BY KKMTC
15 Aug 18 5:55 pm

7 เกมที่ออกแบบมาเพื่อทำลายสุขภาพจิตเกมเมอร์โดยเฉพาะ

55 Views

เกมมีทั้งเล่นง่าย ๆ ทุกคนเล่นได้ / เข้าใจง่าย แต่ยากที่จะเก่ง / เข้าใจยากเล่นก็ยาก แต่สะใจทุกครั้งที่เอาชนะ แต่แน่นอนว่าทุกเกมย่อมก็ต้องมีจุดใดจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าเกมได้เพิ่มความท้าทายเพื่อยกระดับความน่าสนใจของตัวเกมให้มากยิ่งขึ้น แต่มันก็ต้องมีบางเกมที่เปิดตัวมาก็ยากทันทีแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่สงไม่สอนอะไรทั้งนั้น ให้เกมเมอร์ไปปวดหัวจัดการกันเอาเอง

ซึ่งผู้ร้ายไม่ใช่ใคร ก็นอกจากทีมผู้พัฒนาที่ต้องการออกแบบให้เป็นแบบนั้นตั้งแรกอยู่แล้ว (จะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม) ซึ่งผลลัพธ์มีจุดจบอยู่สองอย่าง สำหรับตัวเกมก็คือ ยากแต่แฟร์ กับ ยากเกินจนไม่สนุก ส่วนสำหรับผู้เล่น คือ เผลอปล่อยคำสุภาพ, ปาจอยคอนโทรลเลอร์ กับ ต่อยจอแตกหรือลบเกมทิ้งในที่สุด

นี่คือ “7 เกมออกแบบเพื่อทำลายสุขภาพจิตเกมเมอร์โดยเฉพาะ” ที่แม้เกมเมอร์จะออกอาการหัวร้อนรุนแรงแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องกลับมาทำใจให้สงบแล้วเล่นอีกรอบเพื่อชนะเกมให้จงได้ … หรือรู้สึกเปลืองพลังชีวิต และไม่อยากจะแตะเกมนี้อีกในรอบหน้า

Nioh

เริ่มต้นกับเกมที่เป็นมิตรกับฝั่งสายฮาร์ดคอร์เพลเยอร์มากที่สุด สำหรับเกม Nioh ที่เป็นเกมแอ๊คชั่น Souls-Style ของค่าย Team Ninja ที่ผู้เล่นต้องอาศัยทักษะไหวพริบ และเปลี่ยนการวางแผน ตั้งรับการต่อสู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อที่ปะทะกับข้าศึกและบอสปีศาจเหนือธรรมชาติให้ผู้เล่นสูญเสียให้น้อยที่สุด

Nioh

เหตุที่เรียกว่า Souls-Style เพราะเกมนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเกม Dark Souls ซึ่งเกม Nioh จะมีระบบการต่อสู้ที่ลึก และสามารถเลือกสไตล์การต่อสู้ให้เหมาะสม ซึ่งเกมนี้จะไม่มีการฝึกสอน เกมเมอร์จะต้องศึกษาการเล่นด้วยตนเอง

แต่ด้วยระบบการเล่นที่สนุกท้าทาย ให้รางวัลสมน้ำสมเนื้อสำหรับเกมเมอร์ และให้ผู้เล่นทุกคนพอมีที่ยืนอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเล่นโหมดเนื้อเรื่องเล่นปกติ หรือโหมด PvP (จะบอกความยากก่อนที่จะยืนยันเลือกต่อสู้) ทำให้ผู้เล่นรู้สึกปวดหัวในช่วงแรกก็จริง แต่ก็รู้สึกได้ว่าผู้เล่นมีพัฒนาตลอดเวลาในการดำเนินเนื้อเรื่องเช่นกัน ฉะนั้น Nioh จึงเป็นเกมที่ทั้งเล่นยากและเล่นสนุก และก็แฟร์อีกด้วย

Dark Souls ภาคแรก และสอง

ออริจินัลเกมหัวร้อนที่ทุกคนให้ความเห็นเดียวกันว่า Dark Souls คือเกมที่ทำให้ทุกคนต้องปาจอยกันมาแล้ว แต่สำหรับผู้เล่นที่ไม่ได้ผ่านเกม Dark Souls มาก่อน อาจจะเข้าใจว่ามันเป็นเกมที่ยากแต่ก็แฟร์ทุกครั้ง ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่าไม่เป็นความจริง เพราะ Dark Souls ในภาคแรกและภาคสอง ได้มีจุดบกพร่องข้อเสียที่ผู้พัฒนาสร้างมันขึ้นมาเอง นั้นคือ “กับดัก”

