ผลงานชิ้นใหม่ของ Atlus และ Studio Zero ที่กลับมาอีกครั้งในเกมแนว JRPG ที่คงความลุ่มลึกและเพิ่มความซับซ้อนให้ระบบต่าง ๆ ของตัวเกมในหลายจุด
ล่าสุดตัวเดโมของเกม Metaphor: ReFantazio ก็ถูกปล่อยออกมาให้เล่น ให้เกมเมอร์ที่สนใจได้ลองโหลดตัวเกมมาทดสอบเพื่อสัมผัสกับระบบและเสน่ห์ต่าง ๆ ของเกมแบบเต็มที่ด้วยตัวเอง
และเพื่อเป็นตัวช่วยให้การผจญภัยในโลกแห่งใหม่ของเพื่อน ๆ ทุกคนลื่นไหลกันมากยิ่งขึ้น วันนี้เราขอแนะนำ “ไกด์” พื้นฐานที่จะพาไปทำความรู้จักระบบต่าง ๆ ของเกมที่ผู้เล่นทุกคนควรรู้ควรทำความเข้าใจ
เป็นการเตรียมตัวก้าวแรกก่อนออกเดินทางไปยังเส้นทางแห่ง “ราชา” ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เรารวบรวมมาแบ่งปันจะมีส่วนไหนบ้าง ตามไปดูกันได้เลย
ระบบการเล่นโดยรวม
โดยหลักแล้ว Metaphor: ReFantazio จัดเป็นเกม JRPG ที่ผสมเอาระบบสำคัญหลายส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ตัวเกมมุ่งเน้นในเรื่องของการสำรวจ การบริหารเวลา และการต่อสู้กับศัตรูผ่านระบบการต่อสู้ในแบบ Turn Based หรือการสลับตากันโจมตี
เกมการเล่นจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ
- การสำรวจผจญภัยเพื่อสืบหาข้อมูล รับภารกิจ พักผ่อน พัฒนาตัวละคร
- การออกไปลุยทำภารกิจในดันเจี้ยนหรือในฉากอันตรายที่เน้นการต่อสู้เป็นหลัก
เรียกได้ว่าถ้าใครเคยผ่านเกมตระกูล Persona ของผู้กำกับคนเดียวกันมาแล้วก็จะเข้ามือเข้าใจเกมการเล่นโดยรวมกันทันที อย่างไรก็ตามถึงแม้รูปแบบการเล่นหลักจะมีความคล้ายคลึงกันแต่ Metaphor: ReFantazio ก็มีการพัฒนาเสริมแต่งระบบการเล่นในหลายส่วน ซึ่งเราจะแนะนำกันในลำดับถัดไป
ในการเล่นรอบแรกเราสามารถเลือกระดับความยากได้ 4 ระดับ:
- Storyteller = ระดับการเล่นที่ง่ายที่สุดสำหรับสายเนื้อเรื่องที่มาเสพเนื้อหาอย่างเดียวไม่อยากคิดเรื่องการต่อสู้ใด ๆ เลย ไปจนถึง
- Easy = มีความท้าทายต่ำแต่ผู้เล่นก็ยังต้องใช้ทักษะบ้างในการต่อสู้กับศัตรู
- Normal = ความยากระดับพื้นฐาน การต่อสู้มีความท้าทายพอสมควร
- Hard = การต่อสู้ในเกมมีความยากมากยิ่งขึ้น
เราสามารถเลือกปรับเปลี่ยนความยากง่ายของเกมได้ตลอดเวลา หากระหว่างเล่นพบว่าตัวเกมยากหรือง่ายจนเกินความสนุกของเรา
เทคนิคพื้นฐาน
