BY KKMTC
17 Jun 21 6:38 pm

ความวิตกกังวลในวิดีโอเกม ปัญหาที่คนเล่นเกมไม่ควรมองข้าม

12 Views

การเล่นวิดีโอเกม ถือเป็นหนึ่งในงานอดิเรกยอดนิยมสำหรับเด็ก วัยรุ่น หรือไปจนถึงผู้ใหญ่ ที่พวกเขามักใช้เวลาเล่นเกมยามว่าง เพื่อมอบความรู้สึกสนุกสนานกับความสุขส่วนตัวในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากเกมประเภท Multiplayer เน้นการแข่งขัน Competitive กลายเป็นเทรนด์ของวงการเกมในปัจจุบัน จนไปถึงมีการก่อตั้งซีน Esports หรือการแข่งขันเล่นเกมในรูปแบบกีฬามืออาชีพ ก็ทำให้เกมเมอร์หลายคนเริ่มเผชิญหน้ากับ “Video Game Anxiety” หรือความวิตกกังวลในวิดีโอเกม ซึ่งเป็นปัญหาที่คนรักการเล่นเกมไม่ควรมองข้าม

ความวิตกกังวลในวิดีโอเกม ปัญหาที่เกมเมอร์ไม่ควรมองข้าม

แม้ความวิตกกังวลในวิดีโอเกม ยังไม่มีการระบุเป็นชื่อโรคอย่างเป็นทางการ คล้ายกับ Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน แต่อาการดังกล่าวเริ่มพบเห็นได้มากขึ้นกับคนเล่นเกมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเกมเมอร์มือใหม่ คนเล่นเกมทั่วไป คนชอบเล่นเกมยาก หรือแม้กระทั่งนักกีฬา Esports ก็ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Risa Williams และ Yonatan Sobin (หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า The Nerd Therapis) ซึ่งทั้งสองคนเป็นนักจิตบำบัดระดับมืออาชีพ ยืนยันว่าอาการวิตกกังวลในวิดีโอเกม ได้ส่งผลต่องานอดิเรกการเล่นเกม และวิถีชีวิตความเป็นเกมมอร์จริง โดยระบุว่าอาการดังกล่าวทำให้มีความรู้สึกไม่อยากเล่นเกมอื่น, หมดความสนใจในการติดตามเกม, กระวนกระวายง่ายเมื่อทำ Achievement ไม่สำเร็จ และมีการหงุดหงิดจากการเล่นเกมง่ายขึ้น เพราะ “ผลลัพธ์ที่ไม่ได้ดั่งใจตัวเอง”

นอกจากนี้ อาการความวิตกกังวลในวิดีโอเกม ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของตัวเองอีกด้วย โดย Leela R. Magavi นักจิตแพทย์ และผู้อำนวยการด้านการแพทย์ในองค์กร Community Psychiatry ระบุว่าหากมีอาการเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการป่วยอื่น ๆ ตามมา เช่น ปวดหัว, ใจสั่น, ปวดท้อง, ร่างกายชา รวมถึงสุขภาพจิตได้รับผลกระทบ เช่น รู้สึกสิ้นหวัง กับขาดความมั่นใจในตัวเอง

หลังจากกล่าวถึงผลข้างเคียงของอาการวิตกกังวลในวิดีโอเกม แน่นอนว่าเกมเมอร์หลายคนอาจสงสัยว่ามีวิธีแก้ไขหรือบรรเทาอาการดังกล่าวได้อย่างไรก็บ้าง ซึ่งนักจิตแพทย์กับผู้เชี่ยวชาญก็ได้ออกมาให้คำตอบดังนี้

เปลี่ยนเป้าหมายให้เล็กลง

Playing Video Game

เพราะเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ย่อมต้องแลกด้วยความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ตามมา

