BY StolenHeart
2 Aug 19 11:37 am

เลือกปลั๊กไฟอย่างไร ให้ตรงใจและปลอดภัยไร้กังวล

22 Views

หลังจากที่เราพูดถึงวิธีการดูและเลือกซื้ออุปกรณ์สำหรับ PC จนแทบจะหมดทั้งเครื่องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนอาจจะละเลยหรือลืมนึกถึงไป แต่แท้จริงแล้วสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก็คือการเลือกซื้อปลั๊กไฟ บางคนอาจจะคิดว่า ก็แค่ของที่เอาต่อหรือเสียบปลั๊กเท่านั้น ไม่น่าสำคัญอะไรมาก แต่ปลั๊กไฟที่มีคุณภาพนั้นสามารถช่วยปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของเราได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว

สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอด น่าจะเคยเห็นหรือผ่านตาข่าวอัคคีภัยที่มีเหตุเกิดมาจากไฟฟ้าลัดวงจร หรือข่าวผู้เสียชีวิตจากการนอนเล่นโทรศัพท์มือถือแล้วถูกไฟดูดจนเสียชีวิตมาบ้างแล้ว ซึ่งเชื่อหรือไม่ว่าสาเหตุหลัก ๆ นั้นมีมูลเหตุมาจากปลั๊กไฟราคาถูกที่หลายคนชอบซื้อมาจากตลาดนัด แล้วปลั๊กไฟพวกนี้มักจะมีวัสดุและระบบการป้องกันไฟรั่วต่าง ๆ ที่น้อยมากจนถึงไม่มีเลย และเพราะแบบนี้ราคามันก็เลยถูก บางเจ้าขายในราคาไม่ถึงร้อยเสียด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากได้ของถูก แต่สิ่งที่ต้องถามกลับไปก็คือ คิดว่าคุ้มกันหรือไม่กับการใช้ปลั๊กไฟราคาถูกเพื่อเอามาจ่ายไฟให้กับ PC ราคาหลายหมื่นถึงเกือบแสนของเรา ให้คิดง่าย ๆ ว่าเหมือนจ้างใครก็ไม่รู้มาเฝ้าบ้านเรา แล้ววันดีคืนดีจะทรยศเผาบ้านเราทิ้งเมื่อไหร่ก็ไม่รู้นั่นแหละ จริงอยู่ที่ของดีราคาถูกมันก็มี แต่มันไม่ได้หาง่าย และหลายคนก็เลือกที่จะงกเงินไม่กี่ร้อย ไปใช้ปลั๊กราคาถูกแทน

ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมือนกับการเลือกใช้ Power Supply นั่นแหละ ของดีของแพงก็จะมั่นใจในการใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ของถูกคุณภาพแย่จะทรยศเราเมื่อไหร่ก็ไม่สามารถบอกได้ ซึ่งผู้เขียนก็อยากให้เพื่อน ๆ จำกันไว้ว่า อะไรที่เกี่ยวกับไฟ ห้ามละเลยเด็ดขาด เพราะถ้าประมาทขึ้นมาหมายถึงชีวิตได้เลย

และสำหรับพวกเราเหล่าเกมเมอร์ควรจะทำอย่างไรดีกับการเลือกปลั๊กไฟ ให้รู้สึกมั่นใจในการใช้งานบ้าง ซึ่งหลักการง่าย ๆ ก็มีดังต่อไปนี้ครับ

น้ำหนัก

สิ่งแรกที่เราสังเกตกันได้ง่ายแบบไม่ต้องสำรวจอะไรมากก็คือน้ำหนักของปลั๊กไฟ คล้าย ๆ กับการเลือก Power Supply ที่ถ้ามีน้ำหนักมากก็ให้คิดไว้ก่อนว่า นี่แหละของดี ขอให้จำไว้ว่า ปลั๊กไฟที่มีมาตรฐานที่ดีนั้น ต้องยกขึ้นมาแล้วไม่รู้สึกว่าเบาโหวงหรือกลวงภายใน(เหมือนกับยกขึ้นมาแล้วมันไม่มีอะไรอยู่ข้างในนั่นแหละ) เพราะด้านในของปลั๊กไฟที่ดีนั้น จะมีระบบการจ่ายไฟที่วางเอาไว้อย่างเป็นระเบียบและลงตัว มีระบบการตัดไฟเมื่อไฟเกินโดยอัตโนมัติ ซึ่งแน่นอนว่าน้ำหนักของมันจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลั๊กไฟที่ดีต้องหนักแบบเกินตัว น้ำหนักที่ดีคือ “ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป” นี่แหละจะดีที่สุด หรือถ้าให้ชัวร์ไปเลยและคนขายไม่ว่า ก็หยิบปลั๊กตัวนั้นมา “เขย่า” ดู ว่ามีเสียงอะไรหรือไม่ ถ้ามีก็อาจแปลได้ว่างานประกอบภายในนั้นอาจจะบกพร่องหรือมีการเชื่อมบัดกรีที่ไม่แน่นพอก็เป็นได้ครับ