- ตัวเกมจะมีสัญลักษณ์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ากิจกรรมต่าง ๆ ภายในฉากนั้นจะนำไปสู่เหตุการณ์อะไร เช่น การคุยที่เป็นการรับภารกิจใหม่ การคุยเพื่อเพิ่มค่า Status และใช้เวลาช่วงกลางวัน การคุยเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่อาจกำลังเจอปัญหาบางอย่างอยู่ อย่างไรก็ตาม การพูดคุยกับผู้คนในเมืองที่เป็นสัญลักษณ์กรอบข้อความที่ส่วนใหญ่เป็นการคุยเพื่อรวบรวมข้อมูลหรือเก็บเนื้อเรื่อง บางครั้งอาจนำไปสู่การได้รับไอเท็มหรือข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ ดังนั้นเราก็แนะนำให้ลองพยายามสละเวลาพูดคุยกับเหล่าผู้คนภายในเมืองดู
- นอกจากการซื้อขายไอเท็มธรรมดาทั่วไปแล้ว เหล่า NPC ภายในเมืองยังมีบริการเพิ่มเติมสำคัญอีกสองอย่างนั่นก็คือการ Appraise หรือการประเมิน และการ Purify หรือการชำระล้าง Item บางอย่างที่เราได้รับมาในตอนแรกจะยังไม่สามารถใช้งานได้ เราจะต้องทำการประเมินเสียก่อน โดยเราสามารถทำการประเมินได้ที่ร้านค้าทุกร้านภายในเมือง ส่วนการชำระล้างจะต่างออกไป Item อุปกรณ์บางอย่างภายในเกมจะสามารถอัพเกรดพัฒนาไปอีกขั้นได้ด้วยการชำระล้าง ซึ่งต้องทำที่โบสถ์ภายในเมือง การชำระจะต้องใช้ Item เสริมตามที่กำหนดและเมื่อชำระเสร็จ Item ตั้งต้นจะได้รับค่าสถานที่พิเศษหรือบวกโบนัสรูปแบบใหม่เข้าไป
ระบบการต่อสู้ Battle System
Metaphor: ReFantazio มีระบบการต่อสู้ที่พิเศษเสียหน่อยนั่นก็คือแม้ระบบการต่อสู้หลักภายในเกมจะเป็นการต่อสู้แบบสลับตาหรือ Turn Based แบบที่หลายคนคุ้นเคย
แต่ระหว่างฉากสำรวจภายในดันเจี้ยนหรือในฉากพื้นที่อันตรายต่าง ๆ เราสามารถบังคับตัวละครหลักให้โจมตีศัตรูได้โดยตรง เพื่อสร้างความได้เปรียบหรือจัดการศัตรูที่อ่อนแอกว่าได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ฉากต่อสู้แบบ Turn Based หรือที่ตัวเกมเรียกว่า Squad Battle
เราสามารถวัดค่าพลังของศัตรูในฉากโดยการกดใช้ความสามารถ Fae Sight (ปุ่ม L2, LT หรือ )
ศัตรูที่ อ่อนแอกว่าเรา จะแสดงเป็น: สีฟ้า
ศัตรูที่ ระดับเท่าเรา จะแสดงเป็น: สีเหลือง
ศัตรูที่ แข็งแกร่งกว่าเรา จะแสดงเป็น: สีแดง
ศัตรูที่เรา ไม่รู้ค่าพลัง จะแสดงเป็น: สีขาว
ผู้เล่นสามารถจัดการศัตรูที่อ่อนแอกว่าได้เลยบนฉาก และแม้เราจะถูกศัตรูที่อ่อนแอกว่าโจมตีตัวเกมก็จะไม่บังคับให้เราเข้าสู่ฉากต่อสู้ Squad Battle แต่เราจะเสียพลังชีวิตเมื่อถูกโจมตีแทน
ส่วนการโจมตีศัตรูที่มีความแข็งแกร่งเท่าเราหรือมากกว่าเราจะเป็นการลดค่า Break Gauge แทน หากเราโจมตีศัตรูจนเกจดังกล่าวถูกทำลายและเรากดเข้าต่อสู้ Squad Battle เราจะเริ่มการต่อสู้แบบได้เปรียบมาก ๆ กล่าวคือเราจะได้โจมตีเปิดตัดพลังและได้เริ่ม Turn การต่อสู้ก่อน
