BY BabeElena
6 Jan 19 11:33 am

5 สาเหตุทำไม Playstation Classic ถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

59 Views

เปิดตัวไปอย่างน่าสนใจและเพิ่งจะวางจำหน่ายไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2018 นี่เองสำหรับ Playstation Classic เครื่องเกมรุ่นมินิที่มีฐานจาก Playstation ตัวแรกที่เน้นความสะดวกสบาย เสียบปุ๊บก็สามารถเล่นเกมได้เลยทันที เรียกได้ว่าหากมีเจ้านี่เราก็พร้อมจะรับความทรงจำดี ๆ เมื่อตอนวัยเด็กได้อีกครั้ง

แต่หลังจากที่ตัวเครื่องวางจำหน่ายไปได้ไม่ถึงเดือน ก็ได้มีข่าวที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักเกี่ยวกับเจ้า Playstation Classic ตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยอดขายที่ทำได้ไม่ค่อยสวยหรูเสียเท่าไหร่ หรือจะเป็นคำวิจารณ์จากทั้งสำนักรีวิวและผู้เล่นที่ไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่นัก แน่นอนว่าของแบบนี้ย่อมมีเหตุผลของมันเอง ว่าทำไมผลลัพธ์ของยอดขายและรีวิวถึงได้ออกมาเป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้นบทความนี้ทาง GamingDose จะมาวิเคราะห์ถึงที่มาของปัญหาเหล่านี้ กับ “5 สาเหตุทำไม Playstation Classic ถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร” โดยจะมีอะไรกันบ้างนั้น เรามาดูกันเลยดีกว่าครับ

ไม่ค่อยมีเกมแม่เหล็กน่าดึงดูดมากเท่าไหร่นัก ถึงมีแต่ก็มีน้อยมาก

PlayStation Classic

หลายคนอาจจะคิดว่าหนึ่งในปัญหาที่ทำให้เจ้า Playstation Classic นั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้นก็คือ “จำนวนเกมที่น้อย” แต่ส่วนตัวผู้เขียนแล้วกลับคิดว่านี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น และปริมาณเกมไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะหากเราหันไปดูเกมของฝั่ง NES Mini, SNES Mini จะพบว่าเกมที่มีมาให้ก็ไม่ได้มากมายไปกว่า Playstaion Classic เท่าไหร่นัก

แต่สิ่งที่ทำให้ NES Mini, SNES Mini มีความโดดเด่นกว่า Playstation Classic นั้นก็คือ “เกม” ที่ติดตั้งไว้ให้ในเครื่อง เพราะในเมื่อคุณไม่สามารถลงเกมได้เพิ่มด้วยวิธีที่ถูกลิขสิทธิ์ เพราะฉะนั้นเกมที่มีให้ก็ต้องดึงดูดและดีมากพอที่จะทำให้เหล่าเกมเมอร์สนุกไปกับมันได้ ซึ่ง NES Mini, SNES Mini ก็ได้ขนมาทั้งซีรี่ส์แม่เหล็กของฝั่ง Nintendo มาแทบจะครบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Super Mario, Metroid, EarthBound, The Legend of Zelda และพร้อมกับเกม Third-Party เด็ด ๆ เรียกได้ว่าถึงแม้จะถูกจำกัดมาแค่จำนวน 30 เกม แต่ก็ขนมาแต่เกมที่น่าสนใจทั้งนั้น

ซึ่ง Playstation Classic กลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะพวกเขาดันเลือกที่จะเน้นเกม Third Party จนเกินไป แถมเหล่าเกม Third Party ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในเครื่องก็ไม่ใช่ Iconic Title ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเกมดังที่ต้องหามาเล่นในยุคนั้น ทำให้ Playstation Classic ขาดจุดดึงดูดสำคัญทั้ง ๆ ที่ควรใส่ใจไปอย่างน่าเสียดาย ถึงแม้จะมีเกมน่าดึงดูดอยู่ก็ตาม

