BY สฤณี อาชวานันทกุล
3 Aug 21 3:47 pm

พลานุภาพของเกม กับพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิก 2021

4 Views

หลังจากที่เตรียมการมานานหลายปี ผ่านการตัดสินใจอย่างยากลำบากที่จะเลื่อนออกไปหนึ่งปีเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในที่สุดมหกรรมการแข่งขันกีฬานานาชาติ โตเกียวโอลิมปิก 2021 ก็เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 

พิธีเปิดครั้งนี้มีไฮไลท์ที่น่าจดจำมากมาย แม้ว่าบนอัฒจันทร์จะว่างเปล่าปราศจากคนดู เนื่องด้วยมาตรการเคร่งครัดช่วงโควิด-19 แต่ในบรรดาไฮไลท์ทั้งหมดนั้น ไม่น่ามีอะไรที่ทำให้คอเกมตื่นเต้น ตื้นตัน และประทับใจเท่ากับการบรรเลงเมดเลย์ดนตรีประกอบจากเกมยอดนิยมของญี่ปุ่น เป็นเซาน์ด์แทร็กประกอบการเดินพาเหรดเข้ามาในสนามของทัพนักกีฬาจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมชิงชัยในโตเกียวโอลิมปิก 

ย้อนกลับไปที่พิธีปิดโอลิมปิกเกมส์ครั้งก่อน ห้าปีที่แล้วในกรุง ริโอ เดอ จาไนโร เมืองหลวงบราซิล ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในสมัยนั้น ทำเซอร์ไพรส์คนดูทั้งสนามด้วยการแต่งตัวเป็น ซุปเปอร์มาริโอ พระเอกจากซีรีส์เกมยอดฮิตของค่ายนินเทนโด รับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งต่อไป 

จากจุดนั้นคงไม่มีใครสงสัยว่า “เกม” จะเป็นส่วนสำคัญของพิธีเปิดโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า เจ้าภาพจะ “จัดเต็ม” ขนาดนี้ 

พิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2021 ในโตเกียว ไม่มีมาริโอแล้ว (และก็ไม่มีเกมไหนสักเกมจากค่ายนินเทนโดด้วย) แต่เราได้ยินดนตรีประกอบคุ้นหูในเกมชื่อดังของแดนอาทิตย์อุทัยอย่างเต็มอิ่มสิบกว่าเกม และเมดเลย์นี้ก็ไม่ได้มาเล่นๆ แต่ถูกเรียบเรียงและบรรเลงโดยวงออเคสตราเต็มวง และเกมที่เลือกดนตรีมาเล่นนั้นก็ครอบคลุมประวัติศาสตร์เกม ตั้งแต่ Gradius เกมตู้ชื่อดังปี 1985 กว่าสามทศวรรษที่แล้ว เรื่อยมาจนถึงเกมสมัยใหม่อย่าง NieR และ Monster Hunter ในศตวรรษที่ 21

การประพันธ์เพลงและดนตรีประกอบเกมแบบ “จัดเต็ม” เป็นส่วนสำคัญของวงการเกมญี่ปุ่นมาช้านาน เกมเมอร์จำนวนมากเป็นแฟนพันธุ์แท้ของนักประพันธ์ดนตรีประกอบเกมชื่อดัง คอยติดตามผลงานอย่างติดหนึบไม่แพ้เพลงของนักร้องคนโปรด และในญี่ปุ่นเองก็มีการจัดคอนเสิร์ตดนตรีประกอบเกม (ดูแหล่งข้อมูลเช่น https://ultimatepopculture.fandom.com/wiki/Orchestral_Game_Music_Concerts) มาแล้วหลายครั้ง

แต่แน่นอนว่า การใช้ออเคสตราบรรเลงเมดเลย์ที่เรียงร้อยดนตรีประกอบเกม 14 เกม ต่อหน้าผู้ชมผ่านจอหลายล้านคนทั่วโลก ในพิธีเปิดมหกรรมการแข่งขันที่โด่งดังที่สุดของมวลมนุษยชาติ ยาวนานเป็นชั่วโมงๆ ต้องนับเป็นจุดสูงสุดครั้งหนึ่งที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์เกมเลยทีเดียว

