BY Aisoon Srikum
26 Nov 20 6:42 pm

เรารู้คุณก็เคย! กับหลากหลายประสบการณ์ที่เกมเมอร์ยุคเก่าเท่านั้นที่ได้พบเจอ

18 Views

ย้อนกลับไปสมัยก่อน หลายคนมักมีช่วงเวลาที่งดงามของวัยเด็กไม่ว่าจะเป็นสังคม ครอบครัว รวมไปถึงการเล่นเกมที่ช่างแตกต่างกับยุคนี้แบบละคนเรื่อง ด้วยความที่โลกหมุนไว เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ว่าความโดดเด่นของวงการเกมยุคนี้ ทำให้เราได้ประสบการณ์การเล่นเกมที่ยอดเยี่ยมขึ้น แต่ความคลาสสิคจากยุคเก่าก็เป็นอะไรที่ไม่อาจจะหาได้อีกแล้วในยุคนี้ วันนี้เรารวบรวมประสบการณ์ของเหล่าเกมเมอร์ยุคเก่ามาให้ได้อ่านระลึกความหลังกัน ดูซิว่าคุณมีประสบการณ์อะไรกันบ้าง เกี่ยวกับวงการเกมในยุคก่อน

1.Internet Cafe สถานที่ชุมนุมหลังเลิกเรียนของเหล่าเกมเมอร์

แม้จะเรียกว่าอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ แต่สมัยก่อนเรามักจะเรียกกันติดปากว่า “ร้านเกม” ในสมัยก่อนนั้น มีทั้งร้านที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ และร้านที่เป็นเครื่องคอนโซลยอดนิยมอย่าง PlayStation 2 (ที่อัตราค่าบริการต่อชั่วโมงจะแพงกว่า PC สักเล็กน้อย)

หลังเลิกเรียน ร้านเกมเหล่านี้จะเปรียบเสมือนกับบ้านอีกหลังที่เหล่าเกมเมอร์จะต้องแวะก่อนกลับบ้าน หรือไม่ก็ออกมาประจำในช่วงวันหยุด ร้านเกมเหล่านี้เหมือนเป็นอีกแหล่งชุมชนที่อาจจะพาให้เราได้พบเจอกับเพื่อนใหม่ที่ชอบเล่นเกมเดียวกัน ไม่ก็เกรียนแตก จนอาจจะเขม่นกับคนในร้านก็มี หากร้านไหนได้รับความนิยมมากก็จะมีเหล่าเด็ก  ๆ มารอกันอย่างล้นหลาม เป็นที่มาของคำว่า “เด็กเกาะเบาะ” เพราะเหล่าเด็กที่รอคิวเครื่องว่าง ๆ ก็มักจะชอบดูคนนั้น คนนี้เล่นเกมไปเรื่อย เพื่อรอเครื่องว่างนั่นเอง

แต่ร้านไหนที่ไม่เข้มงวดพอ มักจะปล่อยให้คนเล่นต่อเวลาในช่วงนาทีสุดท้าย คุณลองนึกภาพว่าคุณนั่งรอเครื่องมาตั้งนาน พอใกล้จะได้เครื่อง เจ้าของเครื่องกลับบอกว่า “ต่ออีกชั่วโมงครับพี่” ประสบการณ์นี้น่าจะหาได้จากยุคก่อนเท่านั้นแหละ

2.แอบเล่นเกมในห้องเรียนคาบวิชาคอมพิวเตอร์

หลังเลิกเรียนหนีไปร้านเกมยังไม่พอ ในชั่วโมงเรียนเราก็เอาด้วย และต้องเป็นชั่วโมงเรียนอย่างวิชาคอมพิวเตอร์เท่านั้น บางโรงเรียนจะมีคอมพิวเตอร์ที่สเปคดีหน่อยให้ได้ใช้งานกัน แต่เรา ๆ ก็มักจะแอบพกเกมไปติดตั้งและเล่นกันในวงแลนของห้องเรียนอย่างสนุกสนาน

