BY BabeElena
4 Oct 18 11:00 am

เปิดตำนานเกม EarthBound ซีรี่ส์เกมที่ดาร์คที่สุดจาก Nintendo

356 Views

เมื่อคุณได้ลองซื้อเกมมาสักเกมนึงให้ลูกเล่น โดยดูจากหน้าปก สิ่งที่นำเสนอตรงหน้า และตัวอย่างเกม แล้วคุณคิดว่า “อ่าห์ ก็ไม่มีพิษภัยนี่หน่า เด็กน่าจะเล่นได้” และคุณก็สั่งซื้อเกมนี้ให้ลูกของคุณเล่นอย่างสนุกสนาน แต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ลูกของคุณกลับมากระโดดกอดคุณด้วยความหวาดกลัว พร้อมกับอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับเกมที่คุณซื้อให้ลูกของคุณเล่นให้ฟัง 

นี่คือเหตุการณ์สมมุติของผู้เขียนที่ขอยกขึ้นมา เพราะนี่คือสิ่งที่ “เหนือความคาดหมาย” มาก ซึ่งไม่มีใครคิดว่า “ค่ายเกมที่ทำแต่เกมเด็ก ๆ เน้นครอบครัวจะพัฒนาเกมที่เหนือความคาดหมาย” มาจัดจำหน่ายและพัฒนาเกมแบบนี้ ใช่แล้วครับทางผู้เขียนกำลังพูดถึงซีรี่ส์เกมที่ Nintendo ได้เปิดตัวในช่วงยุคเครื่อง Famicom อย่าง EarthBound

กำเนิดซีรี่ส์เกม EarthBound

ย้อนไปในช่วงปลายยุค 1980s ช่วงนี้ถือว่าเป็นยุคที่วงการเกมกำลังเข้าสู่ยุคทองอย่างที่สุด มีการแข่งขันมากมายเกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้น Nintendo กำลังครองตลาดวงการเกม และสร้างซีรี่ส์เกมต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั่นคือซีรี่ส์เกม RPG ที่ Nintendo ได้พยายามผลักดัน โดยได้คุณ Shigesato Itoi เป็นผู้ออกแบบหลักของเกมนี้ ซึ่งคุณ Itoi ได้พยายามนำเสนอโปรเจกต์นี้ตอนที่คุณ Shigeru Miyamoto มาเยี่ยมที่สาขาของเขา ซึ่งก็ทำไม่สำเร็จในการนำเสนอโปรเจ็กต์ดังกล่าว แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ทำสำเร็จ และคุณ Itoi ก็ได้พัฒนาเกมใหม่ออกมาเป็นซีรี่ส์เกม RPG ของ Nintendo ที่ถูกขึ้นหิ้งอย่าง “Mother” หรือในชื่อของฝั่งอเมริกาจะเรียกว่า “EarthBound”

Mother ภาคแรก ถูกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1989 โดยวางจำหน่ายในชื่อของ “Mother” ลงให้กับเครื่อง Famicom และวางจำหน่ายในโซนญี่ปุ่นเท่านั้น โดยตัวเกมจะเป็น JRPG และค่อนข้างจะได้กลิ่นอายจาก Dragon Quest พอสมควร มีเซตติ้งโลกเป็นโลกยุคปัจจุบัน และมีเนื้อเรื่องที่เบื้องหน้าอาจจะดูสดใส แต่เมื่อยิ่งเล่นไปนานเท่าไหร่คุณจะจบว่า “เนื้อเรื่องเกมนี้มันโหดร้าย” กว่าที่คิด เราจะได้รับบทเป็น “Ninten” เด็กปริศนาคนนึงที่มีเส้นสายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับพลังจิต โดยจุดเริ่มต้นของผจญภัยของเขาคือการที่ข้าวของในบ้านของเขาขยับเองได้ และเขาดันหยุดปรากฏการณ์เหล่านั้นในบ้านได้สำเร็จ ซึ่งพ่อของเราก็ได้กล่าวไว้ว่า “เรามีสายเลือดของพวกใช้พลังจิต” และขอให้เราไปผจญภัยเพื่อหยุดเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสิ่งลึกลับ ตัวเกมมีการสื่อถึงความรุนแรงและความดาร์คทั้งผ่านข้อความและผ่านภาพในเกม ถึงตัวเกมอาจจะไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นเลือดตกยางออก แต่สิ่งที่นำเสนอมันก็ไม่สามารถพูดได้เลยว่ามันคือเกมที่ทำไว้ให้เด็กเล่น จนเกมนี้ได้เรตติ้ง T for Teen ซึ่งเป็นเกมแรก ๆ ของ Nintendo ที่ได้เรตติ้งระดับนี้ในยุคนั่น 