นอกจากนั้นเรายังสามารถลอบโจมตีและทำลายเกจของศัตรูได้ทันทีหากเป็นการโจมตีจากด้านหลัง และในทางตรงกันข้ามหากเราถูกศัตรูที่ระดับเท่ากันขึ้นไปโจมตีในฉาก เราจะถูกบังคับให้เข้าสู่ Squad Battle แบบเสียเปรียบมาก ๆ ซึ่งบางครั้งอาจถึงขั้นทำให้ทีมของเราถูกจัดการได้เลย
จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ในฉากเปิดกว้างมีความสำคัญอย่างมากในเกมนี้ ดังนั้นในการต่อสู้กับศัตรูที่มีระดับเท่ากันเราจำเป็นต้องมีจังหวะคอยหลบการโจมตีของพวกมันด้วย โดยตัวเกมจะเตือนเราด้วยสัญลักษณ์ ! ก่อนที่พวกมันจะออกท่าโจมตี เป็นจังหวะให้เราสังเกตและหลบหลีกการโจมตีออกมา
อย่างไรก็ตามผู้เล่นอาจจะไม่เลือกเสี่ยงเข้าโจมตีศัตรูในฉากและเลือกกดเข้าสู่การต่อสู้ Squad Battle โดยทันทีก็ได้เช่นกัน ดังนั้นการผสมการเล่นระหว่างการโจมตีบนฉากและการต่อสู้ใน Squad Battle ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะเลือกเสี่ยงแบบไหน
Squad Battle
Squad Battle ถือเป็นระบบการต่อสู้ที่แท้จริงของเกม Metaphor: ReFantazio นี่คือการต่อสู้แบบสลับตาที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี
ในการต่อสู้แบบนี้ฝั่งของผู้เล่นและฝั่งของศัตรูจะผลัดหรือสลับกันใช้ความสามารถ เวทมนตร์ หรือ Item เพื่อเอาชนะอีกฝ่ายให้สำเร็จ โดยพื้นฐานแล้วเราจะสามารถเลือกสั่งการตัวละครในทีมได้ดังนี้
Melee: โจมตีพื้นฐานด้วยการใช้อาวุธประจำตัว ลักษณะการโจมตีหรือธาตุพิเศษขึ้นอยู่กับอาวุธที่สวมใส่
Archetype: ใช้ความสามารถพิเศษประจำ Archetype หรือ Class เฉพาะตัว ใช้ MP ในการร่ายและมีพลังโจมตีสูงกว่าการโจมตีปกติ
Item: ใช้ไอเท็มต่าง ๆ ที่เรามีอยู่เพื่อฟื้นพลัง รักษาสถานะผิดปกติ หรือโจมตีศัตรู
Pass: ข้าม Turn ของตัวละครนั้นเพื่อส่งไม้ให้เพื่อนร่วมทีมคนต่อไป อาจฟังดูไม่มีประโยชน์ด้วยการข้าม Turn ทำให้เราสามารถสั่งการตัวละครเดิมในทีมได้อีกครั้งด้วยเสียสละการใช้งานตัวละครตัวอื่นในทีมใน Turn นั้นไป
Guard: ตั้งการ์ดป้องกันการโจมตีจากศัตรู ลดความเสียหายที่จะได้รับและไม่ถูกโจมตีแบบแพ้ธาตุ
Synthesis Skill: ความสามารถพิเศษที่เป็นการคอมโบ Skill จาก Archetype ของตัวละครสองตัวในทีม มีพลังสูงแต่ใช้ Turn Icon 2 อัน
และนอกจากคำสั่งพื้นฐานที่เราไล่มาแล้ว ในการต่อสู้ Squad Battle ยังมีเมนูที่มีประโยชน์อื่น ๆ อีกหลายอัน
Analyze: วิเคราะห์ความสามารถของศัตรูแสดงความต้านทานและจุดอ่อนต่าง ๆ ของเป้าหมายที่เรารู้
Assist: เปิดท่าโจมตีหรืออาคมซึ่งโจมตีธาตุหรือจุดอ่อนของศัตรูที่เรารู้ขึ้นมาทันที
Tactics: ตั้งค่าแผนการต่อสู้ที่ตัวละครในทีมจะใช้เมื่อเปิดโหมดต่อสู้โดยอัตโนมัติ