ด้วยความที่ญี่ปุ่นคือญี่ปุ่น จะทำอะไรต้องผ่านการคิดใครครวญอย่างรอบคอบมาก่อนเสมอ เราลองมาไล่เรียงดนตรีจากเกมแต่ละเกมที่เลือกมาบรรเลงออเคสตราในพิธีเปิดโอลิมปิกกัน (ฟังเรียงเพลงได้จาก https://www.classicfm.com/discover-music/periods-genres/video-game/tokyo-2020-opening-ceremony/

(ตัวเลขในวงเล็บ บอกลำดับของการเล่นเพลงนั้นๆ ในพาเหรดนักกีฬา) 

  1. Dragon’s Quest – Overture: Roto’s Theme (1) 

เมดเลย์ประกอบพาเหรดนักกีฬาเปิดฉากด้วยเพลงติดหู Roto’s Theme จากเกม Dragon Quest ภาคแรก และธีมนี้ก็ปรากฎในเกมทุกเกมในซีรีส์เดียวกัน เพลงนี้ฟังดูยิ่งใหญ่ เชิดชูฮีโร่ เสียงกลองปลุกความฮึกเหิม สมกับใช้เปิดฉากพาเหรดนักกีฬาโอลิมปิก 

  1. Final Fantasy – Victory Fanfare (2), Main Theme: Prelude (13) 

เพลงหลักสองเพลงในซีรีส์ Final Fantasy ที่คุ้นหูคอเกมเป็นอย่างดี โนบูโอะ อุเอมัตสึ ผู้ประพันธ์ Main Theme: Prelude เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าทั้งชีวิตของเขาจะมีคนจำผลงานเขาได้เพียงชิ้นเดียว เขาอยากให้เป็น Prelude นี่เอง เพลงเพราะเพลงนี้ครบเครื่องทุกรสชาติ ทั้งฮึกเหิม บุกตะลุย เศร้าโศก โรมานซ์ และอ้อยอิ่ง เหมือนกับทั้งเรื่องราวในซีรีส์เกมมหากาพย์ และเรื่องราวความเป็นมนุษย์ที่ฉายผ่านโอลิมปิกเกมส์

เวอร์ชันที่เลือกมาเรียบเรียงและให้ออเคสตราบรรเลงในพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิกมาจาก Final Fantasy VII เกมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในซีรีส์ และดังนั้นจึงน่าจะติดหูคนมากที่สุด

  1. Tales Of Zestiria – Sorey’s Theme (The Shepherd) (3), Royal Capital (8)

โมโตอิ ซากุราบะ นักประพันธ์ดนตรีประกอบเพลง อยู่เบื้องหลังเพลงติดหูในซีรีส์เกมมากมาย อาทิ Dark Souls, Mario Golf และ Star Ocean แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขาที่สุดคือดนตรีประกอบซีรีส์ Tales จากค่าย Bandai Namco ด้วยความไพเราะและ “จัดเต็ม” เหมาะกับการเล่นแบบออเคสตราเต็มวง

Monster Hunter: World

  1. Monster Hunter – Proof of Hero (4), Wind of Departure (9)

ธีมหลักของเกมซีรีส์ Monster Hunter ทุกเกม ปลุกเร้าให้ตื่นเต้น ฮึกเหิม และลุ้นระทึกในคราวเดียว บรรเลงระหว่างการต่อสู้กับสัตว์ประหลาดและเตรียมตัวก่อนออกเดินทางไปผจญภัย เฉกเช่นนักกีฬาที่กำลังจะเข้าสู่สังเวียนประลองกำลัง

  1. Kingdom Hearts – Olympus Coliseum (5), Hero’s Fanfare (15)

ดนตรีบรรเลงจากสนามกีฬาโอลิมปิกในเกม Kingdom Hearts เกมแรก (และก็ใช้ในเกมต่อๆ มาในซีรีส์นี้ด้วย) นับว่าเหมาะเจาะกับพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์โดยไม่ต้องตีความใดๆ โดยเฉพาะในเมื่อ โยโกะ ชิโมมูระ ผู้ประพันธ์เกมนี้ นำแรงบันดาลใจจากกรีกโบราณมาใช้ในการรังสรรค์ผลงานชิ้นนี้

