BY Aisoon Srikum
30 Sep 19 5:34 pm

Early Access รูปแบบการขายที่แพร่หลายในวงการเกมยุคปัจจุบัน ดีหรือไม่ดีอย่างไร?

65 Views

แต่ก่อนนั้น ก่อนที่เกมเกมนึงจะออกวางจำหน่ายได้ มันจำเป็นจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ แก้ไขบัค หรืออะไรก็ตามให้มีน้อยที่สุดภายในเกม ก่อนที่มันจะถึงมือผู้เล่น และมันก็จะเป็น Full Game ที่เราจะได้เล่นกันแบบเต็ม ๆ แต่ปัจจุบัน มีรูปแบบการขายเกมอีกหนึ่งประเภทที่เป็นที่นิยมมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว มันคือรูปแบบ “การเล่นระหว่างพัฒนา” หรือ Early Access หลายคนไม่เข้าใจว่า Early Access คืออะไร และทำไมมันถึงกลายเป็นโมเดลการทำเกมขายแบบใหม่ในยุคปัจจุบัน วันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

Early Access จ่ายก่อน ได้เล่นก่อน และพบเจอปัญหาก่อน

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนเลยสำหรับเกมเมอร์ที่อาจจะยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า Early Access หรือบางคนเข้าใจแล้ว แต่ยังไม่ถ่องแท้พอ Early Access ตีความได้ง่าย ๆ เลยคือ การจ่ายเงินก่อน และได้เล่นก่อน ณ วันที่ผู้พัฒนาระบุมาเลย แต่.. มันไม่ใช่การเล่นเกมเต็มที่ทำออกมาเสร็จสมบูรณ์แล้ว เกมในรูปแบบของ Early Access จะเป็นเกมที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา กล่าวง่าย ๆ เลยคือ เราจ่ายเงินเพื่อที่จะรับสิทธิ์ในการทดสอบเกมของผู้พัฒนาเอง

แน่นอนว่าเพราะตัวเกมนั้นยังไม่เสร็จสิ้น สิ่งที่เราต้องเจอแบบแน่นอนเลยก็คือ Bug และข้อบกพร่องของตัวเกม ซึ่งเจ้าสิ่งนี้เราอาจจะเจอจากเกมทั่วไปอยู่แล้ว แต่ถ้ามันเป็นกรณีของเกม Early Access ก็อาจจะเยอะหน่อย และต่อมาที่ต้องเจอเลยก็คือ ปัญหาของการ Optimize เกมที่อาจจะยังไม่ดีพอ

ซึ่งมันเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกมแนวนี้ขายไม่ออกเลยทีเดียว เพราะปัญหาการ Optimize นี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เกมเล่นไม่สนุกเลยก็เป็นได้ ซึ่งข้อนี้ผู้เล่นต้องวัดใจพอสมควรเลยว่า เราจะยินยอมจ่ายเงินเข้าไปเล่นหรือไม่ ถ้าไม่ชอบบัค ปัญหาต่าง ๆ นา ๆ ผู้เล่นต้องเลี่ยงเกมที่พาดหัวว่า Early Access ให้ไว เพราะไม่มีทางรอดจากการเจอปัญหาเหล่านี้แน่นอน

ดีต่อผู้พัฒนา แต่เสี่ยงกับผู้จ่ายเงิน

ปกติแล้ว โมเดลการทำเกม Early Access นั้นส่วนมากจะเป็นค่ายพัฒนาเกมเล็ก ๆ ที่มีเงินทุนไม่มากพอ รายได้จากการขายเกม Early Access นั้น จะถูกนำไปพัฒนา และคอยอัพเดทเกมต่อไป แต่.. มันก็ไม่ใช่ทุกค่ายเกมแน่นอน ที่จะพัฒนาอัพเดทตัวเกมอยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงผู้เล่นเองมีความเสี่ยงพอสมควรกว่าที่เราจะได้เห็นเกมนั้นกันแบบเต็ม ๆ

และมันคือสาเหตุที่ทำให้เกม Early Access นั้น มีราคาถูกมาก สามารถจ่ายและเข้าถึงได้ทุกคน ยกตัวอย่างเช่น RE:Legend ล่าสุด ที่ขายในราคา 289 บาทเท่านั้น รวมไปถึงเกมอื่น ๆ ที่วางขายแบบนี้มักจะมีราคาไม่เกิน 400-500 บาท ไม่อย่างนั้นมันจะแพงจนเกินไปนั่นเอง ซึ่งปกติแล้ว เกมที่อยู่ในช่วง Early Access นั้น เมื่อออกเป็น Full Game มักจะมีการปรับราคาขึ้น มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับทีมผู้พัฒนาและคอนเทนต์ของตัวเกม