เกมยอดนิยมในห้องเรียนก็มีหลากหลายรูปแบบทั้ง Warcraft, Red Alert หรือเอาที่ฮิตสุด ๆ ก็ต้องเป็น Counter-Strike เลย นอกจากการพกเกมไปลงในคอมเองแล้ว บางคนฉลาดหน่อยก็ซ่อนมันไว้ในโฟลเดอร์ของคอมโรงเรียนนั่นแหละ ถ้าไม่มีระบบป้องกัน ก็ไปเปิดเครื่องเดิมเล่นกันไปทุกคาบเรียน

ถ้าเจออาจารย์โหดหน่อยก็เตรียมโดนลงโทษกันยกห้อง แต่อาจารย์บางคนก็ใจดี สอนเสร็จ ส่งงานเสร็จแล้ว ลงมานั่งร่วมทีมเล่นกับเหล่านักเรียนด้วยก็มีเช่นกัน ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและการใช้ชีวิต แต่ละคนก็คงมีคอมพิวเตอร์ติดบ้านกันหมดแล้ว หรืออาจจะเล่นกับสมาร์ทโฟนแทน

3.โดนหลอกขายเกมเถื่อนที่ห้างชื่อดังแถวประตูน้ำ

สำหรับคนที่เล่นเกม หรือประกอบคอมพิวเตอร์ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักสถานที่ชื่อดังย่านประตูน้ำที่เป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ไอทีแทบจะครบทุกสิ่งอย่าง

แน่นอนว่าปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นเป็นสิ่งที่จัดการแบบเด็ดขาดไม่ได้ และเหล่าเกมเมอร์วัยละอ่อนที่ไปเดินที่ห้างนั้น ย่อมมีบ้างที่จะต้องหลงซื้อแผ่นเกมเถื่อน เพราะโดนเจ้าของร้านหลอกว่าเป็นเกมแท้

ด้วยความไม่รู้ บวกกับประสบการณ์น้อย เราไม่อาจแยกแยะออกได้ เห็นราคาถูกที มีซองอะไรให้ เราก็จ่ายเงินซื้อมา บางคนบอกนี่ภาคพิเศษเลย รวมหมดทุกภาค ใส่แผ่นเล่นได้เลย แต่พอกลับมาเอาแผ่นใส่คอมถึงรู้ว่าต้องติดตั้ง ต้องอัดแครก ยุ่งยากอีกมากมาย หรือหนักเข้าหน่อยก็โดนหลอกถึงขั้นให้แผ่นเปล่ามา เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ใด ๆ ก็น่าจะเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญของเหล่าเกมเมอร์ในยุคนั้นเลยทีเดียว

4.เว็บบอร์ดคือโซเชียลชั้นเยี่ยม

ยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์คยังไม่แพร่หลาย Facebook ยังไม่รู้จักในไทย สิ่งเดียวที่เหล่าเกมเมอร์ใช้ติดต่อสื่อสารกันในตอนนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าเว็บบอร์ด

เว็บบอร์ดหรือกระดานสนทนาเป็นเหมือนกับเว็บไซต์อย่างพันทิปของเกมนั้น ๆ โดยจะมีกระดานสนทนาหลากหลายหมวดหมู่ให้เราเข้าไปตั้งกระทู้ พูดคุย สอบถาม หาเพื่อนเล่น หรือแม้กระทั่งเปิดสงครามคีย์บอร์ดใส่กันก็ดี ด้วยความที่เว็บบอร์ดไม่ใช่ระบบเรียลไทม์ การโต้ตอบกันจึงมีความดุเดือดน้อยกว่ามาก แต่ก็ไม่ถึงกับสงบเงียบ เกมไหน หรือบอร์ดไหนมีดราม่านี่ แทบจะนั่งกด F5 กันยับ ๆ แบบไม่หลับไม่นอน อาจจะลำบากกว่า Facebook ในปัจจุบัน แต่ความดุเดือด ไม่แพ้กันเลยจริง ๆ

