BY Zreast
11 Oct 21 5:15 pm

พรีวิว Morning Moon Village : ปลูกผัก ทำฟาร์ม และเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมาเป็น Cryptocurrency

44 Views

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา กระแสการมาของเกมบน Blockchain ที่มีแนวคิดแบบ “Play2Earn” (เล่นแล้วได้เงิน) นั้นยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเกมใหม่ ๆ มากมายขึ้นมาในตลาด และจับกลุ่มผู้เล่นที่แตกต่างกัน

หนึ่งในนั้นเอง ก็มี “Morning Moon Village” โปรเจกต์จากทีมพัฒนาสัญชาติไทย ซึ่งหยิบยกเอาแนวเกมปลูกผัก ทำฟาร์ม ที่หลาย ๆ คนต่างหลงรัก มาจับเข้ากับความเป็น Play2Earn ได้อย่างน่าสนใจ และนับได้ว่าเป็นเกมแรกสำหรับเครือข่าย Bitkub

เนื่องด้วยทีมงาน GamingDose มีโอกาสได้เข้าไปร่วมทดสอบในช่วง Closed Beta มาแล้ว ดังนั้นสำหรับใครที่สงสัยว่าตัวเกมนี้จะมีอะไรให้ทำบ้าง และเหมาะแก่การใช้เวลาไปกับมันหรือไม่ ก็ขอเชิญหาคำตอบในบทความพรีวิว Morning Moon Village กันได้เลย (ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน)

Yield Farming ที่กลายสภาพมาอยู่ในรูปแบบของการ “ปลูกผัก”

ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นชาวสวนที่อาศัยอยู่ใน “Morning Moon Village” ซึ่งมีพื้นที่สำหรับทำเกษตรอยู่จำนวนหนึ่ง สามารถที่จะลงทุนหรือลงแรงไปกับการปลูกพืชผัก เพื่อรอเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

รูปแบบการปลูกพืชผักนี้ ก็คือการจำลองมาจากระบบ Yield Farming ของ DeFi ซึ่งผู้ใช้จะสามารถนำเอาเหรียญคริปโตฯ เข้าไปฝากไว้ในกองกลางที่เรียกว่า “Liquidity Pool” เพื่อรอรับผลตอบแทนได้ โดยจะมีเงื่อนไขและ % การแจกจ่ายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโปรเจกต์มีกลไกรายได้เป็นอย่างไร

ซึ่ง Morning Moon Village จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกับการ “ฟาร์มเหรียญ” แบบในโปรเจกต์ dApp (Decentralized Application) อื่น ๆ เพราะจากที่เคยเห็นผลตอบแทนเป็นเพียงแค่ตัวเลข คราวนี้มันจะมาในรูปแบบของผลผลิตซึ่งนำออกไปขายเป็นเหรียญคริปโตฯ ได้ ชวนให้รู้สึกว่ากำลัง “ทำฟาร์ม” อยู่จริง ๆ

หน้าสร้างตัวละคร ที่เลือกปรับตั้งค่าหน้าตาและทรงผมได้

โดยที่การทำฟาร์มในเกมนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

เมล็ด ผู้เล่นจะต้องไปเก็บรวบรวมทรัพยากรจากในป่า เพื่อเอามาแลกเป็นเมล็ดและนำไปปลูกพืชผักเพื่อรอเก็บเกี่ยว โดยจะมีเวลาเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 48 ชั่วโมง ก่อนที่ผลผลิตจะเน่าเสียลงไป

ต้นกล้า ผู้เล่นจะต้องใช้เหรียญคริปโตอย่าง KKUB (เหรียญของเครือข่าย Bitkub) หรือ KUSDT มาจับคู่ร่วมกับเหรียญของเกมคือ LUMI เพื่อซื้อต้นกล้าและนำเอาไปปลูก ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอด ไม่มีเน่าเสีย และถอนทุนออกมาได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

ดังนั้น การปลูกพืชในรูปแบบเมล็ดจะมีความเป็น Free-to-play ในระดับหนึ่ง ซึ่งมีต้นทุนคือ “เวลา” ที่จะต้องใช้ไปกับการออกหาทรัพยากร ขณะที่การปลูกด้วยต้นกล้าก็จะเป็นการลงทุนด้วยเม็ดเงินจริง ๆ ที่ต้องเอาเหรียญคริปโตฯ มาจับคู่กันและนำเข้าไปฝากไว้ ซึ่งต้นทุนก็ขึ้นอยู่กับผู้เล่นว่าจะลงเงินมาเป็นจำนวนเท่าไรสำหรับใช้ในการฟาร์ม

แถวบนเป็นฟาร์มสำหรับสายฟรี ส่วนที่เหลือเป็นฟาร์มแบบปกติที่ชาว DeFi รู้จักกันดี

สำหรับในช่วง Beta จะมีพืชให้เลือกปลูกอยู่ 3 แบบ ได้แก่มะเขือเทศ, ข้าวโพด และกะหล่ำปลี ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีการแจกจ่ายผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป แต่ก็สามารถที่จะเก็บเกี่ยวและนำไปขายเป็นเหรียญ LUMI ได้เหมือนกันทั้งหมด