Escape: หนีจากการต่อสู้เพื่อกลับไปตั้งหลักใหม่ ไม่สามารถใช้ได้ในการต่อสู้บางครั้ง
Auto Battle: เปิดโหมดการต่อสู้อัตโนมัติโดยตัวละครในทีมของเราจะใช้ความสามารถต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับ Tactics หรือแผนการต่อสู้ที่เรากำหนดเอาไว้
สำหรับจำนวนคำสั่งที่เราสามารถสั่งการทีมของเราได้นั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวน Turn Icon ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รูปคริสตัลมุมซ้ายบนของหน้าจอ ซึ่งจะมีจำนวนมากขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเพื่อนร่วมทีมของเรา อย่างไรก็ตามการใช้ความสามารถบางอย่างก็สามารถทำให้เราได้รับ Turn Icon เพิ่มได้ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมาก ๆ ภายในเกมนี้
ในการต่อสู้ผ่าน Squad Battle หากเราสามารถล้มศัตรูได้โดยไม่ถูกโจมตี เราจะได้รับทรัพยากรและค่าประสบการณ์มากกว่าปกติอีกด้วย
ระบบการแพ้ทาง Weakness
ศัตรูต่าง ๆ ภายในเกมนี้รวมไปจนถึงตัวละครของเราจะมีสถานะ “แพ้ทาง” การโจมตีบางอย่าง ซึ่งเป็นได้ทั้งการโจมตีจากธาตุด้วยอาคม หรือการโจมตีทางกายภาพที่มีรูปแบบอยู่หลายอย่างภายในเกม
ศัตรูบางตัวอาจจะแพ้ไฟ แพ้ลม บางตัวอาจจะแพ้การโจมตีทางกายภาพแบบฟัน หรือแบบทุบ การโจมตีตัวละครด้วยธาตุหรือรูปแบบการโจมตีที่แพ้ทางจะส่งผลให้ตัวละครดังกล่าวถูกโจมตีอย่างรุนแรงเป็นพิเศษ ขณะเดียวกัน ฝั่งที่เป็นฝ่ายโจมตีจะได้ Turn Icon เพิ่มมา “ครึ่ง” ส่วน ทำให้เราสามารถออกคำสั่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นได้อีกหนึ่งครั้งใน Turn ของเรา
จะเห็นได้ว่าการโจมตีจุดอ่อนมีความสำคัญอย่างมากในเกมนี้ เพราะในขณะที่มันสร้างความได้เปรียบให้กับคุณได้อย่างมหาศาล มันก็สามารถโจมตีคุณได้อย่างเจ็บปวด เพราะศัตรูในเกมก็สามารถใช้ประโยชน์จากระบบนี้และโจมตีคุณได้อย่างรุนแรงและต่อเนื่องเช่นกัน
การจัดตำแหน่ง Formation
ตำแหน่งการยืนเป็นอีกหนึ่งอย่างที่คุณสามารถตั้งค่าให้กับสมาชิกภายในทีมได้ ตำแหน่งการยืนนั้นถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนง่าย ๆ คือ แถวหน้ากับแถวหลัง โดยความแตกต่างก็คือ ตัวละครในแถวหน้าจะโจมตีศัตรูด้วยคำสั่ง Melee ได้รุนแรงขึ้น ส่วนตัวละครที่อยู่แถวหลังก็จะโจมตีด้วยอาวุธ Melee ได้รุนแรงน้อยลง
อย่างไรก็ตาม Skill ความสามารถต่าง ๆ และการโจมตีของศัตรูบางครั้งจะมุ่งเน้นไปที่บางแถวเป็นหลัก บางครั้งศัตรูอาจจะพุ่งเป้าโจมตีแถวหน้าของทีมเรา ทำให้การสลับตำแหน่งไปมาระหว่างการต่อสู้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคสำคัญภายในเกม
เราสามารถตั้งค่าตำแหน่งในแถวให้กับสมาชิกของทีมได้ล่วงหน้าในหน้าเมนูหลักตรงส่วนของเมนู Party ซึ่งสมาชิกในทีมจะยืนในตำแหน่งที่เราตั้งแต่มาตรฐานเอาไว้ แต่ระหว่างการต่อสู้เราสามารถสลับตำแหน่งไปมาได้อย่างอิสระเมื่อถึง Turn หรือรอบของตัวละครนั้น ๆ
การติดสถานะผิดปกติ Status Ailment
Metaphor: ReFantazio มาพร้อมกับอาการสถานะผิดปกติเช่นเดียวกับเกม RPG ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งสถานะผิดปกติในเกมนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือการผิดปกติทางกายภาพและจิตใจ
สถานะผิดปกติทางกายภาพจะคงอยู่ต่อไปแม้การต่อสู้จะจบลงไปแล้วส่วนสถานะผิดปกติทางจิตใจจะถูกรักษาโดยอัตโนมัติเมื่อการต่อสู้รอบนั้นจบลง
ความผิดปกติทางกายภาพได้แก่
Poison ติดพิษ ทำให้สูญเสียพลังชีวิตทุกครั้งที่เลือกคำสั่งต่าง ๆ ระหว่างการต่อสู้
Paralysis อัมพาต มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถทำตามคำสั่งระหว่างการต่อสู้ได้สำเร็จ
Malady ติดโรค ค่าสถานะ Status ต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก และไม่สามารถฟื้นค่า HP และ MP ได้
Hex ถูกสาป ทุกการโจมตีที่ปล่อยออกไปจะสร้างความเสียหายกลับมาให้ตัวเองครึ่งหนึ่ง ลดความต้านทานธาตุความมืดและมีโอกาสติดสถานะผิดปกติอื่น ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น
Burn ถูกเผา ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมเมื่อถูกโจมตี
Frostbite น้ำแข็งกัด พลังโจมตีลดลงอย่างมาก
ความผิดปกติทางจิตใจได้แก่
Daze งง โอกาสโจมตีถูกเป้าหมายลดลงอย่างมาก
Charm ถูกเสน่ห์ โจมตีเพื่อนร่วมทีมหรือช่วยเหลือศัตรู
Forget หลงลืม ไม่สามารถใช้ Skill ของ Archetype ได้
Sleep หลับ ไม่สามารถสั่งการใด ๆ ได้และหากถูกโจมตีทางกายภาพจะติด Critical Hit
Rage คลั่ง พลังโจมตีทางกายภาพสูงขึ้นแต่ถูกโจมตีแรงขึ้นอย่างมากเช่นกัน ไม่สามารถใช้คำสั่งอื่นได้นอกจากโจมตีแบบ Melee
Anxiety กังวลใจ สถานะที่ติดได้เฉพาะตัวละครฝ่ายเราเท่านั้น ไม่สามารถใช้ท่า Skill ของ Archetype ได้และศัตรูที่โจมตีตัวละครที่ติดสถานะ Anxiety จะไม่เสีย Turn Icon
Stun มึน สถานะที่ติดได้เฉพาะศัตรู ศัตรูที่ติด Stun ไม่สามารถออกท่าได้หนึ่ง Turn
การถูกยกเลิก Turn
อีกหนึ่งจุดที่ผู้เล่นต้องระวังให้ดีและใส่ใจเสมอระหว่างการต่อสู้ก็คือการถูกป้องกันหรือถูกหลบหลีกการโจมตี
