BY StolenHeart
6 Apr 19 2:03 pm

กสทช. ผุดไอเดียใหม่ จัดเก็บรายได้ผู้ให้บริการ OTT โดยคำนวนจากปริมาณการใช้งาน

3 Views

ทุกวันนี้การใช้งานข้อมูลทางออนไลน์ต่าง ๆ นั้นมีปริมาณมหาศาลและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงผู้ใช้งานที่มากขึ้นทุกวันเช่นกัน ซึ่งเนื่องด้วยปริมาณการใช้งานที่มากขึ้นนี่เอง ทำให้ทาง กสทช. มีไอเดียในการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ให้บริการ OTT จากการใช้งานข้อมูลเหล่านี้ด้วย

โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ในงานสัมมนา ‘5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน’ โดยมีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งนายฐากรได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับการหารายได้แบบใหม่จาก OTT หรือ การบริการโครงข่ายแบบ Over The Top จากผู้ให้บริการเจ้าต่าง ๆ เช่น Facebook หรือ YouTube 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. (ภาพจากมติชน)

โดยเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ปัจจุบันนี้ผู้ให้บริการอย่าง Facebook นั้นมีผู้ใช้งานในไทยมากกว่า 61 ล้านบัญชี และ YouTube ที่ 60 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก ๆ และเชื่อว่า เมื่อประเทศไทยเปิดให้บริการเครือข่ายแบบ 5G จะมีการใช้ Data ที่สูงขึ้นถึง 200 ล้านเทราไบท์เลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น เลขาธิการของ กสทช. จึงมีความคิดที่จะเสนอให้ที่ประชุม ในการยกร่างหลักเกณฑ์การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้โครงข่ายของผู้ให้บริการ OTT เหล่านี้ ถ้าพบว่าผู้ให้บริการรายไหนมีการใช้งานมาก จะมีการลดความเร็วลงจนกว่าจะมีการชำระค่าบริการ ซึ่งเป็นการที่ทำให้ OTT เหล่านี้ชำระค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ที่ถูกยกขึ้นมา

“เราต้องการเก็บค่าบริการในการใช้โครงข่าย เพราะรัฐเป็นผู้ลงทุน และรายได้ที่ได้มา นอกจากนำไปบำรุงรักษาโครงข่ายแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะนำส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องทำคู่ขนานไปกับ 5G” เลขาฯ กสทช. กล่าว

โดยทางไทยรัฐได้ระบุรายละเอียดการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ข้อมูลในประเทศไทยนั้น อาจแบ่งตามปริมาณการใช้งาน  ยกตัวอย่างเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1.การใช้งาน 20-50 เทราไบต์ ใช้ฟรี

2.ใช้งานตั้งแต่ 50-100 เทราไบต์ จ่ายเงินค่าใช้ตามอัตราที่ กสทช.กำหนด

3. ใช้งานตั้งแต่ 100-200 เทราไบต์ จ่ายเงินค่าใช้ตามอัตราที่ กสทช.กำหนด

4. ใช้งานตั้งแต่ 200 เทราไบต์ขึ้นไป จ่ายอัตราก้าวหน้า ส่วนราคาค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าใดนั้น ต้องรอผลการศึกษา และข้อมูลจากผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ต และผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศก่อน คาดว่าจะใช้เวลาราว 6-7 เดือน

“กสทช.ต้องร่างหลักเกณฑ์ เพื่อนำมาประกาศใช้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาแนวทางร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ แม้โลกอินเตอร์เน็ตจะเป็นโลกไร้พรมแดน แต่ผมอยากจะให้มองว่า เมื่อต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาประเทศ ก็ยังมีค่าวีซ่า ฉะนั้น การนำข้อมูลเข้ามาให้บริการในไทย ก็ควรจ่ายเงินค่าใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย และประเทศไทยด้วย เพื่อจะได้นำเงินไปบำรุงรักษาโครงข่าย เพื่อรองรับการบริการที่ดีต่อไป”

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บค่าธรรมเนียมทั้งหมดนี้ยังอยู่แค่ขั้นตอนการเสนอแนวคิดเท่านั้น และการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้นคือการเรียกเก็บจากผู้ให้บริการ OTT ไม่ใช่ผู้ใช้บริการแต่อย่างใด แต่ก็ต้องมาดูกันว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นจริง ๆ ในอนาคตหรือไม่อย่างไรครับ

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top