BY StolenHeart
6 Jan 19 5:40 pm

รู้จักกับ Speedrun โลกของการเคลียร์เกมที่ฉีกทุกกฎเกณฑ์

34 Views

เกมเมอร์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ส่วนใหญ่มักจะนิยมชมชอบในการเล่นเกมแบบปกติธรรมดาตามที่ผู้พัฒนาต้องการให้มันเป็น เพื่อซึมซับเนื้อหา ความสนุก และอื่น ๆ ในยามว่าง แต่ว่าในโลกของเราก็มีหลายสิ่งที่ยังอธิบายไม่ได้อยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มคนที่ค้นหาความสนุกของเกมในรูปแบบใหม่ที่ผู้พัฒนาไม่ได้ตั้งใจให้เป็น โดยหนึ่งในกลุ่มผู้เล่นเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือกลุ่มการเล่นเกมแบบ Speedrun นี่เอง

ผู้เขียนเคยเกริ่นไปถึงกลุ่มคนเล่นเกมในลักษณะนี้กันมาบ้างแล้ว และหลายคนที่ชอบหาคลิปเกี่ยวกับเกมมาดูน่าจะเคยเห็นหลายคลิปเขียนกำกับไว้ว่า Speedrun บ้าง TAS บ้าง และคลิปเหล่านี้มักจะมีเวลาที่เหลือเชื่อในการเล่นจบอยู่ และหลายครั้งก็ใช้วิธีที่พิสดารมากจนนึกไม่ถึง แต่รู้กันหรือไม่ว่าการเล่นแบบ Speedrun นั้นมีอยู่หลายแบบและมีการแบ่งสถิติชัดเจนจากกลุ่มผู้เล่นด้วยกัน

ต้นกำเนิดของการเล่นแบบ Speedrun นั้นไม่ชัดเจนแบบเป็นลายลักษณ์อักษรนัก แต่ก็เริ่ม ๆ มาจากการท้าทายกันในร้านเกมอาร์เคดที่เริ่มมีการคุยกันในกลุ่มคนที่เล่นกันประจำว่า ใครจะสามารถจบเกมได้ไวกว่ากัน จนยุคที่อินเตอร์เนตเริ่มมีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น ก็เริ่มมีการพูดคุยติดต่อกันผ่านทางออนไลน์ ท้าทายเก็บสถิติกันเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น และเริ่มมีกลุ่มคนที่อยากทดสอบฝีมือในการเล่นแบบ Speedrun กันมากขึ้นเรื่อย ๆ

จนในปี 1993 สุดยอดเกม FPS เปลี่ยนโลกอย่าง Doom ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นอกจากกระแสด้านบวกและด้านลบที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายแล้ว ยังมีการท้าทายกันในหมู่ผู้เล่นกลุ่มเล็ก ๆ ว่าใครคือผู้ที่สามารถจบเกมได้เร็วที่สุด และในปี 1994 Christina Norman หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ Strunoph ก็ได้จัดทำเว็บไซด์ที่มีชื่อว่า LMP Hall of Fame ขึ้น เพื่อเป็นการจัดอันดับว่าผู้เล่นคนไหนสามารถทำเวลาจบเกม Doom ภาคแรกได้ไวที่สุด โดยการแข่งขันทำ Speedrun แบบนี้ถูกเรียกขานกันว่า COMPET-N มีผู้เล่นมากมายที่ก้าวเข้ามาท้าทายสร้างสถิติเล่นเกม Doom ให้จบเร็วที่สุดอย่างมากมาย โดยเฉพาะจากคอมมูนิตี้ DOOM Honorific Titles หรือ DHT  และมีรูปแบบการเคลียร์เกมที่หลากหลายแตกต่างกันไปมากมาย

หลังจากที่คอมมูนิตี้ของเกม Doom ประสบความสำเร็จในเรื่องการสร้างความนิยมในด้านการเล่นเคลียร์เกมแบบ Speedplay และรูปแบบอื่น ๆ ก็เริ่มมีผู้เล่นที่ลองไปใช้การแข่งขันแบบนี้ในเกมอื่น ๆ บ้าง โดยเริ่มจาก Quake ที่วางจำหน่ายตามหลังมาในปี 1996 จนได้รับนิยมบ้าง และเริ่มมีแคมเปญใหม่ออกมาในชื่อ Quake Done Quick แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการเล่นแข่งความเร็วกัน และเริ่มมี Speedplay จากเกมใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งการเล่นแบบ Speedrun ที่รู้จักกันดีนั้นมีการแบ่งแยกตามประเภทดังนี้

