BY Zreast
31 May 22 3:48 pm

เทียบกันชัด ๆ ! 4 หูฟัง HyperX รุ่นยอดฮิต แบบไหนที่ใช่กับสไตล์คุณ

1,015 Views

ถ้าพูดถึงชื่อ “HyperX Cloud” ขึ้นมา เชื่อว่าเกมเมอร์จะต้องคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดีแน่นอน เพราะนี่คือรุ่นหูฟังยอดฮิต ที่เป็นดาวค้างฟ้า อยู่คู่วงการเกมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 9 ปี

เหตุใดหูฟัง HyperX Cloud ถึงยังได้รับความนิยม และเป็นรุ่นที่ขายดีอย่างต่อเนื่องมาเสมอ ? แล้วตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทาง HyperX ปรับปรุงอะไรเพิ่มเข้ามาบ้าง วันนี้เราจะมาเปรียบเทียบให้ดูกันชัด ๆ กับ HyperX Cloud 4 แบบ 4 สไตล์ ที่จะมาตอบโจทย์การเล่นเกมของคุณได้อย่างครบถ้วน และครอบคลุมที่สุด

โดยสำหรับ HyperX Cloud ที่เรานำมาเปรียบเทียบกันวันนี้ มีทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่

1. HyperX Cloud II

Hyperx Cloud Ii

หูฟังรุ่นมาตรฐานแบบมีสาย ขายดีต่อเนื่องมายาวนาน และเกมเมอร์รู้จักเป็นอย่างดี

2. HyperX Cloud Alpha S

Hyperx Cloud Alpha

หูฟังมีสาย รุ่นอัปเกรดคุณภาพเสียงที่ต่อยอดมาจาก HyperX Cloud Alpha และเพิ่มลูกเล่นการปรับเสียงเบส

3. HyperX Cloud II Wireless

Hyperx Cloud Ii Wireless

หูฟังรุ่นมาตรฐานแบบไร้สาย ใช้งานได้หลากหลายแพลตฟอร์ม

4. HyperX Cloud Alpha Wireless

Hyperx Cloud Alpha Wireless

หูฟังไร้สายรุ่นล่าสุดที่กำลังจะวางขายเร็ว ๆ นี้ รองรับระบบเสียง DTS:X พร้อมแบตเตอรี่อยู่ได้นานสูงสุด 300 ชั่วโมง

นั่นหมายความว่าเรามี HyperX Cloud II และ Cloud Alpha มาเปรียบเทียบกันแบบครบครันทั้งมีสายและไร้สาย โดยที่ตัว Cloud II ของเราจะเป็นรุ่นสีชมพูที่มีความสดสว่างน่าใช้งาน ขณะที่ Cloud Alpha Wireless ก็เป็นรุ่นล่าสุดซึ่งน่าจับตามองเลยทีเดียว ว่าจะมีอะไรที่แตกต่างไปจากรุ่นพี่อยู่บ้าง

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง

Hyperx Cloud Accessories

เริ่มต้นเรามาดูอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทาง HyperX ให้มาในกล่องกันก่อนเลย

รุ่นหูฟัง อุปกรณ์
HyperX Cloud II – ตัวหูฟัง
– ไมโครโฟนแบบถอดแยกได้ พร้อมฟองน้ำ
– การ์ดเสียง USB
– คู่มือ
HyperX Cloud Alpha S – ตัวหูฟัง
– ถุงใส่หูฟัง
– Earpad สำรองแบบกำมะหยี่ 1 คู่
– ไมโครโฟนแบบถอดแยกได้ พร้อมฟองน้ำ
– การ์ดเสียง USB
– คู่มือ
HyperX Cloud II Wireless – ตัวหูฟัง
– ตัวรับสัญญาณหูฟังแบบ USB
– สายชาร์จ USB C to USB A
– ไมโครโฟนแบบถอดแยกได้ พร้อมฟองน้ำ
– คู่มือ
HyperX Cloud Alpha Wireless – ตัวหูฟัง
– ตัวรับสัญญาณหูฟังแบบ USB
– สายชาร์จ USB C to USB A
– ไมโครโฟนแบบถอดแยกได้ พร้อมฟองน้ำ
– คู่มือ

