BY France
5 Oct 21 6:40 pm

รู้จักกับ 8 นามสกุลไฟล์ภาพสุดฮิต ใช้งานต่างกันอย่างไร

9,735 Views

ถ้าพูดถึงไฟล์รูปภาพ หลายคนก็น่าจะนึกถึงไฟล์ JPEG และ PNG เพราะได้ใช้งานกันบ่อย ส่วนใหญ่เวลาที่เราดาวน์โหลดรูปภาพมาก็มีชื่อของไฟล์นั้นๆ และนามสกุลไฟล์ แต่ในโลกของไฟล์รูปภาพมันมีมากกว่า JPEG และ PNG เนี่ยสิ แล้งอันอื่นมันทำงานอย่างไร แตกต่างกันยังไง วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับนามสกุลไฟล์ภาพให้มากขึ้นกันดีกว่า

1. JPEG , JPG (.jpg)

Jpg - Free interface icons

เริ่มที่ไฟล์แรกที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี นั่นคือ .jpg พัฒนาโดยกลุ่ม Joint Photographic Experts Group ที่มีจุดเด่นในเรื่องของขนาดที่เล็ก และได้ไฟล์ภาพที่คมชัด ช่วยในเรื่องการประหยัดพื้นที่ เหมาะมากกับการใช้ในรูปภาพเพื่อโพสต์บนโซเชียล แต่ก็มีข้อสังเกตคือไม่รองรับภาพโปร่งใสนั่นเอง

ข้อดี : รองรับเกือบทุกโปรแกรม และใช้พื้นที่จัดเก็บน้อย

ข้อเสีย : เนื่องจากขนาดไฟล์จำกัด ทำให้ไม่สามารถแก้ไขรูปได้ตามต้องการ เพราะรูปจะไม่ชัดหรือเกิดอาการภาพแตกได้

2. PNG (.png)

Files Png Icon | Windows 8 Iconset | Icons8

ไฟล์ PNG ย่อมาจาก Portable Network Graphics ใช้วิธีการบีบอัดไฟล์แบบ DEFLATE ที่ไม่มีการสูญเสียข้อมูลระหว่างบีบอัด (Lossless) ทำให้ไฟล์รูป PNG มีคุณภาพสูงกว่า JPEG และคมชัดกว่าอย่างชัดเจน แต่แน่นอนว่าขนาดไฟล์เองก็มีแนวโน้มที่จะใหญ่กว่าด้วยเช่นกัน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของ PNG คือ รองรับภาพที่มีพื้นหลังโปร่งใสด้วย

ข้อดี : สามารถบันทึกภาพพื้นหลังแบบโปร่งใสได้ ทำให้ง่ายต่อการใช้งานและรองรับสีได้มากกว่าไฟล์ GIF 

ข้อเสีย : ไม่เหมาะกับการพิมพ์

3. RAW (.raw)

Raw - Free interface icons

คนที่อยู่ในสายถ่ายรูปน่าจะรู้จักกับไฟล์ภาพตัวนี้ดี เพราะเป็นไฟล์ที่ได้มาจากเซ็นเซอร์กล้องโดยตรง ไฟล์ภาพจะมีขนาดที่ใหญ่มากๆ ไม่ถูกบีบอัด ตามชื่อของนามสกุลไฟล์ RAW ที่เหมือนเราได้ไฟล์มาสดๆ เลย

ข้อดี : ตอบโจทย์ในการแก้ไขรูปภาพมากๆ ปรับแต่งได้อย่างอิสระ

ข้อเสีย : บางโปรแกรมไม่รองรับไฟล์ชนิดนี้ เลยทำให้มีข้อจำกัดต้องแปลงไฟล์ก่อนใช้งาน

4. GIF (.gif)

Free Icon | Gif

 

ไฟล์ GIF อ่านว่า ” จิ๊ฟ ” นะ ไม่ใช่ “กิ๊ฟ” เป็นไฟล์ที่บีบอัดแบบ Lossless เหมือนกับ PNG เทคนิคที่ GIF ใช้ในการบีบอัดแม้จะเป็น Lossless แต่ด้วยปัญหาทางเทคนิคที่จะมีพิกเซลโปร่งใสในค่าสี จะทำให้เกิดรอยหยักตามขอบพิกเซล โดยจะเห็นชัดมากในภาพที่มีเส้นโค้ง หรือรายละเอียดเยอะๆ

ข้อดี : ขนาดไฟล์เล็กมาก ทำให้โหลดได้รวดเร็ว และสามารถทำพื้นหลังแบบโปร่งใสได้

ข้อเสีย : มีความจำกัดเรื่องสีของภาพและไม่รองรับ CMYK

5. TIFF (.tif)

Tiff - Free files and folders icons

ไฟล์นามสกุล TIFF เป็นไฟล์แบบ Lossless ที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ เพราะอัดแน่นไปด้วยคุณภาพของรูปถ่าย ที่ให้ความคมชัดและสวยงามอย่างเต็มที่ สามารถใช้งานกับโปรแกรมแต่งรูปได้มากมาย รองรับระบบสีได้หลายแบบทั้ง CMYK, RGB, Lab, Indexed Color และ Grayscale เหมาะสำหรับนำไปทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ 

