BY BabeElena
10 Nov 18 5:44 pm

รู้จักกับ Deltarune วีดีโอเกมใหม่จากผู้สร้าง Undertale

89 Views

ย้อนไปในช่วงปี 2015 ได้มีเกมอินดี้เกมนึงที่มาเขย่าวงการเกมอินดี้ให้กลับมาติดไฟและเป็นที่น่าสนใจอีกครั้ง โดยเกมดังกล่าวถูกพัฒนาโดยนักพัฒนาเกมเพียงแค่คนเดียว แต่ก็สามารถสร้างกระแสและทำให้เกมเมอร์หลาย ๆ คนที่ได้เล่นเกมนี้ต้องถึงกับเสียน้ำตาไปกับเนื้อเรื่องอันแสนดีงามและดราม่าจากเกมฝีมือของคุณ “Radiation” หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของ “Toby Fox” กับผลงานของเขาในชื่อ “Undertale”

ตัวเกมได้รับกระแสและคำชมอย่างล้นหลาม จนเกิดเป็นกลุ่มสังคมของคนที่ชอบและรัก Undertale ที่มีขนาดใหญ่มาจนควบคุมไม่ได้ และหลาย ๆ คน น่าจะรู้กันดีว่าหลังจากนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราจะยังไม่พูดถึงส่วนนั้นในบทความนี้ ซึ่งแฟน ๆ หลาย ๆ คนก็ได้คาดหวังว่าคุณ Toby Fox จะสร้างภาคต่อของ Undertale มาคลี่ปมเนื้อเรื่องเดิมและมาสานต่อความดีงามของเกม ๆ นี้

จนกระทั่งเมื่อช่วงเทศกาล Halloween ที่ผ่านมา เหล่าแฟน ๆ เกม Undertale ต้องยินดีกับข่าวดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะเคยได้ยินกันเลยทีเดียว นั้นก็คือ “การประกาศใหม่จากคุณ Toby Fox” ที่ได้ทำการเปิดตัวเกมใหม่ที่มีชื่อว่า “Deltarune” โดยคุณ Toby ได้กล่าวว่า “หากคุณเล่น Undertale จบแล้ว คุณอาจจะสนใจเกม ๆ นี้” พร้อมกับการเปิดให้ดาวน์โหลดตัวเกมเดโม่ที่เราจะได้เล่น “บทแรก” ของ Deltarune กันแบบฟรี ๆ นี้อีกด้วย

แน่นอนในเมื่อคุณ Toby Fox ปล่อยตัวเกมเดโม่ Deltarune มาให้ลองเล่น 1 Chapter เต็ม ๆ กันขนาดนี้ มีเหรอที่ทาง GamingDose จะพลาดที่จะหยิบเจ้า Deltarune มาลองเล่นกัน โดยเราได้ทำการเล่นจบเดโม่ตัวนี้เป็นที่เรียบร้อย (ตัวเดโม่มีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง) และนี่คือสิ่งที่เราได้เห็นและได้รับรู้จากการเล่นเจ้าเดโม่ Deltarune ตัวนี้ มาดูกันครับว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจากผลงานก่อนหน้าบ้างครับ

คำเตือน : เนื้อหาส่วนนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องและเกมเพลย์ของ Deltarune และอาจจะมีการปรับเปลี่ยนในตัวเกมเวอร์ชั่นเต็ม