สังเกตว่า HyperX Cloud Alpha S จะมีถุงใส่หูฟังมาด้วย พร้อมกับ Earpad สำรองแบบกำมะหยี่อีก 1 คู่ ซึ่งรุ่นอื่นไม่ได้มีมาให้ ตรงนี้ก็เป็นข้อได้เปรียบที่เราสามารถสับเปลี่ยน Earpad ได้ตามต้องการ

ส่วนทางฝั่งของหูฟัง Wireless นั้นจะได้อุปกรณ์ในกล่องมาเหมือนกันทั้งตัว Cloud II และ Cloud Alpha ซึ่งมีสายชาร์จที่ปลายข้างหนึ่งเป็น USB C และอีกข้างเป็น USB A พร้อมสรรพ แต่ในตอนที่ออกมาจากกล่อง หูฟังก็จะถูกชาร์จมาก่อนแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องเสียบชาร์จก่อนก็ได้ในตอนแรก

Hyperx Cloud Dongle

จุดหนึ่งที่หูฟัง Wireless ทั้งสองรุ่นนั้นแตกต่างกัน ก็คือตัวรับสัญญาณ ซึ่งฝั่งของ Cloud II Wireless จะมีขนาดใหญ่เป็นรูปทรงแบบเดียวกับแฟลชไดรฟ์ ส่วนตัวรับสัญญาณของ Cloud Alpha Wireless ที่เป็นรุ่นอัปเกรด กลับมีขนาดเล็กกว่าเกือบครึ่งตัวเลยทีเดียว ตรงนี้ถือว่าน่าสนใจ และต้องรอดูในพาร์ททดสอบคุณภาพเสียงกันว่าจะแตกต่างอย่างไรบ้าง

ดีไซน์

Hyperx Cloud Design 2

มาต่อกันที่ดีไซน์ของหูฟังกันบ้าง ซึ่งที่จริงทั้ง 4 รุ่นก็มีรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ตามสไตล์ HyperX อยู่แล้ว

โดยสิ่งที่เหมือนกันทุกรุ่น ได้แก่

  • มีโลโก้แบรนด์อยู่ทั้งข้างซ้าย, ขวา และที่คาดด้านบน
  • มีช่อง 3.5 มม. สำหรับเสียบไมค์
  • บริเวณก้านที่ติดกับ Earpad  มีความมันเงาเล็กน้อย สะท้อนแสงแล้วดูสวยงาม
  • สำหรับรุ่นมีสาย สายหูฟังจะติดมากับหูฟังเลย ถอดไม่ได้
  • รุ่นไร้สาย ฝั่งซ้ายจะมีช่อง USB C สำหรับเสียบชาร์จหูฟัง, ปุ่ม Power, ปุ่มเปิด-ปิดไมค์ ส่วนฝั่งขวาจะมีปุ่มหมุนปรับระดับเสียง

ส่วนจุดที่แตกต่างกัน จะเป็นเรื่องของดีไซน์บางจุด รวมไปถึงปุ่มควบคุมการใช้งานรอบ ๆ ตัวหูฟังที่บางรุ่นจะพิเศษกว่ารุ่นอื่น ดังต่อไปนี้

