BY KKMTC
10 Nov 20 6:35 pm

เปรียบเทียบเกมเวอร์ชันสากล กับเวอร์ชันญี่ปุ่นที่โดนเซนเซอร์จนขัดใจ

35 Views

เมื่อไม่นานมานี้ คอมูนิตี้เกมในประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์รวมตัวคืนสินค้าเกม Assassin’s Creed Valhalla เวอร์ชัน PlayStation 4 เนื่องจากเกมโซนเอเชีย มีการเซนเซอร์เนื้อหาความรุนแรง ซึ่งส่งผลลัพธ์ทำให้เกมมอร์แสดงความไม่พอใจ และแสดงความผิดหวังเป็นจำนวนมาก

ต่อมา ทาง Ubisoft ได้ออกมาขอโทษทุกคนเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ พร้อมกล่าวสาเหตุที่เซนเซอร์ เพราะ Ubisoft ต้องการรวมทุกภาษาในเกมไปพร้อมกับภาษาญี่ปุ่น ทำให้ตัวเกมจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการเซนเซอร์ตามมาตรฐานของญี่ปุ่น

เกมเมอร์อาจจะไม่ทราบว่าก่อนว่า CERO หรือหน่วยจัดเรตวิดีโอเกมของญี่ปุ่น เป็นหน่วยงานตรวจสอบเนื้อหาเกมสำหรับเครื่องคอนโซลที่มีความเข้มงวดมาก แล้วมีเกมเด่นเกมดังอะไรบ้าง ที่โดนเซนเซอร์เพราะคำสั่งของ CERO เรามารับชมกันเถอะ

The Last of Us ฉบับ PS3/PS4 เวอร์ชันออสเตรเลีย เยอรมนี และญี่ปุ่น

The Last of Us เป็นเกมแนวแอ็กชัน-ผจญภัยโดยค่าย Naughty Dogs ที่มีเนื้อเรื่องยอดเยี่ยม จนสามารถกวาดรางวัลไปหลายรายการในปี 2013 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกมดังกล่าวมีเนื้อหาความรุนแรงมาก อย่างเช่น การใช้ปืนยิงศีรษะ ทำให้ศัตรูหัวแบะ หรือมีฉากการตัดชิ้นส่วนอวัยวะของศพ ทำให้หน่วยงานจัดเรตวิดีโอเกมได้ตัดสินใจ มีการลดทอนความรุนแรงบางส่วน

จุดเซนเซอร์เด่น

  • ฉาก James (เพื่อนของ David) กำลังใช้มีดหั่นศพมนุษย์ ได้มีการโชว์ชิ้นส่วนร่างกายที่ถูกหั่นเป็นชิ้น ๆ เช่นแขนกับมือ แต่เกมเวอร์ชันญี่ปุ่น มีการเซนเซอร์ด้วยการหันมุมกล้องไม่ให้เห็นศพ รวมถึงมีการเปลี่ยนสีศพมนุษย์เป็นสีแดง ให้ดูเหมือนเป็นเนื้อสัตว์
  • ทั้งเกมเวอร์ชันออสเตรเลีย เยอรมนี และญี่ปุ่น มีการเซนเซอร์เลือดให้กระเด็นน้อยลง ไม่มีการโชว์ลำไส้ และไม่มีอวัยวะฉีกขาด

The Last of Us Part II ฉบับ PS4

แม้เนื้อเรื่อง The Last of Us Part II มีกระแสตอบรับทั้งมีคนเกลียดกับคนรัก แต่เกมดังกล่าว มีกระแสตอบรับยอดเยี่ยมในด้านการนำเสนอเนื้อหาความรุนแรงแบบจัดเต็ม ตั้งแต่แอนิเมชันการตายของ NPC, มีระบบร่างกายฉีกขาดจากการใช้อาวุธระเบิด, เศษสมองกระจายจากการใช้ปืนไรเฟิลยิงศีรษะ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งส่งผลลัพธ์ทำให้บรรยากาศการต่อสู้มีความดุเดือดกว่าภาคแรกหลายเท่า

น่าเสียดายที่หนึ่งในฟีเจอร์หลักของ The Last of Us Part II ถูกเซนเซอร์ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจาก CERO มองว่าเกมดังกล่าวควรมีการลดความรุนแรงลง แม้ตัวเกมถูกจัดเรตระดับสูงสุดในเรต Z ก็ตาม