โดยเหรียญ LUMI ก็จะเป็นสื่อกลางที่ใช้ซื้อของในเกม, สุ่มกาชา หรือเอาไปแลกเป็นเหรียญคริปโตฯ อื่น ๆ และขายออกมาเป็นเงินสด ซึ่งนี่ก็คือจุดที่เกมนี้สามารถทำรายได้ให้กับผู้เล่นได้จริง ๆ

สำรวจหาทรัพยากร เพื่อนำมาพัฒนาให้ฟาร์มเติบโต

แผนที่สำหรับตัวเกมในช่วง Closed Beta

นอกเหนือจากการทำฟาร์มแล้ว อีกพาร์ทสำคัญของเกมก็เห็นจะหนีไม่พ้นการออกสำรวจเพื่อหาทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมหลักก็คือการตัดไม้ และทุบหิน เพื่อนำกลับไปแลกเป็นเมล็ดพืชแบบต่าง ๆ กับ NPC ในหมู่บ้าน

แต่ก็ใช่ว่าเราจะเก็บทรัพยากรได้ทุกเมื่อ เนื่องจากตัวเกมจะอาศัยระบบที่คล้ายคลึงกับ Stamina ของเกมมือถือทั่วไป มาจำกัดจำนวนครั้งการสำรวจ เพราะฉะนั้นแล้วการสำรวจแต่ละครั้งก็จะเหมือนกับการ “ลงดัน” ที่จะจบไปเป็นรอบ ๆ

เมื่อเข้ามาในโซนป่าแต่ละครั้ง ผู้เล่นจะมีค่า Energy เริ่มต้นอยู่ที่ 100 และจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเราตัดไม้, ทุบหิน หรือทุบกล่องเก็บของต่าง ๆ ซึ่งเมื่อ Energy หมดลงก็จะไม่สามารถเก็บอะไรได้ ดังนั้นสำหรับใครที่อยากเก็บของให้คุ้มที่สุด ก็จะต้องคำนวนดี ๆ ว่าแต่ละรอบจะเข้ามาหาอะไร และต้องใช้ Energy เป็นจำนวนเท่าใดจึงจะทุบหินจนแตก หรือตัดต้นไม้จนโค่นลงได้

ทั้งนี้ ถ้าเกิดว่า Energy ใกล้หมด เราก็อาจจะไม่เลือกทุบหินก้อนที่ใหญ่เกินไป เพราะรู้ว่าทุบไปก็เสีย Energy เปล่า ๆ แน่นอน แต่ไปเก็บสิ่งของที่เล็กกว่าแทน หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะกินไอเท็มประเภทผลไม้เพื่อช่วยฟื้น Energy ขึ้นมาได้บางส่วน ซึ่งสามารถหาได้จากการซื้อด้วย LUMI หรือเก็บเอาตามพื้นในบริเวณเดียวกัน ก็คือโซนป่านอกหมู่บ้าน

ตกแต่ง และเสริมแกร่งให้ตัวละครด้วย NFT

นอกเหนือจากระบบ Yield Farming แล้ว เกมนี้ก็ยังผสานเอาจุดเด่นของสินทรัพย์ประเภท NFT เข้ามาไว้ด้วยในรูปแบบของไอเท็มเสริม ซึ่งมีทั้งสำหรับสายเน้นแฟชันและเน้นใช้งาน

โดยไอเท็มเสริมสำหรับใช้งาน ก็จะมาเพิ่มค่าสเตตัสต่าง ๆ เช่นทำให้ทุบหินได้แรงขึ้น หรือใช้ Energy น้อยลง เป็นต้น ส่งผลให้สามารถเก็บรวบรวมทรัพยากรได้ไวและเยอะกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะทำให้ยิ่งสามารถเล่นไปได้ไกล ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมากขึ้นด้วยเช่นกันในระยะยาว

ไอเท็มเหล่านี้ จะได้รับมาจากการเปิดกล่องกาชาในเกม ซึ่งต้องซื้อมาในราคา 200 LUMI และจะได้รับเป็นไอเท็มที่มีระดับความหายากแตกต่างกัน รวมถึงยังมีจำนวนจำกัดอีกด้วย ซึ่งก็จะทำให้ต่อไปผู้เล่นก็จะสามารถนำไอเท็มมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดเกม เกิดเป็นมูลค่าที่แตกต่างกันได้ตามความต้องการของชุมชน

เล่นง่าย ๆ ผ่าน Web Browser

แม้จะใช้เวลาโหลดก่อนเข้าเกมนานเล็กน้อย แต่เมื่อโหลดสำเร็จแล้ว Morning Moon Village ก็จะพร้อมให้เล่นไปได้ยาว ๆ และจะเปิดแท็บทิ้งไว้ จากนั้นก็ไปทำอย่างอื่นก่อนก็ยังได้

