BY BOM
3 Sep 18 4:52 pm

eSports เรื่องที่เกมเมอร์อยากให้ทุกคนเข้าใจ เรื่องที่คนทั่วไปต้องการให้อธิบาย

1 Views

กลายเป็นประเด็นไปทั่วทั้งโลกกันเลยที่เดียวกับกระแส eSports นั้นเป็นเป็นกีฬาหรือไม่ ที่ได้ถกเถียงกันตั้งแต่ประเทศเล็ก ๆ อย่างประเทศไทย ไปจนถึงคณะกรรมการ Olympic ที่ได้ตัดสินว่า eSports ไม่ใช่กีฬา แน่นอนว่าได้นำความเดือดดาลไปยังมวลมหาเกมเมอร์ทั่วโลก แต่ก่อนที่จะทะเลาะกันมากกว่านี้ เรามาดูเหตุผลของเกมเมอร์ที่อยากให้ eSports เป็นกีฬากับคนธรรมดาที่มองว่า eSports ยังไม่เป็นกีฬากันก่อน

สิ่งที่เกมเมอร์อยากบอก

eSports แม้ไม่ได้ออกท่าทางและการเคลื่อนไหวเหมือนกีฬาปกติ แต่ต้องใช้การวางแผนและการฝึกซ้อมเหมือนกัน

หนึ่งในเรื่องแรก ๆ ที่คนทั่วไปหลายคนเข้าใจผิด ระหว่างนักกีฬา eSports กับเด็กติดเกม คือ เด็กติดเกมเล่นเกมเมื่อความสนุกสนาน แบ่งเวลาในชีวิตไม่เป็นทำให้สมดุลในชีวิตมีปัญหา ในขณะที่นักกีฬา eSports เล่นเกมอย่างมีจุดมุ่งหมาย มีการวางแผน การฝึกซ้อม  และมีการจัดสมดุลให้กับเวลาชีวิตอย่างเหมาะสม แม้ว่านักกีฬา eSports การฝึกซ้อมอาจจะไม่ได้เคลื่อนไหวเหมือนกีฬาอื่น ๆ แต่ว่าการคิดการวางแผนก็พัฒนาขึ้นตามเวลาของการฝึกซ้อมเหมือนกับกีฬาอื่น ๆ

eSports สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติเหมือนกีฬาอื่น ๆ 

หลายคนอาจจะติดภาพเด็กนั่งเล่นเกมอยู่ตามร้านเกม พร้อมกับการตะโกนโหวกเหวก แต่นั่นเป็นเพียงบางส่วนที่คุณรับรู้เท่านั้น ความเป็นจริงแล้วคนไทยมีนักกีฬา eSports หลายคนที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างมากมายและต่อเนื่อง นอกจากนี้นักกีฬา eSports บางคนยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชนอีกด้วย

eSports มีกฏและกติกาเหมือนกับกีฬาอื่น ๆ 

เกมก็เหมือนกับกีฬาที่มี กฏ กติกา กรรมการ มีรูปแบบการเล่นที่ทั้งสองฝ่ายต่างรู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะชนะ  ต่างกันไปตามแนวเกมต่าง ๆ  มีบทลงโทษสำหรับผู้ทำผิดเหมือนกัน ดังนั้น eSports จึงมีองค์ประกอบของกีฬาอย่างครบถ้วน

เกมและ eSports เป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่

ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวัยรุ่นอย่างเราต้องโตมากับเกม อย่างน้อยก็เคยผ่านกันมาคนละ 1 เกมเป็นอย่างน้อย ซึ่งสิ่งนี้มันเหมือนเป็นมากกว่าความบันเทิง หลายคนมีเพื่อนจากการเล่นเกม หลายคนได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากเกม ดังนั้นใครบ้างละที่จะไม่อยากให้เกมของตัวเองกลายเป็นกระแส ผู้เล่นเยอะขึ้น อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในการสร้างความยังยืนให้กับเกมที่ตัวเองเล่นอีกด้วย