รุ่นหูฟัง ดีไซน์
HyperX Cloud II – ที่คาดด้านบนเป็นผิวเรียบ
– รุ่นที่เราเลือกมาเป็นสีขาวตัดชมพู บริเวณก้านที่ติดกับ Earpad ก็เป็นสีชมพู สะท้อนแสงแล้วโดดเด่นกว่ารุ่นอื่นเป็นพิเศษ
– การ์ดเสียงมีปุ่มบวกลบทั้งเสียงหูฟังและไมค์, เปิด-ปิดไมค์ด้วยปุ่มแบบสไลด์
HyperX Cloud Alpha S – ที่คาดด้านบนเป็นผิวไม่เรียบ
– ก้านที่ติดกับ Earpad จะเจาะเป็นช่องโปร่งตามเอกลักษณ์รุ่น Alpha
– รอบ ๆ Earpad เป็นผิวเรียบ สามารถถอดเปลี่ยนได้ ขณะที่รุ่นอื่น ๆ จะเป็นผิวหยัก
– มีปุ่มเลื่อนปรับเสียงเบสได้ 3 ระดับ อยู่ด้านหลังหูทั้ง 2 ข้าง
– การ์ดเสียงมีปุ่มบวกลบปรับเสียงหูฟัง ส่วนอีกฝั่งจะเป็นการปรับบาลานซ์เสียงเกมและเสียงแชท
– เปิด-ปิดไมค์ด้วยปุ่มแบบกด กดแล้วจะมีไฟสีแดงแจ้งสถานะให้ทราบ
HyperX Cloud II Wireless – ที่คาดด้านบนเป็นผิวเรียบ
– บริเวณก้านที่ติดกับ Earpad จะโค้งมนตามแนวกว้าง เวลาสะท้อนแสงจะเห็นเป็นเงามีมิติ
HyperX Cloud Alpha Wireless – ที่คาดด้านบนเป็นผิวไม่เรียบ
– ปุ่มหมุนปรับระดับเสียงที่ฝั่งขวาเป็นแบบหยัก จับถนัดมือกว่า Cloud II Wireless เล็กน้อย
– ก้านที่ติดกับ Earpad เจาะเป็นช่องโปร่งตามเอกลักษณ์รุ่น Alpha 

สังเกตได้ว่ารุ่น Alpha S จะมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากรุ่นอื่น ก็คือปุ่มปรับเสียงเบสที่ปรับได้ถึง 3 ระดับ ซึ่งเมื่อเราลองใช้งานจริงแล้วก็พบว่ามันให้ความแตกต่างได้เยอะมากอย่างน่าพอใจทีเดียว โดยถ้าดันปุ่มลงมาด้านล่างสุด จะแทบไม่ได้ยินเบสเลย ส่วนถ้าดันขึ้นไปบนสุด ก็จะได้ยินเบสมาเต็มลูก สะใจคอเกมแอคชันที่ชอบเอฟเฟคต์ความกระแทกกระทั้นแน่นอน

ไมค์ 

Hyperx Cloud Design

ในส่วนนี้เรียกว่าขอให้มั่นใจได้เลย เพราะไม่ว่าจะเป็น Cloud รุ่นไหน ก็รับประกันความเทพของไมค์แบบ Noise Cancelling ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ HyperX มาช้านาน ด้วยคุณภาพการตัดเสียงรบกวนระดับดีเยี่ยม ได้ยินเสียงพูดชัดเจน ไม่ก้อง ตัวฟองน้ำสามารถกันลม, กันเสียงหายใจได้ดี และยังสามารถปรับความงอได้อิสระอีกด้วย เพื่อให้เข้ากับปากเราที่สุด

การสวมใส่

Hyperx Cloud Wearings

เช่นเดียวกันว่านี่ก็คืออีกหนึ่งเอกลักษณ์ของหูฟัง HyperX Cloud ที่ทำให้ใครหลายคนยังคงหลงรักถึงทุกวันนี้ เพราะมันสามารถสวมใส่ได้สบาย ใช้วัสดุเป็นเมมโมรีโฟม ที่ปรับตัวเข้ากันกับสรีระของหูได้อย่างหลากหลายเหมือนกันในทุกรุ่น 

แต่จะมีพิเศษหน่อยก็ตรงที่รุ่น Cloud Alpha S ซึ่งมี Earpad แบบกำมะหยี่มาให้เปลี่ยนด้วย เมื่อเราทดสอบสวมใส่ดูแล้วก็พบว่ามีสัมผัสที่ต่างกัน และนุ่มกว่าแบบหนังเทียมที่ติดมากับหูฟังเล็กน้อย ซึ่งจุดนี้ก็แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคน ใครที่ร้อนหูง่าย ก็อาจจะเลือกใช้เป็นตัวกำมะหยี่ได้เลย

