BY Nuttawut Apiratwarakul
30 Jan 23 4:44 pm

จริงตนาการ ซอมบี้ในสวนหลังบ้าน: ผีดิบที่คุณอาจไม่ทันสังเกต

5 Views

พวกศพเดินได้ ผีดิบ อันเดด วอล์กเกอร์ หรือ “พวกมัน” คือสารพัดชื่อที่ตัวละครในหนังสยองขวัญจะใช้เรียกร่างไร้วิญญาณที่ลุกขึ้นมาไล่ล่าคนที่ยังมีชีวิต ทั้งโลกรู้จักพวกมันดีในชื่อซอมบี้ ชื่อเรียกภาษาเฮติที่หมายถึงศพที่ถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาด้วยวิชาไสยศาสตร์ ซอมบี้มีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวในวัฒนธรรมป็อปนับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง Night of Living Dead  ของ George A. Romero ออกฉายในปี 1968 และทุกวันนี้มันยังคงถูกปลุกชีพขึ้นมาหลอกหลอนเราทั้งในนิยาย ซีรีส์ ภาพยนตร์ และเกมอย่างไม่มีหยุดหย่อน อย่างที่เราเห็นกันในซีรีส์ตัวชูโรงของ HBO เรื่อง Last of Us

คำถามสำคัญสำหรับคนทั่วไปก็คือ ซอมบี้มีจริงไหม มันจะเป็นไปได้หรือเปล่าที่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตจะถูกบงการด้วยอะไรสักอย่างให้ทำสิ่งที่อยู่เหนือเจตนาดั้งเดิม

คำตอบมีทั้งได้และไม่ได้

เรามาเริ่มกันที่คำตอบว่า “ไม่ได้” กันก่อน ซอมบี้หรืออันเดดที่เราเห็นกันในหนัง เกม การ์ตูน เป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากความเป้นจริงในระดับที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ให้ข้อมูลตรงกันว่า การที่ศพที่ไม่มีระบบเลือดคอยส่งพลังงานไปเลี้ยงตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ จะลุกขึ้นมาขยับยังถือว่าเป็นไปไม่ได้ กล้ามเนื้อของทั้งมนุษย์และสัตว์อาศัยกลไกการยืดและหดเพื่อให้อวัยวะเคลื่อนไหวตามคำสั่งของประสาทสั่งการ เมื่อซอมบี้ไม่มีระบบไหลเวียนเลือดและการกระตุ้นจากระบบประสาท บวกกับกล้ามเนื้อที่ยึดแข็งด้วยอุณภูมิที่ต่ำกว่าปกติ อย่าว่าแต่ลุกขึ้นเดินเลย แค่ขยับกล้ามเนื้อเพื่อลุกขึ้นยืนก็ส่งผลให้ร่างกายเสียหายได้แล้ว

แต่ถ้าเรากลับไปยังเกณฑ์ที่ว่า “ถูกบงการด้วยสิ่งมีชีวิตอื่นให้เคลื่อนไหวนอกเจตนาเดิม” ก็ถือว่าซอมบี้นั้นมีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติเลยทีเดียว

Clicker The Last Of Us Hbo

ตัวอย่างที่โด่งดังมากคือ Cordyceps อันเป็นแรงบันดาลใจของ The Last of Us เชื้อราที่บังคับให้มดปีนขึ้นที่สูงเพื่อกระจายสปอร์ให้เพื่อนมดด้วยกัน โฮสต์ที่โด่งดังมากอีกตัวหนึ่งของเชื้อราคอร์ดิเซปส์ก็คือ ถังเช่า เชื้อราในหนอนที่ถูกเอามาใช้ทำยาสมุนไพรนั่นเอง

เชื้อซอมบี้ที่มีชื่อเสียงอีกชนิดหนึ่งก็คือเชื้อ Rabies หรือที่รู้จักกันในชื่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เชื้อนี้จะบังคับให้โฮสต์ก้าวร้าวและปฏิเสธการกลืนน้ำลาย ทำให้ร่างพาหะเข้าจู่โจมสัตว์อื่นเพื่อแพร่เชื้อต่อไปนั่นเอง โรคพิษสุนัขบ้าเป็นต้นแบบของซอมบี้ที่เราเห็นตามหนังซอมบี้ทั่วไป นั่นคืออาการคุ้มคลั่ง จู่โจมไม่เลือกหน้า และติดต่อกันผ่านการกัดหรือข่วน (ในกรณีของสัตว์จะมีเชื้อติดอยู่ตามเล็บ)

ซอมบี้ที่ไม่อันตรายต่อชีวิตแต่หลายคนนึกไม่ถึงก็คือเชื้อไข้หวัด เชื้อไข้หวัดจะบังคับให้โฮสต์ไอหรือจามเอาละอองสารคัดหลั่งออกมาในอากาศเพื่อแพร่เชื้อไปยังสิ่งมีชีวิตอื่น ถ้านับกันในเกณฑ์ว่ามันกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเพื่อแพร่เชื้อ ซิฟิลิสที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศให้กับผู้ติดเชื้อก็ถือเป็นเชื้อซอมบี้ประเภทหนึ่งเหมือนกัน

