Balatro แนะนำตัวเองสู่วงการวิดีโอเกมโลก ด้วยการแปะป้ายว่าเป็นเกมแนว Roguelike Deckbuilding ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าจะเป็นเกมหนึ่งที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในกระแสยอดฮิตของเหล่าเกมอินดี้ ที่ต่างพยายามจะหยิบเอาองค์ประกอบของ Roguelike เข้าไปผสมกับเกมมากมายหลายแนวที่เราเห็นกันจนชินตา
แต่ Balatro มันมีอะไรมากกว่านั้นหลายเท่า มันได้พาแทบจะทุกองค์ประกอบของเกมไปยังมิติใหม่ๆ ที่เราไม่ค่อยได้สัมผัสนัก เริ่มตั้งแต่การออกแบบ UI พื้นที่ของการเล่นที่เรียบง่ายชวนเข้าใจได้รวดเร็ว ไม่หวือหวาหรือโถมเอฟเฟคท์อลังการเข้ามาใส่จนชวนปวดหัว ความหลากหลายของการ์ดโจ๊กเกอร์ทั้ง 150 ใบซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเกม การออกแบบลวดลายและวัสดุพิเศษของไพ่ที่เพิ่มความเป็นไปได้ของเกมจนนับไม่ถ้วน ไปจนถึงการดีไซน์ flow หรือว่าขั้นตอนของการเล่นในแต่ละรัน ที่ชวนให้ติดพัน จนกลายเป็นเกมที่ผู้เล่นทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มันทำคุณไม่ได้หลับได้นอนแน่ๆ
และความพิเศษที่ทำให้ Balatro เหนือล้ำเกินเกมอื่นในแนวเดียวกันไปอีกขั้นก็คือ วิธีในการนับคะแนนและการ์ดโจ๊กเกอร์แต่ละใบ จะเชื่อมโยงและเข้าไปบังคับให้ผู้เล่นได้คิดหาวิธีการทำสกอร์ในทุกมิติ “การเล่น” ของผู้เล่นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งไพ่ การเพิ่มคะแนนของหน้าไพ่ การจัดเรียงตำแหน่งของไพ่โจ๊กเกอร์และไพ่ในมือก่อนลง การทำลายไพ่ออกไปจากสำรับ การกดข้ามด่าน การวางไพ่ทาโรต์ทิ้งไว้เฉยๆ ในกอง การเปิดซองกาชาแต่ไม่เลือก การลดเงินของตัวเองให้ติดลบ หรือแม้กระทั่งการกดเปลี่ยนการ์ดในร้านค้าไปเรื่อยๆ ทุกอย่างที่ว่ามาคือบางส่วนเท่านั้น ถ้าคุณได้สัมผัส Balatro ด้วยตัวเอง คุณจะรู้ได้ทันทีว่า “หัวใจสำคัญ” ของเกมนี้ มันคือ “การเล่น” หรือ “เกมเพลย์” อย่างแท้จริง
นั่นทำให้ไม่ว่าคุณจะเริ่มรันใหม่เป็นกี่ร้อยกี่พันครั้ง เกมจะรับประกันได้ว่าคุณจะไม่ได้เล่นแบบเดิมซ้ำเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในรันหนึ่ง คุณอาจจะเล่นลงไพ่ใบเดียวฟาดคะแนนหลักล้านและเอาชนะบอสใหญ่ได้ แต่ในรันถัดมา ต่อให้คุณจะลง Royal Flush กวาดคะแนนสูงสุดในแต่ละเทิร์น แต่กลับพ่ายแพ้ต่อบอสด่านสามด่านสี่อย่างหมดท่าเลยก็ได้
ทุกอย่างที่ว่ามามันทำให้ Balatro เป็นเกมเล็กๆ ที่แฝงด้วยไอเดียอภิมหาใหญ่ ทลายกำแพงของเกมแนว deckbuilding และพา Roguelike ไปยังพรมแดนใหม่ๆ ซึ่งเราต่างก็ตื่นเต้นที่จะได้เห็นเกมมากมายในอนาคตหยิบเอาไอเดียของ Balatro ไปต่อยอดได้อย่างไม่สิ้นสุด