ไอเดียที่เวิร์คกับ Nintendo แต่ไม่เวิร์คกับ Sony ในแง่ของวัฒนธรรมการเล่น

“เห็นคนอื่นเขาทำได้ดี ไม่ได้หมายความว่าตัวเองทำตามแล้วจะเวิร์ค” ในยุคนี้เราคงเห็นวัฒนธรรมการโคลนหรือการลอกเลียนแบบวิดีโอเกมและนวัตกรรมกันบ่อย ซึ่งบางอย่างก็ประสบความสำเร็จมากกว่าต้นฉบับเป็นอย่างมาก (เช่น Fortnite, Azur Lane) แต่บางอย่างก็ดันแป๊กไม่เป็นท่าและกลายเป็นเพียงแค่ทางผ่านไป และ Playstation Classic ที่พยายามจะตามรอย NES Mini, SNES Mini ก็อยู่ในกลุ่มอย่างหลัง

ซึ่งเราจะมาดูความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมของค่ายเกมทั้งสองค่ายกันก่อน โดยเราขอเริ่มที่ Nintendo ซึ่งหากถามว่าทำไม NES Mini, SNES Mini กลับทำยอดขายได้ดีมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ก็ดูไม่น่าจะขายดีได้ หนึ่งในสาเหตุสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ “ความเป็นแฟนบอย” ที่ปู่นินได้ปั้นเหล่าแฟนเกมมาเป็นระยะเวลาถึงสามทศวรรษ ด้วยเกมคุณภาพดีที่เล่นได้ทุกวัย และเกิดเป็นเหล่าแฟนเกมที่มีหลากหลายยุคหลายสมัย แต่แทบทุกคนก็มาเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันก็คือ “เล่นเกมของค่ายที่พวกเขารัก” และนั้นก่อให้เกิด Brand Royalty ที่ Nintendo ถือว่าเป็นค่ายเกมอันดับหนึ่งของโลกที่มีแฟนเกมศรัทธามากที่สุด และยังคงไม่ถูกทำลายหายไปไหน

กลับมามองที่ Sony จริงอยู่ที่หลายคนอาจจะมีความผูกพันกับเกมเก่าบนเครื่อง Playstation ตัวเก่า ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วแฟนบอยของฝั่ง Sony กลับมาจากที่ต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน บ้างก็มาก็เพื่อเล่นเกมเนื้อเรื่องภาพสวย บ้างก็มาเพราะหนีสังคมเกมจากฝั่งพีซี บ้างก็มาเพราะราคาของคอนโซลที่ถูกกว่าพี่ซี บ้างก็มาเพราะเล่นเกมมัลติแพลตฟอร์ม บ้างก็มาเพราะเล่นเกม Exclusive ซึ่งพอแฟนบอยได้กระจัดกระจายด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันขนาดนี้ ทำให้ Brand Royalty ของทาง Sony กลับดูต่ำกว่าที่ควรทั้ง ๆ ที่มีผู้ถือครองเครื่อง Playstation จำนวนมาก

หรือว่ากันง่าย ๆ ว่า “พลังสะสม” ที่ห่างชั้นกันเกินไป เพราะในขณะที่ Nintendo สามารถปั้นแฟนเกมมาได้หลายยุคและทุก ๆ คนมีจุดมุ่งหมายแทบจะเหมือนกัน แต่ Sony กลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะส่วนนึงก็ต้องยอมรับว่าเกมของฝั่งโซนี่ได้เติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ จนมิอาจสร้างความอินและความผูกพันให้กับเหล่าแฟนเกมได้ (สังเกตจาก Library เกมของพวกเขาที่อุดมไปด้วยเกมเรต M) ในขณะที่ฝั่ง Nintendo ที่เกมของพวกเขาก็ซีรี่ส์เดิม ๆ เกมเดิม ๆ และมีแต่เกมสไตล์เด็กเล่นได้ผู้ใหญ่เล่นดี แต่ด้วยความเดิม ๆ และความที่เด็กเล่นได้นี่แหละที่ทำให้ Nintendo สามารถสร้างรากฐานของแฟนเกมได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่

และพอมาทำสินค้าย้อนยุคแบบนี้ ก็กลายเป็นว่าสิ่งที่ Nintendo ทำมาโดยตลอดกว่า 30 ปี ทำให้ยอดขายของ NES Mini, SNES Mini กลายเป็นผลผลิตที่งอกเงยจากพลังสะสมที่ปู่นินได้วางรากฐานแฟนเกมมาทุกยุคทุกสมัย แต่กลับทาง Sony ที่ผู้ที่ซื้อเครื่อง Playstation Classic ไป เป็นเพียงแค่ 1 ในกลุ่มแฟนบอย Sony ทั้งมวล ทำให้ไม่สามารถทำยอดขายได้ดีเท่าที่ควรครับ