โดยปกติแล้วการออกท่าหนึ่งครั้งในเทินของเราจะใช้ Turn Icon หนึ่งอัน แต่หากการโจมตีดังกล่าวถูกป้องกันหรือถูกหลบหลีกไปได้ เราจะเสีย Turn Icon สองอัน
และยิ่งไปกว่านั้นหากการโจมตีดังกล่าวถูกสะท้อนกลับ Reflect หรือถูกดูดพลัง Absorb ไป Turn ของเราจะจบลงทันที
และแน่นอนว่ากติกาดังกล่าวนั้นถูกใช้งานในทั้งสองฝั่ง ดังนั้นหากเราสามารถหลบหลีกหรือสะท้อนการโจมตีของศัตรูได้สำเร็จนั่นก็หมายความว่าเราสามารถบังคับให้ Turn ของศัตรูจบลงได้เร็วกว่าปกติเช่นกัน
ระบบ Archetype
ระบบซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเกม Metaphor: ReFantazio ก็คือระบบ Archetype หรือ Class ของตัวละคร ภายในเกมนี้เราสามารถสลับ Class ให้เพื่อนร่วมทีมได้อย่างอิสระ หากเราปลดล็อก Class ใหม่มาแล้วสำเร็จและมี MAG ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เราได้มาระหว่างการเล่นเพียงพอ
Archetype แต่ละอันมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไป ซึ่ง Archetype จะเป็นตัวกำหนดอาวุธชุดเกราะที่ตัวละครตัวนั้น ๆ สามารถสวมใส่ได้ และแน่นอนว่า Skill ต่าง ๆ ที่มีให้ใช้งานก็จะผูกพันกับ Archetype ที่เราเลือกติดตั้งเป็นหลัก
ซึ่ง Archetype ที่เราติดตั้งไว้จะค่อย ๆ พัฒนาเพิ่มระดับไปเรื่อย ๆ โดยมี Rank เป็นตัวกำหนด เราจะได้ A.EXP หรือค่าประสบการณ์ของ Archetype มาหลังจัดการศัตรูได้สำเร็จเช่นเดียวกับการได้รับค่าประสบการณ์ทั่วไปเพื่อเพิ่มเลเวลของตัวละคร อย่างไรก็ตาม Archetype ที่เรา “ติดตั้ง” อยู่เท่านั้นถึงจะได้รับค่า A.EXP
และทุก ๆ Rank ที่เราเพิ่มระดับไปเรื่อย ๆ เราก็จะได้รับ Skill และความสามารถใหม่ ๆ ของ Archetype นั้น ๆ มา ตัวเกมยังมีระบบการเพิ่มระดับ Archetype ในแบบอื่นนอกเหนือจากระบบ Rank ผ่านการอัพเกรดความสัมพันธ์ของเหล่าผู้ติดตาม และการพัฒนาไปสู่ Archetype ระดับสูงที่มีความสามารถพิเศษและโดดเด่นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้อีกด้วย
และในขณะที่เราสามารถสลับ Archetype ที่ตัวละครของเราปลดล็อกเอาไว้ได้ตลอดเวลา แต่การปรับแต่ง Archetype ในภาคส่วนอื่น ๆ จำเป็นจะต้องเดินทางไปยังสถานที่ซึ่งในเกมเรียกว่า Akademeia เสียก่อน
ยิ่งไปกว่านั้นค่า Status ของตัวละครที่ใช้คำนวนความสามารถระหว่างการต่อสู้จะคิดจากการบวกรวม Status พื้นฐานเข้ากับ Status ของแต่ละ Archetype ซึ่งจะมีความโดดเด่นในด้าน Status ต่างกัน เช่นหากติดตั้ง Warrior ค่า Str ของเราก็จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าการติดตั้ง Mage เป็นต้น
ระบบ Inherit
