BY Aisoon Srikum
12 May 21 5:57 pm

9 เรื่องจริงเบื้องหลังวงการนักพัฒนาเกมที่คุณอาจไม่เคยรู้

18 Views

ธุรกิจอุตสาหกรรมเกม อาจเป็นงานในฝันของใครหลายคน แต่การเล่นเกมกับการผลิตหรือการแข่งขันนั้น เป็นคนละเรื่องกัน แม้เบื้องหน้าเกมจะออกมาสนุก ตื่นเต้น และเป็นตำนาน แต่เบื้องหลังทั้งการสร้างผลงาน และการแข่งขัน อาจเป็นสิ่งที่หลายคนไม่รู้ หรือไม่น่าเชื่อมาก่อนว่าจะเป็นเรื่องจริง ดังนั้นวันนี้เราขอนำเสนอ 10 เรื่องราวภายในวงการอุตสาหกรรมเกมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันคือเรื่องจริง บางข้ออาจทำให้คุณอึ้งกันไปเลยทีเดียว

1.ผู้พัฒนาเกมที่ออกจากทีมระหว่างการพัฒนา จะไม่ถูกใส่ชื่อลงไปในเครดิตเกม

End Credit คือสิ่งที่ชาวเกมอาจจะขี้เกียจดูและกดข้าม ๆ ไป แต่มันคือความภาคภูมิใจของเหล่านักพัฒนาแทบจะทุกสายและทุกตำแหน่ง แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน นั่นคือหากคุณทำงานเป็นหน้าที่เล็ก ๆ หรือออกจากทีมในระหว่างที่เกมยังพัฒนาอยู่ ชื่อของบุคคลเหล่านั้น อาจถูกส่งไปไว้ในช่วง Special Thanks ซึ่งอยู่เกือบสุดท้าย หรือหนักกว่านั้นคือถอดชื่อออกไปเลย ไม่มีอยู่ในเครดิต

เรื่องราวนี้ทาง Rockstar เคยออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเป็นการทำเพื่อส่งเสริมให้ทีมพัฒนาทุกคนอยู่ไปถึงตอนพัฒนาเสร็จสิ้น เพื่อตัดปัญหาต้องหาคนมาแทน และเหล่านักพัฒนาเองก็ต้องพึ่งพาเครดิตเหล่านี้ในการทำงานในอนาคตด้วย หากพวกเขาอ้างว่าเคยพัฒนาเกมระดับ AAA แต่ไม่มีชื่ออยู่ในเครดิต ใครจะเชื่อล่ะ จริงไหม ?

2.ผู้ให้เสียงพากย์ตัวละคร จะไม่ได้รับเงินค่าแรงเพิ่ม แม้ว่าเกมจะขายดิบขายดีเพียงใด

เมื่อไม่นานมานี้ เคยมีแคมเปญสำหรับส่วนของนักพากย์วิดีโอเกม เพื่อรักษาสภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ได้สิ่งตอบแทนในรูปแบบของเงิน แม้ว่าเรื่องของลิขสิทธิ์จะเป็นสิ่งสำคัญในทุกวงการรวมไปถึงวงการเกมด้วย แต่ไม่ใช่กับนักพากย์เสียงตัวละคร หรือนักพากย์วิดีโอเกม

Michael Holick ผู้พากส์เสียง Niko Bellic ตัวละครนำจาก GTA IV ได้รับเงินเพียง 100,000$ เท่านั้น และต้องทำงานยาวนานถึง 15 เดือนในการพากย์เสียงตัวละคร และแม้ว่าเกมจะทำเงินไปถึง 500 ล้าน $ แต่ค่าตัวที่เขาได้ก็มีเพียงเท่านั้น ซึ่งเรื่องราวนี้ถูกนำไปถกเถียงกันต่อ จนมีการตกลงกันในภายหลังว่าอาจจะต้องจ่ายโบนัสให้กับนักพากย์ด้วย แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนออกมานักในส่วนนี้

3.”ยาโด๊ป” เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วทุกที่ในวงการ E-Sports

ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน หรือถูกแฉอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่าโลกของการแข่งขันกีฬา E-Sports นั้น เต็มไปด้วยการใช้สารและยาที่น่าสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาจำพวก Ritalin, Adderall, Vyvanse ซึ่งมีความสามารถในการเพิ่มการตอบสนองและป้องกันความเมื่อยล้า และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายตลอดการแข่งขันเกม มีเพียงไม่กี่รายการเท่านั้นที่มีข้อห้ามเข้มงวด

4.โบนัสทีมพัฒนาเกม อาจขึ้นอยู่กับคะแนนรีวิวจาก Metacritic

รีวิวจากผู้เล่น ถือเป็นกระจกเงาชั้นดีที่จะทำให้ผู้พัฒนาเกมเห็นว่าผลงานของพวกเขาเป็นอย่างไร เว็บไซต์รีวิวเกมชื่อดังอย่าง Metacritic ถือเป็นเว็บไซต์ที่เรารู้จักกันดีสำหรับตรวจสอบคะแนนรีวิวของเกมต่าง ๆ ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อมัน และมันไม่เพียงเท่านั้น เพราะมันมีอิทธิพลสูงมากจนถึงขั้นที่ว่า โบนัสของทีมพัฒนาเกมก็ขึ้นอยู่กับคะแนนรีวิวจากเว็บนี้ด้วย

เคยมีข่าวมาว่า ทีม Obsidian Entertainment ปฏิเสธรับเงินโบนัส 1 ล้านดอลลาร์ เพราะทำคะแนนรีวิว 85 คะแนนจาก Metacritic ไม่ได้ เห็นแบบนี้แล้วใครชอบปั่นกระแส รีวิวบอมบ์เกมต่าง ๆ ก็อาจจะต้องคิดให้มากขึ้นสักหน่อย เพราะมันอาจเป็นการทำลายโบนัสของเหล่าพนักงานกันเลยทีเดียว

5.ค่าโปรโมทบางครั้งก็สูงยิ่งกว่าทุนในการสร้าง

สำหรับข้อนี้เชื่อว่าหลายอาจจะรู้กันดี เพราะเป็นเรื่องปกติทั้งวงการภาพยนตร์และเกม เมื่อบางครั้ง การลงทุนเพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์อาจพุ่งสูงยิ่งกว่าค่าลงทุนในการพัฒนาสร้าง ยกตัวอย่างเช่น Call of Duty: Modern Warfare 2 ที่ใช้ทุนสร้างเพียง 50 ล้าน $ แต่ทาง Activision ทุ่มงบไปกว่า 200 ล้าน $ เพื่อโปรโมทและทำการตลาดทั่วโลก แต่เมื่อเทียบกับรายได้กว่า 1 พันล้าน $ จากเกมชุดนี้ ถือได้ว่าเป็นการวางแผนการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี

ไม่ใช่แค่กับ Call of Duty: Modern Warfare 2 เท่านั้น แต่เกมแนว Interactive จากค่าย Quantic Dream อย่าง Heavy Rain ที่ใช้ทุนสร้างเพียง 20 ล้าน $ แต่ใช้งบการตลาดเพื่อโปรโมทไปกว่า 40 ล้าน $ หรือเป็นสองเท่าจากทุนสร้างกันเลยทีเดียว แต่รูปแบบนี้ไม่อาจใช้ได้กับเกมอินดี้ขนาดเล็ก เพราะบางทีแค่ทำเกมให้เสร็จก็แทบแย่แล้ว ถ้าจะต้องจ่ายหนักเพื่อโปรโมทอีก ดูจะเป็นไปไม่ได้ สำหรับทีมพัฒนาเกมอินดี้ทั้งหลาย

6.ช่วงเวลา Crunch อาจทำให้พนักงานต้องทำงาน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

Crunch วัฒนธรรมที่หลายคนต่อต้าน แต่ต้องยอมรับว่ามันมีอยู่จริง เพราะบางงานก็ต้องใช้เวลาในการเร่งทำกันแบบสุด ๆ และบริษัทชื่อดังไม่ว่าจะเป็น Rockstar Games, Bioware, Treyarch, Epic Games ล้วนแต่เคยมีข่าวของการ Crunch มาแล้วทั้งสิ้น และมันอาจทำให้พนักงานต้องทำงานกว่า 100 ชั่วโมง / สัปดาห์

