BY Aisoon Srikum
16 Apr 25 1:19 pm

10 ปี Rainbow Six Siege ทุบหน้าต่าง วางโดรน ตำนานเกมเกือบหลับ แต่กลับมาได้ในยุคแรก

505 Views

จริงอยู่ว่าในระยะหลัง ๆ มานี้ ชื่อเสียงของ Ubisoft อาจไม่เข้าหูเกมเมอร์ในวงกว้างสักเท่าไร แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หนึ่งในแฟรนไชส์ที่ยังเป็นเกมยอดนิยมและมีฐานผู้เล่นที่เหนียวแน่นอยู่จนถึงทุกวันนี้ คือเกม Multiplayer อย่าง Rainbow Six Siege ที่หากนับอายุอานามของเกมนี้ ปี 2025 ถือเป็นปีครบรอบปีที่ 10 ของเกมนี้แล้ว แต่กว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ ต้องบอกว่ามันก็ฝ่าฟันความลำบากมามากพอสมควร แต่อะไรทำให้มันยังประสบความสำเร็จอย่างแข็งแกร่ง วันนี้มาหาคำตอบและย้อนอดีตไปพร้อม ๆ กัน

ดัดแปลงจากนิยาย Rainbow Six

หากพูดถึงเกมของ Ubisoft หนึ่งในสิทธิ์ที่พวกเขาถือครองอยู่ก็คือ สิทธิ์ในการดัดแปลงวรรณกรรมจากนักเขียนชื่อดังผู้ล่วงลับอย่าง Tom Clancy ผู้เอกอุในการเขียนนวนิยายแนวการรบและวางแผนกลยุทธ์ หรือหน่วยรบพิเศษต่าง ๆ และหนึ่งในผลงานจากปลายปากกา Tom Clancy ก็คือ Rainbow Six

นวนิยาย Rainbow Six ต้นฉบับ ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 1998 โดยเป็นนิยายเล่มที่ 2 ที่มีตัวละครหลักอย่าง John Clark เป็นคนดำเนินเรื่อง ซึ่งตัวละครนี้ไปปรากฎตัวอยู่ในซีรีส์ของ Jack Ryan ที่เป็นอีกหนึ่งผลงานของ Tom Clancy เหมือนกัน แต่ฝั่ง Jack Ryan จะถูกนำไปทำเป็นซีรีส์และภาพยนตร์บ่อยครั้งกว่ามาก ซึ่ง Rainbow Six นั้น ดำเนินเรื่องราวต่อจาก Without Remorse โดย Without Remorse นั้น เคยมีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สตรีมมิ่งบน Prime Video ด้วย ดังนั้นแฟน ๆ Rainbow Six ที่อยากอินกับเกมมากขึ้นแม้จะเป็นทางอ้อมก็ตามย้อนไปดู Without Remorse กันได้

Rainbow Six เป็นนวนิยายแนวระทึกขวัญ-เทคโนโลยี เล่าถึงเรื่องราวของ Rainbow ทีมต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศที่ John Clark เป็นผู้นำ มันถูกก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของหลากหลายประเทศชาติ ดึงเอาคนที่เก่งที่สุดของแต่ละหน่วยงานมาร่วมทีมกัน ในขณะที่ John Clark ต้องการทดสอบความสามารถของทีมใหม่นี้ ก็เกิดเหตุการปล้นและจับตัวประกันที่ธนาคารสวิส และยังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ด้วย และนี่คือเรื่องราวของ Rainbow Six ที่ในที่สุดก็ถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นวิดีโอเกม ใครที่อยากอ่านจริ ๆ Rainbow Six มีเวอร์ชันแปลภาษาไทยอยู่ในชื่อ อุดมการณ์เฉียดนรก ที่แปลโดยคุณสุวิทย์ ขาวปลอด ปัจจุบันจะหารูปเล่มยากหน่อย แต่ถ้าแบบ E-Book ก็ยังคงมีขาย

