BY KKMTC
14 Aug 20 7:01 pm

Action 52 เกมแย่ที่พิสูจน์ว่า ‘คุณภาพ’ ของเกมสำคัญกว่า ‘ปริมาณ’

32 Views

ในช่วงสมัยเด็ก ใคร ๆ ก็ใฝ่ฝันอยากจะมีเกมหลายเกม เพื่อที่จะสามารถหาเกมเล่นใหม่ได้ตลอดเวลา หรือสามารถย้อนกลับมาเล่นได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่ง Action 52 เป็นโปรเจกต์เกมสุดทะเยอทะยานที่ตั้งเป้าพยายามรวมเกม 52 เกมในตลับแผ่นเกมเดียว แต่ทว่าเกมดังกล่าวกลับกลายเป็นตำนานเกมยอดแย่ด้วยข้อผิดพลาดที่มากมาย แล้วเกม Action 52 คืออะไร ลองมารับชมกัน

รู้จักกับ Action 52

Action 52 เป็นเกม NES แบบ Unlicensed Game (เกมที่ไม่ได้รับการตรวจสอบโดยบริษัท Nintendo อย่างเป็นทางการ) พัฒนาโดยทีมผู้สร้างไร้นามอย่าง Active Enterprises ซึ่งเกมดังกล่าวเป็นที่ฮือฮาในช่วง 1990 เพราะมีการโปรโมตว่าเกมดังกล่าวจะมาพร้อมกับ 52 เกมระดับ “คุณภาพ” ให้เล่นในแผ่นเกมแผ่นเดียว

แม้การเปิดตัวของ Action 52 ทำให้หลายคนจะนึกถึงเกม ROM เถื่อนจากประเทศจีน ที่มักเขียนชื่อแผ่นเกมหลอกเด็กว่าเป็นเกม “100 in 1” “200 in 1” หรือ “999 in 1” แต่ Action 52 นั้นแตกต่างจากเกมที่กล่าวมา เพราะเกมดังกล่าวพัฒนาโดยบริษัทที่ดูมีความน่าเชื่อถือ และผู้คิดค้นเกมเป็นนักธุรกิจชาวอเมริกันที่มีงบประมาณหนุนหลังทีมพัฒนาเกม เพราะฉะนั้น Action 52 จึงมีความก่ำกึ่ง Legit (น่าเชื่อถือ) กว่าเกมก๊อบปี้จากแดนมังกรหลายเท่า

นอกจากนี้ ก่อนวันวางจำหน่าย Action 52 ทีมงานได้มีการโปรโมตเกม Cheetahmen (เกมดังกล่าวรวมอยู่ในรายชื่อ 52 เกม) ด้วยการแถมหนังสือคอมิกส์ และโฆษณาว่าจะมีสินค้าของเล่น Action Figure ให้เก็บสะสมในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นเกมเมอร์จึงเริ่มให้ความสนใจกับเกม Action 52 มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจาก Action 52 ออกวางจำหน่ายเป็นวันแรก ทั้งฝั่งเกมมอร์และสื่อเกมหลายแห่ง ก็ต้องต่างรู้สึกช็อกกับเกมดังกล่าวไปตาม ๆ กัน ไม่ใช่เพราะมันเป็นเกมระดับชิ้นโบแดงมาสเตอร์พี หรือมันเป็นเกมแย่จนน่าผิดหวัง แต่ Action 52 มันคือ “ความหายนะ” ที่วงการเกมต้องเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์

ความเป็นมาของ Action 52

แต่ก่อนที่อธิบายว่าทำไม Action 52 เป็นเกมหายนะนั้น เราต้องเข้าใจก่อนเนื้อหาความเป็นมาของเกมดังกล่าวซะก่อน