แต่ความเสี่ยงมันอยู่ที่ทางผู้พัฒนามีโอกาสที่จะลอยแพเกมไปเลยก็ได้ และอีกข้อคือ บางเกมนั้น ใช้เวลานานมากจริง ๆ กว่าที่จะออกจาก Early Access มาเป็น Full Game ยกตัวอย่างเช่น Day Z ที่ใช้เวลากว่า 5 ปีเต็ม ก่อนจะออกมาเป็นตัวเกมเวอร์ชั่น Beta เกมไหนเร็วหน่อยก็อาจใช้เวลาราว 6-12 เดือน แต่เกมไหนที่ผู้พัฒนาอัพบ้าง หยุดบ้าง ก็อาจจะต้องรอคอยกันมากกว่า 2 ปีเต็ม ดังนั้นผู้เล่นต้องชั่งใจเอาว่าจะยอมจ่ายเงินเพื่อรอเกมที่ไม่รู้ว่าตัวเต็มจะออกตอนไหนหรือเปล่า ดีไม่ดีโอกาสโดนลอยแพก็มีเช่นกัน

Full Game แล้วราคาถูกปรับให้สูงขึ้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกมเมอร์หลายคนยอมจ่ายเงินเพื่อเล่นเกมระหว่างการพัฒนา เพราะเรื่องของราคาที่ถูกมาก ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เพราะบางทีมผู้พัฒนานั้น เมื่อเกมออกจากสถานะ Early Access ราคาของมันก็พุ่งสูงขึ้นมาจนน่าตกใจ ในกรณีนี้คือเกม We Happy Few จาก Compulsion Games ที่ใน่ชวง Early Access นั้นขายในราคาหลักร้อย แต่พอออกเกมเต็ม ตัวเกมกลับมีราคาพุ่งสูงไปที่ 1,799 บาท แต่กรณีนี้เกิดขึ้นน้อยมาก และไม่ค่อยเห็นบ่อยนั้น

จะอย่างไรก็ตามก็มีการปรับราคาเกมขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่ราคาที่ปรับขึ้นมาส่วนมากจะเป็นหลักร้อยบาทเท่านั้น ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัจจัยใหญ่ที่ทำให้เราเลือกที่จะซื้อเกมมาดองเอาไว้ เพราะจริง ๆ แล้วอีกหนึ่งปัญหาก็คือระยะเวลาที่เราไม่รู้แน่ชัดว่าเกมนั้นจะทำเสร็จตอนไหน ส่วนตัวผู้เขียนมีประสบการณ์ที่รอเกมเต็มออก จนลืมระบบ และความสนุกของเกมไปหมดแล้ว ทำให้สุดท้ายเกมเหล่านั้นก็กลายเป็นหนึ่งในเกมดองของคลังเรานี่เอง

หลักการเลือกซื้อเกม Early Access

แม้ว่าเกม Early Access จะมีราคาถูก แต่นี่แหละคือกับดักชนิดหนึ่ง เพราะเราเห็นว่ามันถูก เราก็จะยินดีจ่ายโดยไม่ติดขัดอะไรมาก แต่กว่าจะรู้ตัวเราก็เสียเงินให้มันไปมากมายหลายพันบาทแล้ว และถ้าโชคร้ายหน่อย เกมเหล่านั้นก็ยังไม่ออกจาก Early Access ทั้งนั้น

วิธีการเลือกซื้อเกมแบบ Early Access นั้น เริ่มจากดูเครดิตของทีมผู้พัฒนาก่อนว่าเขาเคยทำเกมอะไรมาแล้วบ้าง และเกมเหล่านั้นได้ออกมาเป็นเกมเต็มแล้วบ้างหรือยัง ต่อมาก็ให้ใช้แนวเกมที่เราชอบหรือถูกใจเป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยปกติแล้ว เกมที่อยู่ในสถานะ Early Access นั้นจะเป็นเกมออนไลน์แนวมัลติเพลเยอร์เสียส่วนมาก ก่อนซื้อมาก็ลองพิจารณาให้ดีกว่าเกมมันมีคนเล่นที่มากพอหรือเปล่า ถ้าคนเล่นไม่เยอะพอเราก็อาจจะเล่นไม่คุ้ม หรือสนุกกับมันได้ไม่เต็มที่ ปกติแล้วไม่ค่อยมีผู้พัฒนาไหนที่ลอยแพเกมของตัวเองนัก เพราะถ้าทำแล้ว มันเท่ากับว่าเป็นการดิสเครดิตของตัวเอง และดีไม่ดี อาจจะไม่สามารถกลับมาทำงานในวงการเกมได้อีกเลยในอนาคต

สุดท้าย แม้จะเป็นเรื่องที่ไกลตัวสักแค่ไหน แต่การส่งฟีดแบคกลับไปให้ผู้พัฒนานั้นย่อมเป็นประโยชน์มากแน่นอน และสุดท้ายแล้ว โมเดลการทำเกมแบบเล่นไปพัฒนาไปแบบนี้ อาจจะส่งผลกระทบอะไรอีกในวงการเกมในอนาคต เราก็คงไม่สามารถตอบได้ แต่ในตอนนี้นั้น เกมแนว Early Access จะยังคงเป็นโมเดลธุรกิจยอดนิยมในการทำเกมขายแน่นอน

 

SHARE

Aisoon Srikum

Back to top