BY KKMTC
19 Jun 20 1:06 pm

ทำไมบางทีมพัฒนา ไม่ซื้อลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์จากโลกจริงมาใช้ในเกม

66 Views

เกมเมอร์หลายคนอาจจะเคยสงสัยกันบ้างว่าทำไมเกมยิงระดับ AAA บางเกมถึงยอมใช้ชื่อปืนปลอม ทั้งที่ทีมพัฒนามีต้นทุนสูงพอที่จะสามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้สบาย ๆ หรือทำไมเกมแข่งรถหลายเกมจึงไม่มีแบรนด์รถยนต์ที่ “สมควรมี” ปรากฏตัวอยู่ในเกม ซึ่งบทความนี้ทำให้คุณเข้าใจเหตุผลที่ทีมพัฒนาเกม ไม่ซื้อลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์จากโลกจริงมาใช้ในเกมมากยิ่งขึ้น

ราคาลิขสิทธิ์แพง

อีกหนึ่งในสาเหตุหลักที่เกมยิง เกมแข่งรถ หรือเกมดนตรีบางเกม ไม่ซื้อลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์บนโลกจริงหรือเพลงดัง เพราะราคาลิขสิทธิ์ที่แพงเกินความจำเป็น รวมถึงการออกแบบคอนเทนต์ด้วยตัวเองมีราคาถูกกว่า และช่วยทำให้ตัวเกมสามารถนำเสนอความเป็นออริจินอลที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

ยกตัวอย่างเกมดนตรีอย่าง DJMAX RESPECT ฝ่ายโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง BEXTER ออกมายอมรับว่าสาเหตุที่ตัวเกมไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์เพลง K-Pop เพราะว่าค่าซื้อลิขสิทธิ์เพลง “แพงเกินไป” จนไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ เกมดนตรีจำเป็นต้องต่ออายุลิขสิทธิ์เพลง เพื่อให้เพลง LC อยู่ในเกมภาคต่อ ๆ ไป จึงมีหลายครั้งที่มีอัปเดตลบเพลง LC ออกจากเกม เพราะลิขสิทธิ์หมดอายุนั่นเอง

ติดสัญญา Exclusive

ไม่ใช่ว่าทางแบรนด์ไม่สนใจอยากนำผลิตภัณฑ์ของพวกเขามาลงในวิดีโอเกม แต่เพราะทีมงานติดสัญญา Exclusive ระหว่างบริษัทเกมและบริษัทผลิตภัณฑ์ ทำให้พวกเขาไม่สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่หลายคนชื่นชอบลงเกมอื่น ๆ ได้

เคสนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับซีรีส์เกม Need for Speed สมัยก่อน เคยเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ Porsche ให้สามารถนำรถยนต์แบรนด์ดังกล่าวมาปรากฏตัวในเกม NFS เกมเดียวเท่านั้น ทำให้เกมแข่งรถสมจริงในช่วงนั้นอย่าง Forza กับ Gran Turismo ต้องซื้อลิขสิทธิ์รถ RUF แทน รวมถึงในปี 2017 เกม Gran Turismo ได้จดลิขสิทธิ์รถ Toyota ให้เป็นรถ Exclusive สำหรับเกมดังกล่าว จึงส่งผลลัพธ์ให้ GRID, NFS และเกมอื่น ๆ ไม่มีรถ Toyota

(ซึ่งก่อนหน้านี้ ทวิตเตอร์ Toyota UK เคยกล่าวสาเหตุเพราะว่า “ไม่สนับสนุนการแข่งรถผิดกฎหมาย” แต่เวลาต่อมา บริษัทได้ออกมาแก้ข่าวว่าเป็นเพราะติดสัญญา Exclusive ในเกม Gran Turismo ต่างหากจึงไม่สามารถลงเกมอื่นได้)

เกม FIFA กับ Pro Evolution Soccer ก็มีการแข่งขันแย่งซื้อลิขสิทธิ์สโมสรฟุตบอลหรือรายการแข่งขัน เพื่อนำทีมโปรดที่แฟนบอลชื่นชอบมาลงในเกมของตนเอง ซึ่งมีผลด้านแรงดึงดูดต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก

มีช่องโหว่ของลิขสิทธิ์

Counter-Strike GO

ทีมพัฒนาเกมหลายแห่งใช้ช่องโหว่ของลิขสิทธิ์ เพื่อที่พวกเขาไม่ต้องเสียงบประมาณกับการจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งวิธีนี้มักพบเห็นบ่อยใน “เกมยิง” ที่เราได้ใช้อาวุธปืนที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา แต่มีการเปลี่ยนชื่อหรือดัดแปลงโมเดลปืนเล็กน้อย

ก็ต้องบอกก่อนว่าเทคนิคเลี่ยงลิขสิทธิ์ เริ่มมีมานานแล้ว วิธีดังกล่าวเริ่มได้รับความนิยมหลังจากปี 2012 ประเทศสหรัฐฯ เกิดเหตุสลดจากการกราดยิงในโรงเรียนประถมศึกษา Sandy Hook จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 27 คน ซึ่งแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ทางรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวโทษวิดีโอเกมว่า “เป็นต้นเหตุของความรุนแรงโดยการใช้อาวุธปืน” (อีกเช่นเคย)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกือบเคยเรียกทีมตัวแทนจำหน่ายชื่อดังที่พัฒนาเกม FPS อย่าง EA, Activision, Ubisoft และทีมงานอื่น ๆ เพื่อสอบสวนหาลือว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กราดยิงหรือไม่ หลังจากเกม Medal of Honor ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ามีการสปอนเซอร์แบรนด์ปืนในชีวิตจริงผ่านเว็บไซต์เกม

gun

เหตุการณ์ดราม่าครั้งนั้น ทำให้ในปี 2013 – EA ตัดสินใจยกเลิกการสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์อาวุธปืนทุกชนิด และไม่ซื้อลิขสิทธิ์ปืนมาใช้ในเกมอีกต่อไป รวมถึงเกม FPS หลายเกม เริ่มใช้เทคนิคสร้างโมเดลปืนบางปืนให้มีหน้าตาใกล้เคียงกับที่เห็นในชีวิตจริง แล้วเปลี่ยนชื่อกับประสิทธิภาพปืนให้แตกต่างจากของจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ อย่างเช่นใน Call of Duty: Modern Warfare มีปืน Kriss Vector แต่เปลี่ยนเป็นชื่อ Fennec แทน

หรือหมายความว่าเหตุการณ์กราดยิง Sandy Hook และข่าว Medal of Honor โดนวิจารณ์ว่ามีการสปอนเซอร์อาวุธปืนจริงผ่านเว็บไซต์ ทำให้ผู้พัฒนาเกมเริ่มใช้วิธีเลี่ยงการซื้อลิขสิทธิ์อาวุธปืน เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตเกม และลดการถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าทางบริษัทผลิตอาวุธปืนก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ เนื่องจากโมเดลกับชื่อปืนในเกม ไม่ตรงเครื่องหมายที่จดทะเบียนไว้

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ถือว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทีมพัฒนาเกมบางทีม ไม่ซื้อลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์จากโลกจริงมาใช้ในเกม ซึ่งสังเกตว่าส่วนใหญ่จะเรื่องการรักษาค่าใช้จ่ายการทำเกมและปัญหาธุรกิจ ก็หวังบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจด้านลิขสิทธิ์ไม่มากก็น่อยครับ

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top