Mother ภาคแรกนั้นถือว่าเป็นการเปิดตัววายร้ายที่แฟน ๆ จำได้ไม่มีลืม ซึ่งในภาคแรกนั่นเขาไม่ได้มาในรูปแบบที่ใครหลาย ๆ คนคุ้นเคย มันเป็นมนุษย์ต่างดาวตนนึงที่มีเจตนาจะยึดครองโลกแต่กลับมีความผูกพันและความรักเป็นจุดอ่อนของมัน และมันนามว่า Giygas โดยตัวมันอาศัยอยู่ในแท้งค์น้ำแปลก ๆ ขนาดใหญ่ ตัวเกมประสบความสำเร็จพอสมควรในประเทศญี่ปุ่นโดยสามารถทำยอดขายช่วงเปิดตัวไปมากถึง 150,000 ชุด ซึ่งในยุคนั้นเลขหลักนี้ถือว่าขายดีมากแล้ว แต่ในฝั่งของคำวิจารณ์กลับโดนสับในเรื่องของความสมดุลและความยากที่ยังดูยากเกินไปและไม่สมดุล แต่โดยรวมแล้วก็ยังเป็นเกมที่ดีอยู่ ถึงตัวเกมจะประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่นและมีการพัฒนาตัวเกมเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษพร้อมขายทั่วโลกแล้ว แต่สุดท้ายตัวเกมเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ถูกวางวางจำหน่าย อย่างไรก็ดี ตัวเกมเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็ได้ถูกวางจำหน่ายในภายหลัง แต่กว่าจะวางจำหน่ายก็ล่อไปปี 2015 หรือประมาณ 30 ปีให้หลังจากตัวเกมต้นฉบับกันเลยทีเดียว โดยวางจำหน่ายใน Virtual Console ของเครื่องคอนโซล Wii U โดยใช้ชื่อว่า “EarthBound Beginnings”

EarthBound กับครั้งแรกของตลาดตะวันตก

เวลาล่วงเลยจากภาคแรกผ่านไปถึงเกือบ 5 ปี ในที่สุดตัวเกมภาคสองของซีรี่ส์นี้ก็ได้ถูกวางจำหน่าย โดยใช้ชื่อว่า Mother 2 และวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1994 ซึ่งนี่คือครัั้งแรกของซีรี่ส์เกมนี้ที่มีการนำไปวางจำหน่ายในตลาดตะวันตกและอเมริกา โดยใช้ชื่อว่า “EarthBound”

