BY KKMTC
1 Jul 22 3:34 pm

เข้าใจเรตติ้ง ESRB ใช้อ้างอิงว่าเกมที่คุณเล่นรุนแรงแค่ไหน

136 Views

ESRB หรือ Entertainment Software Rating Board เป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง ที่ทำหน้าที่คอยกำหนดเรตติ้งวิดีโอเกมในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ว่าเกมที่ลูก ๆ กำลังเล่น มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยหรือไม่

แม้แต่ละประเทศ แต่ละโซนมีเกณฑ์การให้เรตติ้งเกมที่แตกต่างกัน แต่ ESRB คาดว่าเป็นเรตติ้งที่มีความเป็นสากล และถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงมากที่สุดแล้ว ซึ่งแน่นอน เกมเมอร์ชาวไทยไม่น้อย มักจะใช้เว็บไซต์ ESRB ในการตรวจสอบเกมที่กำลังเล่นหรือติดตามรอคอยนั้น มีเนื้อหารุนแรงมากน้อยแค่ไหน

บทความนี้จะเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรตติ้งต่าง ๆ ของ ESRB ที่ใช้อ้างอิงเบื้องต้นว่าเกมมีเนื้อหารุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบทความนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งในหมู่เกมเมอร์ และผู้ปกครองที่ต้องการตรวจสอบเนื้อหาเกมก่อนซื้อให้ลูกหลานของท่าน

เข้าใจเรตติ้ง E, E10+, T13+, M17+ กับ AO17+ ของ ESRB

Esrb (6)

E – Everyone

Esrb (1)

เกมเหมาะสำหรับทุกคน ทุกเพศทุกวัยสามารถเล่นได้ หรืออธิบายอย่างง่ายที่สุด มันคือเกมที่เป็นมิตรต่อครอบครัวอย่างแท้จริง ไม่จำเป็นต้องแอบเล่นในช่วงเวลาดึก เพราะไม่มีเนื้อหาเลือดสาด และเพศตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ฉะนั้นเกมเรตติ้ง E ส่วนใหญ่จึงมีข้อความเตือนที่น้อยมาก หรือไม่มีการเตือนเลย

ตัวอย่างเกม

Gran Turismo 7 (5)

Gran Turismo 7 เกมแข่งรถที่แน่นอนว่าไม่มีเนื้อหาความรุนแรงอะไรเลย

Gran Turismo 7 – เกมแข่งรถแบบสมจริงที่ไม่มีเนื้อหาความรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงอย่างนั้น ESRB เตือนว่าเกมนี้มีการกล่าวถึงประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบป้าย (Alcohol Reference) และโชว์การใช้ยาสูบในภาพถ่ายประวัติศาสตร์ (Use of Tobacco)

Taiko no Tatsujin: Rhythm Festival – เกมประเภทดนตรีที่มีเนื้อหาไม่เป็นพิษเป็นภัย หายห่วงเรื่องการเจอคำหยาบ คำไม่เหมาะสมในเนื้อหาเพลงได้เลย

Cooking Mama – เกมแนวจำลองในห้องครัวที่ผู้เล่นต้องนำเนื้อสัตว์ กับวัตถุดิบต่าง ๆ มาทำเป็นมื้ออาหาร การันตีได้เลยว่าในเกมจะไม่มีการโชว์ฉากฆ่าสัตว์อย่างแน่นอน

E – Everyone E10+

Esrb (2)

แม้เป็นเกมที่เหมาะสำหรับทุกคนก็จริง แต่อาจจะมีการนำเสนอเนื้อหาความรุนแรง และการใช้คำหยาบที่เล็กน้อยมาก ๆ โดยเกมหมวดนี้ส่วนใหญ่ มีภาพกราฟิกเป็นการ์ตูนไม่สมจริง ไม่มีการโชว์เลือด และใช้คำไม่เหมาะสมเพียงคำสองคำตลอดทั้งเกม

ตัวอย่างเกม

 

Stardew Valley แม้ระบบการต่อสู้ แต่ด้วยภาพกราฟิกสไตล์ Pixel ก็ช่วยลดความรุนแรงได้บ้าง

Stardew Valley – เกมแนวจำลองการทำฟาร์ม และการใช้ชีวิตที่มีเนื้อหาเป็นมิตร อบอุ่นหัวใจ และมีระบบเกมเพลย์ที่แสนเล่นสบาย ถึงอย่างนั้น ESRB เตือนว่าเกมนี้มีเนื้อหาการใช้ยาสูบ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Use of Alcohol and Tobacco) , ความรุนแรงแฟนตาซี (Fantasy Violence) , มีการจำลองเล่นการพนัน (Simulated Gambling) , มีการโชว์เลือดเล็กน้อย (Mild Blood) และใช้คำไม่เหมาะสม (Mild Language)

