BY Aisoon Srikum
26 Oct 21 4:45 pm

Early Access ระบบยอดนิยมยุคปัจจุบันของการขายเกม กับการจ่ายเพื่อได้เล่นก่อน

32 Views

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การตลาดและธุรกิจวิดีโอเกมก็ต้องปรับตัวเปลี่ยนตาม เกิดเป็นการขายแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น DLC, Expansion Pack หรืออื่น ๆ อีกมากมายที่เราจะได้เห็นกันเป็นประจำในการขายเกมในรูปแบบต่าง ๆ แต่มีอยู่รูปแบบหนึ่งที่กลายเป็นรูปแบบยอดนิยมและเราเห็นได้บ่อยที่สุดในปัจจุบัน นั่นคือ Early Access ซึ่งเป็นรูปแบบการขายเกมชนิด จ่ายเพื่อให้ได้เล่นก่อน และมันมีความหมายที่ค่อนข้างหลากหลาย และทำให้หลายคนเข้าใจผิดพอสมควร วันนี้เราจะพามาเจาะลึกถึงระบบการขายแบบ Early Access กันว่ามันหมายถึงอะไร และเกมประเภทนี้จะมีรูปแบบและลักษณะเป็นยังไง

ทำความรู้จักระบบ Early Access

Early Access แปลเป็นไทยคือ การเข้าถึงก่อนกำหนดหรือการจ่ายเงินล่วงหน้า ย่อมาจาก Early Funding, Alpha Access ระบบนี้จะทำงานคล้าย ๆ กับการระดมทุนหรือ Kickstarter เพียงแต่โปรเจกต์เกมที่อยู่ในขั้นตอนนี้จะมีความสมบูรณ์พร้อมกว่ามาก ในขณะที่ทาง Kickstarter เกมอาจจะยังมีแค่คอนเซปต์อาร์ท รูปแบบเกมเบื้องต้น ยังไม่ได้เริ่มพัฒนาเลยด้วยซ้ำ แต่หากนำมาเปิดระดมทุน และมันดึงดูดความสนใจผู้เล่นและสื่อได้มากพอ ก็อาจจะทำให้สามารถระดมทุนได้ตามเป้า จากนั้นทีมพัฒนาเกมนั้น ๆ จะนำเงินที่ระดมทุนได้ ไปพัฒนาเป็นเกมออกมาอีกที

ในขณะที่ Early Access นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเกมที่พร้อมเล่น และมีคอนเทนต์ในระดับนึงแล้ว แต่เกมยังไม่สมบูรณ์พร้อม ยังมีคอนเทนต์หลายตัวที่ไม่เสร็จสิ้นดี ยังมีบั๊กและข้อบกพร่องหลายส่วนที่ต้องแก้ไข และอัปเดตตัวเกมเพิ่มเติม แต่นำเกมออกมาขายก่อน เพื่อนำรายได้จากยอดขายนั้น ไปพัฒนาฟีเจอร์และคอนเทนต์และปรับปรุงตัวเกมเพิ่มเติมในภายหลัง

อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ Kickstarter หรือ Crowfunding จะเป็นเหมือนการขอระดมเงินทุนไปพัฒนาเกม ยังไม่มีตัวเกมที่เล่นได้ แต่ Early Access ส่วนมากจะเป็นตัวเกมที่เล่นได้แล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์พร้อมนั่นเอง

ใครเป็นคนริเริ่มระบบ Early Access ?

ตามปกติแล้ว ไม่ว่าจะผลิตภัณฑ์อะไร ส่วนมากเวอร์ชั่นที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์จะไม่ถูกส่งไปยังมือของผู้ใช้งาน แต่วิดีโอเกมจะเป็นข้อยกเว้นที่แตกต่างกันออกไป เพราะการทำงานของวิดีโอเกมนั้น ต้องการการทดสอบระบบเพื่อค้นหาบั๊กต่าง ๆ ตามปกติแล้ว Developer หรือผู้พัฒนาเกม จะทำงานแยกส่วนกันกับ Publisher หรือผู้จัดจำหน่าย การทำงานแบบนี้ทาง Publisher อาจจะมอบเงินทุนจำนวนหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเกมให้ทางผู้พัฒนา แต่เกิดสถานการณ์ที่ทาง Publisher เองก็ไม่อยากจะเสี่ยงด้วย เลยปล่อยให้ตัวเกมวางขายแบบ Early Access เพื่อหาเงินทุนไปแทน ตัวอย่างเช่นโหมด Multiplayer ของ Halo 3 ก็เคยใช้วิธีนี้ หรือเกม Crackdown เองก็ด้วย

