออกมาอวย Epic Games Store แบบออกนอกหน้า แต่ก็ไม่มีเคสอื่นออกมาสนับสนุนอีก)

หรือถ้าจะมองแบบผิวเผินเลย Steam หรือ Valve เองก็แทบไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ออกมา แค่เปิดร้าน ขายเกม แบ่งรายได้กับผู้พัฒนา เท่านี้ก็น่าจบแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว เพราะ Valve วางแผนธุรกิจเกี่ยวกับ Steam เอาไว้อย่างรัดกุมมาก มากเสียจนน่าทึ่งว่าจะลงทุนไปขนาดนี้ทำไม

ช่วง Conference ของ Steam ในงาน GDC 2019 ที่ผ่านมา (มีซับไตเติ้ลภาษาไทย)

ในงาน GDC หรือ Game Development Conference 2019 ที่ผ่านมา Steam นำเสนอแผนทางธุรกิจที่แสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ทั้งการมองหาตลาดใหม่เพื่อการลงทุนเพิ่มเติม พัฒนาคุณค่าของผู้พัฒนาและผู้เล่น และหยิบยื่นที่ดีที่สุดให้กับทั้งสองฝ่าย คุณ Tom Giardino ทีมธุรกิจของ Steam เองก็ย้ำในการบรรยายว่า มันไม่ใช่เรื่อง่ายเลยที่จะหาหนทางในการขยายตัวจากตลาดที่อิ่มตัวไปแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงมองหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้เล่นและผู้พัฒนาพอใจมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง

และการวางแผนเหล่านี้ไม่ใช่แค่แผนการในระยะสั้น แต่เป็นการมองไปข้างหน้าอีก 5 ปีข้างหน้า ว่าพวกเขาจะสามารถนำเสนอสิ่งใหม่ให้กับผู้บริโภคและผู้พัฒนาเกมได้มากแค่ไหน

และเรื่องของฟีเจอร์ใหม่เองก็เป็นสิ่งที่ Valve ให้ความสำคัญ อย่างระบบใหม่ล่าสุดนี้อย่าง Steam Labs เองก็เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานทดลองของใหม่ ส่งความเห็นเกี่ยวกับสิ่งนั้นกลับมาว่าดีหรือไม่ดี หรือของใหม่ที่เติมเข้ามาในเกือบทุกเดือน เราจะเห็นได้ว่าในหน้าอัพเดตของ Steam Client นั้นมีการประกาศใหม่แทบจะทุกเดือน และเกือบทุกเดือนก็มีฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเข้าไปให้เราได้ใช้งานกันไม่น้อย

แถมพวกเขายังลงแรงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อย่างเช่น Steam Remote Play ที่เล่นเกมใน Steam ผ่านอุปกรณ์อื่น ๆ เช่นมือถือหรือ Tablet และยังปรับปรุงหน้าร้านค้ากับคลังเกมให้สดใหม่และใช้งานได้ง่ายขึ้น นี่ยังไม่รวมไปถึงระบบที่ทำมาก่อนหน้านี้อย่างระบบขอคืนเงินอัตโนมัติและ Market ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้แลกเปลี่ยนซื้อของในเกมได้อย่างอิสระตามกฎที่วางเอาไว้ได้อีก

เรียกว่าสิ่ง Steam ใส่เพิ่มเข้ามาในเวลาที่ผ่านมานั้นไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าเสือนอนกินเลยแม้แต่น้อย

เพราะแค่เพียง Valve เปิดร้านค้า Steam เอาไว้ให้เหล่าผู้พัฒนาเอาเกมมาลงกันโครม ๆ แบบทุกวันนี้ก็น่าจะพอแล้ว ไม่ต้องเหนื่อยทำหรือปรับปรุงอะไรเพิ่มอีกให้เหนื่อยเปล่า รอกินค่าส่วนแบ่ง 30% อยู่เฉย ๆ แล้วโยนภาระให้กับผู้พัฒนาอื่นไปซะก็สิ้นเรื่อง แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำแบบนั้น แถมวางแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ Steam เป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดของทั้งผู้บริโภคและผู้พัฒนาเกมต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ Steam จะไม่ได้ละเลยในเรื่องของการเพิ่มการให้บริการหรือฟีเจอร์อื่น ๆ เข้าไป แต่ในบางเรื่องที่เคยถูกตำหนิมาก่อนแล้วก็ยังคงมีอยู่ อย่างเช่นเรื่องของ Customer Support ที่บางครั้งรับเรื่องได้ช้าและดูเหมือนไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าอย่างจริงจัง หรือการละเลยผู้พัฒนาเจ้าเล็กไปแล้วโอ๋เจ้าใหญ่มากกว่า ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็มีมูลหนักแน่นพอจนไม่สามารถแก้ตัวได้เลยว่า Steam บกพร่องในส่วนนี้จริง แม้จะดีขึ้นบ้างแล้วตามเวลาก็ตาม

epic games storeสุดท้ายนี้ สิ่งที่จะสามารถตัดสินได้ว่าศึกระหว่างสองค่ายอย่าง Steam และ Epic Games Store นั้นจะลงเอยอย่างไร เพราะสิ่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคเป็นหลัก ว่าจะเลือกใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มของเจ้าไหน ลำพังแค่ราคาเพียงอย่างเดียวในยุคนี้ก็ไม่อาจเพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้ออีกต่อไปแล้ว ผู้บริโภคยังต้องการบริการหลังการขายที่ดี และการแก้ปัญหาที่ทันใจอีกด้วย ซึ่งก็มาจากการวางแผนและปูรากฐานเอาไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ถ้ามีการเตรียมพร้อมที่ดีรอเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาหรือผู้บริโภคก็แฮปปี้ทั้งนั้น

แต่เชื่อได้เลยว่ามวยระหว่าง Steam กับ Epic Games Store จะยังเกิดขึ้นไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียวครับ

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top