BY KKMTC
22 Aug 19 6:01 pm

ทำไมเกมเวอร์ชันอินเตอร์-ญี่ปุ่น ถึงต้องขายห่างกันจนเกือบครึ่งปี

4 Views

วงการเกมในปัจจุบันจัดเป็นยุคที่เกมเมอร์สามารถหาเล่นเกมดี ๆ ได้ง่ายดายเหมือนรูดบัตรเครดิต หลังจากโลกได้เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตอย่างไร้พรมแดน จนกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันและการค้าขาย จึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มร้านเกมดิจิทัลหลายเจ้า รวมถึงการวางจำหน่ายเกมไม่มีความซับซ้อนยุ่งยากเหมือนสมัยอดีตอีกต่อไป

แต่ดูเหมือนว่าการนำเข้าขายเกมระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับทั่วโลก จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากยุค 90’s มากนัก เพราะปัจจุบันก็ยังมีเกมญี่ปุ่นอีกหลายเกมที่มักจะวางขายประเทศอื่น ๆ ช้ามากจนเกือบหนึ่งปี และพวกเราทุกคนมักจะได้สัมผัสเกมช้ากว่าประเทศญี่ปุ่นอยู่เสมอ

เกมมอร์หลายฝ่ายอาจสันนิษฐานว่าประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างมีหัวอนุรักษนิยม เน้นทำเกมขายให้ประเทศตัวเอง แต่นั่นเป็นความจริงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แล้วเหตุผลอื่น ๆ ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง เราสามารถรับชมได้เลยครับ

ดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับประเทศ

Hyperdimension Neptunia

เกมซีรีส์ Hyperdimension Neptunia มักโดนเซนเซอร์ในโซนสหรัฐฯ เสมอ (จนขี้เกียจบ่นแล้ว)

เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ มีวัฒนธรรมและความเข้มงวดในการนำเข้าเกมที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ทีมงานจำเป็นต้องมีการเลื่อนจำหน่ายเกมบางประเทศหรือบางแพลตฟอร์ม เพื่อตัดออกหรือดัดแปลงเนื้อหาเกมบางส่วน

ยกตัวอย่างเช่น Senran Kagura Burst Re:Newal สำหรับเวอร์ชัน PlayStation 4 ที่ถูกเลื่อนการวางจำหน่ายแบบไม่มีกำหนด (ปัจจุบันวางขายแล้ว) หลังจากทีมงาน Sony ไม่อนุมัติให้วางขายเกมผ่าน PlayStation Store เพราะมีเนื้อหาโป๊เปลือยเกินไป ในขณะที่แพลตฟอร์ม PC และ Nintendo Switch ออกวางจำหน่ายไปแล้ว

หรือเกม Grand Theft Auto V ของโซนญี่ปุ่น ที่นอกจากขายเกมช้ากว่าประเทศอื่นถึงสามเดือนเพราะต้องแปล Localization แล้ว ทีมงานจำเป็นต้องตัดคอนเทนต์หลายส่วน เพื่อให้เกมสามารถวางขายบนเครื่องคอนโซลจากการพิจารณาของหน่วยงาน CERO ซึ่งผลลัพธ์ออกมาทำให้ GTA V เวอร์ชันญี่ปุ่น (เฉพาะคอนโซล) จะมีการข้ามฉากที่เกมเมอร์ต้องรับบทเป็น Trevor เพื่อทรมาน Ferdinand Kerimov อย่างรุนแรงในมิชชั่น “By the Book” หรือฉากเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้งในมิชชั่น “Papalazzi” ก็ถูกดัดแปลงกลายเป็นฉากพูดคุยธรรมดา ๆ เช่นกัน

GTA

ฉากน่าจดจำใน GTA V ที่ญี่ปุ่นไม่มีทางได้สัมผัส…

สอดส่องการตลาด หรือเสียงเรียกร้องของแฟนเกม

Professor Layton and the Curious Village

เกมซีรีส์ Professor Layton เป็นเกมที่มักวางขายญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก แล้วค่อยออกจำหน่ายทั่วโลกประมาณหนึ่งถึงสองปีให้หลัง

