BY StolenHeart
7 Jun 19 4:39 pm

วิเคราะห์ความเป็นไปได้ เกมเมอร์ชาวไทยพร้อมแค่ไหนกับ Stadia?

11 Views

เมื่อคืนที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นความน่าตื่นเต้นอีกครั้งกับข้อมูลใหม่ของ Stadia ที่ทาง Google เผยรายละเอียดการให้บริการและเกมต่าง ๆ ออกมาแบบครบถ้วน มีเกมให้เล่นหลายแนวและล้วนเป็นเกมใหม่ทั้งสิ้น และความเปิดกว้างในการใช้งานที่ง่ายดายและหลากหลายมาก แม้จะไม่มีรายชื่อประเทศไทยในโพยการให้บริการช่วงแรก แต่ก็น่านำมาคิดต่อว่า เหล่าเกมเมอร์ชาวไทยพร้อมกันแค่ไหนสำหรับการให้บริการระดับนี้ของ Stadia ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กัน

ย้อนความอธิบายกันสักเล็กน้อยว่า Stadia คืออะไร มันคือบริการการเล่นเกมผ่านทางระบบ Streaming จากทาง Google เจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากมาย และ Stadia ก็คือบริการใหม่ที่ทาง Google นำเสนอต่อเหล่าเกมเมอร์ที่ต้องการความเปิดกว้างในการเล่นเกมโดยไม่แบ่งแยกระบบที่จะเล่น ไม่ว่าจะบนเครื่อง PC โทรศัพท์มือถือ หรือบนหน้าจอโทรทัศน์ผ่านทาง Chromecast และมีค่ายบริการสำหรับการเล่นแบบความละเอียดที่สูงขึ้น พร้อมกับเลือกซื้อเกมมาเล่นได้แบบอิสระอีกด้วย

แน่นอนว่ามันฟังดูดีมาก แต่ก็ตามคาดที่การให้บริการ Stadia นั้นจะยังจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มประเทศทางยุโรปและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ยังไม่มีหลุดมาในแถบประเทศเอเชียเลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องมีการทดสอบในประเทศที่มีความพร้อมก่อนจึงจะเปิดให้บริการในโซนอื่น ๆ ต่อไป

มันก็เลยเกิดคำถามที่ว่าแล้วประเทศไทยของเรานั้นพร้อมกับ Stadia หรือไม่?” ซึ่งเมื่อลองมองและวิเคราะห์ไปสู่ปัจจัยต่าง ๆ ของประเทศเราแบบแยกเป็นหัวข้อนั้น ก็พอจะสรุปได้ดังนี้

ราคาและกำลังซื้อ

เรื่องนี้ไม่จัดว่าเป็นปัญหาเท่าไหร่นัก เพราะ Stadia มีการให้บริการสองแบบคือ Stadia Pro ที่จ่ายเงินเดือนละ $9.99 หรือประมาณสามร้อยกว่าบาท เพื่อการเล่นเกมในความละเอียดแบบ 4K และเสียงรอบทิศทาง หรือถ้าไม่อยากจ่ายก็มี Stadia Base ที่ไม่ต้องเสียเงินรายเดือน แต่จะได้เล่นในความละเอียดสูงสุดที่ลดหลั่นลงมาเหลือ 1080p ที่น่าจะเพียงพอกับการใช้งานในอุปกรณ์หลายชิ้นในปัจจุบันนี้ เรียกว่ามีความยืดหยุ่นที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่จ่ายเงินกับไม่ได้จ่ายเงิน แต่เกมต่าง ๆ ก็ต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่มเหมือนกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่นกัน

ถามว่ากำลังซื้อของเหล่าเกมเมอร์ในไทยนั้นมีปัญหาหรือไม่ ก็ต้องดูที่ราคาของเกมที่ขายในแพลตฟอร์ม Stadia เป็นสำคัญ ซึ่งราคาของเกมใหม่ ๆ แบบ AAA นั้นจะอยู่ที่ $60 โดยประมาณ ซึ่งก็จัดว่าเป็นราคาที่แรงอยู่พอสมควร แต่ถ้าหากมีการ Localize ราคาในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมแบบใน Steam ก็น่าจะไม่เป็นปัญหาใด ๆ และถ้าไม่มีเงินใช้บริการแบบ Pro ก็มีแบบ Base ที่ไม่ต้องเสียเงินรายเดือนเพิ่ม เสียแค่ค่าเกมเท่านั้น เรียกว่าเปิดกว้างสำหรับผู้ใช้ในทุกระดับและยังได้รับการบริการที่เหมาะสมอีกด้วย

ความเร็วอินเตอร์เนต

สิ่งนี้จัดเป็นสิ่งที่หลายคนวิตกกังวลมากที่สุด เพราะหลายคนยังกังวลว่าความเร็วอินเตอร์เนตในบ้านเรานั้นจะสามารถเล่นเกมบน Stadia ได้ลื่นไหลอย่างที่ต้องการได้หรือไม่ โดยเฉพาะเกมต่อสู้ทั้งหลาย ยิ่งถ้าหากในเรื่องของความเสถียรที่ไม่คงที่แล้ว ก็อาจทำให้ประสบการณ์ในการเล่นนั้นขาดหายไปได้

