BY StolenHeart
16 Sep 18 11:44 am

SNK ผู้นำเทรนด์เทคโนโลยีเกมอาร์เคดในยุค ’90

24 Views

มีเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งใจอยากจะเขียนมานานแล้วตั้งแต่สมัยก่อน นั้นก็คือเรื่องของค่ายเกมในดวงใจค่ายหนึ่งที่สร้างสรรค์เกมต่อสู้ออกมาหลากหลายเกมในยุคนั้นมาอย่างมากมาย รวมไปถึงเกมอื่น ๆ ที่น่าจดจำอีกเพียบ ซึ่งค่ายเกมนี้ได้สร้างสรรค์เกมที่เรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อผู้เขียนหลายเกม และคงเป็นค่ายไหนไปไม่ได้นอกจาก SNK ครับ

โดยในวันนี้จะเป็นประวัติของทางค่าย SNK ในด้านของการพัฒนาเกมอาร์เคดที่ประสบความสำเร็จในยุคปี 80 และ 90 อย่างยิ่ง ส่วนตอนแรกเกี่ยวกับเกม The King of Fighters ’98 นั้นสามารถอ่านได้ ที่นี่ ครับ

ต้นกำเนิดของค่ายเกมความหวังใหม่แห่งญี่ปุ่น

สำหรับค่ายเกมอย่าง SNK นั้นถือได้ว่าเป็นค่ายเกมที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นค่ายหนึ่ง โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 1978 โดยคุณ Eikichi Kawasaki ในจังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ที่เล็งเห็นว่าตลาดเกมหยอดเหรียญหรือเครื่องอาร์เคดนั้นเริ่มขยายตัวขึ้นอย่างมากในช่วงปีนั้น จึงก่อตั้งบริษัทผลิตเกมขึ้นมาเพื่อเข้าร่วมในอุตสาหกรรมนี้ โดยชื่อ SNK ย่อมาจากคำว่า Shin Nihon Kikaku (新日本企画) แปลว่า”โปรเจคใหม่ของญี่ปุ่น”

โดยเกมแรกที่ทางค่ายผลิตออกมาคือ Micon Block ในเดือนเมษายนปี 1978 เป็นเกมที่คล้ายคลึงกับเกมยอดนิยมของทาง Atari อย่าง Breakout และสองเกมที่ตามมาในภายหลังคือ Ozma Wars ในปี 1979 และ Safari Rally ในปี 1980 หลังจากนั้นก็พัฒนาเกมเรื่อยมาและมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย โดยทางค่ายเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นจากเกม Vanguard เกมยานยิงแบบสองมิติที่ผู้เล่นในยุคนั้นยกให้มีความยอดเยี่ยมเทียบเท่ากับเกมอย่าง R-Type หรือ Gradius เลยทีเดียว

Ozma War เป็นเกมแรกที่ทาง SNK พัฒนาออกมาบนระบบเกมอาร์เคด

ต่อมาในปี 1981ก็มีการขยายสาขาไปเปิดในฝั่งอเมริกาโดยใช้ชื่อว่า SNK Corperation of America โดยตั้งอยู่ที่เมือง Sunnyvale California เพื่อเอาไว้นำเข้าและผลิตตู้เกมหยอดเหรียญส่งไปยังร้านให้บริการต่าง ๆ ในอเมริกา โดยมีคุณ John Rowe เป็นผู้ดูแล ที่ต่อมาเขากลายเป็น CEO ของ High Moon Studios ที่มีผลงานวงการเกมมาจนทุกวันนี้

หลังจากนั้นทาง SNK ก็เดินหน้าลุยออกเกมสำหรับเครื่องอาร์เคดของตัวเองออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานมากถึง 23 เกมในช่วงปี 1979 จนถึงปี 1986 โดยผลงานที่โดดเด่นก็มี Mad Crasher(1984) Alpha Mission(1985) และ Athena(1986) ต่อจากนั้นก็ได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีกจากการพอร์ตเกมลงเครื่อง NES ของ Nintendo และเกมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคแรกของพวกเขาก็คือ Ikari Warrior ที่วางจำหน่ายในปี 1986 และถูกพอร์ตลงเครื่องอื่น ๆ อีกมากมายเช่น Atari 2600,NES หรือกระทั้งเครื่อง Commodore 64 จนมีภาคต่ออกมาอีกถึงสองภาคด้วยกัน