Mother 2 หรือ EarthBound (แต่ต่อจากนี้ไปเราจะขอเรียกว่า EarthBound) ได้ถูกพัฒนาจากภาคแรกอย่างก้าวกระโดด ตัวเกมยังคงเป็น JRPG เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือขุมพลังกราฟิกที่สวยขึ้นจากภาคแรกหลายเท่า เพราะเกมนี้ได้ลงเครื่อง Super Famicom หรือ Super Nintendo Entertainment System ดังนั้นเกมนี้จึงจะมาพร้อมกับกราฟิก 16 bit อันสวยงาม ตัวเกมมีความสมดุลและเกมเพลย์ที่ดีขึ้นมาจากภาคแรก ส่วนเซตติ้งเนื้อเรื่องยังคงใช้เป็นยุคปัจจุบันเหมือนเดิม โดยเนื้อเรื่องภาคนี้จะเกิดขึ้นหลังจากภาคแรก “พอสมควร” เนื้อเรื่องของเกมนี้ถือว่าได้พัฒนาความดาร์คและความเข้มข้นจากภาคแรกไปพอสมควร สวนทางกราฟิกที่ถูกนำเสนอไปในทางสดใส โดยทีเด็ดที่สุดของเกมนี้ก็คงหนีไม่พ้น “Final Boss” ที่ยังคงเป็นตำนานและเป็นฝันร้ายจนถึงทุกวันนี้

ในภาคนี้เราจะได้รับบทเป็น “Ness” เด็กชายคนนึงที่ได้อยู่อาศัยอยู่ที่แห่งหนึ่ง โดยในค่ำคืนหนึ่ง อยู่ดี ๆ ก็ได้มีอุกกาบาตลึกลับตกลงมา ซึ่ง Ness ก็ได้เดินทางไปกับ “Pokey” เพื่อนบ้านของเขาในการตามหาน้องชายของเขานามว่า “Picky” และพวกเขาก็ได้พบกับกองทัพเอเลี่ยนลึกลับ ที่มาจากคู่รักคู่แค้นของโลกอย่าง “Giygas”

Giygas ยังคงรับบทเป็นตัวร้ายในภาคนี้ โดยมาในฐานะ Final Boss เช่นเดิม ซึ่งในครั้งนี้เหมือนตัวมันจะตีบทของตัวเองได้แตกเป็นอย่างมาก และอาจจะมากจนเกินไปด้วยซ้ำ มันไม่ได้อยู่ในแท้งค์น้ำแปลก ๆ แบบภาคแรก แต่เมื่อมันได้ถูกปลดปล่อยออกมา ฝันร้ายและภาพติดต่อของเกมเมอร์ก็ได้เกิดขี้น ในการต่อสู้กับ Giygas ภาคนี้ ตัวของ Giygas กลับเป็นกลุ่มก้อนพลังงานสีแดงหน้าคนที่บิดเบี้ยว มีบทพูดแปลก ๆ ที่ชวนหลอนใช่เล่น บวกกับเพลงประกอบที่ดูหลอนหูเป็นอย่างมาก และเมื่อคุณสู้กับ Giygas ไปเรื่อย ๆ เพลงประกอบก็จะยิ่งหลอนขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงตัว Giygas เองก็จะเริ่มบิดเบี้ยวและหลอนขึ้นอย่างสัมผัสได้ชัด ซึ่งอย่าลืมว่าสิ่งที่เราเล่ามาทั้งหมดนั้นถูกนำเสนอผ่านเกมของค่าย Nintendo ที่ขึ้นชื่อว่าเน้นทำเกมที่ไม่มีพิษภัยต่อครอบครัว แต่ Mother/EarthBound กลับนำเสนอเนื้อเรื่องที่มีความดาร์ค ความหนักหน่วงของเนื้อหา ตลอดจนความหลอนและความบิดเบี้ยวของตัว Giygas เอง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทำให้ EarthBound กลายเป็นซีรี่ส์เกมที่ดาร์คที่สุดของ Nintendo และน่าจะเป็นเกมไม่กี่เกมที่เกมเมอร์จดจำในฐานะ “เกมของ Nintendo ที่ไม่ใช่เกมเด็กเล่น”