Dark Souls

กับดักในเกม Dark Souls เป็นฟีเจอร์ที่ไม่แฟร์เอาซะเลย หลายครั้งเกมเมอร์ต้องมาตายโง่ ๆ และต้องเริ่มใหม่จากจุด Checkpoint ด้วยกับดักที่ไม่มีความสร้างสรรค์และมักง่าย ไม่ว่าจะเป็นผีตุ้งแช่, ดักโจมตีให้ผู้เล่นกระเด็นตกเหว, การออกแบบแผนที่ชวนให้พลาดท่าได้ง่าย ซึ่งเกมเมอร์บางคนอาจจะมองเป็นเรื่องคอเมดี้ แต่บางคนอาจจะมองว่าทีมงานอยากให้เกมยากที่สุดจนถึงขั้นต้องใช้วิธีมักง่าย เพื่อให้เกมเมอร์หัวเสียมากที่สุด

Dark Souls

แต่อย่างไรก็ตาม Dark Souls ก็ยังคงเป็นเกมหนึ่งที่มีความท้าทาย และรู้สึกสะใจทุกครั้งที่เอาชนะบอสได้ ซึ่งแม้ว่ากับดักในเกมนี้ชวนให้ผู้เล่นรู้สึกปวดหัวอยู่หลายครั้ง แต่โชคดีที่ทีมงานได้ตัดสินใจลดปริมาณกับดักลงในภาคสามให้พอดีงาม เพื่อให้เกมมีความแฟร์มากยิ่งขึ้น

เกม FPS สายสมจริง

เกม FPS เล่นสนุก แต่สายสมจริง ความสนุกเอาไปไกล ๆ !

เปล่าเลย.. เกม FPS สายสมจริงก็สามารถเล่นสนุกได้ในรูปแบบของมัน แต่เนื่องจากเกม FPS สายสมจริงส่วนใหญ่จะเน้นเกมการเล่นในรูปแบบ Multiplayer และ Co-op ซะมาก ทำให้เกมแนวนี้ ผู้เล่นหลายคนจะตึงเครียดเป็นอย่างมากจากการเล่นเกมประเภทนี้ เพราะจะต้องอาศัยความสามัคคี, เอาตัวรอด และดวง ไม่ต่างจากสนามรบในชีวิตจริง

insurgency sandstorm

เกมก็ยาก แถมยังต้องอาศัยความสามัคคีพอ ๆ กับเกมประเภท Overwatch ซึ่งผู้เล่นจะมีต้องแบบแผนที่ชัดเจน ผิดแผนเพียงครั้งเดียวก็สามารถส่งเพื่อนร่วมทั้งหมดไปตายได้ ทำให้กลุ่มเกมเมอร์ต้องมานั่งหัวร้อนกับการโดนยิงนัดเดียวดับ, ทรัพยากรที่มีจำกัด กับ สถานการณ์ตึงเครียดเกินจนเผลอสื่อสารด้วยเสียงที่รุนแรง

FPS สายสมจริงเป็นเกมเล่นยาก จะเข้าใจมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่ระบบของเกมเพลย์ ส่วนเรื่องความแฟร์อยู่โอกาส 50-50 เพราะบางทีเราก็โชคร้ายโดน A.I. ยิงจากไหนก็ไม่รู้ หรือบางทีเราก็เผลอ Friendly Fire ใส่เพื่อนโดยมิได้ตั้งใจ แต่นี่แหล่ะ “สนามรบ” ของจริง ที่ชีวิตทหารทุกคนไม่มีใครปลอดภัยเลย

เกมยุค ’80 เกือบทุกเกม

ไม่ว่าจะเป็น Contra, Battletords, Mega Man หรือเกมอื่น ๆ อีกมากมาย ในยุค ’80 ที่เกมเมอร์รุ่นใหม่จะต้องกราบให้กับผู้เล่นที่ผ่านประสบการณ์เอาชนะเกมพวกนี้ได้อยู่หมัด เพราะมันยากจริง ๆ

สาเหตุที่เกมยุค ’80 มีความยาก เพราะเป็นเรื่องของระบบการเล่นส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบเกมตู้อาร์เขตที่มีพลังชีวิตจำกัด และภาพกราฟิกที่เป็นลักษณะ Pixels – 8bits ที่ยากแก่การสังเกต ซึ่งหลายคนอาจจะเถียงว่าเกมมันก็ดู Casual ที่เอาชนะเกมได้ไม่ยากเกินไป แต่สำหรับเกมประเภทนี้ ขอเป็นข้อยกเว้นละกัน

Contra

เพียงแค่เป็นเกมเมอร์สายดูอย่างเดียว ไม่สามารถพิสูจน์ความยากได้ด้วยตาเปล่า คุณจะต้องลองจับจอยคอนโทรลเลอร์ เล่นเกมปี ’80 สักครั้ง แล้วเกมเมอร์จะรู้ซึ้งถึงความยากของตัวเกมที่จะรู้ว่าเกมมันไม่แฟร์ในบางครั้ง ทั้งในเรื่องการออกแบบแผนที่, ภาพกราฟิกที่เล็กจนเกินไป, ศัตรูโอเว่อร์พาวเวอร์ เพราะข้อจำกัดทางเทคนิคของฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพยังคงทำได้ดีที่สุดในตอนนั้น ทำให้เกมในยุค ’80 ยังมีความยากในรูปแบบของมันที่เกมเมอร์รุ่นใหญ่ยากที่จะปราบมันได้