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงจะเห็นภาพแล้ว ว่าทำไมมันถึงถูกดัดแปลงเป็นเกม ในตอนนี้ Rainbow Six Siege เองก็มีแก่นเรื่องพื้นฐานไม่ต่างจากนวนิยายมาก คือการรวมยอดฝีมือจากนานาชาติที่เชี่ยวชาญการใช้ยุทโธปกรณ์แบบต่าง ๆ และนำมาดัดแปลงเป็นเกม Multiplayer แบ่งฝ่ายกันรับและรุก เพื่อทำภารกิจเป้าหมายให้สำเร็จนั่นเอง

ก่อนจะเป็นเกม Multiplayer

ถ้าใครยังจำกันได้ ลิสท์รายชื่อเกมที่ถูกยกเลิกก่อนวางงขายในทุก ๆ บทความของสื่อไทยและเทศ (รวมไปถึง GamingDose ของเรา) แฟนเกมน่าจะเคยได้ยินชื่อของ Rainbow Six: Patriots กันมาบ้าง มันคือเกมที่เปิดตัวในปี 2011 เป็นผลงานของ Ubisoft Montreal โดยมีฉากหลังคือกรุงนิวยอร์คซิตี้ กลุ่มก่อการร้าย True Patriots ที่ก่อตั้งขึ้นมาจากการถูกศาลตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขาออกจัดการพิพากษาประชาชน รวมไปถึงเหล่าคณะลูกขุน ด้วยเหตุการณ์นี้ ผู้นำทีม Rainbow ในเกมนี้อย่าง James Wolfe อดีตหน่วยซีลของกองทัพเรือจึงต้องเข้ามาหยุดยั้งการก่อการร้ายของกลุ่ม True Patriots ไม่ให้บานปลายไปมากกว่านี้

วิบากกรรมแรกของ Ubisoft ในตอนนั้น ก็ไม่ได้ต่างจากยุคสมัยนี้ นั่นคือ การรั่วไหลของข้อมูล โดยตอนนั้นฟุตเทจเกมการเล่นเกิดรั่วไหลออกไปเผยแพร่ทางออนไลน์ ทำให้ Ubisoft ประกาศเปิดตัวเกมก่อนกำหนด ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2011 พร้อมกับย้ำกับสื่อว่า ฟุตเทจที่ปล่อยออกมานั้น เป็นเพียงไอเดียตั้งต้นที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2010

ในตัวอย่างที่ปล่อยออกมานั้น เราไม่ได้เห็นเกมเพลย์เลยก็จริง แต่ได้เห็น Cinematic และงานภาพที่ดูดีมากในตอนนั้น (ปี 2011) ฉากการต่อสู้และเอาตัวรอดบนสะพาน ยังคงเป็นฉากที่หลายคนพูดถึง ตัวเกมมีปล่อย Concept Gameplay เล็กน้อย ว่าเราจะได้เล่นยังไง ต่อสู้แบบไหน โดยทุกวันนี้ตัวอย่างเหล่านี้ยังคงหาชมได้อยู่ผ่านช่อง GameSpot และ Ubisoft เอง ที่ไม่ได้ลบทิ้งแต่อย่างใด

วิบากกรรมต่อมาคือ อยู่ดี ๆ ในช่วงเดือนมีนาคม 2012 ประมาณ 5 เดือนหลังจากเปิดตัวเกม 3 หัวเรือใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งผู้กำกับ คนดีไซน์เกมหลัก และนักออกแบบเกม ถูกประกาศถอดออกจากทีมพัฒนาเกมอย่างไม่ทราบสาเหตุ วันเวลาล่วงเลยสู่ปี 2013 ร้านจำหน่ายเกมดัง ๆ อย่าง GameStop เองก็ค่อย ๆ ถอดรายชื่อเกมนี้ออก และยกเลิกการสั่งซื้อล่วงหน้าทั้งหมด ท้ายที่สุดตัวเกมถูกยกเลิกการพัฒนาอย่างเป็นทางการในปี 2014 แต่นั่นไม่ใช่จุดจบ เพราะจาก Patriots ได้ถูกนำมาสานต่อและดัดแปลงให้เป็นเกมใหม่ นั่นคือ Rainbow Six Siege แทน

