BY KKMTC
29 Aug 19 6:59 pm

ไขปริศนา ทำไม PC Gaming ในญี่ปุ่นเคยตราหน้าเป็น “ตลาดเฉพาะกลุ่ม”

29 Views

เมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา นิตยสาร Famitsu เคยรายงานข่าวว่าตลาด PC Gaming ในประเทศญี่ปุ่น มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2017 ที่เพิ่มขึ้นถึง 50% และมีผู้เล่นเกมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป็นหลักรวมแล้ว 15 ล้านคน

ข่าวดังกล่าวได้สร้างความประหลาดใจต่อกลุ่ม PC Master Race ทั่วโลก เพราะอุตสาหกรรมเกมของประเทศญี่ปุ่น จัดเป็นประเทศเดียวก็ว่าได้ ที่ตลาด PC Gaming ค่อนข้างเงียบเหงา แตกต่างจากตลาดเกมคอนโซลยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจจะช่วยให้ผู้พัฒนาเกมญี่ปุ่น เริ่มให้ความสนใจที่จะทำเกมลง PC มากยิ่งขึ้น

แต่เกมมอร์หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมเกมใหญ่โตระดับโลกมานาน แต่ PC Gaming ที่กำลังรับความนิยมเกือบทั่วโลกกลับจืดชืดจนน่าใจหาย แล้วมีสาเหตุอะไรบ้าง ก็สามารถรับชมได้เลยครับ

PC แพงและวุ่นวาย !

LABI

LABI ห้างรวมสินค้า IT ตั้งที่ย่าน Akihabara

ผมไม่ค่อยเล่นเกมคอมพิวเตอร์แม้แต่เกมเดียว ผมใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำงานเท่านั้น และผมไม่จำเป็นต้องมานั่งเครียดกับการลงโปรแกรมให้เยอะวุ่นวายอีกด้วย

– นักเขียนมังงะญี่ปุ่นคนหนึ่ง วัย 42 ปี ส่งจดหมายกับ Kotaku

เกมเมอร์ญี่ปุ่นหลายมองว่าเครื่อง PC ในประเทศญี่ปุ่น มีราคาค่อนข้างแพงเกินความจำเป็น มีตัวเลือกปรับแต่งเยอะเกินไป และต้องมานั่งศึกษาองค์ประกอบคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งที่กล่าวทั้งหมด ทำให้เกมเมอร์ญี่ปุ่นมองว่าเกมคอมพิวเตอร์ เข้าถึงยากกว่าเครื่องคอนโซลซึ่งมีราคาถูก และสามารถซื้อครั้งเดียวจบ

เติบโตมาด้วยเครื่องคอนโซล

PC-100

NEC PC-100 หนึ่งคอมพิวเตอร์ที่เคยได้รับความนิยมในญี่ปุ่น

ก็ต้องบอกก่อนว่าช่วงต้นยุค ’80s เกมเมอร์ญี่ปุ่นหลายคนก็เคยนิยมเล่นเกมบนเครื่อง PC แบรนด์ NEC, MSX คล้ายกับประเทศอเมริกาที่นิยมเล่นเกมจากเครื่อง Commodore, Amiga แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป การแข่งขันทางตลาดเครื่องคอนโซลในประเทศญี่ปุ่นเริ่มรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น NEC, Nintendo, SEGA, SNK หรือเกมแบรนด์อื่น ๆ ล้วนต้องมีผลิตภัณฑ์เครื่องคอนโซล “สำหรับการเล่นเกม” เป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกม ต้องสั่นสะเทือนครั้งใหญ่

นอกจากนี้ ช่วงเวลานั้น เกม JRPG ตระกูล Final Fantasy และ Dragon Quest กำลังได้รับความนิยมสำหรับชาวญี่ปุ่นพอดี ก็มีส่วนช่วยทำให้กระแสเครื่องคอนโซลยิ่งเพิ่มความนิยมมากขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลทำให้ผู้สร้างเกมหลายเจ้า เริ่มพัฒนาเกมสำหรับเครื่องคอนโซลอย่างจริงจัง แล้วทิ้งเกมคอมพิวเตอร์ไว้ด้านหลัง เพราะนักพัฒนาเกมเชื่อว่าการสร้างเกมลง PC นั้น ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

