BY KKMTC
11 Sep 19 5:25 pm

Development Hell ทำไมการสร้างเกมนาน “เกินไป” จึงส่งผลลัพธ์ให้เกมออกมาน่าผิดหวัง

30 Views

Devolopment Hell เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในวงการสื่อบันเทิงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ และวิดีโอเกม ซึ่งใช้ระยะเวลาในการสร้าง “นาน” เกินมาตรฐาน โดยสื่อดังกล่าวยังไม่มีการประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ แต่เป็นระงับการพัฒนาสื่อชั่วคราวหรือชะลอการพัฒนาแบบไม่มีกำหนด

สาเหตุที่วิดีโอเกมติดห้วงเวลา Devolopment Hell ก็มีหลากหลายเคสเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแนวเกมกะทันหัน, เปลี่ยนแพลตฟอร์ม, เปลี่ยนผู้พัฒนาเกม, ปัญหาภายในองค์กร, การฟ้องร้องภายในบริษัท, ความรับผิดชอบของทีมงาน และอื่น ๆ อีกมากมาย

แต่เนื่องจากข้อมูลดังกล่าว ถือเป็นความลับด้านธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ด้วย “สาเหตุบางอย่าง” แต่ตัวแทนจำหน่ายกับนักพัฒนาเกมบางแห่ง ก็เคยออกมากล่าวถึงเกี่ยวกับความผิดพลาดระหว่างการสร้างเกม หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้ทุกคน แล้วสาเหตุหลักจะมีอะไรบ้างที่ ทำไมการสร้างเกมนาน “เกินไป” จึงส่งผลลัพธ์ให้เกมออกมาน่าผิดหวัง ? เรามาสอดส่องกันเลยครับ

ทีมงานไม่เอาใจใส่มากพอ หรือเปลี่ยนทีมบ่อย

Devolopment Hell อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทีมพัฒนาเกม จากการตัดสินใจของทีมตัวแทนจำหน่ายหรือผู้พัฒนาเกมอีกฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายผู้พัฒนาเกมรายอื่นที่เข้ามาสานต่อ บางครั้งจะต้องมีการรื้อถอนไอเดีย คิดค้น หรือทำเกมเกือบทั้งหมดใหม่ แต่สุดท้ายผลลัพธ์ออกมา ตัวเกมกลับมีคุณภาพต่ำและมีคุณสมบัติไม่ตรงที่ทีมงานต้องการ ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนทีมพัฒนาเกมอีกรอบ

แต่จนถึงตอนนั้น มันก็ดูเหมือนจะสายเกินไปซะแล้ว เพราะว่าตัวเกมกำลังเข้าถึงจุดเส้นตายเข้ามาทุกที หรืองบต้นทุนในการสร้างเกมหมดซะก่อน จึงเป็นเหตุให้เกมต้องออกวางจำหน่ายทั้ง ๆ ที่เกมยังสร้างไม่เสร็จ

ยกตัวอย่างเช่น Aliens: Colonial Marines ที่ตัวเกมใช้เวลาพัฒนานานตั้งแต่ปี 2001 จนถึง 2013 (12 ปี) ซึ่งตอนแรกเกมดังกล่าวพัฒนาโดยทีมงาน Check Six Studios แต่ก็ถูกยกเลิกการสร้างแบบไม่ทราบสาเหตุ และทิ้งโปรเจกต์เกมโดยไม่มีผู้สานต่อ

จนกระทั่งปี 2006 ทางทีมงาน SEGA ได้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เกมซีรีส์ Aliens พร้อมโยนหน้าที่ให้ทีมงาน Gearbox Software เป็นผู้สานต่อการพัฒนาเกม Aliens: Colonial Marines ซึ่งตอนนั้นพวกเขากำลังยุ่งกับการสร้างเกม Borderlands กับ Duke Nukem Forever พอดี ทางทีมงานจึงยังไม่โฟกัสกับการสร้างเกม Aliens เท่าที่ควร

และหลังจากเกม Borderlands ภาคแรกประสบความสำเร็จ ทีมงาน Gearbox กลับเร่งพัฒนาเกม Borderlands 2 โดยทันที แล้วโยนหน้าที่รับผิดชอบให้ทีมงาน TimeGate Studios ซึ่งเป็นทีมพัฒนาเกมอิสระแทน

จนกระทั่งระหว่างปี 2012 การพัฒนาเกม Aliens: Colonial Marines ก็ได้ประสบปัญหาด้านเทคนิค, มีการเปลี่ยนไอเดียเกมกะทันหันจากทีมงาน SEGA (ให้กลายเป็นเกมสไตล์ Call of Duty) ทำให้ทีมงาน Gearbox Software ไม่มีทางเลือก นอกจากนำเกม Aliens: Colonial Marines คืนจาก TimeGate Studios แล้วนำมาพัฒนาต่อเอง นอกจากนี้ ทางตัวแทนจำหน่ายก็เริ่มกดดันเร่งพัฒนาเกมให้เสร็จสิ้นภายใน 9 เดือน อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะตัวเกมดีเลย์มาหลายรอบแล้ว

นั่นจึงเป็นเหตุให้เกม Aliens: Colonial Marines ปล่อยวางจำหน่ายเกมในสภาพที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และมีกระแสวิจารณ์ในแง่ลบทั้งด้านปัญหาบั๊ก, เนื้อเรื่องไม่ได้มีการเคารพต้นฉบับ Aliens, คุณภาพกราฟิกแย่ กับระบบเกมหลายอย่างถูกตัดทิ้ง หรือหมายความว่าคอนเทนต์หลายอย่างที่นำเสนอในงาน E3 2011 ไม่มีอยู่ในเกมเมื่อปล่อยวางจำหน่ายนั่นเอง