  1. Chrono Trigger – Frog’s Theme (6), Robo’s Theme (10)

เชื่อว่าคอเกมรุ่นเก๋าหลายคนน่าจะได้น้ำตาซึมเมื่อได้ยินดนตรีจาก Chrono Trigger เกม JRPG คลาสสิกขึ้นหิ้ง บรรเลงคลอพาเหรดนักดนตรี หลายคนคงหวนนึกถึงตอนที่เจอ Frog (กบ) อัศวินร่างกบที่เราได้มาเป็นพวกในช่วงแรกๆ ของเกม เพราะ Frog’s Theme คือเพลงประจำตัวของเขา ส่วน Robo’s Theme ก็เป็นเพลงคึกจังหวะสนุกอีกเกมที่ฟังครั้งเดียวก็ติดหูเลย เกม Chrono Trigger ทั้งเกมมีเพลงเพราะยอดนิยมมากมาย และทีมงานประพันธ์เมดเลย์ก็บรรเลงให้เราฟังอย่างจุใจด้วยการสอดแทรกธีมนี้ในหลายจุดของเมดเลย์ 

  1. Ace Combat – First Flight (7)

ครึ่งทางของเมดเลย์ ออเคสตราสลับฉากออกจากเกมแนว JRPG (เกมสวมบทบาทแบบญี่ปุ่น) มาทางเกมแนวอื่นๆ บ้าง เริ่มจากเกมเพราะจากซีรีส์ Ace Combat เกมขับเครื่องบินรบสไตล์เกมตู้จากค่าย Bandai Namco เพลงนี้อาจไม่คุ้นหูคอเกมเท่ากับเพลงจากซีรีส์ JRPG ยอดฮิตทั้งหลาย แต่พอใส่มาในเมดเลย์ช่วงครึ่งทาง เพลงต่อสู้เร้าใจจากเกมนี้ก็เหมาะเจาะเลยทีเดียว

  1. Sonic The Hedgehog – Starlight Zone (11)

จากความเร้าใจของ Ace Combat สลับฉากมาเป็นจังหวะชิลๆ ของเพลงจาก Sonic the Hedgehog เกมแอ็กชั่น 2D คลาสสิกค้างฟ้าจากค่าย SEGA ติดหูคอเกมมาตั้งแต่เจ้าเฮดจ์ฮอกจอมซ่า คู่แข่งมาริโอ ปรากฎตัวครั้งแรกในปี 1991 มาซาโตะ นาคามูระ นักประพันธ์เพลง วันนี้ผันตัวมาเน้นการแต่งเพลงประกอบโฆษณาโทรทัศน์และภาพยนตร์มากกว่าเกมแล้ว แต่ผลงานที่เขาฝากไว้ในเกมพิภพก็จะติดหูไปอีกนานแสนนาน

  1. Winning Eleven – eFootball Walk-On Theme (12)

เกมเด่นจาก Winning Eleven ซีรีส์เกมฟุตบอลชื่อดัง (วันนี้เปลี่ยนชื่อเป็น eFootball) ทั้งเพราะและเหมาะสมด้วยความที่เป็นเกม “กีฬา” เกมเดียวในเมดเลย์ชุดนี้ 

  1. Phantasy Star Universe – Guardians (14)

เกมเพราะจาก Phantasy Star ซีรีส์ JRPG ที่ดังเป็นพลุแตกในญี่ปุ่น แต่นอกประเทศคนไม่รู้จักเท่า Chrono Trigger และ Final Fantasy ดึงอารมณ์คนฟังเข้าสู่แดนผจญภัย แม้อาจฟังดูไม่ยิ่งใหญ่และครบรสเท่ากับเพลงจาก JRPG ช่วงแรกในเมดเลย์

  1. Gradius – 01 ACT I-1 (16) 

เซอร์ไพรส์ที่ผู้เขียนบทความนี้ชอบมากเป็นการส่วนตัว การเลือกเสียงเปียโนจังหวะสนุกๆ จากเกมตู้คลาสสิกของ Konami มาอยู่ในเมดเลย์ออเคสตราที่บรรเลงประกอบพาเหรดนักกีฬา นับเป็นการให้เกียรติเกมตู้ (arcade) จากยุคที่ “เกม” ยังถูกมองว่าเป็น “เรื่องไร้สาระ” หรือ “อบายมุข” (ซึ่งผ่านมาหลายทศวรรษแล้วบางสังคมก็ยังมีทัศนคติแบบนี้อยู่) 