จุดเซนเซอร์เด่น

  • ลบฉาก Sex Scence ระหว่าง Abby และ Owen
  • กระดาษโน้ตแผ่นหนึ่งในเกม มีภาพวาด “องคชาต” และหน้าอก ในเกมเวอร์ชันญี่ปุ่น ภาพวาดถูกเปลี่ยนเป็นผู้หญิงสวมชุดชั้นใน และมีหนวดปลาหมึก Tentacle รอบตัว
  • คล้าย The Last of Us ภาคแรก เกมมีการเซนเซอร์เลือดให้กระเด็นน้อยลง ไม่มีการโชว์ลำไส้ และไม่มีอวัยวะฉีกขาด

Red Dead Redemption II ฉบับคอนโซล

 

Red Dead Redemption II เป็นผลงานสุดทะเยอทะยานของ Rockstar Games ที่พยายามออกแบบให้โลกตะวันตกในยุคเก่ามีความสมจริง ความรุนแรง และใส่ใจในรายละเอียดตามฉากต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่า CERO ก็ได้ลดทอนความรุนแรงลง เพื่อให้เกมดังกล่าวสามารถวางจำหน่ายในญี่ปุ่นได้ เหมือนเกมอื่น ๆ ที่ผ่านมา

จุดเซนเซอร์เด่น

  • เนื้อหาความรุนแรงโดนลดทอนลง เดิมทีในเกมเวอร์ชันสากลมีการโชว์กระดูก และเศษชิ้นส่วนร่างกายกระจายจากการใช้อาวุธปืนลูกซอง แต่เกมเวอร์ชันญี่ปุ่น การใช้ปืนลูกซองยิงระยะใกล้ ทำให้ร่างกายหายไปแทน ไม่มีเศษชิ้นส่วนร่างกายกระจาย
  • เควสต์ตามล่าฆาตกรโรคจิต ศพเป็นศพธรรมดา ไม่ใช่ศพที่ถูกชำแหละร่างกายอย่างโหดเหี้ยมเหมือนเกมเวอร์ชันสากล
  • ฉาก Arthur เผลอเปิดประตูพบกับฉาก Sex Scence ในภารกิจ “A Quiet Time” โดยตัวละครทุกคนจะสวมเสื้อผ้า ในขณะที่เกมเวอร์ชันสากล ตัวละครจะเปลือยเห็นหน้าอก

Grand Theft Auto V ฉบับคอนโซล

คงไม่แปลกใจเท่าไหร่นักที่เกม Grand Theft Auto V จะถูกเซนเซอร์เนื้อหาจากหลายประเทศ เพราะเกมดังกล่าว มีเนื้อหาทางเพศกับความรุนแรงที่ล่อแหลมมาก ๆ ซึ่งรวมถึงประเทศญี่ปุ่นที่มีการเซนเซอร์คอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ทำให้ประสบการณ์การเล่นเกมอาจไม่อินเท่ากับการเล่นเกมเวอร์ชันสากล

จุดเซนเซอร์เด่น

  • ในภารกิจ “Paparazzi” ที่ให้เกมเมอร์ต้องแอบถ่ายวิดีโอเหล่าเซเรบกำลังมีเพศสัมพันธ์ในสวน ตัวเกมจะตัดแอนิเมชันเพศสัมพันธ์ทิ้งออกไป เหลือแต่การยืนนิ่ง ๆ
  • ในภารกิจ “By The Book” ฉากที่ Trevor (ซึ่งควบคุมโดยผู้เล่น) ต้องทรมานผู้ต้องหาโดยวิธีการต่าง ๆ จะข้ามขั้นตอนการทรมาร เหลือเพียงฉากคัตซีนหลังทรมานผู้ต้องหาเสร็จแล้ว
  • ฉากคัตซีน Trevor ถอดกางเกง เพื่อโชว์ “เจ้าชายน้อย” ให้ Floyd มีการเซนเซอร์ด้วยการไม่โชว์ก้น Trevor

Grand Theft Auto San Andreas ฉบับ PS2

นี่อาจจะเป็นเกมที่มีการเซนเซอร์เนื้อหาที่แปลกประหลาดที่สุด เพราะการเซนเซอร์ของเกมเวอร์ชันญี่ปุ่น (ซึ่งจัดจำหน่ายโดย CAPCOM) ทำให้ GTA กลายเกมเด็กดีทันที เนื่องจากมีการเพิ่มข้อจำกัดมากมาย จนทำให้การเล่นเกมไม่สนุกสนาน รวมถึงชาวญี่ปุ่นหลายคนแนะนำให้ซื้อเกมเวอร์ชันสากลมากกว่าเวอร์ชันญี่ปุ่นอีกด้วย