Any% – การเล่นในรูปแบบนี้คือการแข่งกันว่าใครจะจบเกมได้เร็วที่สุด โดยไม่สนว่าจะใช้วิธีใด แต่ต้องอยู่ในกรอบที่ว่าไม่ใช้โปรแกรมหรืออุปกรณ์ช่วยเล่นอื่น ๆ แต่ถ้าจะใช้ Bug หรือ Glitch ของเกมช่วยก็ได้ เป็น Speedrun ที่สามารถหาดูได้ทั่วไป

100% – การจบเกมแบบ 100% ก็ตรงตัวตามที่ว่า คือเก็บทุกอย่างในเกมครบทั้งหมดโดยเร็วที่สุดโดยไม่มีการกดข้ามหรือใช้ Bug ช่วย และบางเกมก็จะมีข้อจำกัดหรือข้อห้ามที่ตั้งขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษด้วย อย่างเช่น Super Metroid ที่จะมี % ความคืบหน้าของเกมบอกเอาไว้ว่าผู้เล่นเก็บความสำเร็จของเกมไปได้เท่าไหร่แล้ว

และด้วยความนิยมในการเล่นแบบ Speedrun จากอดีตที่สะสมมาเรื่อย ๆ นี่เอง ทำให้กลุ่มก้อนของผู้เล่นที่ชื่นชอบในการเคลียร์เกมอย่างรวดเร็วนั้นเพิ่มพูนขึ้นมาเรื่อย ๆ และการเคลียร์เกมแบบรวดเร็วนี้ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมมาก หลายคลิปเปิดให้เราได้เห็นสิ่งแปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ส่วนคลิปการเล่นแบบเวอร์ ๆ บางอันที่เร็ว ๆ มากนั้นถ้าหากมีการใช้โปรแกรมหรืออุปกรณ์เสริมอื่นช่วยก็จะมีการระบุว่าคลิปนั้นใช้ Tool-Assisted หรือของช่วยเหลือในการเล่นด้วย

และไม่ใช่แค่ว่าการเล่นเกมแบบ Speedrun นั้นจะสามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะต้องมีการเตรียมการและเลือกเวอร์ชั่นของเกมที่จะนำมาใช้เล่นด้วย เพราะบางเกมในแต่ละเวอร์ชั่นจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย รวมไปถึง Bug ในเกมที่ถูกแก้ไขหรือมีเพิ่มเติมด้วย และจะมีการแยกย่อยประเภทลงไปอีกสำหรับเกมที่เป็น Rom Hack ต่าง ๆ เพื่อความยุติธรรม

ปัจจุบันนี้กลุ่มคนที่เล่นเกมแบบ Speedrun มีการบันทึกสถิติอย่างเป็นรูปธรรมในเว็บไซด์ speedrun.com ทั้งแบบ any% และ 100% แยกกันชัดเจน และพวกเขายังมีการรวมตัวกัน Streaming การเล่นเกมแบบ Speedrun เพื่อการกุศลอยู่บ่อยครั้งในนามของ GameDoneQuick ที่ผู้เล่นแต่ละคนจะมาร่วมกันเล่นเกมแบบ Speedrun ออกอากาศแบบสดๆ พร้อมอธิบายในแต่ละจุดถึงวิธีการทำแบบละเอียดด้วยครับ

แม้การเล่นเกมจบแบบ Speedrun อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับนักสำหรับผู้เล่นหลายคน แต่ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าการเล่นเกมแบบ Speedrun นั้นมีเสน่ห์น่าค้นหาอยู่ไม่น้อย เพราะมันไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะหา Bug ของเกมเจอแล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้ และผู้พัฒนาบางเจ้าเองก็ค่อนข้างชื่นชอบกับการเคลียร์เกมโดยใช้ Bug แบบนี้เพราะจะได้เห็นจุดบกพร่องในการพัฒนาเกมของตนอย่างชัดเจนด้วย เป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจที่แตกต่างจากการเล่นแบบปกติอย่างหลากหลายทีเดียวครับ

เว็บไซด์เกี่ยวกับการเล่นเกมแบบ Speedrun ที่น่าสนใจ: Speedrun.com, gamedonequick.com

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top