เนื่องจากว่า Archetype แต่ละอันจะถูกล็อกเอาไว้แล้วว่าจะใช้ความสามารถอะไรได้บ้าง ตัวเกมจึงมาพร้อมระบบที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายในการปรับแต่งตัวละครของเราผ่านระบบที่มีชื่อว่า Inherit
Inherit ทำให้ตัวละครต่าง ๆ สามารถใช้งาน Skill ของ Archetype อื่นที่ตนเองปลดล็อกและเรียนรู้ไว้แล้วได้
ยกตัวอย่างเช่น Seeker ซึ่งเป็น Archetype พื้นฐานมี Skill ซึ่งชื่อว่า Tarukaja ซึ่งเป็นเวทบัฟพลังโจมตีให้เพื่อนร่วมทีมได้ 3 เทิน
เมื่อเราสลับไปใช้ Archetype อื่นเราอาจไม่มีความสามารถนี้อยู่แต่ Skill หรือเวทนี้เป็นเวทที่เราชอบใช้งาน ดังนั้นเราสามารถใช้ระบบ Inherit ทำการปลดล็อก Skill นี้และนำไปติดตั้งใน Slot แยกพิเศษเพื่อให้เราใช้งานได้ตามใจ
การปลดล็อก Skill ของเหล่า Archetype ผ่านระบบ Inherit จะต้องใช้ทรัพยากรอย่าง MAG อีกเช่นกัน และแน่นอนว่าการปลดล็อกทั้ง Archetype และ Skill ที่สามารถ Inherit ได้จะต้องจ่ายแยกในทุก ๆ ตัวละคร
แต่ด้วยระบบนี้ทำให้เราสามารถสร้าง Class ตัวละครในแบบที่เราต้องการได้อย่างมีอิสระมากยิ่งขึ้น
ระบบ Synthesis Skill
เป็นการโจมตีแบบผสมผสานที่ใช้ความสามารถของ Archertype จาก 2 ตัวละครภายในทีมและใช้ Turn Icon 2 อัน
Synthesis Skill นั้นมีหลากหลายรูปแบบอยู่ภายในเกม แตกต่างกันไปตามรูปแบบการจัดทีมของเรา
การใช้งาน Synthesis Skill ได้ถูกต้องถือเป็นอีกส่วนสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงต้นเกมที่การโจมตีธรรมดามักจะเป็นการโจมตีไปยังศัตรูเป้าหมายเพียงแค่ตัวเดียว แต่ Synthesis Skill สามารถขยายการโจมตีเป้าหมายเดียวให้กลายเป็นการโจมตีแบบหมู่ได้
แน่นอนว่ายิ่งเราเล่นไปเรื่อย ๆ และมี Archertype ใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น การผสม Skill ก็ยิ่งจะมีความหลากหลายและรุนแรงน่าสนใจมากขึ้นไปตามลำดับ
======================================================================
ทั้งหมดที่ว่ามาถือเป็นเพียงแค่ระบบพื้นฐานของเกม Metaphor: ReFantazio เท่านั้น แต่เราก็หวังว่าคำแนะนำพื้นฐานทั้งหมดนี้ จะเพียงพอให้คุณเข้าใจภาพรวมและสามารถสนุกกับเกมได้อย่างราบรื่นมากกว่าเดิม
และสำหรับใครที่สนใจตัวเกมและยังไม่ได้ลองตัวเดโมของผลงานเกมชิ้นนี้มาสัมผัสก็อย่าลืมไปโหลดมาทดสอบความสนุกของ Metaphor: ReFantazio ด้วยตัวเองกันได้
โดยมีให้ทดสอบกันแล้วบนเครื่อง PlayStation 5, PlayStation 4, Xbox Series และบน PC
ใครสนใจเข้าไปดาวน์โหลดกันได้ที่: https://asia.sega.com/metaphor/en/#demo