ระบบการต่อสู้ Turn-Based ที่ต่อยอดและพัฒนาจาก Undertale

นี่น่าจะเป็นจุดที่ดีงามที่สุดของ Demo Deltarune ตัวนี้เลยก็ว่าได้ กับระบบการต่อสู้แบบใหม่ที่ถูกพัฒนาจาก Undertale เป็นอย่างมาก โดยในภาคนี้ตัวเกมจะยังคงเป็น “Turn-Based RPG” เช่นเดิม แต่ก็ได้เพื่มความรวดเร็วในการต่อสู้และลูกเล่นใหม่ ๆ เข้ามาในเกมนี้ด้วย โดยในภาคนี้จะมีระบบ “Party” เพื่มเข้ามา ทำให้เราไม่ได้สู้เพียงลำพังแบบภาคแรกอีกต่อไป แต่ตัวเกมก็ยังมีลูกเล่นแปลก ๆ ที่ถูกใส่เข้ามาเช่น “เรื่องของความสัมพันธ์” ที่ถึงแม้ตัวละคร (บางตัว) จะเข้าปาร์ตี้ของเราแล้ว แต่เราก็ยังไม่สามารถควบคุมคำสั่งของตัวละครนั้นได้ ต้องเล่นตามเนื้อเรื่องเพื่อที่จะทำให้ตัวละครดังกล่าวอยู่ภายใต้คำสั่งของเราอย่างสมบูรณ์

และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ มุมมองการต่อสู้ของ Deltarune จะไม่ใช่มุมมองบุคคลที่หนึ่งแบบ Undertale อีกต่อไป แต่จะเป็นมุมมองบุคคลที่สามที่เราคุ้นเคยกับเกม Japanese RPG ในยุคเก่า ๆ อย่างซีรี่ส์ Final Fantasy ที่เราจะได้เห็นตัวละครของเราแบบเต็ม ๆ อยู่ด้านข้าง พร้อมกับแอคชั่นและแอนิเมชั่นการโจมตีที่เข้าถึงเนื้อถึงขนมากขึ้น จากเดิมที่จะเป็น Projectile Animation แบบ Dragon Quest, EarthBound

ส่วนระบบการหลบการโจมตีจาก Undertale ยังคงมีเช่นเดิม และถูกพัฒนาให้มีความ “Seamless” ไร้รอยต่อกับฉากต่อสู้มากขึ้น นอกจากนี้ตัวเกมได้นำเสนอระบบใหม่ ที่ตัวเกมได้พยายามให้ตัวเราเข้าไปหลบเฉียดใกล้ ๆ พวก Projectile ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ค่า “TP” มาไว้ใช้สกิลพิเศษได้ (ระบบคล้าย ๆ Touhou : Lunacy of Lunatic Kingdom ที่การหลบเฉียดฉิวจากมวลมหากระสุนจะทำให้เราได้รับของตอบแทน) โดยสกิลพิเศษจะมีประโยชน์มากต่อการต่อสู้ โดยเฉพาะกับสาย Mercy และทั้งหมดนี้ทำให้การต่อสู้ของ Deltarune จะมีความรวดเร็วและต้องใช้ไหวพริบในการเล่นค่อนข้างพอสมควร รวมถึงการโจมตีที่ยังคงใช้ระบบจากภาคแรกที่จะต้องกดให้ตรงเส้นถึงจะทำความเสียหายได้สูงสุด

โดยในภาคนี้นอดจากเราจะได้หลบฝูงกระสุนกันในฉากต่อสู้แล้ว แม้แต่ฉากทั่วไปบางครั้งก็จะมีโมเมนต์แบบนี้เช่นกัน โดยคุณจะต้องหนีตายจากเหล่าฝูง Hitbox Projectiles เพราะหากไม่หลบ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในฉากต่อสู้แต่หากคุณไปโดน คุณก็จะได้รับความเสียหายอยู่ดี (ระบบเดียวกับ Mother 3) เรียกได้ว่าตัวเกมได้ให้เราได้สนุกได้มากกว่าฉากต่อสู้และเนื้อเรื่อง

แต่หลาย ๆ คนอาจจะงงว่า แล้วทำไมผู้เขียนไม่พูดถึงตัวเลือกในการต่อสู้แบบ “Undertale” ที่สามารถเลือกได้ว่าจะลุยแบบสายฆ่า หรือลุยแบบสายสันติ คำตอบในส่วนตรงนี้จะอยู่ในหัวข้อต่อไปครับ