ในส่วนของน้ำหนักหูฟัง แต่ละรุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 300 กรัมเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่หนักและไม่เบาจนเกินไป ขณะที่แรงบีบหูฟังก็ถือว่ากำลังดีมาก และสามารถสวมใส่เล่นเกมได้เป็นเวลานานโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บหูง่าย ๆ

คุณภาพเสียงขณะเล่นเกม

Hyperx Cloud Lineup2

เข้าสู่นาทีสำคัญที่เชื่อว่าหลายคนอยากจะรู้กันแล้ว ว่าในแต่ละรุ่นจะมีคุณภาพเสียงเป็นอย่างไรบ้างขณะเล่นเกม โดยเกมที่เราเลือกมาทดสอบก็คือ Forza Horizon 5 ซึ่งเป็นเกมที่ขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบเสียงอันยอดเยี่ยม จนสามารถคว้ารางวัล Best Audio Design มาได้จากเวที The Game Awards 2021

และอีกเกมหนึ่งก็คือ Call of Duty: Warzone ที่ต้องอาศัยการจับทิศทางของเสียงเพื่อระบุตำแหน่งศัตรู รวมถึงตัวเกมยังมีความโดดเด่นในเรื่องของเสียงปืน ที่ทีมงานทำออกมาได้อย่างดุดันถึงใจอีกด้วย

โดยในการทดสอบ เราเลือกเปิดโหมดเสียงเป็น Virtual Surround 7.1 เพื่อให้ได้ประสบการณ์เสียงรอบทิศทางแบบเต็มสูบ โดยสำหรับรุ่น HyperX Cloud Alpha Wireless จะเปิดใช้งานเป็นระบบเสียง Spatial Audio ของ DTS:X ซึ่งตัวหูฟังรองรับ

Forza Horizon 5

Forza Horizon Gamingdose

รุ่นหูฟัง Forza Horizon 5
HyperX Cloud II – เสียงรถปะทะเข้ามาด้านหน้า มีย่านเสียงที่แตกต่างกันกับเครื่องยนต์รถแต่ละรุ่น
– จับทิศทางเสียงสภาพแวดล้อมได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะรถที่วิ่งสวนทาง เวทีเสียงกว้างประมาณหนึ่ง
HyperX Cloud Alpha S – เสียงเครื่องยนต์ทุ้มและหนักแน่นขึ้นกว่า HyperX Cloud II ด้วยอานิสงส์ของพลังเสียงเบสที่สามารถปรับตั้งค่าได้ตามใจชอบ
– เวทีเสียงกว้างมาก ปลอดโปร่ง ให้บรรยากาศขับรถในแผนที่กว้างได้เป็นอย่างดี
HyperX Cloud II Wireless – เก็บรายละเอียดเสียงเครื่องยนต์ได้ดีทั้งเสียงแหลมและเสียงทุ้ม มีมวลของเบสที่มากขึ้นกว่าเดิม
– จับทิศทางเสียงสภาพแวดล้อมได้ดี เวทีเสียงกว้างประมาณหนึ่ง
– ระดับเสียงจะเบากว่า HyperX Cloud II เล็กน้อย
HyperX Cloud Alpha Wireless – รายละเอียดเสียงคมชัดมาก ทั้งเสียงเครื่องยนต์ และวัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ปลิวกระจายเมื่อซิ่งรถไถลไปตามข้างทาง
– จับทิศทางเสียงสภาพแวดล้อมได้ดีเยี่ยม เวทีเสียงกว้างมาก
– ระดับเสียงจะเบากว่า HyperX Cloud Alpha S เล็กน้อย

