BY KKMTC
12 Mar 21 6:49 pm

วัฒนธรรมเกมมิ่งโสมแดง วงการเกมในเกาหลีเหนือไปถึงไหนแล้ว

28 Views

เกาหลีเหนือเป็นประเทศเร้นลับที่ไม่มีเกมเมอร์คนไหนสามารถรับทราบได้แน่ชัดว่าวิถีชีวิตของเพลเยอร์ในดินแดนดังกล่าวเป็นอย่างไรบ้าง จนกระทั่งมีผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือบางคน สามารถอพยพหนีมาประเทศเกาหลีใต้ได้สำเร็จ แล้วออกมาแบ่งปันเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกมในเกาหลีเหนือตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แล้ววงการเกมโสมแดงจะเป็นอย่างไร สามารถรับชมได้เลย

วัฒนธรรมเกมในเกาหลีเหนือ

Kang Mi-jin ผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Daily NK เพื่อแบ่งปันเรื่องราววัฒนธรรมการเล่นเกมของชาวเกาหลีเหนือในปัจจุบัน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าวงการเกมในประเทศเกาหลีเหนือนั้น มีเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร เนื่องจากประเทศปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ยึดถืออุดมการณ์ตามลัทธิชูเช ทำให้งบประมาณเกือบทั้งหมดทุ่มไปกับการพัฒนากองทัพมากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชากร

อ้างอิงจาก Kang Mi-jin ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 1990 เป็นช่วงที่คอมพิวเตอร์ส่วนตัว เริ่มกลายเป็นระบบสำหรับการเล่นเกม ทางรัฐบาลเกาหลีเหนือจึงได้พัฒนาเกมเพื่อการศึกษาในห้องเรียน โดยเกมส่วนใหญ่จะได้รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์การรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่นในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 หรือเนื้อหาที่อ้างอิงจากนวนิยายคลาสสิก เช่น “The Tale of Hong Gil-dong” และอีกหลายเรื่อง ซึ่งเกมเหล่านั้นจัดว่าเป็นเกมแรก ๆ ของเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคอมพิวเตอร์ในเกาหลีเหนือมีราคาขายที่แพงมาก, ครอบครัวส่วนใหญ่มีฐานะยากจน รวมถึงแม้กระทั่งการเล่นเกมการ์ดไพ่ยังผิดกฎหมายอีกด้วย ทำให้เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เล่นเกมจริง ๆ ผ่าน PC หรือเครื่องเกมคอนโซล เพราะขาดอุปกรณ์การเล่นเกม โดยเด็กกับวัยรุ่นที่มีโอกาสได้เล่นเกมนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย หรือครอบครัวที่พ่อแม่มียศตำแหน่งสูง ซึ่งพวกเขาสามารถซื้อเครื่องเกมคอนโซล และวิดีโอเกม Bootleg นำเข้าจากประเทศจีน

แม้เด็กและวัยรุ่นเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้ลองสัมผัสวิดีโอเกม แต่ต้องขอบคุณการนำเข้าสินค้าเกมจากประเทศจีน ทำให้ชาวเกาหลีเหนือหลายคนยังคงตื่นเต้นกับการสนทนาในหัวข้อวิดีโอเกมจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ ในปี 2013 สื่อเกม Kotaku รายงานว่าเกาหลีเหนือ มีการเปิดเกมเซนเตอร์แห่งใหม่ตรงเกาะขนาดเล็ก Rungna Islet ณ กรุงเปียงยาง (หลังจากก่อนหน้านี้ เผยภาพหลุดเกมเซนเตอร์แห่งหนึ่งในปี 2008) พร้อมเผยภาพถ่ายเป็นชาวเกาหลีเหนือได้เข้าใช้บริการเกมเซนเตอร์เป็นจำนวนมาก โดยบรรยากาศในภาพเหมือนย้อนกลับไปยุค 80’s สมัยที่เกมเซนเตอร์ในสหรัฐฯ ยังเป็นแหล่งรวมสังคมคนเล่นเกม ซึ่งเกมเซนเตอร์อาจจะเป็นแหล่งโอเอซิสเล็ก ๆ สำหรับเกมมอร์ชาวเกาหลีเหนือก็เป็นไปได้

ภาพถ่ายบรรยากาศเกมเซนเตอร์แห่งหนึ่งในกรุงเปียงยาง

สมาร์ตโฟน เปลี่ยนวัฒนธรรมการเล่นเกมของเกาหลีเหนือไปตลอดกาล

จนกระทั่งต้นปี 2010 Steve Jobs มีการเปิดตัว iPhone สมาร์ตโฟนเจเนอเรชันใหม่ ที่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกไปตลอดกาล ก็ส่งผลต่อวงการเกมในประเทศเกาหลีเหนือต้องสั่นสะเทือนด้วย

ชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากที่เคยได้ไปเยือนประเทศจีน หรือเยี่ยมญาติอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ พวกเขาค้นพบว่าผู้คนในประเทศเหล่านั้นเล่นเกมโดยใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน ซึ่งการค้นพบนี้ได้กระตุ้นให้ชาวเกาหลีเหนือบางคนใฝ่ฝันอยากเรียนทักษะด้านไอที เพื่อพัฒนาเกมของตัวเอง

