BY สฤณี อาชวานันทกุล
31 Jul 21 4:37 pm

Wildermyth: พลังของเรื่องเล่าและตำนาน

59 Views

หนึ่งในภูมิปัญญาของคนโบราณคือการรังสรรค์เรื่องเล่าจำนวนมากในรูปเทพนิยาย ตำนาน และนิทานสอนใจ ใช้สอนคนรุ่นหลังในยุคมุขปาฐะที่มนุษย์เรียนรู้หลักๆ ด้วยวิธีการเล่าปากต่อปาก นานนับพันปีก่อนกำเนิดของแท่นพิมพ์ และสำหรับชาวกรีกโบราณ ผู้หายใจเข้าออกเป็นตำนาน พวกเขาก็หลงใหลในละครโศกนาฏกรรม (tragedy) ที่ถ่ายทอดชีวิตตัวละครไปถึงฉากจบอันแสนเศร้า เพราะเชื่อว่าละครที่ดีนั้นสามารถยกระดับจิตใจคนดู ชำระล้างให้บริสุทธิ์ ผ่านการเข้าถึงความหดหู่เศร้าหมองอย่างลึกซึ้งถึงแก่น

ชาวกรีกโบราณไม่อยากขานใครว่า “วีรบุรุษ” หรือ “วีรสตรี” ก่อนที่เขาหรือเธอจะตายจากไป

เพราะอยากได้ประเมินการใช้ชีวิต “ทั้งชีวิต” ของคนผู้นั้นก่อน ว่าโดยรวมแล้วคู่ควรกับคำสรรเสริญเยินยอมากน้อยเพียงใด

ชีวิตของเธอหรือเขาควรเป็น “ตำนาน” หรือไม่

ผู้เขียนคิดเรื่องนี้ระหว่างเล่น Wildermyth เกมสวมบทบาท (RPG) แนว Roguelike (สุ่มทั้งเหตุการณ์ แผนที่ ตัวละคร และเรื่องราวในเกม) จากสามีภรรยา Nate กับ Anne Austin ที่รวมตัวกันในชื่อ Worldwalker Games

Wildermyth

นี่คือเกม RPG หน้าตาน่ารักน่าชังแต่ระบบการต่อสู้สุดมันส์และมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แต่เสน่ห์ที่ทำให้ Wildermyth โดดเด่นกว่า RPG เกมอื่นก็คือ จุดเน้นที่ “เรื่องราว” และ “พัฒนาการ” ของตัวละครในทีมเรา พวกเขาแต่ละคนเริ่มต้นจากการเป็นชาวนาชาวไร่ธรรมดาๆ ที่ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องจับจอบจับเสียมมาสู้รบปรบมือกับสัตว์ประหลาด ซึ่งในเกมนี้ก็ไม่ใช่ ก็อบลิน ออร์ค คนแคระ เอลฟ์ หรือเผ่าพันธุ์ตามขนบแฟนตาซีมาตรฐานในโลกตะวันตกที่เราคุ้นเคย แต่เป็นเผ่าพันธุ์แปลกใหม่น่าตื่นตา มีทั้งหมดห้าเผ่า บางเผ่าดูเหมือนฤาษีคลั่งลัทธิจากโลกใต้ดินอันเร้นลับ บางเผ่าเป็นหุ่นยนต์แนว steampunk อันเต็มไปด้วยปริศนา บางเผ่าดูเหมือนแมลงไปผสมพันธุ์กับมังกร (และมีพลังจิตอีกต่างหาก!) และบางเผ่าก็มีหน้าตาเหมือนสัตว์ประหลาดจากต่างดาว “ศัตรู” ที่เราต้องต่อกรด้วยเหล่านี้ล้วนแต่มีปูมหลังลึกลับน่าค้นหา ซึ่งจะค่อยๆ เผยออกมาระหว่างทาง จนสุดท้ายเราอาจค้นพบว่า พวกเขาไม่ใช่ “ศัตรู” คู่อาฆาตของเราแต่อย่างใดเลยก็ได้