Call of Duty: Warzone

Warzone Gamingdose 2

รุ่นหูฟัง Call of Duty: Warzone
HyperX Cloud II – เสียงปืนมีความชัดเจน เที่ยงตรง
– จับทิศทางเสียงได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางในแนวราบและระดับสูง-ต่ำ
HyperX Cloud Alpha S – จับทิศทางเสียงได้อย่างแม่นยำ โดยมีเวทีเสียงที่กว้างขึ้น ทำให้จับองศาของแต่ละการเคลื่อนไหวได้ละเอียดขึ้น
HyperX Cloud II Wireless – เสียงปืนจะติดเบสกว่า HyperX Cloud II
– เวทีเสียงกว้างพอประมาณ
– ระดับเสียงจะเบากว่า HyperX Cloud II เล็กน้อย
HyperX Cloud Alpha Wireless – เสียงปืนจะติดเบส แน่น คมชัดขึ้นกว่ารุ่นอื่น ๆ
– เวทีเสียงกว้างมาก
– ระดับเสียงจะเบากว่า HyperX Cloud Alpha S เล็กน้อย

จากการทดสอบ ก็ถือว่าได้ความแตกต่างของแต่ละรุ่นอยู่ประมาณหนึ่ง โดยในด้านของเวทีเสียง จะเป็นฝั่งของ HyperX Cloud Alpha ที่ทำได้ดีกว่า HyperX Cloud II ทั้งแบบมีสายและไร้สาย

ขณะที่ HyperX Cloud Alpha Wireless จะมีความโดดเด่นมากกว่ารุ่นอื่นเป็นพิเศษ ด้วยพลังของระบบเสียง DTS:X ที่มีเฉพาะรุ่นนี้เท่านั้น ทำให้เวทีเสียงกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และที่น่าสนใจก็คือเสียงที่ได้นั้นมีความคมชัดมากขึ้นด้วย แม้ขนาดตัวรับสัญญาณจะเล็กกว่า Cloud II Wireless ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องยนต์รถใน Forza Horizon 5 และเสียงปืนใน Warzone ก็มีความแตกต่างจากรุ่นอื่นประมาณหนึ่งเลยทีเดียว

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใด คาแรคเตอร์เสียงที่ได้ก็ยังคงดุดัน และมีคุณภาพในระดับที่ไว้วางใจได้อยู่เช่นเคย ภายใต้เทคโนโลยีไดรเวอร์แบบ Dual Chamber ที่แยกการขับเสียงเบสย่านกลางและสูงออกจากกัน ซึ่งใครที่อยากควบคุมระดับเสียงเบสตอนเล่นเกมได้เอง เช่นอยากให้ Forza Horizon 5 ได้เสียงแน่น ๆ แต่ Warzone ไม่ต้องเน้นเบสมากก็ได้ รุ่น Cloud Alpha S ก็จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีที่สุด

ซอฟต์แวร์ปรับแต่ง

Hyperx Cloud Lineup

อันที่จริง HyperX Cloud สามารถเชื่อมต่อและสามารถใช้งานได้ทันที โดยสำหรับรุ่นมีสาย ก็จะมีการ์ดเสียงสำหรับควบคุมการเปิด-ปิด ระบบเสียงรอบทิศทาง 7.1 อยู่แล้ว

แต่ทั้งนี้ทาง HyperX ก็มีซอฟต์แวร์ NGenuity มาให้เราปรับแต่งได้มากขึ้นอีกหนึ่งระดับสำหรับเกมเมอร์ชาว PC เปิดให้ดาวน์โหลดได้ผ่านทาง Microsoft Store โดยตรง

โดยสำหรับแต่ละรุ่น จะมีลูกเล่นการปรับแต่งใน NGenuity ที่แตกต่างกันดังนี้

รุ่นหูฟัง ฟังก์ชันปรับแต่ง
HyperX Cloud II ไม่รองรับการปรับแต่งผ่านซอฟต์แวร์, รุ่นนี้เป็นแบบ Plug-n-play ที่ปรับแต่งเสียงได้ผ่านทางการ์ดเสียงโดยตรง
HyperX Cloud Alpha S – เปิด-ปิดโหมด Mic Monitoring ได้ ซึ่งใช้สำหรับฟังเสียงพูดของเราที่เข้าไปผ่านไมค์
– ปรับบาลานซ์ระหว่างเสียงเกมและเสียงแชท– เปิดปิดระบบเสียงรอบทิศทาง 7.1
– โหมดปรับเสียงให้เข้ากันกับเกมที่เล่นแบบอัตโนมัติ
HyperX Cloud II Wireless – เปิด-ปิดโหมด Mic Monitoring ได้
– เปิดปิดระบบเสียงรอบทิศทาง 7.1
HyperX Cloud Alpha Wireless – เปิด-ปิดโหมด Mic Monitoring ได้
– เปิดปิดระบบเสียงรอบทิศทาง DTS:X Spatial Sound
– ตั้งค่า Equalizer ได้หลายโปรไฟล์