ส่วนหนึ่งที่ตัวเกมเปิดให้เล่นบน Browser ก็เป็นเพราะจะต้องมีการเชื่อมต่อกับกระเป๋าเงินคริปโตฯ อย่าง Bitkub NEXT หรือ Metamask เพื่อทำรายการต่าง ๆ ซึ่งเพื่อความปลอดภัย ก็จะต้องผ่านการยืนยันจากผู้ใช้ก่อนในแทบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การล็อกอิน, ซื้อต้นกล้า, ปลูกพืช, ขายไอเท็มอื่น ๆ ไปจนถึงการออกสำรวจในแต่ละรอบด้วยเช่นกัน

แม้ตรงนี้จะดูเหมือนเป็นข้อจำกัด ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องผ่านการยืนยันจากผู้เล่นเสมอ และทำรายการซื้อขายไอเท็มได้ไม่เกิน 10 ชิ้น แต่อย่างน้อยในช่วงทดสอบก็ยังถือว่าสามารถทำรายการได้อย่างรวดเร็วมาก (เล่นบนเครือข่ายทดสอบของ Bitkub) ระดับที่น้อยครั้งจริง ๆ ถึงจะเห็นว่ามีการรอโหลดอยู่มากกว่า 1 Transaction ขึ้นไป

อีกหนึ่งข้อจำกัดของการเล่นบน Browser ก็คือตัวเกมจะออกแบบมาเพื่อให้เล่นด้วยเมาส์เป็นหลัก ทุกอย่างจะต้องผ่านการคลิก รวมไปถึงการเดินของตัวละครด้วย ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้ Morning Moon Village ไม่ได้มีความเป็นเกม Idle มากนัก หากแต่ผู้เล่นต้อง Interact กับตัวเกมมากพอสมควร และน่าสนใจว่าทีมงานจะเพิ่มการควบคุมด้วยคีย์บอร์ดเข้ามาในอนาคตหรือไม่ เพื่อทำให้อะไร ๆ สะดวกขึ้น

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ตารางการเล่นในแต่ละวันก็อาจจะไม่ได้ใช้เวลานานมากนัก ทำให้ตอนที่ต้องเดินไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อทำกิจวัตรประจำวัน เช่นฟาร์มทรัพยากร, ปลูกพืช, ขายของ หรือสุ่มกาชา (?) ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากอะไร แถมยังมีดนตรีประกอบที่ติดหูอย่างไม่น่าเชื่อ (แม้จะเพิ่งฟังไปได้ไม่นาน) เข้ามาช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายในระหว่างที่เล่นได้อีกมากเลยทีเดียว

GameFi สัญชาติไทยที่น่าจับตามองในช่วงนี้

แม้จะเป็นแค่ช่วง Closed Beta ที่ยังไม่ได้เปิดฟีเจอร์ให้เล่นเต็มที่ 100% แต่ Morning Moon Village ก็ดึงดูดความสนใจจากชาวไทยไปได้อย่างล้นหลามแล้ว ซึ่งอนาคตก็จะมีระบบ Leaderboard เพิ่มเข้ามาให้ได้แข่งกันสะสมผลผลิต และรับรางวัลเป็น NFT แบบพิเศษ รวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อตอบแทนให้กับความพยายามอีกด้วย

ทั้งนี้ ตัวเกมก็ยังเปิดเผยหน้าค่าตาของเหล่าผู้พัฒนาและที่มาความเป็นไปไว้อย่างชัดเจน โดยเป็นฝีมือการพัฒนาของทีมงาน Extend Interactive (หรือ X10) ที่นำโดยคุณเนนิน อนันต์บัญชาชัย ประธานแห่งสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (Thai Game Software Industry Association: TGA) อีกทั้งยังมีคุณสกลกรย์ สระกวี ประธานแห่ง Bitkub, อดีต CEO และผู้ก่อตั้ง Garena Online (Thailand) และคุณสำเร็จ วจนะเสถียร CTO แห่ง ShuttleOne มาเป็นที่ปรึกษาอีกด้วย

ทีมงาน X10 มีประสบการณ์พัฒนาเกมมาแล้วมากมาย ทั้งบน Steam, Xbox และมือถือ นอกจากนี้ก็ยังมีเกมที่เคยผ่านการได้รับรางวัลมาแล้ว ทั้ง A.R.E.S. Extinction Agenda, Jigsaw Mansion, So Many Me, และ Pandora Hunter เพราะฉะนั้น Morning Moon Village เองก็มีโอกาสที่จะไปได้ไกล และน่าจับตามองว่าจะสามารถตีตลาด Worldwide ในอนาคตได้หรือไม่

Morning Moon Village จะเริ่มเปิดให้บริการแบบ Early Access ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ โดยสำหรับใครที่ไม่อยากจะพลาดความเคลื่อนไหวของโปรเจกต์ ก็สามารถเข้าไปติดตามกันไว้ก่อนได้เลยที่หน้า Facebook Page : Morning Moon Village

ร่วมพูดคุยได้ในกลุ่ม Telegram, Discord

และศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจเล่นจริงได้จาก Whitepaper

Satthathan Chanchartree

ฟ่าง - Content Writer

Back to top