BY Nattapit Arsirawatvanit
20 Mar 18 4:11 pm

หนังจากเกม เกมจากหนัง ทำไมถึงห่วย ?

6 Views

หรือจริง ๆ มันห่วยแบบไม่มีเหตุผล

เคยสงสัยกันหรือเปล่า ? ว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงสื่อหนึ่งสื่อใดไปเป็นอีกสื่อ ทำไมถึงไม่โดนและไม่ตรงใจเสียที หลายครั้งที่เราได้ดูภาพยนตร์ที่ผลิตจากเค้าโครงเนื้อหาของวิดีโอเกม และหลายครั้งเช่นกันที่เราได้เล่นวิดีโอเกมจากเนื้อหาของภาพยนตร์ วันนี้เราจะไปหาคำตอบร่วมกันว่า “หนังจากเกม เกมจากหนัง ทำไมถึงห่วย ?”

 

เข้าใจการสร้างงาน

อย่างแรกเรามาทำความเข้าใจกับการสร้างงานเสียก่อน ในการทำภาพยนตร์ปกติโดยที่ไม่อิงเนื้อหาอะไรนั้น เราไม่มีกรอบที่ชัดเจน อาจจะมีแค่เรื่องตรรกะที่อยู่ในบท ข้อจำกัดมันเลยมีไม่มาก แต่พอต้องมาทำภาพยนตร์จากเกมนั้น กรอบของงานมันจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งกรอบจากเค้าโครงเดิมที่ไม่สามารถทิ้งได้ (เช่นพวกโครงเรื่องหลัก) กรอบของตัวละคร ซึ่งผู้สร้างไม่อาจแหกกฏข้อนี้ได้หากบริษัทเกมเป็นผู้ร่วมทุน (และส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น) เกมจากภาพยนตร์ก็เหมือนกัน ทุกอย่างมีกรอบที่ครอบไว้อยู่เสมอ และถ้าหากกรอบมันครอบตัวงานไว้เยอะอยู่แบบนี้ การขยับตัวหรือการคิดอะไรใหม่ ๆ ก็ยากที่จะสำเร็จ

Tomb Raider

 

อย่ายึดติดภาพลักษณ์

หลายคนคงสงสัยว่า แล้วถ้ามันมีกรอบ เราจะแหกกรอบนั้นออกมาไม่ได้หรอ ? บอกตามตรงว่ามันไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่นักในการแหกกรอบพวกนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่แข็งแกร่งได้หากมันมาจากแค่ตัวบริษัทเกมหรือบริษัทหนัง ที่มันแข็งแกร่งได้ขนาดนี้เพราะ “ผู้บริโภค” นี่แหละ เป็นคนกำหนดกรอบให้มันเอง อย่างในกรณี Tomb Raider แฟนเกมหลาย ๆ ส่วนจะแสดงความคิดเห็นว่าหนังนำเนื้อหาไปไม่ครบ และบิดเนื้อหาให้แตกต่างจากเวอร์ชั่นเกม

“เมื่อมันไม่แฟนตาซี มันก็ไม่ใช่ Tomb Raider”

ข้อความนี้ผู้เขียนไม่เถียง แต่แค่อยากจะสร้างความเข้าใจว่า ในเมื่อมันเป็นหนัง มันไม่ใช่เกม มันควรจะมีแนวทางของตัวมันเอง แนวทางที่หนังแสดงออกมาก็ไม่ได้ห่วย เพียงแค่ “ผิดแปลก” ไปจากเกมเท่านั้น

เห็นหรือยังว่าจริง ๆ กรอบนี้มันแหกไม่ได้ หรือมันแหกออกมายากมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อคุณติดภาพว่าลาล่าต้องผจญภัยล่าสมบัติในแดนแฟนตาซี วอร์คราฟต์ต้องเป็นสงครามขนาดใหญ่ เทคเค่นต้องมีการต่อสู้ของพ่อกับลูก ฯลฯ ยังไงกรอบนี้ก็ยังคงอยู่ แม้ว่าบริษัทเกมจะไม่เข้ามายุ่งกับบทก็ตาม

Tomb Raider

 

การนำเสนอ

จริง ๆ แม้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของโครงเรื่อง ภาพยนตร์หรือเกมเกมนั้นก็ใช่ว่าจะซ้ำซากเสมอไป หากมีวิธีนำเสนอใหม่ ๆ ที่แตกต่าง อย่างเช่น Mortal Kombat (1995) หนังที่ได้เค้าโครงมาจากเกมในชื่อเดียวกัน หนังเรื่องนี้เรียกได้ว่าใช้ชีวิตอยู่ในกรอบแบบไม่แหกคอกอะไรเลย ทุกอย่างมาจากเกมเกือบทั้งหมด แต่ถูกนำมา “ขยายความ” ตามความเข้าใจของผู้กำกับ ทำให้หนังเรื่องนี้มีอะไร ๆ ที่มันมากกว่าเกมอยู่ คุณจะเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวละครว่าทำไมต้องสู้กัน นักสู้พวกนี้มาจากไหน หนังปูพื้นฐานได้ดีแถมทำได้ดีมากด้วย ส่วนหนึ่งเพราะเกมมันไม่ปูพื้นหรือบอกอะไรเราตรง ๆ เลย หนังเรื่องนี้เลยเด่นด้านการนำเสนอไปซะอย่างนั้น