LEGO Star Wars: Skywalker Saga – เกมแนวแอ็กชัน-ผจญภัยในจักรวาล Star Wars ที่แม้มีคำเตือนว่าเกมนี้มีเนื้อหาความรุนแรงแบบการ์ตูน (Cartoon Violence) และใช้มุกตลกในเชิงไม่ให้เกียรติ (Crude Humor) แต่โดยรวมแล้ว เนื้อหาของเกมนี้ยังถือว่าเซฟสำหรับเด็ก

Kirby and the Forgotten Land – เกมแนวผจญภัย Open-World สุดสดใสน่ารัก ที่คงไม่มีใครคิดว่า ESRB จะเตือนว่าเกมนี้มีเนื้อหาความรุนแรงแบบการ์ตูน (Cartoon Violence)

T – Teen 13+

 

Esrb (3)

เกมเหล่านี้มีเนื้อหาเหมาะสำหรับเด็กโตอายุ 13 ปีขึ้นไป ตัวเกมเริ่มโชว์ฉากความรุนแรง, มีฉากที่ส่อไปในทางเพศเล็กน้อย, มีการเล่นมุกหยาบคาย, มีการโชว์เลือด, มีการใช้คำหยาบน้อยครั้ง และมีโหมดเกมจำลองการพนัน เนื้อหาของเกมโดยรวมจะมีโทนความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นจาก E Everyone

ตัวอย่างเกม

Street Fighter V

 

ด้วยธรรมชาติของเกมแนวต่อสู้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ Street Fighter V จึงมีเนื้อหาความรุนแรง

Infamous: Second Son – เกมแนวแอ็กชัน Open-World ในธีมซูเปอร์ฮีโร่ของ Sony ประกอบไปด้วยการนำเสนอเลือด (Blood), มีการกล่าวถึงเกี่ยวกับสารเสพติด แต่ไม่มีการโชว์ยาให้เห็น (Drug Reference), มีการใช้คำหยาบเล็กน้อย (Language), การนำเสนอเนื้อหาทางเพศ เช่น โชว์สถานที่ในย่าน Red Light District และใช้คำพูดส่อทางเพศ (Sexual Themes) และเนื้อหาความรุนแรงแบบทั่วไป (Violence)

Street Fighter V – เกมแนวต่อสู้ของ Capcom ประกอบไปด้วยการใช้คำหยาบเล็กน้อย และไม่ได้ยินบ่อย (Mild Language), มีเนื้อหาส่อไปในทางเพศเล็กน้อย เช่น การแต่งกายหวาบหวิว (Suggestive Themes) และมีเนื้อหารุนแรงตามธรรมชาติของเกมต่อสู้ (Violence)

Genshin Impact – เกมแอ็กชัน Open-World แฟนตาซีของทีมพัฒนาเกมจีน miHoYo ซึ่งเกมดังกล่าว มีเนื้อหาความรุนแรงในโลกแฟนตาซีที่ผู้เล่นต้องต่อสู้กับเหล่ามอนสเตอร์ ปีศาจร้าย กับมนุษย์ (Fantasy Violence) และถึงจะมีการกล่าวถึงเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีการแสดงเครื่องดื่มที่ชัดเจน (Alcohol Reference)

M – Mature 17+

Esrb (4)

คาดว่าเป็นหมวดเกมที่ได้รับความนิยมที่สุดสำหรับกลุ่มวัยรุ่น (รวมถึงเด็กกำลังโต) เพราะเกมเหล่านี้มักนำเสนอความรุนแรง, เลือดสาด, ใช้คำหยาบรุนแรง, มีการใช้สารเสพติด และเนื้อหาเกี่ยวกับเพศที่ค่อนข้างโจ่งแจ้ง จึงเป็นเกมที่เหมาะสำหรับคนอายุ 17 ปีขึ้นไป และหากมีอายุต่ำกว่า 17 ปี ควรมีผู้ปกครองมาช่วยชี้แนะระหว่างการเล่นด้วย

ตัวอย่างเกม

GTA

 

Gta V

GTA V เกมเนื้อหารุนแรง และฉากนำเสนอทางเพศที่โด่งดังทั่วโลก

Grand Theft Auto V – เกมแอ็กชัน Open-World ยอดนิยมตลอดกาล ที่เปิดตัวทุกภาคย่อมมาพร้อมกับกระแสโดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเนื้อหาความรุนแรงอยู่เสมอ แต่เกมเมอร์หลายคนน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า GTA ไม่ได้นำเสนอเรื่องความรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเล่นมุกตลกร้าย การใช้ยาเสพติด และนำเสนอเนื้อหาทางเพศค่อนข้างโจ่งแจ้งไม่อายใคร

ESRB ระบุว่าเนื้อหา GTA V ประกอบไปด้วยเนื้อหาความรุนแรงสูง มีฉากการทรมาน (Intense Violence) มีฉากเลือดสาด (Blood and Gore), การเล่นมุกตลกสำหรับผู้ใหญ่ กับมุกประเด็นละเอียดอ่อน เช่น เพศ ศาสนา เชื้อชาติ (Mature Humor), เห็นฉากโป๊เปลือยโจ่งแจ้ง เช่น เห็นหน้าอก เห็นอวัยวะเพศชาย (Nudity), มีการใช้คำหยาบรุนแรง เช่น Sh*t, F*ck, C*nt (Strong Language), มีการนำเสนอฉากทางเพศ เช่น ฉากเซ็กส์, ฉาก “ช่วยเหลือตัวเอง”, ระบำเปลือยผ้า, การใช้บริการโสเภณี แต่ไม่โชว์อวัยวะเพศ หรือบอกเป็นนัยเท่านั้น (Strong Sexual Content) และมีการใช้สารเสพติด กับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างโจ่งแจ้ง (Use of Drugs and Alcohol)