ถ้าซอมบี้ในมนุษย์มันดูธรรมดาเกินไป มาลองดูซอมบี้ในสัตว์กันบ้าง

หากคุณเป็นทาสแมวก็น่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับปรสิตที่อยู่ในอุจจาระแมว หรือ Toxoplasma gondii เจ้าปรสิตตัวนี้จะกระตุ้นให้สัตว์เลือดอุ่นเล็ก ๆ อย่างหนูมีพฤติกรรมบ้าบิ่นยิ่งขึ้น ทำให้ง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อของแมว ซึ่งเมื่อเจ้าปรสิตตัวนี้ติดเข้ามาในมนุษย์ มันจะทำให้คนคนนั้นใจกล้าและเป็นมิตรกับแมวมากขึ้น ผลพวงที่น่าตกใจอีกอย่างของเข้าปรสิตตัวนี้ก็คือ มันทำให้มนุษย์ดูดีมีเสน่ห์ดึงดูดใจมากยิ่งขึ้นด้วย

Egs Rebellion Zombiearmy4 Left4dead Characterpack01 C1 1920x1080 1920x1080 Cb9040d2a1344b3b04475d33406ff4f2

กรณีคลาสสิกอีกอันก็คือ Distome ปรสิตที่จะฝังตัวอยู่กับหอยทากและเปลี่ยนดวงตาของพาหะให้กลายเป็นสีเขียวกับขาวคล้ายตัวหนอนแมลง ความร้ายกาจอยู่ตรงที่มันจะทำลายการรับรู้แสงของหอยทากเพื่อล่อออกไปในที่แจ้งให้นกมากิน จากนั้นจึงฝังตัวในนก เพื่อรอเวลาจะออกมากับมูลนกแล้วหาพาหะใหม่ต่อไป

สัตว์น้ำมีกระดองอย่างปูก็เป็นซอมบี้ได้เหมือนกัน เชื้อซอมบี้ปูไม่ได้เป็นจุลชีพ แต่เป็นเพื่อนบ้านอย่างเพรียง Briarosaccus สิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างของซอมบี้ปูก็คือ เพรียงตัวเมียจะทำลายอวัยวะสืบพันธุ์ของปูแล้วงอกของตัวเองเข้าไปแทนที่ (ในกรณีที่ปูเป็นตัวผู้ มันจะแปลงเพศให้เจ้าของร่างเป็นตัวเมียด้วย) จากนั้นก็ใช้ร่างปูเป็นรังผสมพันธุ์กับตัวผู้ที่ดักจับได้ในน้ำ ขณะที่เจ้าของร่างคอยคุ้มครองกระเปาะเพรียงที่เกาะอยู่ภายนอกราวกับอวัยวะของตัวเอง แถมยังพาไปวางไข่ในที่เหมาะ ๆ เมื่อถึงเวลา สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือ มีการค้นพบว่าเนื้อของปูที่กลายเป็นซอมบี้กลับแน่นน่ากินกว่าปูทั่วไปอีกต่างหาก

ตัวอย่างสุดท้ายออกจะโหดอยู่สักหน่อย แต่ก็ถือเป็นกรณีการสร้างซอมบี้ที่ซับซ้อนและน่าทึ่งมาก

แตนเบียน (Emerald Wasp) วางไข่ด้วยการจับแมลงสาบมาทำซอมบี้ด้วยการบินไปเกาะหลังของเหยื่อ แล้วก็ฉีดสารเคมีหลายชนิดเข้าไปในสมองด้วยอวัยวะที่เป็นเหมือนเข็ม จากนั้นก็ฝังตัวอ่อนเข้าไปในร่างกายของแมลงสาบ ต่อมาสารเคมีที่อยู่ในร่างของผู้เคราะห์ร้ายจะออกฤทธิ์ตามลำดับ เริ่มจากกระตุ้นให้มันทำความสะอาดร่างกายตัวเอง ชะลอการเผาผลาญพลังงาน  จากนั้นก็เมาเสียจนยอมเดินตามแตนกลับไปยังที่ซ่อนแต่โดยดี แล้วก็กลายเป็นแหล่งอาหารสำหรับตัวอ่อนของแตนโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ จนกว่าแตนรุ่นใหม่จะทะลวงร่างของมันออกมาแบบ Xenomorph ในหนังชุด Alien ทั้งหมดนี้เป็นผลของการผ่าตัดดัดแปลงสมองอย่างรวดเร็วของแตนเบียนตามธรรมชาติ เป็นกรณีที่ใกล้เคียงกับแนวคิดซอมบี้แบบดั้งเดิมอยู่มากทีเดียว

Emerald Wasp

Emerald Wasp

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่มิติด้านหนึ่งของซอมบี้ในกรอบความคิดทางชีววิทยาเท่านั้น เรื่องราวของศพเดินได้ และร่างกายใต้บงการของสิ่งอื่นยังมีสารพัดแง่มุมให้เราได้สำรวจกันไม่จบสิ้น เช่น ในแง่ของปรัชญา วรรณกรรม และวัฒนธรรม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจินตนาการนั้นเป็นผลผลิตของการที่มนุษย์คิดเชื่อมโยงโลกความเป็นจริงเข้ากับความเป็นไปได้อันไม่รู้จบของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว และความสนุกของเรื่องซอมบี้ทั้งหมดที่เล่าไปมันอยู่ก็ตรงนี้นี่เอง

มันอยู่ตรงที่ว่า สำหรับคุณแล้ว “ซอมบี้” นั้น อยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงมากแค่ไหน

บทความโดย สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี

Nuttawut Apiratwarakul

โน้ต - Co-Founder / Editor-in-chief

Back to top