Mother 2/EarthBound สามารถทำยอดขายไปได้พอสมควร โดยประสบความสำเร็จทั้งในแง่ยอดขายและคำวิจารณ์ แต่ค่อนข้างน่าเสียดายที่ตัวเกมถูกวางจำหน่ายในช่วงปลายเจนเนอเรชั่นของ Super Famicom/SNES เข้าไปแล้ว ทำให้เกมนี้ทำยอดขายได้ไม่มากเท่าที่ควรครับ

earthbound

เรื่องราวการพัฒนาของ EarthBound ภาคต่อ

และในปี 1994 Mother/EarthBound ก็ได้เริ่มสร้างภาคต่อ โดยมีแผนว่าจะลงให้กับเครื่อง Nintendo 64 ในรูปแบบของแผ่นซีดีที่ใช้อุปกรณ์เสริมในการเล่นอย่าง “Nintendo 64DD หลังจากนั่นประมาณ 5 ปี ในปี 1999 Mother/EarthBound ภาคต่อก็ได้ถูกเปิดตัวในงาน Nintendo Spaceworld โดยใช้ชื่อว่า “Mother 3” หรือ “EarthBound 64” และนำเสนอในรูปแบบกราฟิกสามมิติตามยุคตามสมัย ส่วนระบบต่อสู้และระบบอาร์พีจีก็ยังคล้ายๆเดิม  แต่สุดท้ายตัวเกม Mother 3 บน Nintendo 64 ก็ถูกยกเลิกในปี 2000 โดย Shigesato Itoi โดยให้เหตุผลในเรื่องของการใช้ระยะเวลาในการพัฒนาที่มากเกินไป ต่อมาในปี 2003 ทาง Nintendo ก็ได้ทำการมัดรวมตัวเกม Mother ภาคแรกและภาคสองมาขายใหม่อีกครั้งในชื่อของ Mother 1+2 โดยลงให้กับเครื่อง Gameboy Advance ซึ่งมีการฉายโฆษณาเกม ๆ นี้ผ่านทางโทรทัศน์ญี่ปุ่น โดยมีการแนบประกาศเล็ก ๆ ว่า “พวกเขากำลังพัฒนา Mother 3”

Mother 3 เริ่มต้นการพัฒนาอีกครัั้งในปี 2003 โดยถือว่าเป็นการรื้อทำใหม่หมด จากเดิมที่เป็นกราฟิกสามมิติก็ได้มาเปลี่ยนเป็นกราฟิกสองมิติคุณภาพระดับ 32bit โดยยังคงใช้ตัวละครและเนื้อเรื่องหลาย ๆ ส่วนจากของเดิม และเปลี่ยนมาลงให้กับเครื่อง Gameboy Advance แทน ถัดจากนั้นในปี 2004 คุณ Shigesato Itoi ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “Mother 3 พัฒนาไปได้ 60 เปอร์เซนต์แล้ว” และในวันที่ 20 เมษายน 2006 Mother 3 ก็ได้วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตัวเกมภาคนี้ยังคงรักษาความเป็นเกม JRPG แบบสองภาคแรก เพิ่มเติมคือภาพที่สวยขึ้น เนื้อเรื่องที่ดาร์คน้อยลงจากเดิมแต่ก็ยังคงความสะเทือนใจและความหนักหน่วงไว้อย่างดีเยี่ยม

ส่วนเกมเพลย์ในด้านของฉากต่อสู้นั้นก็ได้มีเพิ่มระบบใหม่ที่ทำให้การต่อสู้ในเกมแนว JRPG ดูไม่น่าเบื่ออีกต่อไป อย่าง “Musical Combo” ที่คุณจะต้องทำการกดโจมตีตามจังหวะเพลงหลังจากที่คุณทำการสั่งโจมตีไปแล้ว โดยไม่มีการบอกว่าจะต้องกดโจมตีตอนไหน นั้นหมายความคุณต้องใช้หูของคุณในการฟังล้วน ๆ ยิ่งคุณกดตรงจังหวะได้บ่อยคุณก็จะสามารถทำคอมโบและทำดาเมจได้สูงขึ้นจากการสั่งโจมตีเพียงครั้งเดียว โดยแน่นอนเมื่อตัวเกมนำเสนอระบบใหม่นี้ ทำให้เกมนี้จะมีเพลงประกอบตอนต่อสู้มากกว่า 40 เพลงกันเลยทีเดียว โดยแต่ละเพลงก็จะมีทำนองและจังหวะที่ช้าหรือเร็วไม่เท่ากันอีกด้วย เรียกได้ว่าแค่ระบบนี้ระบบเดียวก็ทำให้การต่อสู้ของเกม Mother 3 ดูน่าสนใจมากกว่า JRPG เกมอื่นๆในท้องตลาด