Ikari Warrior คือเกมแอคชั่นที่ได้รับความนิยมมากของ SNK

แต่แม้เกมที่ถูกพอร์ตลงเครื่องเกมตามบ้านจะได้รับความนิยมแค่ไหน ทางค่าย SNK เองก็ได้รับผลกระทบจากความซบเซาของตลาดเกมในปี 1983 ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยการเซ็นสัญญาเป็นบริษัท Third-Party ผลิตเกมให้กับทาง Nintendo ที่เพิ่งวางจำหน่ายเครื่องเกม NES หรือ Famicom ทางฝั่งญี่ปุ่น(ที่คนไทยมักจะเรียกคุ้นปากกันมากกว่า) และด้วยเหตุนี้ทำให้ทาง SNK สามารถเปิดสาขาย่อยในอเมริกาเพื่อผลิตและทำตลาดเกมเวอร์ชั่นคอนโซลได้อย่างเต็มที่ โดยใช้ชื่อว่า SNK Home Entertainment โดยมีคุณ Pual Jacob เป็นผู้ดูแลและภายหลังได้รับหน้าที่ในการจัดการเรื่องของระบบและการวางจำหน่าย Neo-Geo ในภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากเอเชีย

แน่นอนยอดขายเกมของทางค่าย SNK นั้นจัดว่าสูงติดอันดับเกมขายดีอยู่เสมอ แต่ในเวลาต่อมาทาง Nintendo ได้ยื่นข้อเสนอให้ทาง SNK เข้าเซ็นสัญญาพัฒนาเกมให้กับเครื่องรุ่นใหม่อย่าง SNES หรือ Super Famicom ต่อไป แต่ทาง SNK ก็ไม่ได้ต่อสัญญาเพราะต้องการกลับไปโฟกัสที่การผลิตเกมอาร์เคดอีกครั้ง และให้บริษัทเจ้าอื่นอย่าง Takara และ Romstar ในการพอร์ตและวางจำหน่ายเกมที่มีชื่อของค่ายตัวเองลงในเครื่องเกมคอนโซลแทน ซึ่งด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งของค่ายเกมค่ายนี้

Neo-Geo และ Multi Video System สุดยอดเทคโนโลยีสำหรับเกมตู้ของ SNK

ในช่วงปี 1988 SNK มีความคิดที่จะใส่ลูกเล่นให้กับเกมตู้ จากสมัยก่อนที่เกมตู้หนึ่งตู้จะเป็นเกมแค่เกมเดียวประจำตู้ไปเลย แต่พวกเขามีไอเดียว่า น่าจะเป็นระบบที่สามารถเปลี่ยนเกมได้โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งตู้ แค่เอาข้อมูลเกมใหม่ใส่เข้าไปก็พอ ซึ่งนั้นเป็นไอเดียที่ใหม่มาก และในที่สุดทาง SNK ก็พัฒนาระบบที่มีชื่อว่า Neo-Geo MVS ที่มีจุดเด่นที่มีเกมให้เล่นหลากหลายในตู้เกมตู้เดียว โดยใช้การเปลี่ยนตลับเกมแทนที่จะเปลี่ยนออกไปทั้งตู้ โดยเปิดตัวไปเมื่อปี 1990 และมีเกมให้เปลี่ยนได้ในตอนนั้นอยู่ที่ 2 – 6 เกม และการติดตั้งก็ง่ายมาก แค่เพียงถอดตลับจากตัวบอร์ดของเกมตู้ออกมาไปใส่เครื่องใหม่ก็เป็นอันเรียบร้อย

Neo-Geo MVS ถือเป็นการพลิกโฉมหน้าของการให้บริการเกมตู้ในสมัยนั้นทีเดียว ด้วยเปลี่ยนเกมได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อใหม่ทั้งตู้