Mortal Kombat 11 – เกมต่อสู้ที่มีฟีเจอร์เด็ดคือท่าปลิดชีพคู่ต่อสู้ Fatality ที่โหดดิบเถื่อน ไส้เป็นไส้ เลือดเป็นเลือด ด้วยเนื้อหาความรุนแรงของเกมนี้ ทำให้เกมภาคแรกโดนวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ปกครอง กับรัฐบาลอย่างรุนแรง และได้ถือกำเนิดองค์กร ESRB เพื่อจัดเรตติ้งวิดีโอเกมในประเทศสหรัฐฯ ในที่สุด

ESRB ระบุว่าเนื้อหา Mortal Kombat 11 ประกอบไปด้วยฉากเลือดสาดในท่า Fatality (Blood and Gore), ท่าต่อสู้มีความรุนแรงสูง (Intense Violence) และมีการใช้คำหยาบ (Strong Language)

Dead or Alive 6 – แม้เนื้อหาเกมไม่ได้รุนแรงเท่ากับ GTA V หรือ Mortal Kombat 11 แต่มันก็มีเนื้อหาทางเพศหลายอย่าง และโจ่งแจ้งมากพอที่เข้าข่ายเป็นเกมเรตติ้ง 17+ ได้

ESRB ระบุว่าเนื้อหา Dead or Alive 6 ประกอบไปด้วยการนำเสนอเลือด (Blood), โชว์เนื้อหาทางเพศหลายอย่าง เช่น โชว์ร่องหน้าอกหญิง, มีระบบหน้าอกเด้ง, ตัวละครหญิงสวมชุดแต่งกายหวาบหวิว และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เห็นฉากหวาบหวิว ฯลฯ (Sexual Themes) และมีเนื้อหาความรุนแรงตามธรรมชาติของเกมต่อสู้ (Violence)

AO – Adults Only 18+

Esrb (5)

เกมเหมาะสำหรับคนอายุ 18 ปีเท่านั้น ตัวเกมมีการนำเสนอฉากโป๊เปลือย เนื้อหาเกี่ยวกับเพศ กับความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้ง และมีระบบการพนันที่ต้องใช้เงินจริงในการเดิมพัน

ตัวแทนจำหน่ายเกมเกือบทุกราย พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกมได้รับเรตติ้ง AO เนื่องจาก PlayStation, Xbox กับแพลตฟอร์มร้านค้าหลายแห่ง มีนโยบายไม่รับวางจำหน่ายเกมที่มีเนื้อหา 18+ ทำให้บางเกมจำเป็นต้องลดทอนความรุนแรง กับเนื้อหาทางเพศลง เพื่อให้เกมรักษาเรตติ้งไว้ที่ Mature 17+

ตัวอย่างเกม

Hatred

Hatred เกมเนื้อหารุนแรงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าเพียว ๆ

Hatred – เกมแอ็กชันที่ผู้เล่นต้องทำการก่อการร้าย ไล่สังหารชาวบ้านให้ได้มากที่สุด เนื่องจากตัวเกมมีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง และตัวละครเอกได้แสดงความเกลียดชังกับการเหยียด เกมนี้จึงถูกจัดเรตติ้ง AO 18+

ef – a fairy tale of the two – เกมแนว Visual Novel เนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ (หรือมีชื่อเรียกว่า Eroge) โดยเนื้อหาเกมมีการนำเสนอฉากเซ็กส์อย่างโจ่งแจ้ง และฉากความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นเกม Eroge จากญี่ปุ่นเพียงไม่กี่เกมที่อยู่ในเว็บไซต์ ESRB

เรตติ้งอื่น ๆ

Esrb (7)

RP Rating Pending – เกมที่ยังไม่ได้รับการจัดเรตติ้งครั้งสุดท้าย หรือหมายความว่าบริษัทกำลังตรวจสอบเนื้อหาของเกมนั่นเอง

RP Rating Pending 17+ – ตัวเกมยังไม่มีการจัดเรตติ้งครั้งสุดท้าย แต่คาดการณ์ไว้แล้วว่าเกมอาจมีเนื้อหาเหมาะสำหรับ 17+ หรือ 18+ ขึ้นไป

EC Early Childhood – เกมมีเนื้อหาเหมาะสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งเกมหมวดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแนวการศึกษา แต่อย่างไรตาม เรตติ้งดังกล่าวได้ยกเลิกการใช้งานตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากมีจำนวนเกมน้อยมากที่จะได้รับเรตติ้ง EC

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top