Nier Automata

  1. NieR – Song of The Ancients (17)

เพลงเพราะจาก NieR ซีรีส์ action RPG ชื่อดัง ซีรีส์นี้มีเพลงเพราะหลายเพลง แต่ที่น่าสนใจคือทีมประพันธ์เมดเลย์เลือกเพลง Song of the Ancients ซึ่งกลายเป็นเพลงเดียวในเมดเลย์นี้ที่ไม่ได้มีแต่เสียงดนตรีอย่างเดียว แต่มี “เนื้อร้อง” ด้วย เวอร์ชันในเกมขับร้องโดย เอมิโกะ อีวานส์ และประพันธ์โดย เคนิอิชิ โอกาเบะ 

เนื้อร้องของเพลงนี้ไม่ใช่ภาษาใดๆ ที่ใครจะฟังออกเลย เพราะเขียนในภาษาปลอมที่ไม่มีอยู่จริงในโลก เรื่องราวของเกมบอกว่าภาษานี้คือ Chaos เกิดจากการผสมภาษาต่างๆ ในโลกเข้าด้วยกัน 

การเลือกเพลงนี้จึงคล้ายจะสื่อว่า การเล่นกีฬานั้นเป็น “ภาษาสากล” ของคนทุกชาติในโลก ไม่ว่าจะแตกต่างกันมากเพียงใด

  1. SaGa – The Minstrel’s Refrain (เมดเลย์ฉบับปี 2016) (18)

ผลงานเด่นอีกชิ้นของ โนบุโอ อุเอมัตสึ นักประพันธ์ที่ดังเป็นพลุแตกจากเพลงที่เขาแต่งให้กับซีรีส์ Final Fantasy แต่ Romancing SaGa (ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเกมที่เริ่มต้นจากการแตกแขนงมาจาก Final Fantasy) ก็เป็น JRPG อีกหนึ่งซีรีส์ที่มีเพลงเพราะๆ มากมายที่ อุเอมัตสึ ฝากผลงานเอาไว้ เวอร์ชันที่ออเคสตราบรรเลงในพิธีเปิดคือเวอร์ชันเมดเลย์ปี 2016 ที่ “จัดเต็ม” ในเกมด้วยวงออเคสตราเช่นกัน

  1. SoulCalibur – The Brave New Stage of History (19)

เหมาะสมกับการเป็นเพลงปิดเมดเลย์ประกอบพาเหรดนักกีฬาด้วยประการทั้งปวง ผลงาน จูนิชิ นาคัทซึรุ เพลงนี้เป็นธีมหลักของ SoulCalibur VI เกมต่อสู้จากค่าย Bandai Namco เพลงให้อารมณ์ชวนออกไปผจญภัยเกมนี้บรรเลงประกอบฉากเลือกคู่ต่อสู้ 2 คน ที่จะมาประมือกันในสนามประลอง ราวกับจะบอกเราว่า ขอเชิญรับชมการประลองฝีมือของนักกีฬาจากทั่วโลก ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป! 

เมดเลย์ดนตรีประกอบเกมญี่ปุ่นที่บรรเลงแบบ “จัดเต็ม” โดยวงออเคสตรา ไม่เพียงป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า ญี่ปุ่นเป็น “ชาติมหาอำนาจ” เพียงใดในวงการเกมโลก หากแต่ยังเป็นการแสดงไมตรีจิตและความคารวะต่อเกม นักออกแบบเกม และการยกย่องเกมในฐานะสื่อสมัยใหม่ที่เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนหลายล้านคนทั่วโลก 

รวมถึงแสดงพลานุภาพของ “เกม” ในการเป็นเครื่องมือที่สามารถผนึกความสมัครสมานสามัคคี มิตรภาพที่เบ่งบานระหว่างการต่อสู้หรือขับเคี่ยวแข่งขัน สะท้อนความมุมานะไม่เลิกราของมนุษย์ และชวนให้ขบคิดถึง “ความเหมือน” มากกว่า “ความต่าง” ระหว่างคนชาติต่างๆ 

“เกม” ทั้ง 14 เกมที่ถูกเลือกดนตรีมาบรรเลงในพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิก และเกมอีกมากมาย มีจุดร่วม “กีฬาโอลิมปิก” ในแง่นี้เอง

SHARE

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top