BY KKMTC
26 Apr 22 6:13 pm

The Town with No Name ตำนานเกมคาวบอยทุนต่ำ กระทั่งผู้พัฒนาอยากลืมมัน

62 Views

“Red Dead at Home” นี่คือฉายาหยอกล้อของ The Town with No Name เกมคาวบอยทุนต่ำ ที่แม้กระทั่งทีมพัฒนาเกมอยากลืมเลือนมันออกจากความทรงจำ โดยบทความนี้จะเป็นการทำความรู้จักกับหนึ่งในเกมผจญภัยยอดแย่จนเป็นตำนานถึงทุกวันนี้

รู้จัก The Town with No Name เกมคาวบอยทุนต่ำที่แท้ทรู

The Town With No Name

The Town with No Name คือเกมธีมคาวบอย โดยทีมพัฒนาเกมสัญชาติอังกฤษ Delta 4 และมีตัวแทนจำหน่ายโดย On-Line Entertainment ซึ่งเกมนี้วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1992 ให้กับระบบ Commodore CDTV และ MS-DOS ในปี 1993

เกมนี้เป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งใน “เกมยอดแย่ตลอดกาล” เพราะมีคุณภาพสอบตกทั้งด้านเกมเพลย์ กราฟิก การนำเสนอ และประสิทธิภาพ หรือจะบอกว่าเป็นเกมที่หาข้อดีได้ยากกว่าข้อเสียก็ว่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม เกมดังกล่าวเริ่มถูกเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจาก AVGN และ YouTuber หลายคน ได้ทำการรีวิวเกมดังกล่าว จนตอนนี้ มันกลายเป็น Cult Classic ที่หลายคนชื่นชอบ เพราะเป็นเกมแย่

เกมที่นำเสนอข้อเสียหลายข้อแบบซึ่ง ๆ หน้า

The Town With No Name (1)

ในเกมนี้ผู้เล่นรับบทเป็นคาวบอยนิรนามคนหนึ่งนามว่า “The Man with No Name” ที่เดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งห่างไกลจากความเจริญรุ่งเรือง แต่ทว่าเพิ่งเดินเพียงไม่กี่ก้าว ก็โดนเหล่ามือปืนหาเรื่อง จนเกมเมอร์ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องยิงป้องกันตัวเอง แล้วเปิดศึกกับกลุ่มโจรสุดโฉด Hole-in-the-Head Gang โดยไม่ได้ตั้งใจ

The Town with No Name คือเกม Point-and-Click คล้ายเกมของค่าย Telltale Games ตัวอย่างเช่น The Walking Dead และ The Wolf Among Us ยกเว้นแต่เกมนี้แทบไม่มีการตรวจสอบคุณภาพใด ๆ เลยทั้งสิ้น

จากการเปิดเกมครั้งแรก เกมเมอร์จะรู้สึกทันทีว่า The Town with No Name คือเกมทุนต่ำ ที่กล้าพูดได้เลยว่าถูกสร้างขึ้นมาแบบ “ขอไปที” และหากอ้างอิงจากรายชื่อผลงานเกมที่ผ่านมาของค่าย Delta 4 ทั้งหมด นี่คือผลงานเกมที่แย่ที่สุดของ Delta 4 อย่างไม่ต้องสงสัย

The Town With No Name (2)

คุณภาพกราฟิก การวาดตัวละคร และแอนิเมชันโดยรวมของ The Town with No Name เหมือนถูกสร้างขึ้นโดยใช้โปรแกรม Microsoft Paint รวมถึงโมเดลตึกราวบ้านช่องต่าง ๆ เหมือนแค่แปะก้อนโพลิกอนกับพื้นเฉย ๆ ซึ่งส่งผลลัพธ์ออกมา ทำให้เกมนี้เป็นหนึ่งในเกมที่มีภาพกราฟิกยอดแย่ตลอดกาล

เนื่องจาก Delta 4 ขาดงบประมาณในการสร้างเกม (ด้วยสาเหตุบางอย่าง) เหล่าทีมงานจึงไม่สามารถจ้างนักพากย์เสียงได้ พนักงานจึงจำเป็นต้องพากย์เสียงตัวละครด้วยตัวเอง เนื่องจากพวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในการให้เสียงคาแรคเตอร์ รวมถึงขาดอุปกรณ์หลายอย่าง และไม่มีความทุ่มเทกับงานพากย์ ส่งผลให้ The Town with No Name ก็เป็นหนึ่งในเกมที่มีเสียงพากย์ยอดแย่ไปด้วย

ซ้ำร้าย เนื้อเรื่อง The Town with No Name ก็โดนวิจารณ์แบบสับเละว่าขาดความน่าสนใจ มีการเล่าเรื่องแบบงง ๆ และมีมุกตลกฝืด ๆ แห้ง ๆ แม้ตัวเกมพยายามใส่เนื้อหา Pop Culture ที่อ้างอิงจากหนังคาวบอยคลาสสิกหลายเรื่อง เช่น The Good, the Bad and the Ugly แต่ก็ไม่สามารถช่วยแบกคุณภาพเนื้อเรื่องได้อยู่ดี