เกม Action 52 ถูกคิดค้นโดย Vince Perri นักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่วันหนึ่งเขาเห็นลูกชายกำลังเล่นเกมเถื่อน 40 in 1 จากไต้หวัน แล้วเพื่อนบ้านหลายคนต่างรู้สึกตื่นเต้นกับเกมที่ลูกชายกำลังเล่นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้เขาเกิดไอเดียว่า “อยากจะลองทำเกมแบบนั้นแบบถูกกฎหมายบ้าง” ซึ่งนั่นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเกม “(ตัวเลข) in one” โดยทันที

โดยปกติแล้ว การสร้างเกมจะต้องมีขั้นตอนการทำงานเรียงตามลำดับเป็น Pre-Production > Production > Post-Production เพื่อให้การพัฒนาเกมมีความราบรื่นมากที่สุด แต่ Vince Perri กลับไม่ทำแบบนั้น เขาตัดสินใจจ้างนักพัฒนาเกม 1 คน และนักศึกษาฝึกหัดอีก 3 คน เพื่อสร้างเกม “ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้” ภายในสามเดือน และทีมงานต้องออกแบบทั้งตัวเกม ภาพกราฟิก กับเพลงประกอบด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งเพียงอธิบายเท่านี้ เกมเมอร์น่าจะเข้าใจแล้วว่า เกมนี้จะต้องลงเอยอย่างไม่สวยหรูแน่นอน

และเลวร้ายกว่านี้ หากอ้างอิงจาก Mario González หนึ่งในนักพัฒนาเกมฝึกหัดที่ช่วยสร้าง Action 52 เขากล่าวว่า Perri ไม่มีความเข้าใจในอุตสาหกรรมเกมแม้แต่นิดเดียว เขาให้เวลาสร้างเกมเพียงสามเดือน กับรับจ้างแต่บุคลากรไร้ประสบการณ์ เพราะเชื่อว่าวิดีโอเกมใช้เวลาสร้างเสร็จไว รวมถึงเวลาผ่านไป เขาเริ่มมีแนวคิดว่าแม้ Action 52 จะมีแต่เกมคุณภาพต่ำ แต่เชื่อว่าตัวเกมก็ยังคงสามารถขายได้ดี เพราะมีแฟรนไชส์ Cheetahmen คอยค้ำยอดขายเกมไว้ หลังจาก Perri เริ่มมองเห็นว่าโปรเจกต์เกมดังกล่าวไม่น่าจะไปรอด

ด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้ทีมพัฒนาเกมจำเป็นต้องข้ามไปขั้นตอน Production ทันที ซึ่งระหว่างการพัฒนานั้น พวกเขาด้นไอเดียแบบสด ๆ เพื่อพัฒนาเกมให้เสร็จตามกำหนดการ และก่อนเวลา Deadline พวกเขาไม่มีเวลาตรวจสอบคุณภาพเกม ตรวจบั๊ก หรือทดลองเล่นจนครบทุกคน ซึ่งผลลัพธ์ทำให้ Action 52 กลายเป็นเกมหายนะอย่างไม่ต้องงสงสัย

ผลลัพธ์ของ Action 52

Action 52 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากสื่อเกมและเหล่าเกมเมอร์ โดยกล่าวว่าเกมดังกล่าว

เป็นผลิตภัณฑ์ “หลอกลวงผู้บริโภค” เพราะเกมดังกล่าววางจำหน่ายในราคา 199 เหรียญฯ ซึ่งราคาดังกล่าวเกือบสามารถซื้อเครื่องเกมคอนโซลได้หนึ่งเครื่อง

นอกจากนี้ เกมทั้งหมด 52 เกมใน Action 52 (รวมถึง Cheetahmen) ล้วนเป็นเกมที่ไม่มีคุณภาพ เกมหลายเกมมีอาการบั๊กต่าง ๆ ที่ทำให้เกมการเล่นหมดสนุก เช่น บั๊กภาพกราฟิก, บั๊กไม่สามารถเล่น Stage ต่อไปได้, บั๊กไม่สามารถเข้าเกม และบั๊กอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้ทั้ง 52 เกม “ไม่สามารถเล่นจนจบได้”