ก็ต้องยอมรับว่าแม้อุตสาหกรรมเกมของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ จะมีความเจริญเติบโตเทียบเท่าประเทศจีนและเกาหลีใต้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกมญี่ปุ่น มีเอกลักษณ์ตัวเองจนเข้าถึงยากเกินไปสำหรับเกมเมอร์หลายคน จึงมีหลายครั้งที่เกมอเมริกาซึ่งขายดีทั่วโลก แต่ไม่โด่งดังในญี่ปุ่น หรือเกมญี่ปุ่นที่ดังเปรี้ยงในประเทศ แต่กระแสเงียบเหงาสำหรับประเทศอื่น ๆ

จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่นัก ที่ปัจจุบันเกมญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะลงให้เฉพาะแพลตฟอร์ม PC, PlayStation 4, Nintendo Switch เนื่องจากเครื่องเกมคอนโซลดังกล่าวมาทั้งหมด ได้รับนิยมมากกว่าเครื่อง Xbox One ที่นิยมเฉพาะประเทศอเมริกาและยุโรปบางส่วนเท่านั้น

ซึ่งรวมไปถึงเกมญี่ปุ่นหลายเกม (ส่วนใหญ่เป็นเกม JRPG หรือ Visual Novel) จะตัดสินใจวางขายเกมเฉพาะภายในประเทศญี่ปุ่นหรือเอเชียบางประเทศ เพื่อสอดส่องกระแสเรียกร้องจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าหากเกมมียอดขายน่าพึงพอใจ, มีเสียงวิจารณ์ดี หรือมีความเสี่ยงน้อยมาก ตัวแทนจำหน่ายเกมก็จะปล่อยไฟเขียวให้เกมสามารถวางจำหน่ายในโซนต่างประเทศ หรืออนุมัติให้เริ่มขั้นตอน Localization เร็วยิ่งขึ้น

DJMAX Respect

ตอนแรก DJMAX Respect เป็นเกมวางขายเฉพาะโซนเอเชียเท่านั้น แต่หลังจากมีกระแสเรียกร้องจากผู้เล่นเยอะ จึงตัดสินใจวางขายทั่วโลกในปีถัดมา

แปล Localization

Judgment

แม้ Judgment เวอร์ชันอินเตอร์จะออกช้า แต่ก็คุ้มค่ากับการรอคอยด้วยการเสริมเสียงพากย์ DUB ภาษาอังกฤษ

นี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่เกมเวอร์ชันอังกฤษ-ญี่ปุ่นถึงวางขายเกมห่างกันนานจนเกือบปีก็ว่าได้ เพราะว่าการแปล Localization ระหว่างภาษาอังกฤษ-ญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ทำยาก จำเป็นต้องใช้เวลานาน และใช้เงินต้นทุนสูงพอสมควร

เคสนี้สามารถพบเห็นบ่อยตามเกมดังบางเกม อย่างเช่นซีรีส์ Yakuza ซึ่งมักวางขายในโซนญี่ปุ่นและเอเชียก่อนเป็นประเทศแรก แล้วประมาณหนึ่งปีต่อมาก็ค่อยออกวางจำหน่ายทั่วโลกทีหลัง หรือเกม Call of Duty เกือบทุกภาคของโซนญี่ปุ่น จะวางขายช้ากว่าทั่วโลกประมาณหนึ่งถึงสองเดือน ซึ่งทั้งหมดเป็นเพราะทีมงานต้องใช้เวลาพัฒนาเกมเพิ่มเติมในส่วนของการแปล Localization เพื่อให้เกมเมอร์ทั้งสองชาติสามารถเข้าใจเนื้อหาของเกมแบบตรงกัน

Death Stranding พร้อมออกจำหน่ายทั่วโลกโดยไม่มีการแยกเวอร์ชันอังกฤษหรือญี่ปุ่นให้สับสน เพราะตัวเกมได้รับงบประมาณมหาศาลจากทีมงาน Sony Interactive Entertainment จึงทำให้เกมพร้อมติดตั้งหลายภาษาในเกมเดียว

ความช้าหรือความเร็วของการ Localization จะขึ้นอยู่กับเงินต้นทุนของบริษัท และปริมาณข้อความหรือบทพูดภายในเกม ถ้าหากเป็นเกมที่มีบทสนทนาหรือคัตซีนเยอะ ทีมงานก็อาจต้องใช้เวลากับความระมัดระวังด้านการแปลนานจนเลยครึ่งปี หรือบางเกมจะมีการเสริมเสียงพากย์ DUB เป็นภาษาอังกฤษหรือญี่ปุ่น เพื่อเกมเมอร์ต่างชาติสามารถติดตามเนื้อเรื่องอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งต้องใช้ต้นทุนและระยะเวลานานขึ้นตามมา

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top