Williams กล่าวว่าบางครั้ง การตั้งเป้าหมายที่สูงและยิ่งใหญ่เกินไป ก็อาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลต่อวิดีโอเกมได้ เขาจึงแนะนำให้ลองเปลี่ยนเป้าหมาย Achievement ให้มีสเกลเล็กลง พร้อมตั้งเวลาการทำเป้าหมายที่จำกัด เพื่อเพิ่มความท้าทายเล็กน้อย (แต่ห้ามยากเกินไปจนไม่สามารถทำได้) ซึ่งการกระทำดังกล่าว ช่วยให้เพลเยอร์สามารถผ่อนคลายจากการเล่นเกมได้ โดยเฉพาะกับการเล่นเกมที่มี Achievement เยอะ และเกมที่มีระดับความยากสูงขึ้นในช่วงกลาง-ท้ายเกม

นอกจากนี้ Williams แนะนำให้ผู้เล่นลองมุ่งสร้างและทำเป้าหมาย Achievement ของตัวเองสร้างขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนให้ตัวเองมีแรงบันดาลใจในการเล่นเกม ซึ่งหากสามารถทำ Achievement ของตัวเองหรือเป้าหมายเล็ก ๆ ของเกมได้สำเร็จ สมองของผู้เล่นจะมีการหลั่งสาร Dopamine หรือสารประสาทที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกสำเร็จ แล้วช่วยให้ผู้เล่นเกิดความรู้สึกพึงพอใจจากการเล่นเกมได้

ทำอย่างไรก็ได้ ให้ใช้พลังงานจากการเล่นเกมน้อยที่สุด

แม้วิดีโอเกมเป็นสื่อบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่มอบความสนุกสนานให้เหล่าเพลเยอร์หลายคน แต่แน่นอนว่าหากคุณใช้เวลาเล่นเกมนานมาก หรือเคร่งเครียดกับมันจนเกินไป ก็ส่งผลอาจทำให้การเล่นเกมใช้พลังงานมากผิดปกติ ซึ่งเป็นต้นตอทำให้เกิดอาการหมดไฟ หรือเกิดความวิตกจากการเล่นเกมในระยะยาว

Leela R. Magavi แนะนำว่าการฟังเพลงที่ชื่นชอบ พร้อมกับหายใจเข้าลึก ๆ หลังจากเล่นเกมจบหนึ่งรอบ สามารถลดอาการวิตกกังวลจากการเล่นเกมได้ เพราะการหายใจเข้าลึก ๆ หลายครั้งจะช่วยชะลออัตราการหายใจ และป้องกันการเกิดอาการตื่นตระหนกตามมาอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ Rashmi Parmar นักจิตแพทย์ในองค์กร Community Psychiatry แนะนำว่าให้ผู้เล่นควรเรียนรู้วิธีการสร้างบรรยากาศการเล่นเกมให้สนุกสนาน ด้วยการหัวเราะจากความล้มเหลว หรือยอมรับการพ่ายแพ้ รวมถึงหยุดโทษตัวเองจากการเล่นเกมแพ้ เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้ผู้เล่นเกิดความรู้สึกว่าตัวเองรู้สึกผิดพลาด

Parmar ย้ำว่าสุดท้ายแล้ว วิดีโอเกมส่วนใหญ่ถูกออกแบบขึ้นมา เพื่อให้เพลเยอร์มีความรู้สึกสนุกสนานไปกับมัน และความรู้สึกสนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้ หลังจากเล่นจบโดยไม่ได้ใส่ใจกับผลลัพธ์ออกมาว่าแพ้หรือชนะนั้น ช่วยให้ผู้เล่นควบคุมพลังงานจากการเล่นเกมได้จริง

คุยกับเพื่อน และไม่ฝืนเล่น ก็ช่วยลดความตึงได้นะ

ความเหงาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาการวิตกกังวลระหว่างการเล่นเกมทวีความรุนแรงขึ้น