เกมไม่คืบหน้าจนตกยุค

การพัฒนาเกม Devolopment Hell ที่ยาวนานเกิน 7-10 ปี อาจจะส่งผลทำให้เกมมีความล้าสมัยไปตามกาลเวลา เพราะในขณะที่แฟรนไชส์เกมอื่น ๆ มีการเติบโตตามไปตามยุคสมัย แต่เกมที่กำลังอยู่ขั้นตอน Devolopment Hell นั้น เปรียบเสมือนเป็นกบในกะลาที่ไม่สามารถปรับปรุงเกมให้ดีขึ้นตามยุค เพราะมีไอเดียต้นฉบับคอยรั้งนักพัฒนาเกมไว้ หรือ “ช้าเกิน” กว่าที่กลับไปแก้ไขเกมทั้งหมดแล้ว

ตัวอย่างเกม Devolopment Hell ที่ชัดเจนที่สุด ก็คงไม่มีทางหนีพ้นเกม Duke Nukem Forever (สร้างนาน 15 ปี) โดยเกมดังกล่าวเคยประกาศออกจำหน่ายช่วงปี 1997-1998 แต่ว่าการพัฒนาเกมเกิดการดีเลย์ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จนปี 2001 คุณ George Broussard ผู้กำเนิด Duke Nukem ประกาศว่าเกมจะวางขายก็ต่อ “เมื่อเสร็จแล้ว”

Duke Nukem Forever กลับมาอีกครั้งในช่วง 2011 และออกจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ตัวเกมถูกรับกระแสวิจารณ์ในแง่ลบอย่างมาก ในส่วนของการออกแบบเกมที่ล้าสมัยทุกด้าน ตั้งแต่ระยะเนื้อเรื่องสั้นเพียง 3-4 ชั่วโมง และระบบเกมเพลย์ที่ธรรมดามาก ทำให้หลายเจ้าสำนักเกมพร้อมมอบตำแหน่งเป็นเกมดังกล่าว “น่าผิดหวังที่สุดแห่งปี 2011” แม้ว่าเกมจะสามารถทำสถิติ Guinness World Records ในตำแหน่ง “เกมที่ใช้เวลาพัฒนานานที่สุดในโลก” ก็ตาม

ฝืนพัฒนาเกมให้แพลตฟอร์มหรือเอนจินที่ไม่ถนัด

การเปลี่ยนแพลตฟอร์มหรือเอนจินอย่างกะทันหัน ส่งผลทำให้ทีมพัฒนาเกมต้องสร้างเกมใหม่ทั้งหมด เพื่อตัวเกมสามารถรันให้เครื่องฮาร์ดแวร์ชนิดใหม่ และฝ่ายทีมงานอาจต้องใช้เวลาศึกษาการสร้างเกมเพิ่มเติม ทำให้ผลลัพธ์เกมออกมา จึงทำให้มีประสิทธิภาพแย่ เนื่องจากผู้พัฒนาเกมไม่คุ้นเคยกับการ Optimized และพบปัญหาพลังฮาร์ดแวร์ที่มีจำกัด ซึ่งให้เกมเกิดอาการบั๊กร้ายแรงที่อาจทำให้เกมพังได้

ยกตัวอย่างจากเกม Too Human ของ Xbox 360 ที่ใช้เวลาพัฒนาเกมนานกว่า 9 เดือน โดยตอนแรกเกมดังกล่าวประกาศวางจำหน่ายสำหรับเครื่อง PlayStation 1 ในปี 1999 แต่ไม่นาน ทีมงาน Silicon Knights ก็หนีไปคบค้าสมาคมกับ Nintendo จึงทำให้เกมถูกย้ายลงระบบ Nintendo Gamecube อย่างกะทันหัน แล้วต่อมาก็หันมาจับมือกับทีมงาน Microsoft เพื่อทำเกมลงเป็นเกม Xbox 360 Exclusive พร้อมพัฒนาเกมใหม่ด้วยการใช้ Unreal Engine 3 ซึ่งทีมงานไม่เคยมีประสบการณ์การใช้งาน Unreal Engine มาก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม เกม Too Human ก็มีกระแสตอบรับที่น่าผิดหวังจากเกมเมอร์หลายคน ด้วยระบบเสียงที่แย่ เฟรมเรตตก มุมกล้องออกแบบไม่ดี และระบบเกมเพลย์ที่ไม่ลื่นไหล พร้อมกับปริมาณบั๊กที่เยอะเกินกว่าจะให้อภัย

final fantasy xvแต่อย่าเข้าใจผิด ! ไม่ใช่ว่าเกม Devolopment Hell จะมีผลลัพธ์ออกมาแย่ซะหมดทุกเกม ไม่ว่าจะเป็นเกม The Last Guardian ที่มีประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างทีมงาน Sony กับ Team Ico หรือเกม Final Fantasy XV ที่เคยประกาศเปิดตัวเมื่อปี 2006 แต่วางจำหน่ายจริง ๆ ในปี 2016 ทั้งสองเกมก็ล้วนประสบความสำเร็จทั้งด้านกระแสวิจารณ์กับยอดขาย และยังมีเกม AAA อีกมากมาย ที่ผ่านช่วงเวลา Devolopment Hell แต่ตัวเกมยังประสบความสำเร็จ

สุดท้ายแล้ว การพัฒนาเกมจะมีคุณภาพออกมาดีหรือไม่ดีนั้น ก็ยังขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของทีมพัฒนาเกม และการจัดการภายในบริษัท ถึงแม้ตัวเกมจะอยู่ช่วงเวลา Devolopment Hell ก็ตาม แต่ถ้าหากทีมพัฒนาเกมเอาใจใส่มากพอ ผู้เขียนก็เชื่อว่าเกมก็ออกมามีคุณภาพสูงได้ครับ

 

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top