ระบบ MVS ประสบความสำเร็จแทบจะในทันที ร้านเกมตู้ต่างชื่นชอบไอเดียนี้เพราะต้องเสียเวลาเคลื่อนย้ายตู้เข้าออกและติดตั้งได้ง่าย กินพื้นที่น้อยลง รวมไปถึงประหยัดเงินได้มากเพราะราคาตลับเกมใหม่นั้นถูกกว่าตู้เกมทั้งตู้(ราคาขายในตอนนั้นอยู่ที่ $500 ตีเป็นค่าเงินในสมัยนี้ก็น่าจะอยู่ประมาณหมื่นกว่าบาท) แต่ทาง SNK ก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ พวกเขายังผลิตตัว MVS หรือ Multi Video System สำหรับเล่นที่บ้านในชื่อว่า Neo-Geo AES ออกวางจำหน่ายในปี 1990 ที่มีสเปคเดียวกับเครื่องเกมอาร์เคดแบบเป๊ะ ๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับเครื่องคอนโซลอื่น ๆ ในยุคนั้นแล้ว Neo-Geo กินขาดหมดทุกเครื่องไม่ว่าจะเรื่องของกราฟฟิก เสียง และความลื่นไหล แต่แน่นอนว่าประสิทธิภาพอันยิ่งใหญ่ก็มาพร้อมกับราคาอันใหญ่ยิ่ง ราคาวางจำหน่ายของ Neo-Geo AES นั้นเปิดตัวสูงมากถึง $599 เรียกว่าเป็นราคาที่เท่า ๆ กับตลับสำหรับเวอร์ชั่นอาร์เคดเลยทีเดียว แต่ในเวลาต่อมาทาง SNK America ก็ปรับสเปคใหม่และปรับลดราคาลงเหลือ $399 ซึ่งราคาระดับนี้สิ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับก็คือจอยอาร์เคตขนาดใหญ่สองจอยที่มีสี่ปุ่มแบบเดียวกับเวอร์ชั่นเกมตู้ของทาง SNK เอง และตัวตลับที่ใหญ่มหึมาโดยมีเกมให้เลือกอยู่ประมาณหนึ่ง

Neo-Geo AES เครื่องเกมคอนโซลสำหรับผู้ที่มีเงินถุงเงินถัง

แน่นอนว่าคุณภาพของเกมนั้นเหมือนกับเล่นในเวอร์ชั่นเกมตู้เลย(แหงล่ะ ทั้งบอร์ดทั้งสเปคตรงเป๊ะเหมือนกันขนาดนี้) เกมหลายเกมที่ทาง SNK และค่ายอื่น ๆ พัฒนามาในระบบ MVS นั้นคุณภาพไม่ต่างกันเลยแม้แต่น้อย แม้ราคาจะสูงมาก แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยอมจ่ายเงินซื้อเกมเวอร์ชั่น Neo-Geo มาไว้ครอบครอง และในปัจจุบันนี้หลายเกมบนระบบ Neo-Geo ก็มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก แต่อันที่จริงในยุคนั้นทาง SNK ก็ได้พัฒนาเครื่องคอนโซลอีกรุ่นหนึ่งในชื่อ Neo-Geo CD ที่เปลี่ยนจากเกมแบบตลับมาเป็นการใช้แผ่น CD-ROM แทน แต่ข้อเสียที่ร้ายแรงที่สุดก็คือเวลาในการโหลดข้อมูลที่นานมาก แม้ตัวเกมจะมีคุณภาพเดียวกันกับเวอร์ชั่นตลับ แต่เวลาโหลดเกมนั้นเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจคนเล่นอย่างที่สุดแม้ราคาจะถูกกว่ามากก็ตาม

Metal Slug ถือเป็นอีกหนึ่งเกมที่ได้รับความนิยมของ SNK และราคาเวอร์ชั่น Neo-Geo ในปัจจุบันนี้ก็ถือว่าสูงเอาเรื่องทีเดียว

เรียกว่าช่วงปี 80 – 90 นั้นเป็นยุคทองของ SNK โดยแท้จริง เพราะด้วยตลาดเกมตู้นั้นสามารถขยายตัวได้ก็เพราะการพัฒนาระบบ MVS ขึ้นมาและช่วยให้การขยายตัวของเกมอาร์เคดเป็นไปได้ง่ายขึ้น สำหรับเรื่องราวของค่าย SNK ยังมีอีกเพียบ และ จะเป็นอย่างไร ก็อย่าลืมติดตามอ่านกันได้ที่ GamingDose แห่งนี้นะครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : The history of SNK – Gamespot.com

SNK – SNK Wikia.com

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top