BY KKMTC
6 Sep 22 6:12 pm

รู้จักวัฒนธรรม “เด็กเกาะเบาะ” ที่ต้องเจอตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่สักครั้งในชีวิต

253 Views

“เด็กเกาะเบาะ” ชื่อนี้เกมเมอร์จะต้องได้ยิน หรือต้องประสบเจอสักครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ระหว่างการเล่นจะถูกรบกวนโดยผู้เล่นด้วยกันเอง จากการถูกคอมเมนต์วิธีเล่นเกมทั้งที่ไม่ร้องขอตั้งแต่แรก ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นโมเมนต์ที่ต้องเคยสักครั้งตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่

บทความนี่จะมาทำความเข้าใจกับ “เด็กเกาะเบาะ” หรือ Backseat Gaming วัฒนธรรมเกมมิ่งที่มีตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ จนถึงยุคสตรีมเมอร์กับ Esports ซึ่งเป็นดาบสองคมที่มีทั้งข้อดีกับข้อเสีย

เด็กเกาะเบาะ อยู่คู่ในวงการมานานตั้งแต่อดีต

Backseat Gaming (6)

หากเป็นคนติดตามวงการสตรีมเมอร์ หรือมีกิจกรรมยามว่าง ชอบรับชมไลฟ์สตรีมมานานแล้ว เรามั่นใจว่าต้องผ่านตากับคำว่า “Backseat Gaming” หรือคำเตือนจากสตรีมเมอร์ที่เขียนไว้ว่า “No Backseat” มาบ้างแล้ว

อ้างอิงจากเว็บไซต์ YourDictionary คำว่า “Backseat Gaming” หมายถึง คนที่แสดงความคิดเห็นในทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจของใครบางคนที่เล่นเกมโดยมากเกินไป หรือไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือตั้งแต่แรก จนสร้างความรำคาญให้คนเล่นเกม ยกตัวอย่างเช่น การคอมเมนต์บอกว่า “ลองไปทางนี้สิ แล้วจะเจอสิ่งนั้น” “ทำไมไม่กดสกิลวะ” “ข้างหน้าจะมีศัตรูตัวนี้ตัวนั้นตัวโน้น” “นายข้ามสิ่งสำคัญไปนะ” ฯลฯ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ พบได้ง่าย ๆ ไม่ต้องไปไหนไกลนอกจากแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีม เช่น YouTube หรือ Twitch

ความจริงแล้ว Backseat Gaming ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น หลังเกิดกระแสที่วัยรุ่นยุคใหม่ หันมาสนใจทำอาชีพเป็นสตรีมเมอร์, นักกีฬา Esports, VTuber และรับชมไลฟ์สตรีมยามเวลาว่าง แต่มันเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ช่วงกลาง-ปลายปี 1990 ซึ่งเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่มีอิทธิพลต่อวงการเกม เนื่องจากเกมประเภท Local Multiplayer กำลังมาแรงแซงโค้งทุกแนว

Backseat Gaming (5)

ปลายปี 1990 เกือบทุกร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ มักมีก๊วนเกมเมอร์หลายกลุ่มมารวมตัวกันที่ร้าน เพื่อเล่นเกมในโหมด Local Multiplayer อย่าง Counter-Strike, Quake, Red Alert 2 และอื่น ๆ อีกมากมาย

ด้วยธรรมชาติของเกมแนว Multiplayer ที่คนเก่งจะได้ครองแชมป์อันดับหนึ่งใน Scoreboard อยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่นัก ที่บางครั้ง เหล่าผู้เล่นจะมีการท้าดวลเล่นเกมด้วยกันเองจนเกิดการแข่งขัน Competitive ขนาดย่อม

ถึงแม้การแข่งขันเล่นเกมในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่จะเป็นสีสันอย่างหนึ่ง แล้วก่อให้กำเนิดเป็นสังคมเกมขนาดเล็ก ๆ ที่มีการแบ่งปันเทคนิคการเล่น อวดโชว์ฝีมือการเล่น กับการสนทนาในหัวข้อเกี่ยวกับวิดีโอเกมตามมา แต่แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนในร้านอินเทอร์เน็ต ต้องการเล่นเกมเพื่อเป็น “สุดยอดเกมเมอร์” แต่มีหลายคนต้องการเล่นเกม เพื่อต้องการความสนุกสนานคลายเครียด

Backseat Gaming (4)