ในรุ่น Cloud II ที่เป็นต้นฉบับนั้น จะมีฟังก์ชันการใช้งานที่จบในตัว และไม่รองรับการปรับแต่งผ่านซอฟต์แวร์เพิ่มเติม ขณะที่ตัวอื่น ๆ จะมีฟังก์ชันเพิ่มมาบ้างใน NGenuity โดยที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็นฝั่งของ HyperX Cloud Alpha S ที่มีระบบ Auto-optimize ปรับเสียงให้เข้ากันกับเกมที่เล่นที่สุด ซึ่งเกมที่รองรับก็จะเป็นเกมสไตล์ Competitive ยอดฮิต เช่น Apex Legends, Overwatch, CS:GO, Call of Duty Modern Warfare เป็นต้น

Cloud Alpha Wireless Ui

ส่วนทางด้านของ Cloud Alpha Wireless ก็จะจัดเต็มในด้านระบบเสียงกว่าด้วย DTS:X Spatial Sound ซึ่งในส่วนนี้เราจะต้องติดตั้งไดร์เวอร์ของหูฟังเพิ่มเติมก่อน จึงจะเริ่มต้นใช้งานได้

สรุป

HyperX Cloud แต่ละตัวนั้นให้คุณภาพเสียงที่ดีไปในทิศทางเดียวกัน แต่จะมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานยิบย่อย

ซึ่งเราสรุปจุดเด่นและราคาของแต่ละรุ่นออกมาได้ดังนี้

HyperX Cloud II – 3,090 บาท

Hyperx Cloud Ii 2

รุ่นมาตรฐานที่ได้รับความไว้วางใจมานาน ฟังก์ชันการใช้งานไม่หวือหวา แต่คุณภาพอัดแน่นคุ้มกับราคาที่สุด

HyperX Cloud Alpha S – 3,990 บาท

Hyperx Cloud Alpha 2

รุ่นอัปเกรดที่ได้เวทีเสียงกว้างขึ้น และเป็นรุ่นเดียวที่ปรับระดับเบสได้เองเลย จากปุ่มที่ตัวหูฟัง

HyperX Cloud II Wireless – 4,890 บาท

Hyperx Cloud Wireless 2

รุ่นไร้สายแบบมาตรฐาน ต่างจาก Cloud II ปกติตรงที่สามารถตั้งค่าในซอฟต์แวร์ได้ด้วย

HyperX Cloud Alpha Wireless – 6,990 บาท 

Hyperx Cloud Alpha Wireless 2

รุ่นไร้สายอัปเกรดล่าสุด ระบบเสียงล้ำที่สุด และมีแบตเตอรี่ใช้งานได้นานถึง 300 ชั่วโมง

เชื่อว่าตอนนี้หลายคนก็น่าจะมีคำตอบในใจกันแล้ว ว่า HyperX Cloud แบบไหนที่ใช่สำหรับตัวเอง โดยทั้ง Cloud II, Cloud II Wireless และ Alpha S สามารถหามาเป็นเจ้าของได้เลยวันนี้ง่าย ๆ ผ่านทางร้านขายอุปกรณ์ไอทีและเกมมิ่งเกียร์ทั่วไป

ส่วน HyperX Cloud Alpha Wireless เป็นรุ่นล่าสุดที่กำลังจะวางขายในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งก็น่าจับตามองว่าจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งรุ่นหรือไม่ ที่ครองใจเกมเมอร์ทั่วโลกไปได้ยาว ๆ อีกหลายต่อหลายปี เช่นเดียวกับที่บรรดาหูฟังรุ่นพี่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

Satthathan Chanchartree

ฟ่าง - Content Writer

Back to top