อ้างอิงจาก Kang Mi-jin รัฐบาลเกาหลีเหนือกล่าวมาโดยตลอดว่าประเทศได้มุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ระดับโลกและก้าวตามมาตรฐานสากล ในช่วงปี 2010 พวกเขาจึงเริ่มนโยบายส่งเสริมการศึกษาด้านไอที ด้วยการคัดเลือกให้นักเรียนดีเด่นได้ศึกษาความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์

ภาพโฆษณา Moranbong เครื่องเกมคอนโซลของเกาหลีเหนือ

นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ผลิตสมาร์ตโฟน, แท็บเล็ต PC และเกมของตัวเอง ที่ออกแบบมาเพื่อวางจำหน่ายให้ประชากรเกาหลีเหนือโดยเฉพาะ โดยเครื่องเกมคอนโซลของเกาหลีเหนือที่โดดเด่น ก็มี “Moranbong” เกมคอนโซลที่ใช้ระบบการควบคุมด้วย Motion Controller คล้าย Nintendo Wii ซึ่งเว็บไซต์โฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือ “Meari” อ้างว่าเครื่องเกมดังกล่าวได้รับความนิยมจากทั่วโลก เนื่องจากติดตั้งได้ง่าย พร้อมกล่าวว่าออฟฟิศทุกแห่งและบ้านทุกหลังจะต้องมีเครื่องเกมนี้

ต่อมา เกาหลีเหนือผลิต Arirang 151 และ Pyongyang 2425 สมาร์ตโฟนระบบ Android ที่ประกอบไปด้วยแอปพลิเคชันต่าง ๆ ตั้งแต่เกมแข่งรถ, เกม Baduk (บอร์ดเกมพื้นเมืองของเกาหลี) , หมากล้อม, เกมแนว Puzzle และอื่น ๆ อีกหลายเกม รวมถึงมีเกมลอกเลียนแบบจาก Angry Birds อีกด้วย

รวมถึงรัฐบาลเกาหลีเหนือ มีการปล่อยแอปพลิเคชันเป็นเกมเสริมความรู้ให้สามารถเล่น โดยส่วนใหญ่จะเป็นเกมจำธงชาติ, เมือง และสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมเกมเติมคำสุภาษิต ชื่อเพลง และเนื้อเรื่องเพลงชาติ

Arirang 171

เนื่องจากการผลักดันของรัฐบาล ทำให้วงการเกมในประเทศเกาหลีเหนือเติบโตมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 นักเรียนและประชากรบางคน เริ่มมีอุปกรณ์สำหรับการเล่นเกมเป็นมือถือสมาร์ตโฟน เนื่องจากขายราคาถูกกว่าเครื่องเกมคอนโซลและ PC

เกมได้รับความนิยมจากชาวเกาหลีเหนือ

เกมมือถือที่ได้รับความนิยมในเกาหลีเหนือ คือ “The Boy General” เกมแนวต่อสู้ของปี 2015 ที่ดัดแปลงจากแอนิเมชันเกาหลีเหนือในชื่อเดียวกัน โดยเกมดังกล่าวใช้ภาพกราฟิก 3 มิติ ที่มีการนำเสนอทักษะศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิม และเรื่องราวประวิติศาสตร์ของประเทศเกาหลีเหนือ

ส่วนอีกเกมหนึ่ง มีชื่อว่า “Soccer Fierce Battle” เป็นเกมแนวฟุตบอลที่มีระบบเกมการเล่นคล้ายตระกูล FIFA หรือ Pro Evolution Soccer โดยจุดเด่นของเกมนี้ คือมีนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง Cristiano Ronaldo ได้ปรากฏตัวในเกมนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือคนหนึ่ง กล่าวว่าเกมมอร์ชาวเกาหลีเหนือบางคนที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก ได้แอบดาวน์โหลดเกมผิดลิขสิทธิ์ผ่านเว็บ Torrent แล้วแชร์เกมให้เพื่อน ๆ ด้วยอุปกรณ์ USB แล้วหลังจากดาวน์โหลดเกมเสร็จ ก็ทำการเปลี่ยนชื่อไฟล์เพื่อหลอกตาเจ้าหน้าที่ โดยเกมเถื่อนส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมในชาวเกาหลีเหนือ คือ GTA V และ FIFA Online

แม้เมื่อปี 2018 ทางรัฐบาลเกาหลีเหนือออกมาแสดงความกังวลว่าสื่อจากสมาร์ตโฟนเป็นการทำลายอนาคตของชาติ แต่ Kang Mi-jin เชื่อว่าเกมช่วยให้ผู้เล่นได้พัฒนาสมองและได้รับความรู้ใหม่ ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลเกาหลีเหลือจึงมีการสนับสนุนการผลิตประชากรที่มีความรู้ด้านไอที เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ รวมถึงวิดีโอเกม

แน่นอนว่าวงการเกมในประเทศเกาหลีเหนือยังคงล้าหลังกว่าหลายประเทศ เพราะประชากรส่วนใหญ่ได้เล่นแต่เกมตู้เก่า ๆ เกมมือถือที่ส่วนใหญ่ลอกเลียนแบบจากเกมอื่น และอุปกรณ์ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน แต่หลังจากสมาร์ตโฟนได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั่วโลก ก็ต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก ๆ ที่เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้วัฒนธรรมการเล่นในเกาหลีเหนือเติบโตยิ่งขึ้นไปด้วย

แหล่งที่มา: KBS

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top