การเปิดตัวที่ไม่ค่อยสวยงามนักของ Siege

แรกเริ่มเดิมทีนั้น Patriots ถูกออกแบบเผื่อในส่วนของความเป็นเกม Multiplayer ผสมไว้ด้วยอยู่แล้ว และเนื่องจากปัญหาหลากหลายประการ ทีมงานจึงเก็บเอาแนวคิดและองค์ประกอบของเกม Multiplayer ไว้แทน จากนั้นทีมพัฒนามองเห็นว่า หลักการและแนวคิดของ Rainbow Six นั้น เป็นเรื่องของสมาชิกทีมต่อต้านการก่อการร้ายที่เดินทางไปทั่วโลกเพื่อยับยั้งเหตุก่อการร้าย และมักจะเป็นปฏิบัติการสุดดุเดือดระหว่างฝั่งบุกจู่โจมและฝั่งป้องกัน มันเลยกลายเป็นไอเดียหลักของเกม และทีมงานเลือกจะทิ้งโหมด Single Player ไปเลย

Alexandre Remy หนึ่งในผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเผยว่า ในช่วงที่พัฒนาเกมนี้นั้น เริ่มต้นในเดือนมกราคม 2013 (ก่อนที่ Patriots จะประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ) พวกเขากังวลหนักมากว่ากระแสตอบรับจะเปลี่ยนไป และผู้เล่นบางคนจะต้องผิดหวังแน่นอน

ถึงอย่างนั้น การพัฒนาเกมก็ยังต้องดำเนินต่อไป หลังจากรีบูตแฟรนไชส์นี้แล้ว ทีมงานก็ประเมินไอเดียใหม่อีกครั้ง แต่ยังคงเชื่อว่าการให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายนั้น เหมาะกับเกมมากที่สุดแล้ว และเพื่อดันจุดแข็งนี้ให้ดียิ่งขึ้น ทีมงานตัดสินใจปรึกษากับหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายตัวจริง และไปดูตัวอย่างสถานการณ์การปิดล้อมพื้นที่ของจริง หนึ่งในสิ่งที่ทีมงานดูก็คือ เหตุการณ์ปิดล้อมสถานทูตอิหร่านที่เกิดขึ้นในปี 1980 และนี่คือเหตุผลที่ Siege กลายเป็นเกมอย่างที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน

แม้เกมจะเปิดตัวได้สวยงาม และฉีกภาพจำ Patriots ไปได้ รวมไปถึงเอาของดีมาต่อยอดได้อย่างสวยงาม ตัวเกมเปิดตัวด้วยรีวิวในแง่บวกจากหลากหลายสำนัก รวมถึงจากผู้เล่นด้วยกันเอง แต่ปัญหาหลักก็มาจนได้ นั่นคือเรื่องของ Content เกมในช่วงแรกที่มีน้อยมาก ๆ นอกจากการเล่นจบในแต่ละรอบแล้ว ตัวเกมก็แทบจะไม่มีอะไรเลย แม้ในช่วงแรกก่อนที่เกมจะวางขาย มีการประกาศสิ่งที่เรียกว่า Season Pass ออกมาแล้วก็ตาม และที่หนักมากในช่วงนั้นก็คือปัญหาเรื่องเซิร์ฟเวอร์ของตัวเกม ที่ทำเอาหลายคนขยาดไปตาม ๆ กัน

และจุดเปลี่ยนที่สำคัญจริง ๆ คือการที่เกมนำบริการ Games as a service มาใช้งาน (หรือก็คือ Live Services นั่นเอง) ตัวเกมมีส่วนเสริมทั้งที่เสียเงินซื้อและแจกฟรี อัปเดตฟรีหลายตัว รวมไปถึงปรับปรุงตัวเกม แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยความที่เป็นเกม Live Services ปัญหาก็อาจจะยังมีอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แล้วอะไรคือความสนุกของ Rainbow Six Siege ที่ทำให้มันครองใจแฟน ๆ ได้ยาวนานขนาดนี้กัน ?