เนื้อเรื่องของเกมนี้เปิดมาค่อนข้างจะสดใสกว่าสองภาคแรก โดยเริ่มต้นจากเรื่องราวของครอบครัวนึงที่ได้ไปเดินทางเพื่อไปเยี่ยมคุณปู่ของพวกเขา โดยประกอบไปด้วย “Minawa” ผู้เป็นแม่ของ “Lucas” และ “Claus” และพวกเขาก็ได้ส่งจดหมายบอกทุกข์สุขดิบไปหาผู้ซึ่งเป็นพ่อคนอย่าง “Flint” ตัดมาที่ Flint ที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนึง โดยตอนที่ได้รับจดหมายที่ได้รับจากภรรยาของเขานั้น เขาได้อ่านจดหมายอย่างไม่น่ามีอะไรผิดปกติ แต่สักพักกลับมีเรื่องผิดปกติเกิดขึ้น เมื่ออยู่ดี ๆ ก็มีชายคนนึงพยายามจะเคาะประตูบ้านของ Flint เพื่อขอความช่วยเหลืออะไรบางอย่าง และได้เล่าให้ฟังว่าตอนนี้ป่าบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านกำลังถูกไฟไหม้แบบไม่ทราบสาเหตุ และนี่เป็นเหตุทำให้ Flint ต้องออกเดินทางไปช่วยชายคนนั้น รวมถึงการพาภรรยาและลูก ๆ ของเขาที่อาจจะติดกับอะไรบางอย่างระหว่างการเดินทางกลับมาด้วย เป็นการเริ่มต้นการผจญภัยของ Mother 3

เนื้อเรื่องของ Mother 3 ถึงอาจจะไม่หนักหน่วงเท่า Mother, Mother 2 แต่ในภาคนี้ได้มีการนำเสนอฉากเรียกน้ำตาและฉากที่จัดว่าปวดตับที่สะเทือนใจและอาจจะทำให้ผู้เล่นถึงกับน้ำตาไหลเมื่อได้เห็นกับฉากเหล่านั้น  ตัวเกม Mother 3 ประสบความสำเร็จทั้งแง่ของยอดขายและคำวิจารณ์ โดยตัวเกมถูกชมในการนำเสนอโลกของ JRPG และความสมบูรณ์แบบของตัวเกม รวมถึงในฝั่งของยอดขายที่สามารถทำยอดขายในสัปดาห์ที่ตัวเกมวางขายได้มากถึง 200,000 ชุด ซึ่งถือว่าเป็นยอดขายที่เยอะมากในประเทศญี่ปุ่น แต่ถึงตัวเกม Mother 3 จะประสบความสำเร็จขนาดไหนก็ตาม เราก็ยังไม่มีวี่แววที่จะได้เล่น Mother 3 เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษแบบเป็นทางการเลย ตั้งแต่ตอนนั่นจนตอนนี้ก็ล่อไป 12 ปีกว่าแล้ว ทำให้แฟน ๆ ที่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นต้องแปลเกมนี้กันด้วยตัวเองและแจกจ่ายในรูปแบบของ Fan Translation

ปลายทางของซีรี่ส์ และความภักดีของแฟนเกม

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลาเสมอ และสิ่งที่ไม่ว่าแฟนเกมไหน ๆ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับเกมที่เขารัก แต่มันได้เกิดขึ้นแล้วกับซีรี่ส์ Mother / EarthBound โดยมีการถ่ายทอดสดพิเศษเกี่ยวกับ Mother 3 ที่ออกอากาศก่อนวันวางจำหน่ายเกมในประเทศญี่ปุ่นเพียงหนึ่งวันเท่านั้น ซึ่งได้มีพิธีกรสัมภาษณ์กับคุณ Shigesato Itoi เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของ Mother 4 และนี่คือบทสัมภาษณ์ครับ

Shigesato Itoi : จะไม่มีเป็นครั้งที่สี่อีกแล้วครับ

พิธีกรรายการ : คุณหมายความว่าจะไม่มี Mother 4 ใช่ไหมครับ ??

