BY KKMTC
26 Jan 22 6:15 pm

Mega Man โซนสหรัฐฯ กับตำนานปกเกมยอดแย่จนแฟน ๆ ชื่นชอบ

17 Views

หากพูดถึงปกอาร์ตเกมที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “Cover ยอดแย่ตลอดกาล” อย่างไรก็ไม่มีทางหนีพ้น ซีรีส์เกม Mega Man ยุค NES เวอร์ชันสหรัฐฯ ที่ตัวละคร Mega Man สุดเอกลักษณ์สุดเท่ที่เรารัก ได้โดนปู้ยี่ปู้ยํากลายเป็นชายวัยกลางคน ถือปืนพก และไม่เหลือความเป็นต้นฉบับเลยแม้แต่นิดเดียว

แต่แน่นอนว่าการที่ Mega Man กลายเป็นตำนานปกเกมยอดแย่จนแฟน ๆ ชื่นชอบนั่น ย่อมต้องมีเรื่องราวที่มาที่ไปอยู่เสมอ แล้วคำตอบคืออะไร ก็สามารถเข้าไปอ่านในบทความได้เลย

Mega Man สหรัฐฯ กับปกเกมที่ไม่เหมือนใคร

Mega Man (5)

ย้อนกลับไปยุค 1980 ตอนนั้นเกมเมอร์พวกเราต้องตัดสินใจซื้อเกมด้วยการมองปก มองชื่อไตเติล และอ่านนิตยสารเกมหรือหลังปกเกม เพื่อศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

เนื่องจากปกเกมเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ช่วยให้ผู้เล่นกล้าตัดสินใจซื้อเกม จึงเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมปกเกมเวอร์ชันญี่ปุ่น กับสหรัฐฯ จึงไม่ใช้ภาพอาร์ตที่เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่ เกมญี่ปุ่นที่นำเข้ามาขายในสหรัฐฯ จะต้องมีการออกแบบปกเกมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ วัฒนธรรม และรสนิยมของชาวอเมริกัน

บางเกม มีการออกแบบปกใหม่ แล้วมีความงามไม่แพ้ปกเกมเวอร์ชันญี่ปุ่น แต่ก็มีอีกหลายเกม ที่มีการสร้างปกเกมเวอร์ชันใหม่ แล้วคุณภาพดรอปลงจากต้นฉบับอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถ้าหากตัวอย่างปกเกมแย่ในอดีต อย่างไรก็คงไม่มีทางหนีพ้นซีรีส์ Mega Man (หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า Rockman)

Rockman

ปกเกมเวอร์ชันญี่ปุ่น

 

Mega Man (1)

ปกเกมเวอร์ชันสหรัฐฯ

หลังจากเห็นปกเกม Mega Man ภาคแรก ทั้งรูปแบบเวอร์ชันญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แน่นอนว่าเกมมอร์หลายคนคงรู้สึกสับสน งุนงง หรือตลกขำกลิ้งกับปกเกมสหรัฐฯ

ตัวละคร Mega Man ในปกเกมสหรัฐฯ มีรูปร่างเป็นชายวัยกลางคน, สวมชุด Suit สีเหลือง/น้ำเงิน, โพสต์ท่าเก๊กแปลก ๆ, ฉากหลังที่ไม่เข้ากับธีมในเกม และที่สำคัญสุด Mega Man ในปกเกมไม่ได้ใช้อาวุธ Mega Buster สุดเอกลักษณ์ แต่เป็นปืนพกที่อ้างอิงมาจากชีวิตจริงแทน

Mega Man

ด้วยภาพอาร์ตปกเกม Mega Man เวอร์ชันสหรัฐฯ ที่ออกมาดูแย่เกินคำบรรยาย ทำให้เกมเมอร์หลายคนวิจารณ์คุณภาพปกเกม Mega Man อย่างรุนแรง หรือแม้กระทั่ง Keiji Inafune ศิลปินผู้ออกแบบปกเกมของทีมงาน Capcom ญี่ปุ่น ได้พูดกล่าวโทษปกเกมเวอร์ชันสหรัฐฯ ว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ Mega Man ทำยอดขายได้ย่ำแย่ในประเทศสหรัฐฯ

ถึงหน้าปก Mega Man ภาคแรกโดนวิจารณ์ยับ แต่กระแสความต้องการของเกมดังกล่าวโดยผู้เล่น ยังจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ “Sleeper Hit” หรือเกมม้ามืดที่มีแฟน ๆ หลงใหลเฉพาะกลุ่ม ด้วยเหตุผลดังกล่าว Capcom จึงยังสนใจนำเกม Mega Man ภาคต่อไปมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้ววางจำหน่ายในประเทศสหรัฐฯ ต่อไป

ในปี 1989 เกม Mega Man 2 เวอร์ชันสหรัฐฯ ได้ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยแม้ภาพอาร์ตของปกเกมภาคดังกล่าว มีการปรับปรุงจากภาคแรกอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังพบจุดบกพร่องตรงตัวละคร Mega Man ยังคงดูเป็นวัยผู้ใหญ่กลางคน, มีความรู้สึกคล้ายกับ Robocop มากเกินไป และยังใช้อาวุธเป็นปืนพกเหมือนเดิม