ประสบการณ์ Multiplayer สุดตึงเครียด

ก่อนอื่นเราอาจจะต้องตัดคำว่า “ถ้าเล่นกับเพื่อนจะเป็นเกมตลก” ทิ้งไปก่อน และให้คุณผู้อ่าน วาร์ปวันเวลากลับไปในช่วงปี 2015 ในตอนนั้น เกม Multiplayer ยังไม่ได้หลากหลายแบบในปัจจุบัน แถมที่มีอยู่ก็เน้นความสนุก ยิงกันระเบิดระเบ้อ ไม่ได้หนักไปที่ความเป็นกลยุทธ์หรือตึงเครียดอะไรขนาดนั้น แต่สิ่งที่ Ubisoft ทำกับ Rainbow Six Siege นั้น ไม่ใช่เลย

ในเกมนี้จะมีทั้งตัวละคร อาวุธ และอุปกรณ์ที่เป็นเหมือนกับสกิลประจำตัวของตัวละครนั้น ๆ ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และแบ่งตัวละครออกเป็นสองฝั่งหรือฝั่งจู่โจมและฝั่งป้องกัน ในตอนแรกก็จะมีหน่วยจู่โจมชื่อดังจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย (CTU) หน่วยกู้ภัยตัวประกันของอเมริกา (SWAT, FBI) หน่วย SAS ของอังกฤษ หน่วย CGS-9 ของเยอรมันและอื่น ๆ อีกมากมาย โดยในปัจจุบันก็มีตัวละคร หรือที่ในเกมเรียกกันว่า Operator มากกว่า 50 คน ทั้งฝั่งโจมตีและป้องกันให้เลือกเล่นกัน

ความสนุกของ Rainbow Six คือการแข่งขันสุดตึงเครียดของทั้งสองฝั่ง รูปแบบการเล่นที่แบ่งเป็นทีมบุกและทีมรับ ฝั่งบุกจะต้องทำหน้าที่คุ้มกัน Objective หรือเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวประกัน ระเบิด หรืออะไรก็ตาม ในเฟสแรก จะเป็นช่วงวางกับดัก กำแพงเสริมแกร่ง หรือแม้กระทั่งคอยกำจัดโดรนที่ฝั่งบุกจะส่งเข้ามา ในขณะที่ฝั่งบุกเอง ก็จะใช้เวลาขับโดรนสำรวจ สอดแนมสถานที่ เพื่อระบุตำแหน่งเป้าหมายก่อนที่เฟสของเกมการปะทะจะเริ่มขึ้น ฝั่งบุกต้องหาวิธีบุกเข้าไปในตัวอาคาร เพื่อจัดการ Objective ให้สำเร็จ ในขณะที่ฝั่งป้องกันจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ฝั่งบุกประสบความสำเร็จ

ใด ๆ คือสำหรับเกมนี้ การยิงต่อสู้กัน แทบจะทำให้อีกฝ่ายลงไปกองได้เพียงเสี้ยววินาที แถมมีบ่อยครั้ง ที่เกิดการเจาะกำแพงเป็นรูเล็ก ๆ ยิงผ่านช่องหรือตะแกรงเข้ามา หากโดนส่วนสำคัญ หรือโดนมากพอก็เพียงพอที่จะทำให้อีกฝั่งร่วงได้แล้ว เกมนี้จึงมีความกดดัน และความตึงเครียดสูงกว่าหลาย ๆ เกมในตอนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเล่นแบบ Solo ไม่มีเพื่อนนี่แทบจะเป็นเกมจริงจังไปเลย และมันจะทำให้มีโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์เกมพลิกผันบ่อยมาก จริงอยู่ว่าแม้เกมจะไม่ใช่ One Man Standing เก่งคนเดียว ทีมชนะสบาย ๆ แต่ด้วยรูปแบบและสถานการณ์เกมการเล่น เอื้อให้เกิดการปะทะกันแบบ 1 ต่อ 1 บ่อยมาก ดังนั้นคนเก่ง ๆ อาจพลิกสถานการณ์ได้ ขอเพียงรู้เหลี่ยมมุมและจังหวะในการเล่น