5.ต้องซื้อหนังสือเกมเพื่อรับแผ่นเกมฟรี

ด้วยความที่ในยุคก่อนนั้น อินเทอร์เน็ตของเราก็ไม่ใช่จะมีความเร็วสูงอะไร สมัยก่อนนี่ 1 Mbps ก็ถือว่าโคตรเร็วแล้ว แถมราคาค่าบริการก็สูงเอาเรื่อง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีติดตั้งที่บ้านกันแน่ ๆ (เอาแค่มีคอมก็หรูแล้ว) การดาวน์โหลดตัวเกมในยุคก่อน 1GB ก็ถือว่ามีขนาดใหญ่ และกินเวลาสุด ๆ ต่างกับสมัยนี้ที่เกมต้องกินพื้นที่ 50-60GB เป็นอย่างต่ำ

ทางออกของเหล่าเกมเมอร์ยุคก่อนคือ รับแผ่นเกมฟรีที่ทางผู้พัฒนามักจะใช้วิธีแจกผ่านสื่อต่าง ๆ เช่นนิตยสารเกมรายสัปดาห์ เกมไหนฮิต เกมไหนมีแพทช์ใหม่ก็จะแจกแผ่นซีดีไปให้ติดตั้งเลย ไม่ต้องรอโหลดให้เมื่อย หากยังจำเกมที่ชื่อ Granado Espada กันได้ เกมนั้นตอนเปิดตัวด้วยกราฟิกสุดอลังการ (ในตอนนั้น) แน่นอนว่าขนาดเกมที่ใหญ่มาก ทำให้สื่อเกมรายสัปดาห์ต้องแจกแผ่นเกมนี้ถึง 4 แผ่น CD-ROM ด้วยกัน อลังการจัด ๆ ไปเลย

6.CBT คือการเล่นเพื่อทดสอบจริง ๆ

เกมเมอร์ยุคเก่า อาจจะได้ยินหรือเคยเห็นคำว่า CBT , OBT กันมาบ้าง แต่ก่อนการจะนำเอาเกมสักเกมมาเปิดให้บริการ ค่ายเกมมักจะต้องทดสอบตัวเกมและเซิร์ฟเวอร์ จึงจัดให้มีการเปิดให้เล่นแบบจำกัดจำนวนคน วิธีการเข้าร่วมทดสอบ ผู้เล่นก็จะต้องไปตามหาสิ่งที่เรียกว่า Code สำหรับเข้าทดสอบ ไปลงทะเบียนหน้าเว็บ และขั้นตอนต่าง ๆ อีกมากมาย

ผิดกับยุคปัจจุบัน ที่แม้ว่าจะบอกว่าเปิดทดสอบ CBT แต่ส่วนมากผู้เล่นทั้งหลายก็เข้าไปเล่นกันได้แบบสบาย ๆ อยู่ดี ไม่เหมือนแต่ก่อน ใครที่ได้เล่นเกมช่วงทดสอบนี่ ถือว่าหล่อเท่มาก ๆ เอาไปโม้กับเพื่อนที่โรงเรียนยังได้เลย และทีมงานมักจะนำเอาข้อมูลจากการทดสอบไปปรับปรุงให้เกมมีประสิทธิภาพดีขึ้น และเปิดให้เล่นจริงได้แบบไม่มีปัญหาต่อไปนั่นเอง

เชื่อว่านี่เป็นเพียงส่วนน้อยของประสบการณ์เกมเมอร์ยุคเก่า หลายคนอาจจะเจอประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน หรือเหตุการณ์ที่ต่างกัน ก็ลองเล่าให้พวกเราฟังกันได้ ว่าแต่ละคนเคยเจออะไรมาบ้าง

SHARE

Aisoon Srikum

Back to top