BY BOM
6 Nov 18 5:51 pm

ครบรอบ 10 ปีคดีเด็กติดเกมฆ่า Taxi สังคมไทยมองเกมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

28 Views

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ได้เกิดคดีสะเทือนขวัญกลางกรุงเมื่อนายพลวัฒน์ ฉินโน อายุ 18 ก่อเหตุฆาตกรรมโชเฟอร์แท็กซี่ โดยได้อ้างว่าเลียนแบบการกระทำมากจากเกม GTA ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว ส่งผลให้ “เกม” จากกิจกรรมยามว่างเพื่อความสนุกสนาน กลายเป็นสิ่งใหม่ที่รัฐ/สื่อ/สังคม มองว่าเป็น “ปัญหา” นำไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายทั้งการแบนเกม GTA  การกวดขันเรื่องของการเล่นเกมตามร้านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้เกมกลายเป็นมุมมองสีเทาในสังคมไทย 10 ปีผ่านไปหลังจากเหตุการณ์นี้ สังคมไทยมองเกมเป็นอย่างไร ภาพรวมเป็นอย่างไรและเกมเมอร์ไทยเป็นอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้เลย

วงการเกมขยายใหญ่ขึ้นแต่ภาพลักษณ์ของเกมยังคงเป็นเหมือนเดิม

หากเทียบกันกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วในตอนนี้วงการเกมไทย มาไกลกว่าเดิมมากมายนัก อาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการเกมขยายขึ้นเป็นเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา esports, Streamer, Caster , Reviewer, คนเขียน Content เกี่ยวกับวงการเกม รวมถึงเม็ดเงินและนักลุงทุนเองก็ให้การสนับสนุนมากขึ้น แต่ภาพลักษณ์ของเกมดีขึ้นเพียงเล็กน้อย “เกม” ยังคงเป็นสื่อสีเทาในมุมมองของผู้ที่มีอิทธิพลส่วนใหญ่ในสังคมไทย ที่มองว่าสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์มากนัก มิหนำซ้ำยังเกิดอาการมัวเมาอีกต่างหาก มีเพียงเหล่าเกมเมอร์เท่านั้นที่ยังชมกันเองเป็นส่วนใหญ่

เกมยังเป็นปัญหาสังคมเหมือนเดิม

ทุกวันนี้หากเหล่าผู้อ่านได้มีโอกาสได้เข้าไปยังเว็บไซด์ ข่าวชื่อดังต่าง ๆ แล้วลองค้นหาคำว่า “เกม” 90% จะเป็นข่าวด้านลบเสียงมากกว่าพร้อมพาดหัวเด็กติดเกมบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเด็กติดเกมหนักไม่กินข้าวกินน้ำจนต้องเข้าโรงพยาบาล เด็กติดเกมฆ่าตัวตายเพราะพ่อแม่ไม่ให้เล่นเกมก็เป็นข่าวบ่อยครั้งไป นอกจากข่าวปกติแล้ว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยรุ่นชาวไทยต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “เกม” ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาสังคมไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม เช่นกระทรวงศึกษามองว่าการเล่นเกมส่งผลเสียต่อการเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงสาธารณะสุขมองว่าเกมนอกจากจะเสียสุขภาพจิตแล้ว ยังทำให้ยังทำให้เสียสุขภาพกายอีกด้วย นอกจากนี้สถาบันครอบครัวเองก็ไม่ได้เข้าใจปัญหาเด็กติดเกมมากนัก โดยเหล่าผู้ปกครองมักจะมองปัญหาสุดท้ายคือเด็กติดเกม ทั้ง ๆ ที่ก่อนการกลายเป็นเด็กติดเกมนั้นมีหลายปัจจัย

ทำให้กลายเป็นว่าสังคมเกมของไทยเหมือนเป็น Sub – Culture ที่ไม่สามารถแนบกับสังคมไทยได้อย่างแนบเนียนเหมือน Culture อื่นเช่น กีฬา ภาพยนตร์ ดนตรี เป็นต้น แม้จะมีการข้องเกี่ยวกับวงการอื่นบ้านในบางครั้ง แต่ก็เป็นในเชิงธุรกิจมากกว่า

