BY StolenHeart
21 Mar 19 11:48 am

เมื่อรายได้ที่ผู้พัฒนาต้องการ สวนทางกับสิ่งที่ผู้เล่นอยากได้

2 Views

เรียกว่า GDC ปีนี้เป็นปีของการย้ายบ้านและถิ่นที่อยู่อย่างแท้จริงสำหรับชาว PC เพราะเกมดังหลายเกมที่เคยประกาศลง PC นั้นย้ายสำมะโนครัวจากแทนที่จะวางจำหน่ายให้ Steam นั้นไปลงให้กับ Epic Games Store กันเพียบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางด้านส่วนแบ่งรายได้หรือการโปรโมททางด้านการตลาดก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าสร้างความลำบากใจให้กับคนเล่นอย่างเรา ๆ มากทีเดียว

èpic games store

ผู้เขียนเคยได้พูดถึงสิ่งที่ทาง Epic Games ต้องพิสูจน์ตัวเองมาแล้วในบทความ “เมื่อม้ามืด Epic Games หาญกล้าเข้าท้าชิงในตลาดร้านขายเกมออนไลน์” ซึ่งก็มีหลายอย่างที่ยังต้องทำต่อไปถ้าหากจะขึ้นมาเป็นแถวหน้าของวงการขายเกม แต่เราจะมาดูกันในส่วนของผู้พัฒนาเจ้าใหญ่ที่ทาง Epic Games ดึงตัวมากันก่อน

อันดับแรกที่เป็นข่าวเกรียวกราวมากสำหรับเมื่อคืนก็คือ Quantic Dream ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะไปดีลมาได้ เพราะก่อนหน้านี้ เกมของผู้พัฒนาจากฝรั่งเศสเจ้านี้นั้นล้วนลงให้แต่ในระบบ PlayStation 4 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และการนำทั้งสามเกมที่ถูกแปะหราหน้ากล่องเกมว่า Only for PlayStation นั้นจัดเป็นอะไรที่น่าตกใจมาก ซึ่งแน่นอนว่าฐานผู้เล่นเกมของ Quantic Dream จะเพิ่มขึ้นมากอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้เล่นสายเสพเนื้อเรื่องที่น่าจะมีอยู่มากมายใน PC แต่สิ่งที่ต้องมารอดูกันก็คือการปรับแต่งการควบคุมและกราฟฟิกของเกม เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เล่นเกมบน PC จะมีเครื่องคอมระดับ High End หรือใช้จอยในการเล่นเกมทั้งหมด

ส่วนที่ฮือฮาไม่แพ้กันก็คือเกม The Outer World ที่ในวันที่เปิดตัวมีการประกาศชัดเจนว่าจะลงให้กับ Steam แน่นอนและออกในปีนี้ แต่กลายเป็นว่าโดนย้ายไปลงให้กับ Epic Games Store แทน ซึ่งสร้างความมึนงงและรวดร้าวแก่แฟนเกมหลายคนมาก โดยเฉพาะ Angry Joe ที่ถึงกับทำคลิป Angry Rant บ่นอุบอย่างเกี้ยวกราดในประเด็นนี้เลยทีเดียว ส่วนบน Steam นั้นก็ย้ายไปวางจำหน่ายในปี 2020 ซึ่งก็คือปีหน้านี้แทน

YouTube video

ลูกพี่โจ กับความเกรี้ยวกราดของเขา

และอีกหนึ่งเกมก็คือ Control ของ Remedy Entertainment ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อคืนนี้ ซึ่งอันนี้ก็เหมือนกับ The Outer Worlds ที่ประกาศมาในตอนแรกว่าจะลงให้กับ Steam แต่กลับใจไปลงให้ Epic Store แบบ Exclusive หนึ่งปีแทนเช่นกัน แม้กระแสจะไม่เปรี้ยงมากนักเมื่อเทียบกับสองค่ายที่ยกตัวอย่างไป แต่มันก็กระทบกระเทือนจิตใจคนเล่นไม่น้อยเหมือนกัน

ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Epic Games Store ถูกมองว่าเป็นวายร้าย แย่งเกมดี ๆ ไปลงในแพลตฟอร์มของตัวเองจนหมด ในขณะที่ความพร้อมของตัวโปรแกรมจะยังไม่มีการอำนวยความสะดวกใด ๆ ที่เพียบพร้อมเท่า Steam ซึงแน่นอนว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นมีการร้องเรียนเข้ามาอยู่เสมอ แต่กว่าจะแก้ไขหรือจัดการก็ใช้เวลานานจนแทบจะลืมไปเลย และนั่นก็ทำให้ผู้เล่นหลายคนมองว่า สิ่งที่ Epic Games ทำนั้นเป็นการลดทอนคุณค่าของตัวเกมลง จนรู้สึกไม่คุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายไป

และที่น่าจะชัดเจนมากที่สุดก็คือการเข้ามาแทรกแซงการวางจำหน่ายเกมของเหล่าผู้พัฒนาเจ้าเล็ก ๆ ที่เคยระดมทุนในโครงการ Kickstarter หรือทางอื่น ๆ มาอยู่ในร้านค้าของตนแบบ Exclusive ซึ่งจากเดิมที่ทางทีมพัฒนาวางแผนให้ไปลงใน Steam จนเป็นการผิดสัญญาผู้ช่วยระดมทุน เกิดการโวยวายขึ้นว่าผู้พัฒนาเจ้านั้น ๆ ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคนเล่น เดือดร้อนที่ทางผู้พัฒนาหลายคนต้องออกมาขอโทษขอโพยลูกค้าและผู้สนับสนุนทั้งหลาย กอบกู้ภาพลักษณ์ให้กับตนเอง ซึ่งเรื่องนี้น่าแปลกมากที่ทาง Epic Games แทบไม่เคยออกมาพูดถึงเรื่องนี้เลย และปล่อยไปจนแฟนเกมหลายคนเริ่มรู้สึกไม่โอเคกับทาง Epic Games ที่ทำการหว่านเงินก้อนใหญ่ฟาดทีมพัฒนาเล็ก ๆ เหล่านี้ ซึ่งคล้ายกับกรณีที่ทาง Facebook เคยเข้าซื้อกิจการของทาง Oculus Rift มาก่อนด้วยเงินมหาศาลจนแฟน ๆ ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนนั้นออกโรงต่อต้าน Facebook มาก่อนแล้วนั้นเอง

Phoenix Point เกมวางแผนแบบ Turn Base ที่โดนแฟนเกมต่อต้าน หลังประกาศวางจำหน่ายบน Epic Store

แม้กระแสต่อต้านจะเยอะ แต่พวกเขาจะแคร์กันหรือเปล่า? เพราะทาง Epic Games บอกว่ายอดขายของเกม Metro Exodus นั้นดีกว่าภาคที่แล้วอย่าง Last Light ถึงสองเท่า แถมกลยุทธ์การแจกเกมฟรีก็ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานเยอะมาก เพราะเกมฟรีอย่าง Subnautrica และ Slime Rancher นั้นมียอดโหลดพุ่งสูงถึง 4.5 ล้านครั้ง เรียกว่าเป็นจำนวนที่ไม่ธรรมดา รวมไปถึงยอดผู้เล่น Fortnite ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้จะมีคู่แข่งอย่าง Apex Legends มาแย่งฐานคนเล่นไปก็ตาม

ซึ่งถ้าจะให้คำครหาเหล่านี้หมดไป สิ่งที่ทาง Epic Games ต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วนคือการกู้ภาพลักษณ์ในด้านที่ดีกลับคืนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการหลังการขายต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาขาดไปอย่างหนัก Steam เองก็เคยประสบปัญหาในเรื่องเดียวกันนี้ในช่วงแรกที่เปิดตัวเช่นกัน ก่อนที่จะค่อย ๆ ปรับเพิ่มฟีเตอร์ต่าง ๆ จัดจำหน่ายเกมที่หลากหลายแนวมากขึ้น (ไปจนถึงเกมสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะในปัจจุบัน) รวมไปถึงระบบการบริการที่เอื้อให้ผู้เล่นได้รับความสะดวกมากมายเช่นหน้า Community Hub และ Workshop ให้จัดการเกี่ยวกับ Mod ต่าง ๆ ซึ่งก็น่าดีใจที่ Epic Games เริ่มจัดการวางแผน Roadmap อัพเดตของใหม่เพิ่มเข้าไปแล้ว

Metro Exodus

กับอีกส่วนหนึ่งที่ทาง Epic Games ต้องแก้ให้ได้ก็คือเรื่องของการสื่อสารระหว่างผู้พัฒนา ผู้จัดจำหน่าย และผู้เล่นให้อยู่ในจุดที่พอดี เพราะกรณีของ Epic Games นี้ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากในเรื่องของการอุ้มชูทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป จริงอยู่ที่ผู้พัฒนาได้เงินจากการขายเกมของตัวเองมากขึ้น แต่มันจะคุ้มกันหรือไม่กับภาพลักษณ์ที่เสียไปจากการวางจำหน่ายเกมบน Epic Store เพราะกลายเป็นเหมือนกับว่าเวลานี้ ค่ายไหนเลือกที่จะวางจำหน่ายเกมบน Epic Store แบบ Exclusive จะต้องเผชิญหน้ากับคำครหาให้เสียหายของผู้เล่นแน่นอน

สุดท้าย Epic Games Store จะอยู่รอดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคอย่างเราเป็นหลัก แม้เราจะมีสิทธิ์ที่จะเลือกหาในสิ่งที่ดีกว่า แต่ทางผู้พัฒนาเองก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเช่นนั้นได้เหมือนกัน เพียงแต่จะถูกใจหรือไม่ถูกใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะทาง Epic Games เองก็เชื่อว่า ถ้าหากเกมนั้นดีจริง ย่อมต้องมีคนซื้ออยู่แล้วโดยไม่สนใจว่ามันจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหน แต่ถ้าหากการบริการย่ำแย่ มันก็อาจจะมีสิทธิ์ที่ผู้เล่นมองข้ามมันได้เหมือนกัน เพราะหลาย ๆ ครั้ง เกมที่ดีก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจนต้องจากไปอย่างเงียบ ๆ เช่นกัน

และการมองหาจุดร่วมที่ดีต่อทั้งสามฝ่ายจึงต้องดำเนินต่อไป จะทำอย่างไรให้ผู้พัฒนาแฮปปี้กับเงินที่ขายเกมได้ ผู้เล่นได้รับการบริการหลังการขายที่ดีจากการซื้อเกมที่ชอบ และผู้จัดจำหน่ายไม่ละเลยเห็นแก่ชื่อเสียงหรืออื่น ๆ จนกลายเป็นตัวร้ายของสังคม เหล่านี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องหาจุดร่วมกันให้ได้ครับ

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top