แน่นอนว่าโหดหินขนาดนี้ พนักงานต้องทั้งกิน นอนอยู่ที่สำนักงาน แถมบางที่ก็ไม่ได้ค่าตอบแทนล่วงเวลาสำหรับการอุทิศตนทำงานหนักขนาดนี้ ซึ่งสาเหตุนี้แหละที่ทำให้บุคลากรหรือนักพัฒนาบางคนออกมาบอกว่า มันช่างไม่คุ้มค่าเอาซะเลยกับการต้องจ่ายแรงกายและแรงใจในการทำงาน สุดท้ายพวกเขาก็ออกจากวงการพัฒนาเกม หลังจากที่เข้ามาทำงานได้ไม่กี่ปี

7.สตูดิโอช่วยเหลือการพัฒนาที่เราไม่รู้ว่ามี

เป็นไปได้ยากที่วิดีโอเกมระดับเทพบางเกม จะได้รับการพัฒนาจากสตูดิโอเพียงเจ้าเดียว เชื่อหรือไม่ว่าเกมโปรดของใครหลายคน จะได้รับการสนับสนุนจากทีมสร้างและสตูดิโอขนาดเล็ก และหลายกรณีก็เลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตน โดยสตูดิโอเหล่านี้มักไม่ค่อยมีคนรู้จัก และไม่ได้รับการรับรองในการผลิตเกมระดับ AAA

รวมไปถึงสตูดิโอพัฒนาเกมหลัก ไม่ต้องการให้มันเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป เพราะจะถูกมองว่าพวกเขาไม่ใช่ทีมพัฒนาเต็ม ๆ แต่ยังต้องจ้างเอาท์ซอร์สมาทำงานเสริม และชื่อเสียงอาจได้รับผกระทบไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เพราะได้รับการช่วยเหลือจากสตูดิโอหลาย ๆ ทีม ผลงานเกมหลายเกมจึงออกมามีคุณภาพเป็นอย่างยิ่ง

8.ซอฟท์แวร์ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ส่งผลกระทบต่อ Performance เกม

ใครที่เล่นเกมมาเยอะหรือติดตามข่าวสารวงการเกมอาจจะรู้จักข้อนี้ดีด้วยเช่นกัน สำหรับการติดตั้งซอฟท์แวร์ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่มันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของเกมด้วย ที่เรารู้จักกันดีนั่นคือ Denuvo นั่นเอง ที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพเกมในบางเกมอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดเกมทุกเกมก็ถูกเจาะเถื่อนได้อยู่ดี แต่ในระยะหลัง ๆ มานี่ เกมหลายเกมต้องใช้เวลานานขึ้นถึงจะมีเวอร์ชั่นเถื่อนตามออกมา เพราะประสิทธิภาพของซอฟท์แวร์ป้องกันการละเมิดเหล่านี้ เพียงแต่มันน่าจะดีกว่ามาก หากป้องกันการละเมิดได้ด้วย และส่งผลกระทบต่อตัวเกมให้น้อยที่สุดด้วย

9.อาชกรโลกไซเบอร์ ใช้เกมออนไลน์ในการฟอกเงิน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่านี่คือเรื่องจริง แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน แต่เกมออนไลน์ชื่อดังมักถูกใช้ในการฟอกเงินของเหล่าอาชญากรทางโลกไซเบอร์ไม่ว่าจะเป็น Fortnite, CS:GO, World of Warcraft โดยทั่วไปแล้ว วิธีการคือใช้ซื้อสกุลเงินในเกมหรือสิ่งของด้วยบัตรเครดิตที่ขโมยหรือแฮคมาอีกที

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทางผู้ให้บริการเกม ไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอที่จะป้องกันผู้เล่น และท้ายที่สุด Valve จึงได้ตัดสินใจยุติการซื้อขายสกุลเงินในเกม CS:GO ก่อนที่พวกเขาตรวจสอบภายหลัง แล้วพบว่าเงินที่ใช้ซื้อชายเกือบทั้งหมดนั้น มาจากการฉ้อโกงทั้งสิ้น และทำให้ค่ายเกมอื่น ๆ ตื่นตัวมาทำการป้องกันบ้าง

 

SHARE

Aisoon Srikum

Back to top