Mortal Kombat

 

เวลาเป็นสิ่งสำคัญ

หนังเรื่อง Mortal Kombat ด้านบนยังมีจุดบกพร่องอยู่เยอะ แม้ว่าจะนำเสนอได้ดี แต่ถ้าเกมนี้ไม่ใช่เกม Fighting แต่เป็นเกม RPG ล่ะ ? แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ก็คงโดนปาลงถังเป็นหนังห่วยไปตามระเบียบ ที่จะพูดคือ “เวลา” เป็นตัวแปรที่สำคัญมากอีกตัวแปรหนึ่งที่ผู้กำกับส่วนมากทำพลาด และไม่สามารถหาวิธีแก้ไขได้ อย่างที่เราทราบ เกมเกมหนึ่งในสมัยนี้มีระยะเวลาเล่นในโหมดเล่นคนเดียวไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง แต่หนังนั้นถูกกำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง มันเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะย่นเวลาเหล่านั้นให้เหลือแค่ 1 ใน 4 ของเวลาทั้งหมด ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับวิธีนำเสนออย่างที่บอกไปข้างต้น ว่าจะนำเสนอยังไงให้ “สมบูรณ์ ใหม่ และอยู่ในกรอบ” ในเวลาเดียวกัน

Tomb Raider

 

เพราะไม่ได้มีแค่เราบนโลก

สื่อแต่ละประเภทนั้นมีกลุ่มลูกค้าต่างกัน หนังก็มีลูกค้าของมัน เกมก็มีลูกค้าของมันเหมือนกัน หลายคนอาจจะคิดว่ามนุษย์ Gen Y-C อย่างเรานั้นเล่นเกมดูหนังกันทุกคนอยู่แล้ว เรื่องที่ดูหนังกันทุกคนอาจจะจริง แต่เล่นเกมทุกคนไหมคงไม่ใช่ ทำให้หลายครั้งการทำหนังจากเกมจะมีโจทย์ยากที่ “ต้องทำให้มนุษย์ในโลกดูแล้วเข้าใจทุกคน” ทำให้นอกจากจะต้องโฟกัสไปที่การเอาใจแฟนบอยแล้ว ยังต้องเอาเวลามาปูพื้นฐานของตัวละครเพื่อให้คนที่ไม่เคยเล่นเกมรู้สึกอินไปกับตัวละครอีก อย่างที่บอกในหัวข้อที่แล้ว เวลามันสำคัญมาก ถ้าจะเอามาปูพื้นฐานตัวละครด้วย เอาใจแฟนบอยด้วยแล้วดีคงเป็นไปได้ยากมาก ยกตัวอย่างเช่นหนังของ Marvel อย่าง Avenger ที่ยิ่งเพิ่มภาค ยิ่งเพิ่มจุดอ่อนให้หนังขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตัวละครมันเยอะเกิน จนไม่สามารถเกลี่ยบทให้พอได้ในเวลาเพียงแค่สองชั่วโมงได้

อย่างที่เห็น หากคุณเป็นคนเล่นเกม หากหนังไม่ได้ปูพื้นฐานตัวละครมาก แต่ใส่เต็มกับเนื้อหา คุณก็จะให้คะแนนหนังเรื่องนั้นสูง (เพราะคุณเข้าใจพื้นเพตัวละครอยู่แล้ว) แต่ถ้าหนังปูตัวละครไปครึ่งเรื่อง แล้วค่อยไปสนเนื้อหาในครึ่งเรื่องหลัง คุณจะรู้สึกว่ามันแย่ทันที เนื่องจากคุณจะรู้สึกว่าคุณเพิ่งดูหนังได้แค่ครึ่งเรื่อง

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ได้เล่นเกมมาก่อน หากหนังไม่ปูพื้นฐานให้ตัวละครมากพอ เราก็จะไม่รู้สึกอินกับการกระทำใด ๆ ของตัวละคร แม้เนื้อหาจะดีมากแค่ไหน การนำเสนอจะดีมากเท่าไหร่ หากเราเข้าไม่ถึง หนังเรื่องนั้นก็ห่วยสำหรับคุณทันที

Social

จริง ๆ การแปลงสื่อหนึ่งไปเป็นสื่อหนึ่งมันมีความยากในตัวของมันอยู่แล้ว ผู้เขียนไม่อยากให้เราไปคาดหวังอะไรกับมันมาก เพราะขนาดการแปลงนามสกุลไฟล์ในคอมพิวเตอร์ คุณสมบัติบางอย่างยังไม่สามารถเอามาได้เลย ก็อย่างที่บอก อย่าไปคาดหวังอะไรมาก ปล่อยจิตใจให้โล่ง อย่าไปคิดว่าหนังจะต้องเหมือนเกม อย่าไปคิดว่าเกมจะต้องเหมือนหนัง แค่เปิดใจรับมันต่อไปแค่นั้นเอง…

Nattapit Arsirawatvanit

มาร์ค - Senior Content Writer

Back to top