eSports มีมูลค่ามหาศาล

ไม่ต้องบอกกก็รู้ว่า ตลาด eSports ตอนนี้กำลังเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นด้านการแข่งขันที่เงินรางวัลประจำทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในทุก ๆ ปี ด้านนักกีฬาที่มีรายได้เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ที่ ซึ่งในปี 2017 นั้นตลาดของวงการ eSports มีค่ามากถึง 1.5 พันล้านเหรียญฯ ดังนั้นหากประเทศของเราสนใจและเริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้ เราจะไปได้ไกลกว่าหลาย ๆ ประเทศ

สิ่งที่คนทั่วไปอยากให้เข้าใจ

ทำไมหลายคนไม่อยากให้บุตรหลานเล่นเกม

สำหรับในมุมมองของผู้ปกครองแล้ว การเห็นลูกตัวเองนั่งเล่นเกมทั้งวันเพื่อจะเป็นนักกีฬา eSports ดูจะไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ ในขณะที่หากพูดว่าพวกเขาอยากเป็นนักกีฬาอื่น ๆ พ่อแม่ดูจะสบายใจมากกว่า เพราะอย่างน้อยลูกที่รักของพวกเขายังได้ออกไปผจญกับโลกภายนอกบ้าง อีกทั้งเล่นกีฬายังได้สุขภาพมากกว่าการเล่นเกม (หากเล่นมาก ๆ ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเหมือนกัน) อีกทั้งยังมีตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้มีน้อยเกินไป ดังนั้นการเล่นเกมเพื่อเป็นนักกีฬา eSports จึงมีความเสี่ยงที่สูงมาก

บริษัทเกมมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของเกม 

อันนี้นับว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุด สำหรับเหล่าเกมเมอร์ที่ต้องการหาเหตุผลมารับรองการเป็น eSports เพราะว่า บริษัทเกมหรือผู้พัฒนาเกมมีสิทธิ์จะกำหนดทิศทางของเกมไปอย่างไรก็ได้

เช่น เกม MOBA ที่เน้นการฟาร์มทำให้เกมการเล่น ไม่สนุกเร้าใจ ทางทีมพัฒนาอาจจะปรับให้การฟาร์มได้ทรัพยากรน้อยลง เน้นการต่อสู้ที่สนุกเร้าใจมากขึ้น แน่นอนว่ามีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์กับการปรับแต่ละครั้ง หากเทียบกับกีฬาอื่น ๆ อย่างฟุตบอล ที่พวกเขาแม้จะเคยปรับกติการบางข้อ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนบ่อยเหมือนกีฬา eSports เช่น แม้ฟุตบอลโลกบางครั้งไม่สนุกเลย ทุกทีมเน้นแต่การตั้งรับ สมาคม FIFA ก็ไม่ได้ปรับให้การตั้งรับหรือการเตะบอลถ่วงเป็นการผิดกติกา

นอกจากนี้แล้วบางบริษัทยังที่จะเก็บค่าลิขสิทธิ์สำหรับการแข่งขัน eSports เพราะถือว่าใช้เกมของพวกเขาในการโฆษณาและเล่น ทำให้ในบางครั้งการจัดการแข่งขันอาจจะต้องเสียงบประมาณมหาศาล หากเทียบกับกีฬาอื่น ๆ เช่น เปตอง เทนนิส ที่หากคุณสามารถจัดได้โดยที่ไม่ต้องทำเรื่องให้ยุ่งยาก อีกทั้งวันดีคืนดีหากค่ายเกมมองเห็นว่าเกมไม่สามารถไปต่อได้และประกาศปิดตัวเกม เราก็จะไม่มีกีฬาชนิดนี้ให้เล่นอีกต่อไป

สำหรับภาครัฐและหน่วยงานสำคัญส่วนมากจะไม่นิยมจัดการแข่งขัน eSports เกมต่าง ๆ เพราะพวกเขามองว่าต้องให้จัดดีแค่ไหน สุดท้ายคนที่ได้รับผลประโยชน์มาที่สุดคือ “บริษัทเจ้าของเกม” 