เป้าหมายใหญ่ไม่ว่าเราจะเลือกเล่นแคมเปญไหนก็คือ ทีมนักผจญภัยของเราต้องพิทักษ์โลกแฟนตาซี ในเกมนี้ชื่อ Yondering Lands จากภยันตรายที่คืบคลานเข้ามา ระบบเกมสลับระหว่างฉากการวางแผนการเดินทางระหว่างเมืองต่างๆ ในโลก ฉากการต่อสู้แบบ tactical (เป็น turn-based ไม่ใช่เวลาจริงหรือ real-time) และฉากการเล่าเรื่องผ่านการ์ตูนช่องสองมิติ เมื่อเวลาผ่านไป สมาชิกในทีมของเราจะเก่งกล้าสามารถขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งอัพเลเวล เราจะได้เลือกหนึ่งในสามทักษะใหม่ที่ตรงกับคลาส (class) ของตัวละคร ซึ่งมีสามคลาส ได้แก่ นักรบ (ระยะประชิด) (warrior) นายพราน (แม่นธนู) (hunter) และ นักเวท (mystic) ใช้เวทเป็นอาวุธ

Wildermyth

แคมเปญแต่ละแคมเปญในเกมแบ่งเรื่องออกเป็น “บท” จำนวนสามถึงห้าบท เราจะเดินทางระหว่างแคว้นต่างๆ ในโลกเพื่อเฟ้นหาสมาชิกใหม่มาร่วมทีม สร้างแนวป้องกันศัตรู ลาดตระเวนป้องกันศัตรู บุกโจมตีฐานที่มั่นของศัตรู สร้างทางเดินหรือสะพานไปสำรวจแคว้นใหม่ หรือสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มาผลิตวัตถุดิบสำหรับสร้างหรืออัพเกรดอาวุธและเสื้อเกราะตอนจบแต่ละบท โดยจะได้โอกาสอัพเกรดก่อนประมือกับ “บอสใหญ่” ของแคมเปญด้วย ทุกภารกิจบนแผนที่โลกนี้เราสามารถส่งตัวละครในทีมตั้งแต่ 1-5 คนไปทำ ภารกิจบางอย่างต้องใช้คนมากกว่าหนึ่งคน ด้านบนของแผนที่โลกจะแสดงเค้าน์ท์เตอร์ (counter) นับเวลาถอยหลังสองอัน อันหนึ่งบอกเวลาที่ศัตรูจะบุกมาทำลายเมือง อีกอันนับถอยหลังเวลาที่ศัตรูจะเก่งขึ้นอีก (แต่มันก็เก่งขึ้นอัตโนมัติอยู่แล้วหลังการต่อสู้ทุกครั้ง)

ระบบการต่อสู้ของ Wildermyth สนุกและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราจะซูมลงมาดูทีมนักผจญภัยบนตารางคล้ายหมากรุก จะมองเห็นศัตรูก็ต่อเมื่อมันเดินเข้ามาในระยะสายตา แต่ละตาทีมเราจะเดินก่อน จากนั้นศัตรูจะเดิน แต่ละคนมี 2 แอ๊กชั่นให้ใช้ระหว่าง เดิน โจมตี หรือใช้ความสามารถอื่น ความสามารถบางอย่างต้องใช้ทั้ง 2 แอ๊กชั่น บางอย่างเป็น free action แต่ใช้ไม่ได้ทุกตา เป็นต้น นักรบ นายพราน และนักเวทล้วนท่าโจมตี ทักษะ และสไตล์การเล่นแตกต่างกัน แน่นอนว่านักรบควรอยู่ด่านหน้าเป็น “แทงก์” และปกป้องเพื่อนในทีม (ทักษะ “Guardian” หรือผู้คุ้มกัน ที่ให้โจมตีศัตรูอัตโนมัติที่เข้ามาใกล้ในระยะ 1×1 หรือ 2×2 มีประโยชน์มาก) นายพรานใน Wildermyth เป็นส่วนผสมระหว่าง ranger กับ rogue ในขนบ RPG ทั่วไป คือสามารถยิงธนูจากระยะไกลและอำพรางตัวไม่ให้ศัตรูมองเห็น

นักเวทนับเป็นคลาสที่สนุกที่สุดในเกมนี้ เพราะไม่ได้ร่ายเวทจากคัมภีร์เวทมนตร์เหมือน RPG ทั่วไป แต่นักเวทใน Wildermyth ร่ายเวทจากการ “Interfuse” หรือส่งพลังไป “หลอมรวม” กับเฟอร์นิเจอร์ ก้อนหิน ต้นไม้ กองไฟ หรือสิ่งของอื่นๆ ในฉาก จากนั้นค่อยใช้ท่าโจมตีที่ใช้ลักษณะเด่นของสิ่งที่ไปหลอมด้วย เช่น ถ้าเป็นพุ่มไม้ก็ยิงหนามแหลม ถ้าเป็นไฟก็ยิงลูกไฟ ถ้าเป็นตู้ไม้ก็ยิงเศษไม้ใส่ เป็นต้น และเมื่อนักเวทอัพเลเวล ท่าโจมตีเหล่านี้ก็จะได้อัพเกรดทั้งความแรงและท่าใหม่ๆ ที่สนุกสนานกว่าเดิมอีก