ราคาเปิดตัวที่แพงกว่าคู่แข่ง ถึงจะแค่ไม่กี่พันแต่ก็มีผลต่อการตัดสินใจ

ทาง Sony ได้เปิดราคาของเจ้า Playstation Classic เอาไว้อย่างน่าตกใจมาก เพราะพวกเขาเปิดตัวด้วยราคาสูงถึง 100 เหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยก็จะอยู่ที่ประมาณ 3,200 บาทโดยประมาณ ซึ่งเอาจริง ๆ สำหรับเกมเมอร์หลาย ๆ คน หากไม่มองว่านี่เป็นของสะสม ต่างก็บอกว่านี่คือราคาที่โหดเอาเรื่อง

ในขณะที่ฝั่งของ Nintendo ที่เปิดตัวราคาของ NES Mini ในราคาเพียงแค่ 60 เหรียญ หรือประมาณ 2,000 บาท และ SNES Mini ในราคาเพียงแค่ 80 เหรียญหรือประมาณ 2,600 บาท (เอาจริง ๆ ราคาแค่นี้สำหรับหลาย ๆ คนก็มองว่าสูงแล้ว) ซึ่งฟังดูแล้วอาจคิดว่าที่ Playstation Classic ขายแพงกว่าเพราะสเปคต้องแรงกว่าเพื่อรันภาพกราฟิกสามมิติหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ครับ เพราะสเปคจากเครื่องตัวเล็กของทั้งสองค่ายไม่ได้มีความแตกต่างขนาดนั้น และทาง Nintendo ก็ต้องทำเครื่องให้แรงพอที่จะสามารถรันเจ้าโมดูล Super FX (หนึ่งในโมดูลภาพสามมิติ) ได้โดยที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เป็นตลับพ่วงแบบต้นฉบับ เพราะพวกเขามีเกมสามมิติชูโรงอย่าง Star Fox

และพอราคาเปิดตัวของ Playstation Classic เปิดตัวมาขนาดนี้ แน่นอนว่าเหล่าเกมเมอร์ย่อมเกิดอาการลังเลกันอย่างแน่นอน และเจ้าราคา 100 เหรียญนี้เป็นเพียงแค่ราคาต้นเท่านั้น เพราะของที่ทางร้านค้าหิ้วเข้ามามักจะมีการบวกราคาเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งโชคดีหน่อยที่บ้านเรามีศูนย์บริการของประเทศไทยเลยไม่ต้องมาเจอราคาบวกเพิ่ม แต่ถึงอย่างนั้นราคาเดิมก็ยังคงเป็นราคาที่สูงสำหรับเหล่าเกมเมอร์หลาย ๆ คนครับ

ความตกยุคของงานศิลป์ ที่ไม่มีใครนำมาพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย

เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคลไปบ้าง แต่ทางผู้เขียนจะพยายามหยิบนำหลักฐานและความคิดเห็นจากเหล่าเกมเมอร์มาวิเคราะห์กัน โดยก่อนอื่นเราจะขออธิบายข้อแตกต่างเกี่ยวกับงานศิลป์และคุณภาพกราฟิกระหว่าง NES Mini / SNES Mini และ Playstation Classic กันเสียก่อน ว่าแต่ละเครื่องได้นำเสนอเกมของพวกเขาในแนวทางไหนในแง่ของกราฟิกและภาพ

มาเริ่มที่ฝั่งของ NES Mini / SNES Mini กันก่อน โดยทั้งสองเครื่องนี้ก็มีรากฐานจาก Nintendo Entertainment System และ Super Nintendo Entertainment System ตามลำดับ และกราฟิกหรืออาร์ตสไตล์ที่ทั้งสองเครื่องนี้ได้หยิบมาใช้งานในการพัฒนาเกมของพวกเขานั้นก็คือ “Pixel” ใช่แล้วครับ ที่เราเห็นเหลี่ยม ๆ รวมกันเป็นภาพนัันล้วนถูกเรียกว่า Pixel ส่วนคำที่เรามักเรียกว่าเป็น 8bit, 16bit นั้นเป็นความสามารถในการแสดงผลตัวของฮาร์ดแวร์ ซึ่งหากเรียกแบบนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความหมายผิดเพี้ยนจากเดิมแต่อย่างใด โดยทาง Nintendo ก็ได้มีการขัดเกลากราฟิกโดยการปรับ Brightness/Contrast ให้ภาพสว่างมากขึ้นเพื่อความสบายตาในการเล่น แต่หากอยากได้ภาพแบบหมอง ๆ แบบเก่าก็สามารถปรับได้เช่นกัน นอกจากนี้ตัวเกมยังคงทำภาพที่คมชัดได้แม้จะรันบนโทรทัศน์จอใหญ่