จุดเซนเซอร์เด่น

  • หากใช้ปืนยิง NPC จะขึ้น Wanted 1 ดาวทุกครั้ง แม้จะยิงศพที่เสียชีวิตแล้วก็ตาม
  • เสียงเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ที่เแสดงความเจ็บปวดของ NPC เช่น เสียงร้อง กรี๊ด หรือเสียงกระดูกหักจากการใช้รถชน ถูกลบในเกมเวอร์ชันญี่ปุ่น
  • โปสเตอร์ หรือฉากต่าง ๆ ที่เป็นการแสดงเกี่ยวกับเนื้อหาล่อแหลมทางเพศ ถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่น ๆ เช่น โปสเตอร์ดาราภาพยนตร์ผู้ใหญ่ในจักรวาล GTA อย่าง Candy Suxxx ถูกทดแทนด้วยภาพต้นไม้แทน

Resident Evil 2 (Remake) ฉบับคอนโซล

Resident Evil 2

Resident Evil 2 (หรือ Biohazard) ในประเทศญี่ปุ่น มีการขายแยกระหว่างเวอร์ชันปกติ และเวอร์ชัน Z โดยเวอร์ชันปกติจะมีการเซนเซอร์เนื้อหาความรุนแรงหลายส่วน ในขณะที่เวอร์ชัน Z เปรียบเสมือนเป็น Director Cut ที่จะไม่มีการเซนเซอร์ใด ๆ ทั้งสิ้น

จุดเซนเซอร์เด่น

  • ฉาก Leon สำรวจศพพบว่าปากของศพนั้น ฉีกขาดแหวะจนเห็นเนื้อข้างใน กลายเป็นแผลฉีกขาดธรรมดา
  • ฉากที่ Leon กำลังช่วยเหลือเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน ทำให้เขาถูกรุมกัดกินจนเหลือร่างกายเพียงครึ่งท่อน มีการเซนเซอร์ด้วยการให้ร่างกายไม่มีแผลฉีกขาด
  • รายละเอียดของแผล และรอยฉีกขาด ถูกลดให้มีรายละเอียดน้อยลง

แถม: Tony Hawk’s Pro Skater เวอร์ชัน Nintendo N64

เคสนี้แตกต่างจากลิสต์เกมอื่น ๆ แต่เห็นว่ามีการเซนเซอร์ที่แปลกดีจึงยกให้เป็นของแถม เนื่องจากตอนนั้น Nintendo N64 มีนโยบายที่ต้องการให้เกมในไลบรารีทั้งหมด “ดูเป็นมิตรสำหรับครอบครัว” ทำให้เกมหลายเกมมีการเซนเซอร์เนื้อหาความรุนแรงหรือไม่เหมาะสม เพื่อให้เกมวางจำหน่ายได้ในแพลตฟอร์ม N64

ซึ่งเกมสเกตบอร์ดอย่าง Tony Hawk’s Pro Skater ที่ถูกจัดเรตโดย ESRB เป็น Teen (เหมาะสำหรับ 12 ปีขึ้นไป) ก็พ้นการถูกเซนเซอร์เนื้อหาบางส่วน เพื่อให้เกมดังกล่าวไม่สนับสนุนการกระทำที่ไม่เหมาะสม

จุดเซนเซอร์เด่น

  • ไม่มีเลือดกระจายจากการล้มหรือกระแทก
  • ชื่อทริกต่าง ๆ ที่ส่อไปในทางเพศหรือคำไม่เหมาะสม ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ทั้งหมด เช่น Holy Shi.. เป็น Holy Cow และ Handy Gap เป็น Spanky Gap เป็นต้น นอกจากนี้ คำว่า “Hell” ถูกเซนเซอร์อีกด้วย
  • ในโฆษณาโทรทัศน์เพื่อโปรโมต Tony Hawk’s Pro Skater สำหรับ Nintendo N64 ป้าย “No Skateboard” ถูกลบทิ้ง

ยังมีเกมอีกหลายเกมที่ถูกเซนเซอร์เนื้อหาความรุนแรงจากหลายประเทศ แต่นี่ตัวอย่างเกมเด่นเกมดังที่โดนเซนเซอร์ เพื่อสามารถวางจำหน่ายในญี่ปุ่นให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าผู้เล่นชาวญี่ปุ่นไม่ชื่นชอบการเซนเซอร์วิดีโอเกมสักเท่าไหร่นัก ก็หวังว่าหน่วยงาน CERO จะมีการเปลี่ยนนโยบายลดความเข้มงวดในการคัดเลือกคอนเทนต์ เพื่อชาวญี่ปุ่นสามารถได้รับประสบการณ์การเล่นเกมอย่างเต็มอิ่มเหมือนเกมเวอร์ชันสากล

แหล่งที่มา: Censored Gaming

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top