ข้อดี : ไฟล์มีคุณภาพมาก สามารถรองรับการใช้งานผ่านโปรแกรมได้เกือบหมด และทำพื้นหลังให้โปร่งใสได้ด้วย

ข้อเสีย : ไฟล์มีขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่จัดเก็บเยอะมาก 

6. PSD (.psd)

Icon Psd #228159 - Free Icons Library

 

PSD คือไฟล์ภาพจากโปรแกรม Photoshop โดยเฉพาะ สามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมและซอฟต์แวร์อื่น ๆ ของ Adobe เช่น Illustrator, InDesign Premiere และ After Effects ซึ่งไฟล์ประเภทนี้เหมาะกับการใช้ทำงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ครบถ้วน ทั้งการบันทึกประวัติการทำงานและเก็บภาพแบบแยกเลเยอร์ ช่วยให้ง่ายต่อการตกแต่งเพิ่มเติม

ข้อดี : ปรับแต่งไฟล์ได้อย่างอิสระสามารถใช้ทำงานได้ทั้ง Vector และ Raster รองรับพื้นหลังโปร่งใสได้ด้วย

ข้อเสีย : เหมาะสำหรับงานที่มีขนาดใหญ่เนื่องจากมีความละเอียดสูง การใช้งานอาจจะซับซ้อนเกินไปสำหรับบางคน

7. SVG (.svg)

Adobe File Extensions Icon Png & Free Adobe File Extensions Icon.png Transparent Images #146384 - PNGio

SVG ย่อมาจาก Scalable Vector Graphics กราฟิกแบบเวกเตอร์ที่ปรับขนาดได้ เหมาะมากกับการพิมพ์รูปแบบขนาดใหญ่ เช่น เสื้อยืด ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ไฟล์. svg แต่ละไฟล์จะยึดตาม XML ซึ่งหมายถึงข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับสีรูปร่างเส้นโค้งและข้อความของรูปภาพจะถูกเก็บไว้ในไฟล์ข้อความที่สามารถอ่านได้ มันทำให้รูปแบบไฟล์. svg สามารถปรับแต่งได้อย่างง่ายดาย คุณสามารถแก้ไขภาพได้โดยไม่สูญเสียคุณภาพเริ่มต้น

ข้อดี : สามารถใช้งานเป็น Vector และ Raster ก็ได้ และสามารถปรับขนาดได้โดยไม่เสียความคุณภาพของไฟล์เลย นอกจากนั้นยังสามารถเพิ่มไปยัง HTML ได้โดยตรง

ข้อเสีย : ไม่เหมาะกับงานภาพที่มีความลึกสีสูงๆ เช่น งานพิมพ์

8. WebP(.webp)

How to write WebP images in Java

WebP หรือ เว็บพี คือ มาตรฐานไฟล์ภาพของ Google ที่สามารถคงคุณภาพของภาพให้อยู่ในระดับดีเยี่ยม ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2010 และได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยภาพ WebP เป็นไฟล์ภาพแบบใหม่ที่เป็นการบีบอัดไฟล์ภาพแบบสุดๆ โดยที่เสียคุณภาพไปน้อยมากจนเรียกว่าเมื่ออยู่บนเว็บแล้วไม่สามารถเห็นความแตกต่างได้ด้วยตาเปล่า

ข้อดี : สามารถแสดงผลได้เร็วขึ้น รวมถึงมีผลค่อนข้างมากกับความเร็วของเว็บไซต์ ทำให้ผู้ที่ใช้งานเว็บรู้สึกว่าเว็บไซต์ใช้งานได้อย่างราบรื่นไม่ต้องรอโหลด

ข้อเสีย : ไม่สามารถเปิดได้ถ้าโหลดมาลงเครื่อง ต้องผ่านการแปลงไฟล์รูปเสียก่อน ซึ่งสามารถแปลงไฟล์รูปได้ตามเว็บไซต์ต่างๆ

และนี่ก็เป็นทั้งหมดของนามสกุลไฟล์ที่นิยมใช้งานกันอยู่ในทุกวันนี้ แต่ละไฟล์ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน อยู่ที่ว่าเราอยากจะใช้งานอะไร ก็ควรเลือกนามสกุลไฟล์ภาพให้เหมาะสมกับงานที่เราจะทำ สุดท้ายนี้ก็อย่าลืมกดติดตามเพจ GamingDose และ GamingDose Tech ด้วยนะ

SHARE

ปณต ประจันตะเสน

Back to top