The Town With No Name (3)

ส่วนระบบเกมการเล่น แม้ทีมงานมีความพยายามอยากให้เกม “มีความหลากหลาย” ด้วยการเพิ่มมินิเกมหลายอย่าง นอกเหนือจากการกด Point-and-Click เพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากเป็นธรรมชาติของเกมแนวดังกล่าวที่ต้องกดปุ่ม เพื่อดำเนินเนื้อเรื่องอยู่แล้ว จึงไม่ใช่แนวเกมที่ทุกคนจะชื่นชอบ

นอกจากนี้ อาจเป็นเพราะตัวเกมมีกระแสตอบรับยอดแย่ The Town with No Name จึงวางจำหน่ายเฉพาะในประเทศอังกฤษเท่านั้น รวมถึง Hacker มือดีบางคน ค้นพบว่าเกมดังกล่าวยังมี “ทรัพยากร” อีกมากมาย ที่ไม่ถูกใช้ในเกมเวอร์ชันเต็ม เช่น ตัวละครแก็งอื่น ๆ, การแก้ไข Puzzle และบทสนทนาหลายประโยค หรือหมายความว่าตัวเกมยังมีศักยภาพที่ดีกว่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม คุณภาพเกมโดยรวมที่หาข้อเสียได้ง่ายกว่าข้อดี ทำให้ The Town with No Name ขึ้นแท่นเป็น “เกมยอดแย่ตลอดกาล” อย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นเกมตราบาปที่มีส่วนให้ Delta 4 ต้องปิดตัวลง หลังจากเกมวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

เพราะความแย่ จึงกลายเป็นเกมดี

The Town With No Name (4)

ไม่ปฏิเสธว่า The Town with No Name ยังห่างไกลจากคำว่า “เกมดี” อยู่หลายขุม และแน่นอน แค่บอกว่าเป็น “เกมธรรมดา ๆ” ก็ยังถือว่าเป็นการสบประมาทมากเกินไป แต่เพราะความแย่ของเกมนั่นแหละ ทำให้ The Town with No Name จึงกลายเป็นเกมดี ที่มอบความสนุกสนานให้กับเกมเมอร์ทุกคน

ด้วยมุกตลกสุดฝืด ภาพกราฟิกที่แย่สุด ๆ เนื้อเรื่องก็เล่าแบบมึนงงปะติดปะต่อไม่ได้ และมีความพยายามใส่เนื้อหา Pop Culture กับลูกเล่นเล็กน้อยให้ตัวเกมน่าสนใจมากขึ้น The Town with No Name จึงมอบประสบการณ์การเล่นเกมที่แปลกประหลาดไม่ซ้ำใคร

ที่สำคัญที่สุด บางมุกตลกใน The Town with No Name สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้เล่นได้จริง ๆ โดยเฉพาะฉาก “Give me a drink, Bartender” ที่ผู้หากกดคว้าแก้วเบียร์ไม่ทัน แก้วเบียร์ตกจากโต๊ะ แล้วเกิดเอฟเฟกต์เสียงดัง “เพล้ง” จนแสบแก้วหู ในขณะที่ตัวผู้เล่นยังคงจ้องหน้าบาร์เทนเดอร์ เหมือนกำลังอยู่สภาพโปรแกรมค้าง Error 404

ถึงแม้ The Town with No Name กลายเป็นผลงานเกม Cult Classic ของ Delta 4 ที่หลายคนเคยเกลียดในอดีต แต่ปัจจุบัน มันกลายเป็นเกมที่ต่างคนต่างพูดถึงและให้ความสนใจ จนถึงตอนนี้ ทางผู้พัฒนาเกมดังกล่าว ก็ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระแสเกมนี้ ซึ่งพวกเขาอาจจะยังมองว่าเป็น “เกมตราบาป” ที่อยากจะลืมเลือนมันให้ได้

Fergus McNeill ผู้กำกับ และหัวหน้าแอนิเมชันเกม The Town with No Name ซึ่งตอนนี้ เขายังทำอาชีพเป็นนักเขียนเกมอินดี้ และนักเขียนหนังสือนิยายแนวอาชญากรรมระทึกขวัญร่วมสมัย เคยกล่าวสั้น ๆ ว่าเขารู้สึก “เกลียด” เกมดังกล่าวเป็นอย่างมาก

Fergus Mcneill

Fergus McNeill ผู้กำกับ The Town with No Name

รวมถึงทีมงาน Delta 4 และตัวแทนจำหน่าย On-Line Entertainment เอง ก็ไม่เคยนำชื่อเกม The Town with No Name มารวมอยู่ในประวัติศาสตร์เกมที่เคยออกวางจำหน่ายอีกด้วย ซึ่งเพียงแค่นี้ ก็คาดเดาได้เลยว่าทีมงานไม่รู้สึกภาคภูมิใจกับเกมนี้เลยแม้แต่นิดเดียว

แหล่งที่มา: Crappy Games

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top