Wildermyth

ทุกครั้งที่เราจบการต่อสู้ ศัตรูที่เราประมือด้วยก็จะเก่งขึ้นอีก อาจจะมีพลังชีวิตมากขึ้น มีเกราะมากขึ้น หรือมีสัตว์ประหลาดชนิดใหม่ในเผ่ามาร่วมรบ เราไม่มีทางกดไม่ให้มันเก่งขึ้น ต่างจากการลดเคาท์น์เตอร์เรื่องความเก่งของศัตรูบนแผนที่โลก ทุกครั้งที่เวลาเคาน์ท์เตอร์นับถอยหลังเหลือศูนย์ เกมจะแสดงผลบนจอว่าศัตรูเผ่าไหนจะเก่งขึ้นอย่างไร เรามีทางเลือกที่จะใช้ “แต้มความเป็นตำนาน” (Legacy Points) ที่ได้จากการสำรวจดินแดนใหม่ๆ และผ่านเส้นเรื่องบางจุด กดไม่ให้ศัตรูเก่งขึ้นได้ถ้าเรามีแต้มมากพอ

กลไกนี้หมายความว่า บรรดานักผจญภัยของเราจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ ก็จริง แต่ศัตรูก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัวด้วย ยังไม่นับเหตุการณ์ตามท้องเรื่องที่จะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นระยะๆ บางครั้งตัวละครเราจะถูกดึงให้ไปทำภารกิจ (quest) ส่วนตัวอะไรสักอย่าง ก่อนจะกลับมาร่วมเดินทางกับทีม

พูดถึงเหตุการณ์ตามท้องเรื่องแล้วก็ต้องพูดถึงระบบ “พัฒนาการ” ของตัวละคร และวิธีเล่าเรื่องของ Wildermyth อันเป็นจุดที่โดดเด่นที่สุดของเกมนี้ สมาชิกนักผจญภัยของเราทุกคนไม่เพียงแต่มีปูมหลังและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน (ใจร้อน / ช่างคิด / เพ้อฝัน / โรแมนติก / ชอบผจญภัย / กวี และนิสัยอื่นๆ หลายสิบชนิด) แต่เกมนี้จะติดตามเรื่องราวของตัวละครตั้งแต่มาร่วมทีมในวัยละอ่อน (20 ต้นๆ) จนถึงวันตาย เราจะได้เห็นฮีโร่คนโปรดเติบโต ผมดำขลับเปลี่ยนเป็นสีดอกเลา จากนั้นพอถึงวัย 70-80 ก็จะใกล้ตาย (เกมจะบอกเราในฉากติดอาวุธหรืออุปกรณ์ว่า ตัวละครตัวไหนที่จะไม่อยู่กับเราในบทต่อไปแล้ว) และเมื่อฮีโร่ตายหรือเราพิชิตแคมเปญได้แล้ว นั่นก็ยังไม่ใช่ “จุดจบ” ของนักผจญภัย – เราสามารถเลือกสมาชิกคนโปรดที่อยากเจออีกในแคมเปญอนาคต ในฐานะ “ฮีโร่ในตำนาน” และได้เลือกความสามารถพิเศษบางอย่างที่เขาหรือเธอสะสมมาตลอดแคมเปญ ให้เป็น “มรดก” สำหรับเขาหรือเธอในภพถัดไป เมื่อต้องเริ่มต้นใหม่ที่เลเวล 1 เหมือนกับสมาชิกคนอื่นๆ

Wildermyth

ระบบ Legacy แปลว่า ฮีโร่คนโปรดของเราอาจกลายเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่หลังจากที่เราเลือกเซฟเขาหรือเธอไปเล่นหลายแคมเปญติดต่อกัน เกมจะบันทึกการผจญภัยและเหตุการณ์สำคัญๆ ที่นักผจญภัยแต่ละคนประสบพบเจอใน “ประวัติ” ของเขาหรือเธอ

ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น นักผจญภัยในทีมเราจะไม่ได้ง่วนอยู่กับการทำภารกิจต่อสู้สัตว์ประหลาดอย่างเดียว แต่มี “ชีวิต” ที่หลากหลายและเปี่ยมเสน่ห์ ก่อนการต่อสู้ทุกครั้งและระหว่างการเดินทางท่องโลก เรามีโอกาสเจอ “เรื่องราว” ที่เข้ามากระทบกับตัวละครอยู่เสมอ ทุกเรื่องเล่าผ่านการ์ตูนช่องที่ให้เราตัดสินใจผลลัพธ์ และเรื่องนั้นก็อาจเป็นเรื่องราวเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ตัวละครสองตัวเกี้ยวพาราสีจนพบรัก หรือชิงดีชิงเด่นกันจนเป็นคู่อริ (มีผลในฉากต่อสู้ด้วย) ตัวละครอีกตัวนึกครึ้มใจอยากแต่งกลอนชื่นชมธรรมชาติ บางครั้งคู่รักอาจให้กำเนิดลูกสาวหรือลูกชายที่เติบโตมาเป็นนักผจญภัยเหมือนพ่อแม่ (เราเลือกได้ว่าจะให้ตัวละครใหม่เป็นคลาสอะไร) หรือไม่อีกที ตัวละครอีกตัวอาจเจอหินลึกลับที่พอแตะแล้วซึมซับเข้าไปในร่างกาย เปลี่ยนแขนหรือขาให้กลายเป็นก้อนหินทรงพลัง (การแปลงร่างในเกมนี้มีหลากหลายรูปแบบ และทั้งหมดล้วนแต่สนุกมากเวลาเจอ)

เรื่องราวทุกเรื่องในเกมถ่ายทอดเป็นการ์ตูนช่องสองมิติสวยงาม หลายเรื่องใช้ภาษาเรียบง่ายแต่น่าหลงใหลไม่ต่างจากการได้อ่านเรื่องสั้นชั้นดีเลยทีเดียว อีกจุดที่สนุกมากคือการเล่าเรื่องระหว่างบท เมื่อจบบทหนึ่งแล้ว เกมจะขึ้นข้อความให้เราเห็นว่า การกระทำของเรามีผลให้โลก Yondering Lands ได้พบกับสันติสุขไปกี่ปี (ก่อนที่ความโกลาหลครั้งใหม่จะเริ่มต้นในบทถัดไป) จากนั้นก็ขึ้นการ์ตูนช่องบรรยายว่า ในช่วงเวลาแห่งสันตินั้น สมาชิกในทีมเราแต่ละคนใช้เวลาไปทำอะไรบ้าง บางคนอาจเปิดผับขายเหล้า บางคนกลับบ้านไปหาครอบครัว บางคนตั้งรกรากมีลูก บางคนอาจสอนเวทให้กับนักเวทรุ่นต่อไป ทั้งหมดนี้ประกอบกันทำให้เราใส่ใจกับทีม เสียใจเมื่อใครสักคนต้องตาย ไม่ว่าจะตายในสนามรบ ตายตามท้องเรื่อง หรือตายตามอายุขัยก็ตาม

Wildermyth มีโหมด multiplayer ให้เราผจญภัยร่วมกับเพื่อนๆ และมีแคมเปญแบบสุ่มนอกเหนือจากแคมเปญหลักที่เล่าเรื่องใหญ่ห้าแคมเปญ แคมเปญสุ่มจะไม่มีเส้นเรื่องใหญ่ใดๆ มีเพียงเหตุการณ์สั้นๆ ที่คาดเดาไม่ได้ล่วงหน้า (procedural campaign) ทำให้มันเป็นเกม RPG ส่วนน้อยที่เล่นแล้วเล่นอีกได้ไม่รู้เบื่อ ยังไม่นับ mods อีกมากมายที่แฟนเกมบรรจงสร้างมาต่อเติมเนื้อหาให้สดใหม่อยู่เสมอ

คงไม่มีคำสรรเสริญ Wildermyth ใดๆ ที่จะชัดไปกว่าการกล่าวว่า นี่เป็นเกมหนึ่งในจำนวนไม่กี่เกมที่ผู้เขียนคิดว่าจะไม่มีวันลบไปจากฮาร์ดดิสก์ 🙂

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top