ส่วนของฝั่ง Playstation Classic ที่มีรากฐานจาก Playstation รุ่นแรก ได้ใช้อาร์ตสไตล์เป็นแบบ “3D Polygon” ที่ถือว่าเป็นอะไรที่น่าทึ่งและเป็นปรากฏการณ์มาก ๆ ในยุคที่มันออกมา เพราะนี่คือยุคแรกที่วงการเกมคอนโซลเริ่มเข้าสู่ยุคของสามมิติ และเป็นสามมิติแบบเต็มตัว โดยอาจจะมีการใช้เทคนิคเรื่องภาพบ้างไรบ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่าเป็นยุคสามมิติอย่างแท้จริง

แน่นอนว่าคำว่าอาร์ตสไตล์และงานศิลป์กับวงการเกม เมื่อวานผ่านไปก็ย่อมมีการพัฒนาไปตามกาลเวลาสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน และสิ่งที่เกิดขี้นจากการเปลี่ยนแปลงก็คือ “ความตกยุคของกราฟิก” และทั้งสองอาร์ตสไตล์อย่าง Pixel และ 3D Polygon ต่างก็พากันตกยุค เพราะโลกของวงการเกมเริ่มมีกราฟิกสามมิติที่สมจริงและสวยงามเข้าใกล้โลกความเป็นจริงขึ้นมาเรื่อย ๆ

เพียงแต่มีเพียง 1 ใน 2 งานศิลป์อันตกยุคนี้ ที่สามารถรอดตัวมาได้ท่ามกลางกราฟิกอันสวยงามสมจริงและล้ำยุค นั้นก็คือ “Pixel” โดยมีเหตุผลในแง่ของความยึดหยุ่นที่สูงกว่ากราฟิกแบบ 3D Polygon เป็นอย่างมาก เพียงแค่ใช้เทคนิคที่ไม่ซับซ้อนก็สามารถแสดงผลภาพบนจอใหญ่ ๆ ได้โดยที่ไม่เกิดอาการภาพเบลอหรือเสียรายละเอียดด้วยความเป็น Vector ของกราฟิดแบบนี้ นอกจากนี้ในฝั่งของงานศิลป์ Pixel ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นเพิ่มชั้นเชิงในการแสดงผลแบบ Layers, หยิบแสงสีแบบสมัยใหม่เข้ามาใช้ และใช้จินตนาการในการวาด Sprite (งานภาพที่เกิดจาก Pixel) ออกมาให้งดงามและสวยงามในแบบของมันเองโดยที่ดูไม่ตกยุคเลย

ซึ่งเอาเข้าจริงในฝั่งของ 3D Polygon ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถขยายภาพและให้ออกมาคมกริ๊บแบบฝั่ง Pixel ได้ เพราะ Emulator ยุคนี้หลาย ๆ ตัวต่างก็มีฟีเจอร์ Overclocked ที่ทำให้สามารถแสดงผลเกมในคุณภาพและรายละเอียดที่สูงขึ้นได้มากกว่าเดิม เพียงแต่ทาง Sony กลับเลือกที่จะไม่ทำ และปล่อยให้กราฟิกของเกมยังคงมีคุณภาพเท่าเดิม และนั้นทำให้ภาพของ Playstation Classic นั้นดูตกยุคในสายตาของใครหลายคน

และทำให้เหล่าเกมเมอร์ยุคเก่า ๆ ที่เล่นเกมสมัยนี้จนชินชาแล้ว เมื่อย้อนไปเล่นเกมที่ภาพมีความละเอียดต่ำแบบนี้ทำให้เกิดอาการปวดตาจากภาพที่เบลอและทำให้พวกเขารู้สึกเบื่อในความจืดจาง และอีกอย่างก็คือกราฟิกสามมิติแบบนี้นับวันก็ยิ่งพัฒนาไปเรื่อย ๆ ด้วยการยกเครื่องกราฟิกที่ทำให้ภาพสมจริงใกล้เคียงความเป็นจริงขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะแตกต่างจาก Pixel ที่กราฟิกยังคงเหมือนเดิมแต่ยังคงมีคนพยายามสานต่อโดยยังคงอนุรักษ์ของเดิมเพิ่มเติมคือการหยิบเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ ในขณะที่ฝั่งของ 3D Polygon นับวันก็ยิ่งพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ได้มีฐานจากกราฟิกสามมิติแบบเดิม