มีหลายเกมที่ไม่พร้อมจะเป็น eSports แต่ก็เรียกตัวเองว่าเกมสำหรับ eSports

ต้องยอมรับตรง ๆ ว่าเกมบางเกมนั้นเหมาะกับการเล่นสนุก แต่ไม่เหมาะกับการเป็นกีฬา eSports เพราะเหตุผลต่าง ๆ เช่น ตัวละครบางตัวเก่งเกินไปทำให้เกมไม่สมดุล บางเกมก็เน้นการเติมมากจนเกินไปชนิดที่ว่าบางครั้งต้องเติมเงินหลักแสน เพื่อที่จะสร้างความพร้อมในการแข่งขัน และที่สำคัญที่สุด “ดวง” เนื่องมากจากกีฬาทั่วไปที่ยิ่งคุณฝึกซ้อมมากเท่าไหร่ คุณก็จะเก่งขึ้นเท่านั้น แต่กับเกมที่มีดวงมาเกี่ยวข้องกับระบบการเล่นละก็ คนฝึกซ้อมมา 1 วันอาจจะเอาชนะคนฝึกซ้อม 1 เดือนได้ หากคุณดวงดีพอ

ภาพลบในสังคม

ต้องพูดอย่างเจ็บใจว่า แม้โลกเราจะเข้าถึงแหล่งความรู้ได้มากมายแค่ไหน เกม ก็คือว่าเป็นหนึ่งในภาพลบที่ติดตาผู้คนเสมอ หรือแม้กระทั่งเกมเมอร์ด้วยกันเองยังเหยียดเกมอื่นที่ตัวเองไม่ได้เล่นหรือว่าไม่ถูกจริตของตัวเองอีกด้วย โดยหากเทียบกับกีฬาอื่นแล้ว ปัญหาใดก็ตามที่มีเกมมาเกี่ยวข้องมักจะเป็นปัญหาสังคมเสมอ ทำเอาเหล่าเกมเมอร์ต้องออกมาต่อสู้เพื่อความถูกต้องทุกครั้งไป เวลาที่มีการนำเสนอข่าวเกมคือสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ

ข่าวเกมในตำนาน ที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยิน
รูปจาก OKnation

นอกจากนี้เกมเมอร์หลาย ๆ คนยังพยายามอ้างว่าตัวเองเป็นนักกีฬา eSports ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเล่นเกมเพียงเพื่อความสนุกไปวัน ๆ เท่านั้น โดยการหวังให้ eSports ได้รับการยอมรับเป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้ปิดบังตัวตนเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ตัวคุณเองว่าจะนิยามตัวเองว่าจะเป็นอะไร

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะมีทางลงอย่างไร คงไม่อาจที่จะติดสินได้ในปัจจุบัน คงมีแต่คุณเท่านั้นที่จะยอมรับว่า eSports เป็นกีฬาหรือไม่  และคุณจะทำให้คนอื่นยอมรับเรื่องนี้ได้อย่างไร คุณคงต้องอธิบายความคิดของคุณให้คนอื่นเข้าใจ โดยเฉพาะคนที่คุณแคร์มากที่สุดในโลกอย่าง “พ่อ,แม่และคนที่คุณรักเป็นต้น”

****อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง ผู้เขียนมองว่า eSports นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นกีฬา เพราะว่า eSports สามารถเติบโตได้เองอยู่แล้ว ดูอย่างบริษัทเกมใหญ่ ๆ เวลาจัด eSports ก็มักจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าที่ควร แต่ก็ยินดีหาก eSports เป็นกีฬาเนื่องจากเป็นการแสดงถึงความใส่ใจของรัฐบาล ที่มีต่อวัยรุ่นอย่างเรา****

SHARE

Nuttawat Lokkumlue

บ๋อม - Content Writer

Back to top