นอกจากนั้นความสามารถของ Operator คนต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้เกมมีลูกเล่นที่หลากหลาย ทั้งการเจาะกำแพง ทุบไม้ ใช้เครื่องป้องกันหรือรบกวนการสื่อสาร ทำให้ตรวจจับกล้องวงจรปิดหรือใช้โดรนสอดแนมไม่ได้ ยิ่งเป็นการทำให้เกมวัดกึ๋นในด้านความชำนาญแผนที่ และความรวดเร็วเวลาเจอศัตรูว่าใครจะยิงโดนหรือแม่นกว่ากัน Rainbow Six Siege ไม่ใช่เกมที่มีระบบแต่งปืนลึกล้ำอะไร ขึ้นอยู่กับความเคยชิน และการรู้เหลี่ยมมุมในแผนที่มากกว่าเกมอื่น ๆ เท่านั้น ซึ่งของแบบนี้ต้องอาศัยประสบการณ์การเล่นและชั่วโมงบินที่สูงเท่านั้น

ด้วยรูปแบบเกมเพลย์การเล่นที่ปัจจุบันนี้ก็ญังคงหาใครมาเทียบเหมือนได้ยาก บวกกับคอนเทนต์แน่น ๆ ที่อัปเดตกันมาตลอด 10 กว่าปี ไม่น่าแปลกใจนักที่ Rainbow Six Siege จะกลายเป็นหนึ่งในไอพีสุดแกร่งของ Ubisoft ที่นอกจากอัปเดตแล้ว ก็ยังคงมีการแข่งขันรายการใหญ่ทุก ๆ ปี

มาเริ่มเล่นตอนนี้จะทันไหม ?

คำถามที่มีให้กับทุกเกม เวลาที่มันเปิดมานานแล้ว เพราะผู้เล่นใหม่คืออีกส่วนสำคัญที่จำเป็นไม่ว่าเกมใด ๆ ก็ตาม การทำให้คนใหม่เข้ามาเล่นได้ เป็นเรื่องที่ดีเสมอ แล้วกับ Rainbow Six Siege ที่มีอายุครบสิบปีล่ะ มันยังเหมาะจะเข้ามาเล่นในตอนนี้ไหม

คำตอบก็คือทุกเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมนี้หรือเกมไหน และเปิดมานานเท่าไรแล้ว ถ้าคุณอยากเล่น บานประตูมันก็เปิดอ้ารอให้คุณเข้าไปเล่นเสมอ แต่ในส่วนของเกม Rainbow Six Siege นั้น อาจจะมีปัจจัยสำคัญที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเยอะซะหน่อย

ข้อแรกคือเรื่องของราคา Rainbow Six Siege ไม่ใช่เกมฟรี และการอัปเดต Siege X ที่กำลังจะมาในเดือนมิถุนายนนี้ ก็ไม่ได้ฟรีไปซะทีเดียว เพราะยังมีคอนเทนต์มากมายหลายตัวที่ล็อกเอาไว้สำหรับเวอร์ชันจ่ายเงินซื้อเท่านั้น ในตอนนี้ตัวเกม Rainbow Six Siege หลัก วางขายอยู่ในราคา 569 บาท ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นแค่ Base Game เพราะตัวเกมเปิดมานานขนาดนี้ ตัวละครใหม่ ๆ ทั้งฝั่งรุก ฝั่งกันก็มีเพียบ การจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อตัวเกมในระดับ Deluxe / Operator / Ultimate ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทศกาลลดราคาหรือ Steam Sale ก็ได้ในราคาที่ถูกกว่านี้

ต่อมาคือเรื่องของ Learning Curve ที่ใช้เรียนรู้ในการเล่นเกม เกมนี้ถือว่าเป็นเกมที่มี Learning Curve สูงมาก ๆ ทั้งแผนที่ การแต่งปืน การเรียนรู้ความสามารถของ Operator ทั้งสองฝั่งว่าตัวไหนทำอะไรได้บ้าง คุณจะต้องกลายเป็นไก่ให้คนเชือดเล่นอยู่หลายสิบชั่วโมงแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของเหลี่ยมมุมแผนที่ รูเล็ก ๆ ที่อาจพาเราตาย หรือแม้กระทั่งการยิงพังทำลายกล้องวงจรปิดหรือ Gadget ต่าง ๆ ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่น้อยเลย