ดังนั้นสาเหตุในข้อนี้จึงเป็นปัญหาในด้านของอาร์ตสไตล์และการขัดเกลาของกราฟิกที่ทาง Sony พลาดไปอย่างน่าเสียดาย เพราะถึงแม้อาร์ตสไตล์จะตกยุค แต่หากเกมนั้นมีคุณภาพดีและเป็นความทรงจำต่อวัยเด็ก ยังไงเกมเมอร์ก็ให้ความสนใจกันอยู่ ซึ่งทาง Sony ก็ไม่ได้ปรับปรุงหรือทำการปรับกราฟิกอะไรให้ดีขึ้นจากเดิมมากนัก…

หรืออาจจะเป็นเพราะว่าวงการเกมมาไกลเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปแล้ว ??

“เวลายิ่งผ่านไป มนุษย์เราก็ได้เติบโตขึ้น เทคโนโลยีก็ก้าวหน้าขึ้นทุก ๆ วัน และนั้นก็หมายถึงเทคโนโลยีของวงการเกมด้วย”

ในท่ามกลางที่เกมเกรดฟอร์มยักษ์กระหน่ำลงทุก ๆ ปี และมาพร้อมกับเทคโนโลยีกับงานภาพที่สวยงามขึ้นทุก ๆ วัน ยิ่งกับวัฒนธรรมแห่งวิดีโอเกมสมัยนี้แล้วนั้น คงไม่ค่อยมีใครอยากจะย้อนกลับไปเล่นเกมที่ภาพกราฟิกตกยุคอย่างแน่นอน เพราะในเมื่อเรามาถึงยุค 2018-2019 แล้ว เราก็คงคาดหวังให้วิดีโอเกมภาพสวยขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยสังเกตจากเหล่าคอมเมนต์จากเกมเมอร์ที่มักจะชอบเน้นวิจารณ์งานภาพและคุณภาพกราฟิกประมาณ “กราฟิกเหมือนเพลย์หนึ่ง” “ภาพกากแอนิเมชั่นแข็ง” ซึ่งคอมเมนต์เหล่านี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงวงการเกมปัจจุบันที่นับวันก็ยิ่งพัฒนาไปเรื่อย ๆ ทั้งด้านงานภาพและเกมเพลย์ และหลาย ๆ คนก็คาดหวังว่าจะได้เล่นเกมทํากราฟิกราวกับภาพยนตร์ซีจีซักวันนึงของชีวิต

ด้วยเหตุนี้ทำให้ Playstation Classic อาจจะไม่เป็นที่น่าถูกใจกับเหล่าเกมเมอร์ยุคใหม่ หรือแม้กระทั่งเกมเมอร์ยุคเก่าก็ตาม และยิ่งมีสาเหตุสี่ข้อก่อนหน้านี้ด้วยก็ยิ่งทำให้ Playstation Classic เป็นอะไรที่ไม่น่าสนใจสำหรับพวกเขาและเกมเมอร์หลาย ๆ คนครับ

และนี่ก็คือ “5 สาเหตุทำไม Playstation Classic ถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร” ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ก็ได้จากการนำความคิดเห็นส่วนตัวและความคิดเห็นของเกมเมอร์ทั้งไทยเทศมาวิเคราะห์และหาข้อมูลเพิ่มเติมจนออกมาเป็น 5 สาเหตุที่น่าจะเป็นปัจจัยหลักสำคัญทำให้เจ้าเครื่องเพลย์หนึ่งตัวน้อยจากโซนี่นี้กลับไม่เปรี้ยงปร้างดั่งที่ทาง Sony ได้คาดหวังเอาไว้ แล้วคุณล่ะ มีเหตุผลและสาเหตุอื่น ๆ หรือเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับสาเหตุที่เราหยิบยกมาหรือไม่ แสดงความคิดเห็นออกมากันได้อย่างเต็มที่ครับผม

BabeElena

Back to top