Time Warp Tickers

รวมถึงเนื่องจากการออกแบบเกม Action 52 ทั้งหมด ไม่ได้ผ่านการวางแผนคิดล่วงหน้าตั้งแต่แรก ทำให้เกมใน Action 52 ราว 40-50% เป็นเกมประเภท Space Shooting และการนำเสนอไอเดียเกมก็มีความแปลกประหลาดไปในทางที่ไม่ดี เช่นเกม Time Warp Tickers ที่ผู้เล่นได้รับบทเป็นนิ้วมือสามารถกระโดดข้าม Platformer หรือเกม Non-Humen ที่มีภาพแบล็กกราวสีเขียว แล้วมีภาพหน้ามนุษย์ด้านล่างชวนขนหัวลุก

หากอ้างอิงจากเว็บไซต์ 411mania ระบุว่า Active Enterprises เคยมีแผนจัดแคมเปญแข่งขันเกม Ooze ใน Action 52 โดยเสนอว่าคนที่สามารถปราบเกมดังกล่าว จะได้รับรางวัลเป็นเงิน 52,000 เหรียญฯ  และเงินอีก 52,000 เหรียญฯ สำหรับใช้เป็นทุนการศึกษา แต่เนื่องจาก Ooze มีบั๊กทำให้เกมมีอาการ Crash หลังเริ่มเข้าสู่ด้าน Stage 2 ทำให้ไม่มีใครสามารถปราบชาเล้นจ์ดังกล่าว และการประกวดก็ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้งหมด ทำให้เกมมอร์บางคนเลิกสนใจเกม Action 52 ตั้งแต่เห็นราคาขายครั้งแรก ซึ่งส่งผลลัพธ์ยอดขายเกมดังกล่าวตกต่ำมาก ๆ จนแม้ไม่มีการประกาศตัวเลขยอดขายอย่างชัดเจน (บางแหล่งลือว่ายอดขายเกมไม่ถึงหลักหมื่นถึงหลักพัน) รวมถึงสื่อเกม AllGame ยกย่องให้เป็น “สุดยอดเกมแย่ที่ไม่ควรมีอยู่บนโลก” ด้วยสาเหตุเพราะราคาเกมที่ขายแพงเกินไป และคุณภาพเกมทั้งหมด 52 เกม ยอดแย่ในทุกด้าน

Action 52 กลายเป็นเกมที่ประสบความล้มเหลว และไม่มีเกมมอร์คนไหนสนใจไยดีกับเกมดังกล่าวสักเท่าไหร่นัก บริษัท Active Enterprises กับ Vince Perri ได้หายตัวไปจากวงการเกมอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีใครกล่าวถึงพวกเขาอีกเลย

แม้ Action 52 ได้รับพอร์ตลง SEGA Genesis โดยทีมงาน FarSight Technologies พร้อมกับมีการปรับปรุงเกมใหม่เกือบทั้งหมด แต่ก็ไม่ช่วยให้เกมดังกล่าวขายดีขึ้นแต่อย่างใด (รวมถึงคุณภาพเกมยังแย่เท่าเดิม แม้กราฟิกจะดูดีขึ้นก็ตาม) ทำให้เกมนี้จึงได้รับการลงเนื้อหาสารานุกรมเกมว่าเป็นหนึ่งในเกมยอดแย่ตลอดกาล และเป็นเกมที่พิสูจน์ว่า ‘คุณภาพ’ ของเกมนั้น สำคัญยิ่งกว่า ‘ปริมาณ’

ปัจจุบัน Action 52 กลายเป็นหนึ่งในคอลเลกชันเกมหายากสำหรับคอสายสะสมตลับแผ่นเกม Retro รวมถึงเกมดังกล่าวเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากช่อง Angry Video Game Nerd ได้เล่นเกมมาราธอน (และทุกข์ทรมาน) จากการเล่นเกมดังกล่าว

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top