ด้วยสังคมคนเล่นเกมส่วนใหญ่เป็นเด็กโต วัยรุ่น ที่ไม่บรรลุนิติภาวะ จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่ ที่บางคนจะเผลอแสดงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรำคาญให้คนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ (หรืออาจจงใจ เพื่อเกทับผู้เล่นอื่น) ด้วยการบอกวิธีเล่นเกมทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้ร้องขอ หรือจนถึงขั้นมีการละเมิดความเป็นส่วนตัวเล็ก ๆ ด้วยการกดปุ่มคีย์บอร์ดหรือเมาส์ตามอำเภอใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นทั่วโลก และชาวไทยมักเรียกชื่อเล่นสำหรับเหล่า Backseat Gaming กันว่า “เด็กเกาะเบาะ” ตามหัวข้อของบทความ

โดยเด็กเกาะเบาะ ไม่ได้เจอเฉพาะแค่ในสถานที่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่อย่างเดียวอีกต่อไป แต่มันก็เกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ ทุกปาร์ตี้ หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีม จนตอนนี้ มันกลายเป็นปัญหาระดับทั่วไป (Common) ที่เหล่าสตรีมเมอร์ต้องหาทางรับมือกับมัน

Backseat Gaming ปัญหาที่สตรีมเมอร์ต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Backseat Gaming (2)

แน่นอน แม้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเกมเมอร์เริ่มมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว รวมถึงการระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้ร้านต้องปิดตัวเร็วขึ้น แต่ Backseat Gaming หรือ เด็กเกาะเบาะ ก็ไม่ได้หายตัวไปไหน เพราะยังคงพบเห็นได้ตามคอมเมนต์ไลฟ์สตรีมต่าง ๆ

ก็จริงที่ Backseat Gaming ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงเหมือนกับการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (Toxic) หรือการก่อกวน (Harassment) แต่ปัญหาเหล่านี้มันพบเจอบ่อย และถี่มาก ๆ จนสามารถทำลายบรรยากาศไลฟ์สตรีมได้เช่นกัน

ปัญหา Backseat Gaming ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความไม่ได้ตั้งใจ ที่ผู้ชมอยากหวังดี ให้สตรีมเมอร์ได้รับประสบการณ์การเล่นที่ดี เหมือนที่ผู้ชมได้รับจากการเล่นเกมด้วยตัวเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ความหวังดีก็อาจกลับมาทำร้ายสตรีมเมอร์ เพราะว่าการสปอยล์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า เป็นการทำลายเซอร์ไพรส์จากการเล่นเกมครั้งแรกได้ ซึ่งปัญหานี้มักจะเห็นบ่อยตามไลฟ์สตรีมเกมประเภท Singleplayer เน้นเนื้อเรื่องเป็นหลัก

Backseat Gaming (3)

นอกจากนี้ การคอมเมนต์ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจ ทุกวิธีการเล่น เป็นการสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลให้เหล่าสตรีมเมอร์ ส่งผลทำให้ผู้เล่นไม่สนุกกับการเล่น สูญเสียความมั่นใจ และเล่นเกมแย่ลง จนสุดท้าย ทำให้การรับชมไลฟ์สตรีมมีแต่ความตึงเครียด ไม่ชิลล์ และไม่สนุกสนานตามมา

ไม่ใช่ว่า Backseat Gaming จะมีแต่ข้อเสีย เพราะหาก Backseat อย่างเหมาะสม ถูกต้องตามเวลาที่อันควร มันจะทำให้บรรยากาศไลฟ์สตรีมครึกครื้น และสนุกสนานได้มากเลยทีเดียว ยกตัวอย่าง ถ้าหากสตรีมเมอร์ร้องต้องการความช่วยเหลือจากผู้ชม แล้วผู้ชมให้คำแนะนำจนผู้เล่นสามารถผ่านด่านที่เป็นอุปสรรคไปได้ มันช่วยให้สตรีมเมอร์มีกำลังใจในการเล่นเกมต่อไป และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกันระหว่างสองฝ่าย ราวกับสตรีมเมอร์และผู้ชมกำลังผจญภัยในเกมร่วมกัน

Backseat Gaming

สุดท้าย Backseat Gaming เป็นวัฒนธรรมในวงการเกมอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับเรามานานแสนนานแล้ว แม้กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่ามันเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ควรเข้ามามีการควบคุม หรือเป็นสิ่งที่ต้องดำรงรักษาไว้ เพราะหาก Backseat อย่างถูกต้อง มันทำให้การไลฟ์สตรีมมีสีสันมากขึ้น

แต่แน่นอนว่าอะไรที่มากเกินไปย่อมต้องไม่ดีอยู่เสมอ ฉะนั้นการเคารพวิธีเล่นเกมของสตรีมเมอร์ที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน, ไม่ Backseat มากเกินไปจนสร้างความรำคาญให้สตรีมเมอร์ และให้ความช่วยเหลือเมื่อยามจำเป็น เพื่อรักษาบรรยากาศการเล่นเกมไว้จะเป็นการดีที่สุด

แหล่งอ้างอิง: Linguablog

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top