แต่ระบบ Early Access นี้ ได้รับความนิยมอย่างมากจากเหล่าสตูดิโอพัฒนาเกมอินดี้ทั้งหลาย ที่อยากจะขายเกมของตัวเองโดยไม่ผ่านทาง Publisher รวมไปถึงหลายสตูดิโอที่ควักเนื้อ ใช้เงินตัวเองมาเป็นทุนในการพัฒนา การนำเกมตัวเองออกขายในรูปแบบนี้ จึงมีโอกาสที่จะสามารถทำเงิน และนำเงินมาพัฒนากันต่อได้  แต่นั่น้ตองหมายความว่าตัวเกมของพวกเขามีดีจริง ตัวอย่างเกม Early Access ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปีนี้ที่เห็นได้ชัดก็เช่น Valheim เป็นต้น

และหากพูดถึงผู้ริเริ่มใช้ระบบการขายแบบนี้ในยุคแรก ๆ เชื่อหรือไม่ว่าหนึ่งในนั้นคือเกมที่ปัจจุบันคือเกมยอดนิยมระดับโลก นั่นคือ Minecraft ของ Markus Persson นั่นเอง เกมนี้เริ่มวางขายตั้งแต่ปี 2009 โดยเขาพัฒนาเกมนี้ควบคู่ไปกับงานประจำของเขา และปล่อยตัวเกมเวอร์ชั่นอัลฟ่าออกมาให้ผู้เล่นซื้อไปทดลองเล่นกันในราคา 15 $ เพื่อเข้าถึงตัวเกม ทำให้เขานำเงินรายได้จากส่วนนั้นไปพัฒนาตัวเกมต่อได้ และยอดขายเกมที่เพิ่มขึ้น ทำให้เขาลาออกจากงานประจำ เพื่อมาพัฒนาเกมเต็มรูปแบบ และก่อตั้งเป็น Mojang ขึ้นมา เพื่อขยายทีมพัฒนาให้ใหญ่ขึ้น และกลายเป็น Minecraft ที่ยิ่งใหญ่ในแบบที่ทุกคนรู้จักกันในวันนี้ มีรายงานว่า Minecraft ในตอน Early Access นั้น สามารถทำรายได้ไปมากถึง 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐกันเลยทีเดียว และความสำเร็จของ Minecraft นี่แหละ ที่ทำให้สตูดิโอพัฒนาเกมหลากหลายทีม เริ่มหันมาใช้ระบบการขายแบบ Early Access นี้

แม้ว่าเกมส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบ Early Access จะเป็นสตูโอเกมอินดี้ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่เกมระดับ AAA หลายเกมจะใช้วิธีนี้ ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และยุคนี้ก็เห็นบ่อยเสียด้วย กับการจ่ายเงินพรีออร์เดอร์ตัวเกมในเวอร์ชั่นที่แพงขึ้น เพื่อรับสิทธิ์ในการทดสอบตัวเกม หรือได้เล่นเกมล่วงหน้าก่อนวันขายจริง อย่างเช่น Back 4 Blood ที่หากพรีออร์เดอร์ตัวเกมในระดับ Deluxe Edition ขึ้นไป ก็จะเล่นเกมได้ก่อน 4 วัน หรือทาง EA ที่พยายามล่อให้คนสมัครสมาชิก EA Play เพื่อได้เล่นเกมก่อน หรือเข้าช่วงทดสอบก่อนเป็นต้น เพียงแต่หลากหลายสตูดิโอเกมใหญ่ ๆ ระดับ AAA มักจะไม่ใช้วิธีนี้กันสักเท่าไร เพราะผู้เล่นจะไม่ค่อยพอใจ ที่จะต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อได้เล่นก่อน

Steam กับการสนับสนุนระบบ Early Access

ก่อนหน้านี้ Steam ไม่ได้รองรับหรือสนับสนุนกับเกมที่เผยแพร่ด้วยระบบนี้ จนกระทั่ง 20 มีนาคม 2013 ที่ทาง Steam ได้เปิดโอกาสและสนับสนุนเกมระบบนี้ โดยเริ่มจาก 12 เกมแรกที่ถูกปล่อยออกมา และทางผู้พัฒนาได้ร้องขอคำติชมและฟีดแบคจากผู้ซื้อ และนำข้อมูลเหล่านั้นไปปรับปรุงและพัฒนาเกมให้ดียิ่งขึ้น และหลังจากนั้น ทาง Steam ได้ทำการเปิดตัวโปรแกรม Steam Greenlight เป็นโปรแกรมที่อาศัยความช่วยเหลือหรือฟีดแบคจากชุมชนคนเล่นเกม โดยทางผู้พัฒนาจะนำข้อมูลเกม ภาพสกรีนช็อต หรือตัวอย่างเกมมาโชว์ และให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินว่าเกมนั้นควรจะได้ไปต่อหรือไม่ แต่ระบบนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วในปี 2017 และเปลี่ยนมาใช้ระบบ Steam Direct แทน