เนื้อเรื่องที่เป็นเส้นตรง การกระทำของเราจะไม่ส่งผลอีกต่อไป

ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าพัฒนาขึ้นหรือว่าถอยหลังรึเปล่า สำหรับใน Deltarune ทีไ่ด้ตัดทางเลือกของตัวเกมอย่างที่เราจะชอบเรียกกันว่า “Route” ออกไป โดยตัวเกมได้ให้เหตุผลตั้งแต่ต้นเกมแล้วว่า “ตัวเลือกของคุณไม่สามารถกำหนดอะไรได้” ตั้งแต่การตั้งชื่อตัวละครที่สุดท้ายแล้วตัวเกมก็บังคับให้ใช้ชื่อว่า “Kris” พร้อมกับตัวละครที่เราแต่งมาก็ไม่ได้ใช้ ตลอดจนระบบการต่อสู้ที่ไม่ว่าคุณจะเลือก “สู้” หรือ “สันติ” ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่แตกต่างกันและไม่ส่งผลต่อเนื้อเรื่องเลย

และที่ยิ่งชัดเจนที่สุดก็คือมันจะมีบางบอสจะบังคับให้คุณต้องลุยไปในทิศทางใดทิศทางนึง คุณจะไม่สามารถฆ่าบอสตัวนั้นได้ คุณต้องเล่นสายสันติเพื่อเอาชนะบอสตัวนั้นเท่านั้น หรือเรียกได้ว่าระบบ Fight, Mercy ของเกมนี้ เป็นแค่กลยุทธ์ในการต่อสู้เท่านั้น และไม่ส่งผลต่อเนื้อเรื่องในอนาคตแบบ Undertale

แต่สิ่งที่เราได้มาทดแทนก็คือเราจะรู้สึกอินกับเนื้อเรื่องมากขึ้น เพราะเรื่องบทภาคนี้ถือว่าปูออกมาได้น่าสนใจมาก โดยดูเหมือนว่าใน Deltarune เราจะได้ลุยเนื้อเรื่องบนโลกเบื้องบนกันบ้างแล้ว หลังจากที่ Undertale ได้ทำการพาเราไปโลกใต้ดินของโลกใบนี้ และยิ่งเฉพาะกับคนที่เคยเล่น Undertale มาก่อน คุณจะต้องกริ๊ดกับสิ่งที่เกมนี้นำเสนออย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ถึงตัวเกมเดโม่จะนำเสนอออกมาเป็นแบบนี้ แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในตัวเกมเวอร์ชั่นเต็ม ไม่แน่ใน Deltarune ตัวเต็มเราอาจจะได้เลือกทางเลือกแบบ Genocide, Pacifist ก็เป็นได้ครับ

Delta Rune

เรียกได้เต็มปากว่าเป็น Undertale 2 ได้หรือไม่ ??

เป็นอีกเรื่องนึงที่แฟน ๆ กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าเจ้าเนื้อเรื่องของ Deltarune นั้นเซตติ้งอยู่ช่วงไหนของเนื้อเรื่องของ Undertale ? เกิดก่อนเนื้อเรื่อง Undertale ?? เกิดหลังเนื้อเรื่อง Undertale ?? เป็นจักรวาลใหม่ ?? ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทฤษฏีไหน มันก็ดูเป็นไปได้หมดเลยทั้งสิ้น (เถียงกันจนตีกันไปหมดแล้ว)

แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนแล้ว ขอลองนำเสนอทฤษฏีหน่อยละกัน เพราะจากที่ทางผู้เขียนได้ลองเล่นตัว Demo แล้ว ทางผู้เขียนกลับไม่ได้รู้สึกว่าได้ “เล่นเกมในซีรี่ส์ Undertale” แต่อย่างใด หรือหากจะบอกว่านี่เป็น “เกมใหม่” ที่แค่ใช้ Assets ของ Undertale ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน

เพราะด้วยเซตติ้งเนื้อเรื่องที่นำเสนอ บวกกับ Dialogue ต่าง ๆ ที่เราได้ค้นพบจากการสำรวจหรือพูดคุยกับเหล่ามอนสเตอร์ต่าง ๆ มันกลับแทบไม่มีอะไรที่กล่าวถึงเหตุการณ์ใน Undertale เลยด้วยซ้ำ อย่างมากสุดก็มีเพียงแค่ “ตัวละครเก่า ๆ” แต่ตัวละครเหล่านี้ก็แทบไม่รู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับ Undertale เลย หรือจะกล่าวได้ว่าสำหรับผู้เขียนแล้ว นี่ไม่ใช่ภาคต่อของ Undertale แต่กลับเป็นเกมใหม่เอี่ยมเลย โดยอารมณ์จะประมาณ Shin Megami Tensei กับ Persona ที่ถึงแม้ทั้งสองจะจัดเป็นซีรี่ส์เกมเดียวกัน แต่โดยรวมก็แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย (จนพักหลัง ๆ ต้องจับแยกออกมาเป็นสองซีรี่ส์)

ซึ่งเรื่อง ๆ นี้จริง ๆ แล้วคุณ Toby Fox ก็ได้ให้คำตอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าเนื้อเรื่องของเกมนี้จะไปอยู่ในส่วนไหน หรือนำเสนอในรูปแบบของอะไร แต่อาจจะยังไม่ค่อยชัดเจนมากนัก และยังคงทิ้งคำถามให้แฟน ๆ ได้มโนและสร้างทฤษฏีกันต่อไปครับ

อย่างไรก็ดี ทฤษฏีและสิ่ง ๆ ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้กล่าวไปนั้น ล้วนเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวและการมโนของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งอย่าได้เชื่อทฤษฏีนี้และเอาไปหลอมรวมกับเนืัอเรื่องหลัก เพราะไม่นั้นมันอาจจะทำให้ข้อมูลของคุณผิดเพี้ยนได้อย่างแน่นอน

Delta Rune

เพลงประกอบที่ทรงพลังและหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ผลงานเก่าของ Toby Fox อย่าง Undertale ขึ้นชื่อเรื่องเพลงประกอบที่ทรงพลังและดีงามเป็นอย่างมาก แถมบางเพลงน่าจะทำให้หลาย ๆ คนติดหูมานานนักต่อนักแล้ว เรียกได้ว่า Undertale น่าจะเป็นเกมอินดี้เกมนึงที่มี Soundtrack ที่เป็นที่รักของเกมเมอร์อันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้

มาในผลงานใหม่อย่าง Deltarune ซึ่งหากคุณกลัวว่าในเกมนี้คุณภาพหรือเพลงจะไม่ติดหูหรือไม่ดีงามเท่า Undertale แล้วล่ะก็ เราก็ขออยากให้ลองมาเล่นและได้เสพเพลงของ Deltarune ดู เพราะจากที่ตัวผู้เขียนได้เล่น ขอบอกเลยว่าเพลงประกอบเพลงนี้ “มีแนวโน้มที่จะดีงามยิ่งกว่า Undertale” ด้วยซ้ำ ด้วยการบรรเลงและการแต่งที่ดีงามและชวนติดหูแทบจะ “ทุกเพลง” ไม่ว่าจะเป็น “Field of Hope and Dreams” ที่สำหรับตัวผู้เขียนแล้วน่าจะเป็นเพลงที่ติดหูที่สุดของ Deltarune ในบทที่ 1 นี้ และที่ดีงามอีกอย่างก็คือ “เพลงตอนต่อสู้ปกติ” ของเกมนี้มันดีดและมันส์มากจนตัวผู้เขียนเองอยากจะปล่อยฉากต่อสู้ทิ้งไว้อย่างนั้นเลย