Shigesato Itoi : ใช่ครับ

พิธีกรรายการ : แล้วสำหรับเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับซีรี่ส์เกม Mother ล่ะครับ ??

Shigesato Itoi : ผมว่าเราหมดคำถามแล้วนะครับ

จากบทสัมภาษณ์นี้เราก็สามารถสรุปได้แล้วว่า คุณ Shigesato Itoi ได้ทำการปิดซีรี่ส์เกมนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่น่าใจหายมาก ๆ สำหรับเหล่าแฟน ๆ Mother/EarthBound แต่ตำนานยังไงก็คือตำนานอยู่วันค่ำ แฟน ๆ ของเกมนี้ยังคงเคารพซีรี่ส์เกมนี้เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหนก็ตาม เพราะสังคมซีรี่ส์เกม EarthBound กับแฟน ๆ เกมถือว่าเป็นสังคมที่ขึ้นชื่อเรื่องของ “ความเป็นปึกแผ่น” และ “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ไม่ว่าจะเป็นการระดมแฟนเกมเพื่อทำหนังสือร้องขอให้มีการแปลเกม Mother 3 อย่างเป็นทางการ ที่สุดท้ายถึงแม้ Nintendo จะตอบรับแต่สุดท้ายก็ไม่สมหวัง แต่การกระทำของพวกเขาก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และสังคมเกม EarthBound ก็เป็นที่จับตามองมานับแต่นั้น

หรือแม้กระทั่ง Fan Games อย่าง Mother 4 ที่ทำด้วยน้ำพักน้ำแรงของแฟน ๆ อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร เนื้อเรื่อง เกมเพลย์ และอื่น ๆ ซึ่งถึงแม้ตัวเกมชะตากรรมจะไม่ต่างจาก Nintendo Fan Games เกมอื่น ๆ แต่ดูเหมือนว่า Nintendo จะใจดีกับเกม ๆ นี้และขอให้แค่เปลี่ยนชื่อเกมเท่านั้น และตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ “Starman.net” ซึ่งเป็นเว็บสังคมคนชอบเกม Mother/EarthBound ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสมาชิกหลาย ๆ คนจากที่แห่งนี่ก็ได้ทำการแจ้งเกิดตัวเองในวงการเกม เคสที่ชัดเจนที่สุดก็คือ “Radiation” หรือที่เรารู้จักกันในนามของ “Toby Fox” กับผลงานที่สุดโด่งดังอย่าง “Undertale” ที่ได้รับแรงบันดาลใจและเป็นการคารวะ EarthBound แบบเต็ม ๆ อีกด้วย

Undertale

ซึ่งการที่มีอะไรแบบนึ้เกิดขึ้น แน่นอนว่ามันไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ Nintendo และ Shigesato Itoi ได้ทำสิ่ง ๆ นี้ด้วยตนเอง กับวีดีโอเกมที่เป็นที่น่าจดจำแก่แฟน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องสุดดาร์คและหนักหน่วง เซตติ้งเกมที่แหวกแนว รวมถึงเสน่ห์ของเกมนี้ที่ไม่สามารถหาได้จากเกมอื่น ๆ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ก็เพียงพอแล้วที่ทำให้ EarthBound กลายเป็นซีรี่ส์เกมที่แฟน ๆ หลาย ๆ คนยังคงจดจำและพูดคุยกันจนถึงทุกวันนี้ครับ

BabeElena

Back to top