แต่เชื่อหรือไม่ว่า อินเตอร์เนตในบ้านเรานั้นก็มีความเร็วที่เร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้เลยทีเดียว แม้กระทั่งเนตมือถือเองนั้นก็เข้าถึงในหลายพื้นที่ได้อย่างลื่นไหลมากกว่าในหลาย ๆ ประเทศในโซนเดียวกันเลยด้วยซ้ำ และราคาก็ไม่ได้แพงขนาดเอื้อมถึงไม่ได้อีกด้วย ทั้งบนมือถือและ Wifi ตามบ้านที่น่าจะแรงพอที่จะแล่นเกมแบบ 4K ได้อย่างลื่นไหลไร้กังวล ขึ้นอยู่กับว่าผู้ให้บริการนั้นจะมีระบบเครือข่ายที่ดีมากพอหรือปล่า ซึ่งดูในภาพรวมแล้วก็ไม่ได้น่าห่วงเท่าใดนัก และเน็ตบนมือถือนั้นก็น่าจะเพียงพอสำหรับการไปเล่นเกมนอกบ้านอย่างลื่นไหลในแบบ 1080p แบบสบาย ๆ แน่นอน

เกมที่มีให้เล่น

อีกสิ่งที่ควรถูกพูดถึงคือเกมต่าง ๆ ที่เปิดตัวให้เล่นในช่วงแรกของ Stadia ที่ล้วนมีแต่เกมดังที่น่าสนใจทั้งสิ้น เช่น Destiny 2, Baldur’s Gate 3, Mortal Kombat 11, Assassin’s Creed Odyssey, the Division 2 และอื่น ๆ อีกมากมายที่ล้วนเป็นเกมไตเติ้ลใหญ่ที่น่าสนใจทั้งส้น แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือเกมใหม่เฉพาะแพลตฟอร์มของ Stadia นั้นยังมีไม่มากนัก ที่เปิดตัวมาในช่วงแรกสองเกมก็คือ Gylt และ Get Packed นั้นยังดู ธรรมดามากไปหน่อย แม้จะดูแล้วไม่น่าจะออกมาแย่ แต่ก็อาจะไม่ได้ดึงดูดผู้เล่นชาวไทยที่มองว่ากมเหล่านี้สามารถไปหาเล่นในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่น่าจะสะดวกกว่านี้ได้มากมาย เช่น PS4 หรือ PC เป็นต้น

ซึ่งตรงจุดนี้ก็เหมือนกับที่ผู้เขียนเคยว่าไว้ในบทความ “Stadia กับแรงกระเพื่อมที่ Google ส่งถึงวงการเกม ว่า สิ่งที่จะวัดกันว่าแพลตฟอร์มใดน่าสนใจมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและ Content ที่เป็นของเฉพาะตัวของมัน ซึ่งก็คือเกมที่มีให้เล่นนั่นเอง เหมือนกับทาง Sony และ Nintendo ที่มีเกม Exclusive ในมือของตนอยู่มากมาย และก็ล้วนเป็นเกมที่สนุกมากอีกด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ทาง Stadia ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองไปอีกพักใหญ่ ๆ เลยทีเดียว

การเข้าถึงได้สำหรับผู้เล่น

เรื่องสุดท้ายที่น่านำมาพูดถึงก็คือความหลากหลายในการเข้าถึงของแพลตฟอร์มที่เป็นจุดแข็งที่สุดของ Stadia ซึ่งจากการอธิบายของทาง Google นั้น เราจะเห็นได้ว่ามันใช้งานและเชื่อมต่อได้ง่ายมาก แค่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถเข้าเล่นเกมที่อยากเล่นต่อในตอนนั้นได้ทันที ยิ่งถ้าหากเป็นเกมที่ดังพอและราคาไม่แพงด้วยแล้ว ก็น่าจะเป็นจุดแข็งใหญ่ของ Stadia ที่ได้เปรียบเจ้าอื่น ๆ ในระยะยาว

เอาง่าย ๆ คือถ้าหากผู้เล่นมีอุปกรณ์ที่พร้อมมากพอ อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือประสิทธิภาพสูง และจอยเกม Stadia แบบไร้สาย ก็น่าจะเล่นเกมนอกสถานที่แบบแก้ขัดไปได้อย่างสบายใจในระดับหนึ่ง แต่จะถึงระดับเดียวกับ Nintendo Switch เลยหรือไม่นั้นก็ยังคงบอกได้ยากอยู่ดี และในตอนนี้ตัว Stadia ก็รองรับการใช้งานแค่บนโทรศัพท์มือถือของ Google อย่าง Pixel 3 ขึ้นไปเท่านั้นอีกด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเกมที่เล่นด้วยว่าถูกออกแบบมาให้รองรับด้วยหรือไม่

โดยรวมแล้วจากปัจจัยทั้งสี่ข้อที่ผู้เขียนหยิบยกมานั้น ก็น่าจะเพียงพอที่ทำให้เรารู้สึกว่า Stadia นั้นน่าโดนแค่ไหนสำหรับเกมเมอร์ชาวไทย เพราะมันน่าจะมีความเปิดกว้างอิสระในการเล่นที่แพลตฟอร์มอื่นไม่สามารถหยิบยื่นให้ได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของราคาการให้บริการที่ไม่ได้แพงเลย แถมยังมีเกมฟรีให้ได้เล่นกันหลังจากสมัครสมาชิกแบบ Stadia Pro ไปแล้วอีกด้วย

แต่เราก็ต้องมาดูผลที่มาจากการให้บริการในช่วงแรกประกอบกันไว้ด้วย ว่า Stadia นั้นจะมีความคุ้มค่าในระยะยาวมากน้อยแค่ไหนในอนาคตครับ

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top