เกมเมอร์ไทย 10 ปีผ่านไปเอกลักษณ์ยังเหมือนเดิม

ทุกวันนี้เรากล้าพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่าเกมเมอร์ไทยกลายเป็นโปรเพลเยอร์ระดับโลกได้แล้ว แต่ก็ต้องพูดอย่างเจ็บใจเช่นกันว่าด้านลบของเกมเมอร์ชาวไทยก็มาแรงไม่แพ้กัน หากจะพูดถึงเอกลักษณ์ของเกมเมอร์ชาวไทย ภาพที่ออกมามักจะเป็นด้านลบเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในเกมที่ การใช้โปรแกรมโกง, การใช้บอท(ที่ไม่ได้มาจากระบบของเกม), การพูด Trash talk , Ego หรือแม้กระทั่งการโกงกันในงานแข่งขันเกมก็มีให้เห็นได้บ่อย ๆ ทำให้ภาพลักษณ์ของเกมเมอร์ไทยมีอันต้องติดลบบ่อย ๆ โดยเฉพาะมุมมองของเกมเมอร์ต่างชาติ ที่แบนคนไทยไม่ให้เล่นเกมในเซิร์ฟเวอร์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นโซนเอเชียหรือยุโรป

นอกจากนี้เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเกมเมอร์ไทยคือ “ยามศึกเรารบ ยามสงบเรารบกันเอง” ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับวงการเกมในด้านที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เหล่าเกมเมอร์ทุกสารทิศจะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันทันที ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนักข่าวเสนอข่าวว่าควรนำเกม GTA ไปเผา เหล่าเกมเมอร์ก็ออกมาต่อต้านกันอย่างถ้วนหน้าหรือในกรณีล่าสุดที่ esports ควรเป็นกีฬาหรือไม่ เหล่าเกมเมอร์ต่างก็ร่วมใจกันออกมาอธิบายเรื่องนี้ให้กับสังคม แต่ในทางกลับกันยามว่าง เรามักจะตีกันเอง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเหยียดเกมที่เล่น หาก 10 ปีที่แล้วเป็นการเหยียดกันระหว่างคนที่เล่นเกมออนไลน์กับออฟไลน์ ยุคนี้คงเป็นการเหยียดกันระหว่างคนเล่นเกมมือถือกับเกม PC ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองแพลตฟอร์มก็เป็นเกมเมอร์เหมือนกัน

สรุป

ทุกวันนี้เกมยังกลายเป็นจำเลยสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้กระทั่งหมอชื่อดังผู้ใช้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงดูบุตรยังให้ตัวเองหลีกเลี่ยงการเล่นเกม ทำให้เกมยังคงต้องเผชิญมรสุมต่อไป ถึงกระนั้นหากเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ในตอนนี้ยังถือว่าเป็นวงการเกมไทยยังเติบโตในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแส esports ที่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น ในอนาคตคงจะมีข่าวเกี่ยวกับเด็กติดเกมมากขึ้น แต่ข่าวด้านดีเดี่ยวกับเกมจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อถึงวันนั้น “เกม” และเหล่า “เกมเมอร์” จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างสมบรูณ์

เรื่องที่คุณอาจจะไม่รู้

  • ตลาดของวงการเกมไทย คิดเป็นประมาณ 0.063% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GPD) มีมูลค่าประมาณ 9 พันล้านบาทจากการรายงานของบริษัทการีนาประเทศไทยในเว็บ brandinside.asia (2560)
  • หากคุณค้นหาคำว่า “เด็กติดเกม” ใน Google จะขึ้นผลลัพท์ออกมามากถึง 51,700,000 รายการ ในขณะที่หากคุณค้นหาคำว่า “อีสปอร์ต” จะขึ้นผลลัพท์เพียง 11,000,000 รายการ
  • จากการสังเกตุของผู้เขียนบทความ ข่าวเกี่ยวปัญหาเด็กติดเกมจะมีให้คุณอ่านทุก ๆ 7 วันหรือ 1 สัปดาห์ หาได้ตามสำนักข่าวทั่วไป
  • แพลตฟอร์มมือถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีเกมเมอร์มากที่สุดในประเทศไทย

SHARE

Nuttawat Lokkumlue

บ๋อม - Content Writer

Back to top