Yonatan Sobin กล่าวว่าหากเกิดความวิตกกังวลระหว่างการเล่นเกม ให้ลองหันมาสนทนาพูดคุยกับเพื่อน ๆ ผ่านช่องทาง Discord หรือเข้าร่วมเว็บไซต์คอมูนิตี้ที่เป็นแหล่งรวมเหล่าเกมมอร์อย่าง Reddit หรือ ResetEra โดยการกระทำดังกล่าว ช่วยให้เพลเยอร์ลดความรู้สึกโดดเดี่ยวระหว่างการเล่นเกมคนเดียว หรือหากผู้เล่นรู้สึกตึงเครียดกับการเล่นเกม Multiplayer ก็อาจจะสลับมาเล่นเกมแนว Singleplayer บ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการเล่นเกม

นอกจากนี้ Sobin ระบุว่าปัญหาความวิตกกังวลเกี่ยวกับเกมนั้น ส่วนใหญ่เกิดมาจากความคิดตัวเองที่เชื่อว่าเป็นคนเล่นเกมห่วยแตกซะเหลือเกิน ซึ่ง Sobin ได้แนะนำให้ปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ ให้เพลเยอร์สนุกสนานกับการเล่นเกมที่ตัวเองชื่นชอบ มากกว่าการยึดติดเอาชนะหรือก้าวข้ามเกมให้ได้ และหากรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเล่นเกม ก็ไม่ควรฝืนทนเล่นต่อไป พักสัก 10 นาที หรือ 1 ชั่วโมงขึ้นไปค่อยมาเล่นต่ออีกครั้งก็ได้ ดั่งเหมือนที่ผู้ใหญ่มักสอนเราเป็นประจำว่า “เราต้องเป็นคนควบคุมเกม ไม่ใช่เกมควบคุมเรา”

รับชมวิดีโอเกี่ยวข้องกับเกม

เกมเมอร์หลายคนอาจเคยรู้สึกผิดจากการเล่นเกมแพ้ จนถึงขั้นต้องเก็บไปคิดหนัก แม้คุณเลิกเล่นเกมแล้ว หรือไม่มีใครคนไหนต่อว่าฝีมือการเล่นของคุณเลยก็ตาม อ้างอิงจาก Daniel Epstein ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตใน Berman Center เขาเรียกอาการดังกล่าวว่า “Game Shame” หรืออาการที่ตัวเองรู้สึกมีค่าลดลงจากการเล่นเกมแพ้ จนถึงขั้นต้องพูดกับตัวเองในแง่ลบ

Epstein ระบุว่าอาการ Game Shame จะเป็นหนักหรือเบานั้น ขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการปราบอาการ Game Shame นั้นสามารถทำง่าย ๆ ด้วยการหาสื่อเอนเตอร์เทนมารับชม เพื่อผ่อนคลายความเครียดลง โดย Epstein สังเกตว่าเกมเมอร์หลายคน จะใช้วิธีการลดความตึงเครียดด้วยการชมวิดีโอประเภท Let’s Play (เล่นเกมให้ผู้ชม) หรือรวมถึงฟัง ASMR ซึ่งระบุเป็นหนึ่งในวิธีการผ่อนคลายจากการเล่นเกมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

Epstein กล่าวเพิ่มเติมว่าหากผู้เล่นเผชิญหน้ากับปัญหาวิตกกังวลจากการเล่นเกมหลายครั้ง บางครั้ง การไปพบนักจิตแพทย์ระดับมืออาชีพ ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวลงได้ เพราะต้นตอของอาการวิตกกังวลจากการเล่นเกม อาจไม่ได้มีต้นตอมาจากการเล่นเกมแพ้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหามรสุมต่าง ๆ เช่น ปัญหาการใช้ชีวิต ปัญหาการทำงาน ปัญหาครอบครัว ที่เข้ามาแทรกแซงจนคุณไม่อยากเล่นเกมอีกต่อไป

แหล่งที่มา: Wired

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top