วัสดุและงานประกอบ

เรื่องต่อมาที่เห็นได้ง่ายเช่นกันคือเรื่องของวัสดุและงานประกอบ ปลั๊กไฟที่ได้มาตรฐานต้องมีการงานประกอบที่แน่นหนาและมีวัสดุของพลาสติกที่ไม่เปราะบางจนเกินไป เอาง่าย ๆ ว่าหล่นจากโต๊ะไปแล้วไม่แตกหรือหักง่าย ๆ แบบแก้วก็ค่อนข้างโอเคแล้ว เพราะจากที่ผู้เขียนเคยเจอมา ปลั๊กไฟราคาถูกแค่ตกลงมาไม่สูงมากก็อาจจะแตกหักเสียหายได้แล้วเพราะวัสดุที่เปราะบางมากจนเกินไปนั่นเอง รวมไปถึงต้องติดไฟได้ยาก เพราะถ้าหากเกิดความร้อนสะสมหรือไฟรั่วขึ้นมา ก็น่าจะพอป้องกันความเสียหายได้

นอกจากวัสดุของตัวปลั๊กแล้ว ทั้งเต้ารับ สวิชต์และอื่น ๆ ก็ต้องดูด้วยว่าแข็งแรงและนำไฟฟ้าได้ดีพอหรือไม่ ถ้าเป็นทองแดงจะนำไฟฟ้าดีที่สุด และทำให้เกิดความร้อนสะสมน้อยลงไปด้วย และเต้ารับเองก็เช่นกัน ถ้าเต้ารับหลวมจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดความร้อนสะสมได้เหมือนกัน

กำลังไฟ

โดยปกติแล้วการเลือกซื้อปลั๊กไฟเพื่อนำมาใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเครื่อง PC ทีวีหรือเครื่องคอนโซล พ่วงการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ปลั๊กไฟที่มีกำลังไฟ 2500 W ก็ค่อนข้างเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ๆ เช่นเตาไฟฟ้า เครื่องซักผ้า ก็ควรจะมองดูปลั๊กไฟที่มีกำลังไฟสูงกว่านี้แทน

ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ

นี่คืออีกหนึ่งอย่างที่เราไม่ควรละเลย ปลั๊กไฟที่มีระบบป้องกันพร้อมยังไงก็น่าซื้อหามาใช้มากกว่าอยู่ดี เพราะช่วยป้องกันภัยที่อาจถึงชีวิตได้ เช่นสายดินป้องกันไฟรั่ว ระบบตัดไฟหรือฟิวส์ ที่จะตัดไฟทันทีเมื่อเกิดความร้อนสะสม ถ้ามีเอาไว้ยังไงก็ดีกว่าไม่มีแน่นอน

มอก.

อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ง่ายก็คือตรา มอก. หรือ ”มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” ซึ่งปลั๊กไฟที่จะมาวางจำหน่ายในไทยได้นั้นต้องผ่านการตรวจสอบในประเทศเสียก่อน และทาง มอก. เองก็ได้กำหนดมาตรฐานใหม่เพื่อให้มาตรฐานของปลั๊กพ่วงนั้นตรงกัน จากเดิมที่มี มอก. 11 ที่ใช้รับประกันสายไฟเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ปลั๊กไฟที่ขายในไทยต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ มอก. 2432-2555 ที่เป็นฉบับล่าสุด ซึ่งในเวลานี้ปลั๊กไฟที่ขายตามร้านทั่วไปก็น่าจะมีตรา มอก. กันหมดแล้ว

ซึ่งจริงอยู่ที่ปลั๊กไฟทั่วไปที่มีราคาถูกอาจจะมีการปลอมแปลงขึ้นมาได้ แต่ก็ยังไงก็อย่าลืมมองหาตรา มอก. ก่อนซื้อด้วยนะครับ

ฟังก์ชั่นเสริมอื่น ๆ

ส่วนสุดท้ายที่เราจะมาดูกันก็คือฟังก์ชั่นเสริมต่าง ๆ เช่นช่อง USB, สวิชต์แยกตามเต้า และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งของเหล่านี้ก็ต้องดูว่ามีแล้วช่วยให้เราใช้งานได้สะดวกมากขึ้นแค่ไหน ซึ่งถ้าทุกอย่างผ่านตามที่เราสังเกตมาหมดแล้วก็ค่อยดูส่วนนี้ทีหลังครับ

ปัจจุบันนี้ปลั๊กไฟแบรนด์ที่มีคุณภาพหลายแบรนด์ก็มีราคาที่ไม่แพงจนซื้อหาได้ง่าย ๆ แม้บางตัวจะมีราคาหลักพัน แต่ก็มาพร้อมเต้าเสียบจำนวนมหาศาลและฟังก์ชั่นป้องกันภัยที่เพียบพร้อม หรือราคา 600 – 700 บาทก็มีคุณภาพที่ดีและเชื่อถือได้หลายแบรนด์ เช่น Huntkey, Panasonic, Anitech และอีกมากมาย

และขอย้ำว่า อย่าเสียดายเงินเพียงไม่กี่ร้อยไปใช้ปลั๊กไฟถูก ๆ เลย เพราะไหน ๆ เราก็ลงทุนกับเครื่อง PC กับอุปกรณ์อื่น ๆ ไปหลายหมื่นแล้ว ก็อย่ามาเสี่ยงกับปลั๊กไฟราคาไม่กี่ร้อยที่อาจทำให้เสียทรัพย์หรือชีวิตได้จะดีที่สุดครับ

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top