BY Nattapit Arsirawatvanit
2 Nov 18 4:46 pm

เมื่ออาการ “ติดเกม” กำลังจะเป็นวาระแห่งโลกในอนาคต

15 Views

‘เด็กติดเกม’ หนึ่งคำที่เราทั้งหลายคงได้ยินจากพ่อแม่ ญาติพี่น้องจนชินชา มันคือคำที่อธิบายลักษณะของมนุษย์ผู้ใส่ใจในสื่อบันเทิงที่เรียกว่าวิดีโอเกมมากกว่าสิ่งอื่นใด ใส่ใจจนกระทั่งสูญเสียชีวิตประจำวันของตนเองไป หลายคนมีคำถามและสงสัยอยู่เสมอเมื่อได้ยินคำนี้ เพราะไม่เชื่อว่าตนคือเด็กติดเกมอย่างที่ผู้ปกครองกล่าวอ้าง

อย่าเพิ่งคิดว่าเรากำลังกล่าวหาคุณว่าเป็นหนึ่งในเด็กติดเกม คุณอาจไม่ใช่ เพราะอย่างน้อยชีวิตประจำวันของคุณยังดีพอให้คุณมาพบกับเว็บไซต์ดี ๆ อย่างเรา (ฮา) ทำให้คุณยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้ป่วยเป็นโรค หรือคุมตัวเองไม่ได้ตามที่ WHO เคยกำหนดไว้เกี่ยวกับโรคติดเกม แต่คุณก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในโลกนี้ไม่มีเด็กติดเกม มันมี และเยอะด้วย เพียงแค่คุณยังไม่เคยเข้าไปเห็นหรือเข้าไปสัมผัสแค่นั้นเอง

ผู้เขียนเติบโตมาในสังคมต่างจังหวัดที่เป็นต่างจังหวัดของจริง ในสมัยก่อนเราเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ได้ทุกครัวเรือน ร้านอินเทอร์เน็ตก็เลยเกิดขึ้นมา ในตอนแรกมันเกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชุมชน แต่พอนาน ๆ ไปก็เริ่มผลักดันตัวเองให้กลายเป็นร้านเกมแทน ในช่วงนั้นเราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นเด็กติดเกมมากเท่าไหร่นัก เพราะค่าบริการในร้านอินเทอร์เน็ตยังค่อนข้างแพงมาก ๆ (จำได้ว่าชั่วโมงละ 25 บาท แต่ก๋วยเตี๋ยวสมัยนั้นชามละ 20 บาท) สื่อบันเทิงเหล่านี้เลยเข้าถึงได้เฉพาะผู้ใหญ่หรือคนที่พอจะมีเงินเท่านั้น

พอเทคโนโลยีเริ่มเติบโตเข้ามาถึงยุคที่เกมออนไลน์เป็นใหญ่ ร้านอินเทอร์เน็ตปรับลดราคาให้บริการลงมากว่า 50% ยุคนี้เป็นยุคเฟื่องฟูของ ‘เด็กร้านเกม’ เราจะเห็นตั้งแต่เด็กตัวน้อย ๆ 7-14 ขวบปี ไปจนถึงเด็กวัยรุ่นนั่งเล่นเกมกันเป็นกิจวัตรประจำวัน แถมเมื่อเงินหมดก็ไม่เลือกที่จะกลับบ้าน แต่เลือกที่จะยืนเกาะชายขอบเก้าอี้เพื่อมองดูคนอื่นเล่นแทน แสดงให้เห็นว่าการเสพสื่อของเด็กไทยนั้นมีปัญหามาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว

ปัจจุบันอาการติดสื่อประเภทนี้ยิ่งแสดงให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ แบบมีนัยยะสำคัญ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาของอุปกรณ์ประเภท Smart ทั้งหลายคือตัวการของเรื่องนี้ เนื่องจากพ่อแม่ทั้งหลายคิดว่า ‘Smartphone’ คืออุปกรณ์สารพัดนึกที่ช่วยให้เด็กไม่งอแง และช่วยให้เด็กฉลาดได้โดยที่ไม่ต้องไปให้เวลากับลูกมาก แต่ดันไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วการเสพสื่อตั้งแต่เด็กเป็นเรื่องที่อันตรายมาก โดยเฉพาะสื่อที่ยังไม่โดนคัดกรอง (เช่น สื่อออนไลน์) เนื่องจากในวัยเด็ก ความคิด การวิเคราะห์ และการแยกแยะ รวมถึงประสบการณ์ของเรายังไม่มากพอที่จะคำนวณว่าเรื่องที่อยู่ในสื่อที่เราเห็น ว่ามันดีหรือไม่ดี ส่งผลให้เกิดการเรียนแบบพฤติกรรมแปลก ๆ จากสื่อที่ยังไม่ถูกคัดกรอง เช่น การใช้คำหยาบคายตามสตรีมเมอร์, ทำการทดลองที่อันตรายโดยไม่มีพ่อแม่ควบคุม, เต้นร่อนตามเน็ตไอดอล ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาคือผลด้านลบทั้งสิ้น

ย้อนกลับมาที่เกม เกมก็ถือเป็นสื่อบันเทิงชนิดหนึ่งเหมือนกัน และส่งผลในด้านพฤติกรรมไม่ต่างจากสื่ออื่น บ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเกม ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจริง ๆ สิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง แม้ว่าอาจจะเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็น แต่บางครั้งอาจจะร้ายแรงพอให้เกิดการกระทำนั้น ๆ ได้ เราอาจคิดว่าการเลียนแบบพฤติกรรมเป็นเรื่องไร้สาระและไม่มีทางเกิดขึ้นจริง ที่คุณคิดแบบนั้นเป็นเพราะบรรทัดฐานในด้านความคิดของคุณเองที่คิดว่า บุคคลทุกคนมีศีลธรรมและหลักการคิดเท่ากัน

ในปี 2557 เคยมีการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกมในเด็ก พบว่าเด็กไทยนี่แหละ เล่นเกมสูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยมีจำนวนเด็กที่เข้าข่ายเป็นโรคติดเกม (คือเล่นแล้วหยุดไม่ได้) กว่าร้อยละ 10-15 เปอร์เซ็น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เยอะมาก ชี้ให้เห็นว่าปัญหานี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รอการแก้ไข

ในตอนนี้หลายคนอาจคิดว่ามันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก มันเป็นปัญหาของสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษามากกว่า ที่เลือกจะไม่เตรียมความพร้อมในการมีลูก และเลือกจะปล่อยปละละเลยเด็กให้เติบโตในสังคมเองโดยขาดวิจารณญาณ แต่คุณทราบไหมว่าจริง ๆ ปัญหาเด็กติดเกมเป็นปัญหาที่มีอยู่ทุกที่ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา หรือจีน โดยเฉพาะอย่างหลังที่กำลังเผชิญผลกระทบอย่างมหาศาล กับการที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะนั่งบริโภคสื่อออนไลน์มากกว่าจะไปทำงานทำการให้ประเทศมันเจริญยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ยังดีที่จีนและหลาย ๆ ประเทศมีแนวทางการแก้ไขเป็นของตัวเอง อย่างกรณีนี้ที่จีนค่อนข้างเข้มงวดมาก เข้มถึงขนาดที่ สี จิ้นผิง ประธานาธิปดีของจีนต้องลงมาสร้างนโยบายควบคุมด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่แช่แข็งการนำเข้าเกมจากต่างประเทศ, ตรวจสอบเกมของตัวเองอย่างละเอียด และไม่ปล่อยให้มีการจ่ายเงินในเกมจนกว่าจะได้รับอนุญาต ที่ออกมาทำถึงขนาดนี้เพียงเพราะต้องการลดจำนวนเด็กติดเกม + เด็กสายตาสั้นที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศจีนเท่านั้น

ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มชูนโยบายกำจัดเด็กติดเกมในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในฟิลิปปินส์ นาง Bethsaida Lopez ผู้ลงสมัครเลือกตั้งของประเทศฟิลิปปินส์ เคยออกมาชูนโบายแบน Dota 2 และ Clash of Clan ออกจากประเทศ เนื่องจากสองเกมนี้ถือเป็นเกมยอดนิยม ที่เด็ก ๆ นิยมเล่นกัน สาเหตุที่เธอออกมาชูนโยบายนี้ เนื่องจากลูกชายของเพื่อนเธอประสบปัญหากับอาการติดเกมอย่างหนัก ทำให้เขาเรียนไม่จบตามที่ตั้งใจไว้ ส่งผลให้อนาคตมืดดำในเวลาต่อมา

ในประเทศเกาหลีใต้ ยุนจงพิล (Yoon Jong-pil) ผู้สมัครของพรรคเกาหลีอิสระ (Liberty Korea Party) ออกมากล่าวว่า ‘อาการติดเกม’ เป็นวาระที่เราจะต้องคำนึงถึง หลังเกิดคดีฆาตรกรรมช็อคโลกอย่าง “Gangseo-gu PC” ขึ้นมา โดยเหตุการณ์ฆาตรกรรมนี้เกิดขึ้นในห้องคอมพิวเตอร์ในเมืองกังเซียว-กู เหยื่อถูกนาย คิม ซุงซู แทงด้วยของแหลมกว่า 32 แผลจนเสียชีวิต สาเหตุเพราะว่านายคิมคิดว่าเขา “ไม่เป็นมิตร” เพียงเท่านั้น หลังเกิดเหตุการณ์นี้ก็มีการสอบสวนโดยละเอียด พบว่าตัวของนายคิมนั้นน่าจะเป็นโรคจิตเวท ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเกิดจากเกมที่เขาเล่น

ยุนจงพิลยังบอกอีกว่า จากผลสำรวจอย่างละเอียดเกี่ยวกับการเล่นเกมในเด็ก พบว่า 91.1% ของนักเรียนประถม 82.5% ของนักเรียนมัธยมต้น และ 64.2% ของนักเรียนมัธยมปลายในเกาหลีใต้ ยอมรับว่าตัวเองกำลังเล่นเกมอยู่ และมี 2.5% ที่เข้าข่ายเป็นโรคติดเกม เธอบอกว่าหากปล่อยไว้นานกว่านี้ เกมจะกลายเป็นสื่อที่ทำลายเยาวชนจำนวนมาก โดยเธอคาดการณ์ไว้ว่าหากไม่ทำอะไรจนถึงปี 2568 อาการติดเกมอาจกลายเป็นปัญหาสำคัญของเกาหลีใต้เลยก็ว่าได้

ในปัจจุบัน ปัญหาของเด็กติดเกมกำลังขยายตัวไปเรื่อย ๆ และกำลังเริ่มสร้างผลกระทบขนานใหญ่ให้กับโลก สิ่งที่ทุกคนทำได้ตอนนี้ไม่ใช่การแสดงตัวว่าเราอยู่ในจุดยืนไหน หากแต่เป็นการเฝ้าระวังตนเองและคนรอบข้างให้ดี พร้อมทั้งรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงผลกระทบของมัน ไม่เข้าข้างและมองตามหลักเหตุผลและความเป็นจริง ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าทุกคนในโลกคิดแบบนี้ได้ ปัญหาเรื่องอาการติดเกมและสื่อ จะกลายเป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่เราร่วมมือกันแก้ไข พร้อมทั้งก้าวผ่านมันไปได้แน่นอน

SHARE

Nattapit Arsirawatvanit

มาร์ค - Senior Content Writer

Back to top