กระบวนการของ Steam Direct จะต่างกันไปตรงที่ ทางผู้พัฒนาเกม้ตองทำการยื่นเอกสารยืนยันตัวตนด้วย และจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อนำเกมขึ้นมาขายบน Steam ซึ่งทาง Valve อ้างว่ามันคือการคัดกรองคุณภาพของเกมที่ถูกส่งเข้ามา เพราะถ้าใครที่ติดตามวงการเกม Early Access มานาน จะรู้ว่ามีหลายเกมที่ทำเอาชอกช้ำระกำใจจากการหลอกขายแบบนี้มาก มีทั้งเกมที่ใช้เวลานานเกินไป กว่าจะกลายเป็นเกมเต็ม หรือหนักกว่านั้นคือเกมที่ถูกลอยแพไปเลย ถ้าในไทยเราก็คงไม่เอ่ยถึงว่าเกมอะไร นอกจาก Dead Sea ชื่อกระฉ่อนโลกนั่นเอง ทำให้ใครหลายคนตั้งแง่กับเกมประเภทนี้พอสมควร เพราะไม่ใช่แค่ Dead Sea แต่มีหลายเกมเช่นกันที่ถูกลอยแพไป ทั้ง ๆ ที่ได้เงินจากคนเล่นไปแล้ว

แต่ด้วยความที่ปัจจุบัน ทุกอย่างสามารถแชร์และเข้าถึงได้ง่ายผ่านโลกยุคโซเชียลมีเดีย เราจึงไม่ค่อยจะเห็นซอฟต์แวร์เกมประเภท Vaporware แบบนี้อีกแล้ว แต่สิ่งที่ต้องระวังยังคงเป็นเกม Early Access บางเกมที่นำมาขายบน Steam ที่คุณภาพต่ำจนอาจจเรียกได้ว่า Demo เลยด้วยซ้ำไป เพราะเกมเหล่านี้ยังคงเล็ดลอดการคัดกรองมาขายได้เสมอ ผู้เล่นต้องระวังให้ดี

สิ่งที่ต้องเข้าใจเมื่อเล่นเกมแบบ Early Access

หลายคนยังคงเข้าใจผิดถึงระบบ Early Access เพราะคิดว่ามันคือเกมเต็มแล้ว แต่อย่างที่กล่าวไป Early Access คือเกมที่เราจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงเกมการเล่นได้ก่อนที่ตัวเกมจะพัฒนาเสร็จสิ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องเจออย่างแน่นอนเลยคือบั๊ก และข้อบกพร่องต่าง ๆ ซึ่งตัวเกมได้แจ้งรายละเอียดเอาไว้แล้วในหน้าร้านค้าของแต่ละเกม เกมนั้นอาจจะมีคอนเซปต์ดี น่าสนใจ แต่หากมันเป็น Early Access เมื่อไร เราต้องทำใจยอมรับไว้เลยว่า มันอาจจะมีข้อผิดพลาดมากมายเกิดขึ้นในเกมนั้น ๆ เบาหน่อยก็เช่นเกมเด้ง เกมหลุด เกมล่ม แต่หนักหน่อยอาจถึงขั้นเซฟหาย เล่นต่อไม่ได้เลย ก็มีให้เห็นเยอะแยะ

ดังนั้นก่อนที่จะซื้อตัวเกมใดก็ตามที่แปะหน้า Early Access ไว้ที่ร้านค้า ก็ต้องถามใจตัวเองดูว่าพร้อมจะรับความเสี่ยงกับปัญหาพวกนี้หรือไม่ หากว่ารับได้ ก็เพลิดเพลินกับตัวเกมให้เต็มที่และรอการอัปเดตใหม่ ๆ ทุกครั้งของตัวเกมได้เลย แต่หากรับไม่ได้ ก็อาจจะต้องรอการอัปเดตเพิ่มคอนเทนต์และฟีเจอร์เกมขึ้นมาก่อนแล้วค่อยเสียเงินก็ยังไม่สาย

 

SHARE

Aisoon Srikum

Back to top