เกม PC หลายเกม ไม่สนับสนุนภาษาญี่ปุ่น

PC 98

คอม NEC PC-98 ส่วนใหญ่จะเป็นเกมของญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด

ในยุค 80’s ถึง 90’s เครื่องคอมพิวเตอร์แบรนด์ MSX และ NEC ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นอย่างท่วมท้น เพราะเป็น PC ไม่กี่เครื่องที่รองรับภาษาญี่ปุ่นเกือบทุกตัวอักษร เพื่อใช้ทำงานเอกสารตามสถานที่ออฟฟิศ ซึ่งหมายความว่าเครื่อง Commodore 64 หรือ Amiga ที่แม้จะมีเกมให้เลือกเล่นเยอะกว่า ไม่ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นตามมา

รวมถึงช่วงกลางปี 80’s ตลาดเครื่องเกมคอนโซล เริ่มรับความนิยมอย่างถล่มทลายจากเกมเมอร์เหมือนที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องเกมเกือบทั้งหมด รองรับภาษาญี่ปุ่น และห้องสมุดเกมเยอะกว่าฝั่ง PC ญี่ปุ่นหลายเท่า ก็ยิ่งทำให้ตลาด PC Gaming ของญี่ปุ่น ถูกยกระดับกลายเป็นตลาดเกม “เฉพาะกลุ่ม” หนักกว่าเดิม

ไม่ใช่ว่าเกมเมอร์ญี่ปุ่นไม่ยอมเปิดใจกับเกมตะวันตกซะทีเดียว เพราะยังมีชาวญี่ปุ่นอีกมากมาย ที่อยากลองสัมผัสเกมดี ๆ จากทั่วมุมโลกเหมือนทุกคน แต่กำแพงภาษาเป็นตัวขัดขวางที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถสนุกสนานกับเกมตะวันตกได้

ฉันก็สนใจเกม Diablo นะ น่าเสียดายที่ฉันไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเลย แต่เกมนั้นมีการออกแบบที่หาไม่ได้ในญี่ปุ่น ซึ่งฉันคิดว่ามันเจ๋งดี

– Shima ศิลปินที่ชื่นชอบเล่นเกม MMO เป็นชีวิตจิตใจ

ตลาดเฉพาะกลุ่ม ก็มาพร้อมกับเกมเฉพาะกลุ่มPC Gaming

ผมรักเกม RPG และผมก็ชอบเกม FPS บน PC ด้วย แต่เพื่อนผมไม่ค่อยเล่นเกมแบบนั้นเท่าไหร่นัก

– พนักงานร้านเกมร้านหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับ Kotaku

ภาพลักษณ์ PC Gaming จากผู้เล่นญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังคงมีความเชื่อว่า “คนที่เล่นเกม PC มักเป็นเกมเมอร์สาย FPS” ซึ่งเกมดังกล่าว ไม่ค่อยเป็นที่นิยมสำหรับชาวญี่ปุ่นเท่าไหร่นัก นอกเหนือจากเกม RPG ที่ยังคงลงให้กับเครื่องคอนโซลเป็นหลัก

และหากย้อนกลับสู่ยุค 80’s ตลาดเกม Visual Novel โป๊ ที่อยู่คู่เกมเมอร์ชาวญี่ปุ่นมานานแสนนาน ก็ยังคงลงเครื่อง PC จนถึงปัจจุบัน เพราะตัวเกมสามารถใส่องค์ประกอบเนื้อหาโป๊เปลือยอย่างอิสรเสรี ซึ่งแตกต่างจากเครื่องคอนโซลที่มีข้อจำกัดเรื่องการลงคอนเทนต์เกี่ยวกับเพศ หลังจากหน่วยงาน CERO (องค์กรจัดอันดับความบันเทิงทางคอมพิวเตอร์) เริ่มเข้ามาตรวจสอบการนำเกมวางจำหน่ายลงเครื่องคอนโซล

ถึงแม้เกม Phantasy Star Online 2 เกม MMORPG ของ SEGA จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ PC Gaming ได้กลับมารับความนิยมอีกครั้ง แต่ปีต่อมา ทีมงานก็ประกาศเปิดบริการ Phantasy Star Online 2 สำหรับเครื่อง PlayStation VITA จึงทำให้ตลาด PC Gaming กลับมาครึกครื้นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

เครดิต : Kotaku, TokyoPC และ Famitsu

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top