Touhou

สุดยอดเกมอินดี้ญี่ปุ่นที่พัฒนา โดยพนักงานอดีตสังกัดทีมผู้พัฒนา TAITO โดยท่าน ZUN (นามปากกา) เพียงคนเดียวเท่านั้น

Touhou นอกจาก เกมจะมีเอกลักษณ์ในเรื่องตัวละครในเกม เพลงประกอบ และจักรวาลใน Touhou ที่ใหญ่มาก จนไม่น่าเชื่อพัฒนาด้วยหนึ่งคนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความยากที่อยู่ในระดับ “เป็นไปไม่ได้” ที่แม้แต่ระดับ Easy ก็ต้องทำให้เกมเมอร์ชวนปวดหัวปวดตา มาตั้งแต่ภาคแรกในปี 1996

Touhou

เกม Touhou เป็นเกมที่ถูกนิยามว่าเป็นประเภท Bullet Hell ที่เกมเมอร์จะต้องคอยหลบกระสุนในเกม และสร้างความเสียหายให้กับศัตรูฝั่งตรงข้าม แต่เมื่อคุณมองเห็นภาพข้างบน คุณจะรู้สึกวอทเดอะเอฟและอุทานออกมาว่า “ใครมันจะไปหลบได้ !?” แต่ก็ต้องกัดฟันพูดว่ามีเกมเมอร์บางคนสามารถเล่น และหลบได้จริง ๆ แต่ก็ต้องอาศัยใช้เวลาการฝึกฝนอย่างหนักเช่นกัน

แม้ว่าตัวเกมจะมีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจก็จริง แต่ด้วยความยากที่มากจนเกินไปที่ทั้งผู้เล่นมือใหม่ หรือผู้เล่นบางคนไม่สามารถดำเนินเนื้อเรื่องต่อได้ (เพราะติดอยู่ที่ด่านเดิม) จนต้องยอมแพ้มานั่งอ่านเนื้อเรื่องแบบแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วสุดท้ายคุณจะหลงลืมเกมนี้ไปในที่สุด ยกเว้นผู้เล่นสายฮาร์ดคอร์ที่แท้ทรู หรือแฟน ๆ ที่หลงรักเกมนี้จริงจังเท่านั้น

Getting Over It with Bennett Foddy

เกมยอดฮิตของสตรีมเมอร์ที่หาความสมเหตุสมผลไม่ได้ตั้งแต่เปิดเกม ที่คุณจะเป็นชายที่ผุดออกมาจากหม้อต้มขนาดยักษ์แล้วใช้ค้อนไต่ที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไปจุดสูงสุดให้ได้ ซึ่งเกมฟังดู Casual ในตอนแรก แต่กลายเป็นว่าเกมนี้ได้ทำลายสุขภาพจิตผู้เล่นไปแล้วหลายคน แล้วได้สาปแช่งผู้พัฒนาเกมออกมารัว ๆ ในเรื่องของยากแบบไม่มีความใยดี และความกวนโอ๊ยของการนำเสนอที่ตรงตามจุดประสงค์ของทีมผู้พัฒนาไว้ตั้งแต่แรก

Getting Over It with Bennett Foddy

ความยากของเกมนี้ ก็คือ ไม่มี Checkpoint นั้นก็หมายความว่า สิ่งที่เกมเมอร์ดำเนินเกมมาถึง 98% ก็สามารถพังทลายได้ในเสี้ยววินาที แล้วเริ่มใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้นเกมได้

แถม Annoucer ของเกมนี้ก็ชวนประสาทเสียใช้ได้เลยทีเดียว เพราะการพูดของเจ้านั้น ชวนรู้สึกสงสารผู้เล่นในคราบใบหน้าที่ชวนแอบสมน้ำหน้า พร้อมกับเปิดเพลงคลาสสิกที่ให้อารมณ์เยาะเย้ยผู้เล่นสุด ๆ เหมือนกำลังกระทืบผู้เล่นซ้ำ จนผู้เล่นจะต้องดับเสียงเกมนี้ทิ้งไป เพื่อคุมสมาธิและสติสัมปชัญญะให้คงที่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการปราบเกมนี้

Mario Neko (Cat Mario)

ใครเป็นคนสร้างเกมนี้ ? ผมอยากจะส่งน้ำใจไปให้แบบตัวต่อตัวเลย

cat-mario

เกมนี้ล้อเลียนจากเกม Mario ที่ออกแบบมาเพื่อยั่วโมโหเกมเมอร์โดยเฉพาะ คุณจะพบสิ่งที่ไม่แฟร์มาตั้งแต่ต้นจนจบเกม แล้วชวนให้ผู้เล่นอยากจะต่อยให้จอมอนิเตอร์ร้าวซะเหลือเกิน แต่ผู้เล่นก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “จะเล่นไปเพื่ออะไรฟ่ะ ?” เพราะเป็นเกมที่เล่นแล้วไม่ได้อะไร นอกจากจะเสียเวลาแล้วก็เสียสุขภาพจิตอีกด้วย

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top