ซึ่งเป็นอีกอีกปัจจัยที่ต้องตามมาด้วยก็คือคุณมีเพื่อนเล่นด้วยหรือเปล่า ในการเริ่มต้นเล่นเกมนี้ ถามว่าไม่มีเลย มาฉายเดี่ยว ลุยยาวจนกว่าจะเก่ง ได้ไหม คำตอบคือได้แน่นอน แต่ผู้เขียนแนะนำว่าให้คุณปิดทั้ง Voice Chat, Message Chat เพื่อไม่ให้เสียกำลังใจ โลกของ Rainbow Six Siege ก็เหมือนเกมอื่น ๆ ที่เปิดมานาน ผู้เล่นเก่าไม่ได้สนใจผู้เล่นใหม่ ถ้าคุณไปทำเก้ ๆ กัง ๆ เสริมกำแพงปิดจุด ลืมปิด Hatch ลืมใช้สกิล ทีมก็พร้อมจะสาปส่งคุณด้วยความ Toxic ได้ตลอดเวลา อันนี้ไม่ต้องมองไกล ประสบการณ์จากทีมประจำผมเอง กดตี้กัน 4 คน สุ่มเจอคนนอก 1 คนที่เล่นไม่ค่อยเป็น เพื่อนผู้เขียนก็ใส่ยับจนอีกคนต้องบอกให้ใจเย็น ๆ

คือเราจะมองว่าทำไมไม่ใจดีกับมือใหม่ ก็ไม่ได้อีก เพราะเกมก็ไม่ได้แขวนป้ายไว้ที่ผู้เล่นว่าคนนี้มือใหม่ แต่ถ้าเป็นไปได้ การหาเพื่อนที่เล่นเป็นอยู่แล้วมาช่วยสอน (และต้องเป็นเพื่อนที่ใจเย็นสักหน่อย) จะดีกว่า หรือถ้าคุณจิตใจเด็ดเดี่ยว แข็งแกร่งพอที่จะไปลุยคนเดียวจนกว่าจะเชี่ยวชาญก็จัดได้เลยตามสะดวก ผู้เขียนยกตัวอย่างตัวเองที่กลับมาเล่นในรอบปีเพราะเพื่อนชวน ในช่วงแรกที่กลับมาก็ทำตัวไม่ค่อยถูก เน้นเดินตามเพื่อน แต่พอเล่นบ่อย ๆ แค่วันละ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องกันสักครึ่งเดือน ก็เห็นได้ชัดว่ายิงได้ดีขึ้น รู้แผนที่มากขึ้น ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วคุณต้องถามตัวเองว่าถ้าอยากเล่นเกมนี้ คุณพร้อมจะยอมเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หรือเปล่า เพราะสุดท้ายมันก็เป็นแค่เกม ใช้เวลากับมันไม่นานคุณก็พอจะเข้าใจระบบ และเล่นมันให้สนุกได้แล้ว

ท้ายที่สุดแล้ว Rainbow Six Siege น่าจะยังมีพื้นที่อยู่หารส่วนแบ่งตลาดเกม Live Services ไปอีกสักพักใหญ่ ๆ ตราบใดที่ยังมีการอัปเดต และได้รับการดูแลอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่น่าสนใจก็คือการมาถึงของ Rainbow Six Siege X ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ที่พวกเราเคยนำเสนอ และ Preview กันไปแล้วเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และถึงตอนนั้นเราค่อยมาดูกันว่า Rainbow Six Siege จะเป็นยังไงกันต่อไป หลังฝ่าฟันกาลเวลามายาวนานกว่า 10 ปีเต็ม

ใครมีประสบการณ์อะไรกับเกมนี้ ก็ลองเล่ามาให้พวกเราได้อ่านกันได้

Aisoon Srikum

Back to top