Mega Man (2)

ปกเกม Mega Man 2 เวอร์ชันสหรัฐฯ

แม้ตัวเกมโดนวิจารณ์เรื่องภาพอาร์ตบนปกเกมเหมือนเดิม แต่ยอดขาย Mega Man กลับมีแต่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกม Mega Man ได้รับการวางจำหน่ายในโซนสหรัฐฯ ทุกภาค แล้วด้วยเหตุผลบางอย่าง การออกแบบปกเกมสุดประหลาดได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของแฟรนไชส์ Mega Man ในสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อย (ยกเว้นภาค 11 ที่ปกเกมเวอร์ชันญี่ปุ่น ถูกใช้เป็นปกเกมทุกโซน)

ต้นกำเนิดปกเกมแย่จนเป็นตำนาน

Mega Man (3)

แล้วทำไมปกเกม Mega Man โซนสหรัฐฯ จึงกลายเป็นแบบนี้ไปได้ ซึ่งเหตุผลก็ไม่ได้มีความซับซ้อนขนาดนั้น อ้างอิงจากสื่อเกม G4 ที่เคยสัมภาษณ์กับอดีตพนักงาน Capcom คนหนึ่ง เผยว่าก่อนการวางจำหน่ายเกมภาคแรก ศิลปินใน Capcom ถูกสั่งเร่งรีบให้วาดภาพปกเกมให้เสร็จสิ้นก่อนตัวเกมเข้าสู่กระบวนการ Gone Gold เพื่อส่งออกวางขายตามกำหนดการ

นอกจากนี้ Capcom ไม่ได้ส่งภาพต้นฉบับจากเกม Mega Man ไปให้ศิลปิน เพื่อใช้เป็นการอ้างอิง สามารถวาดภาพได้ถูกต้องตามต้นฉบับ (หรืออธิบายง่าย ๆ คือบรีฟแย่)

ด้วยเวลาทำงานที่มีเพียงน้อยนิด แถมยุคนั้น อินเทอร์เน็ตยังไม่ใช่เทคโนโลยีที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน จึงไม่สามารถค้นหาภาพ Mega Man เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการวาดได้ ทางศิลปินจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกเหนือต้องวาดปกเกม Mega Man แบบด้นสด แล้วสุดท้าย ตำนานปกเกม Mega Man ภาคแรก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในที่สุด (ที่น่าแปลกใจ คือด้วยสาเหตุบางอย่าง ทาง Capcom ไฟเขียวให้ใช้ปกนี้อย่างเป็นทางการด้วย)

Mega Man (4)

ส่วนสาเหตุที่ Mega Man ใช้ปืนพกยิงมอนสเตอร์ในปกเกมภาคสองนั้น อ้างอิงจาก Marc Ericksen นักออกแบบปกเกม Mega Man 2 เวอร์ชันสหรัฐฯ กล่าวว่าระหว่างเขา และพนักงาน Art Director กำลังรับชมวิดีโอเกมเพลย์ของ Mega Man 2 ฉบับ Beta

หลังรับชมเกมเพลย์เสร็จ ทาง Ericksen ได้สอบถามว่าอาวุธปืนที่ Mega Man ใช้ในเกมคือปืนอะไร ซึ่งทาง Art Director ก็ตอบกลับไปว่า “เขาต้องใช้ปืนพกแน่นอน เพราะผมไม่เห็นว่าเขาจะใช้ปืนไรเฟิลเลย”

Marc Ericksen

Marc Ericksen ในปัจจุบัน

เพื่อความมั่นใจ Erik จึงถามอีกครั้งว่า “จะให้ผมวาดปืนพกงั้นเหรอ” ซึ่ง Art Director ก็ตอบหน้าตาเฉย “ใช่แล้ว วาดปืนพกลงไปเลย” ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ตัวละคร Mega Man ในเกมภาค 2 จึงมีหน้าปกที่ตัวละครเอกใช้ปืนพก แทน Mega Buster นั่นเอง

แม้ปกเกม Mega Man ภาคแรกเวอร์ชันสหรัฐฯ ได้รับตำแหน่งเป็น “ปกเกมยอดแย่ตลอดกาล” แต่เพราะเหตุผลดังกล่าว ทำให้ตัวละคร Mega Man จึงมีเอกลักษณ์แตกต่างจากเกมเวอร์ชันญี่ปุ่น และคาแรคเตอร์ในเกม

Resident Evil 3

ปัจจุบัน แฟน ๆ Mega Man หลายคนมักชื่นชอบ นำตัวละครจากปกเกมไปใช้เป็นมีมล้อเลียนในสังคมเกมแนว Platformer หรือแม้กระทั่งทีมงาน Capcom ก็เคยล้อเลียนแฟรนไชส์ Mega Man ของตัวเอง ด้วยการเอาตัวละครจากปกไปใช้เป็นนักสู้แขกรับเชิญใน Street Fighter X Tekken โดยมีชื่อ Roster ว่า “Bad Box Art Mega Man” และแอบปรากฏตัวตามเกมต่าง ๆ ในค่าย Capcom ในฐานะ Easter Egg ลับ

ที่มา: VentureBeat, Rockman-Corner

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top