และที่อี้งที่สุดคือ “เพลงสุดท้าย” ที่จะปรากฏอยู่ในช่วงท้ายเกม ที่ขนาดตัวผู้เขียนไม่ได้อินกับเกม Undertale ภาคแรกอะไรมาก แต่พอได้ยินเพลงนี้แล้วก็อดที่จะขนลุกและอิ่มเอมใจไม่ได้เลย แม้มันจะเป็นเพียงแค่เพลงสั้น ๆ แต่นี่คือตัวบ่งบอกถึงฝีมือในการประพันธ์เพลงของ Toby Fox ที่ไม่ได้ตกลงไปเลย แถมยังได้พัฒนาขึ้นไปอีกด้วยซ้ำไปครับ

Delta Rune

กราฟิกเกมที่มีรายละเอียดมากขึ้น แต่ยังคงใช้รูปแบบงานศิลป์ของเดิม

สำหรับหัวข้อนี้ก่อนอื่นผู้เขียนอยากจะให้แยกระหว่าง “คุณภาพกราฟิก” กับ “อาร์ตสไตล์” ออกจากกันเสียก่อน เพราะว่าหากคุณไม่แยกออกจากกัน คุณอาจจะมองว่าเกมนี้ “ภาพแย่” หรือ “ภาพกาก” ก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดีรสนิยมของทุกคนไม่เหมือนกัน คุณอาจจะมองว่า Deltarune มีกราฟิกที่แย่หรือโคตรเทพก็ได้ทั้งนั้น

ผลงานก่อนหน้าของคุณ Toby Fox อย่าง “Undertale” เป็นเกมที่ใช้ความละเอียดกราฟิกที่ไม่สูงมากนัก แต่มันกลับมีความสวยงามในแบบของมัน ที่ผู้เล่นหลาย ๆ คนที่เปิดใจแล้วสามารถยอมรับและเข้าถึงกราฟิกและอาร์ตสไตล์แบบนี้ได้ราวกับพวกเขาไม่เกี่ยงอีกต่อไปแล้วว่า จะต้องภาพสวยระดับเกม Cinematic AAA สมจริงราวกับกระเพราไก่ไข่ดาวที่เอาซ้อมจิ้มแล้วไข่แดงไหลเยิ้ม โดยกราฟิกของเกม Undertale จะให้อารมณ์ออกไปทางระหว่างเครื่อง Famicom กับ Super Famicom โดยใช้เทคโนโลยียุคใหม่ในการเรนเดอร์ภาพออกมาให้มีความลื่นไหลและสมูทมากยิ่งขึ้น

มาในส่วนของ Deltarune ตัวเกมได้ใช้ Artstyle ถึงสองรูปแบบ โดยแต่ละรูปแบบก็จะเป็น “ตัวแทน” ของแต่ละโลกไปเลย ยกตัวอย่างเช่นหากเป็น “โลกเบื้องบน” ตัวเกมจะใช้ Artstyle ที่ให้อารมณ์ออกไปทางวีดีโอเกมของ Super Famicom หรือหากยังไม่ชัดเจนหรือยังนึกภาพไม่ออกก็ให้นึกถึง “EarthBound” โดยตัวฉากและตัวโลกจะถูกออกแบบมาอย่างสวยงามและมีรายละเอียดที่ค่อนข้างสดใส
ส่วนในฝั่งของ “โลกใต้ดิน” ตัวเกมจะใช้ Artstyle แบบเดียวกับ Undertale ที่จะไม่ค่อยเน้นความละเอียด แต่จะเน้นความเป็น “งานศิลป์” ที่ใช้รายละเอียดที่น้อยแต่สามารถทำให้โลกใต้ดินดูเป็นโลกใต้ดิน และมีอะไรแตกต่างจากโลกเบื้องบนจริง ๆ โดยตัวภาพนั้นมีจะเน้นโทนมึดและหม่นกว่า Artstyle ของโลกพื้นดินอย่างเห็นได้ชัด

โดยการออกแบบและการแบ่ง Artstyle ให้มีสองรูปแบบสองโทนในเกมเดียวนั้น ทำให้ทางผู้เขียนนึกถึง “The Legend of Zelda : A Link to the Past” ที่ตัวเกมนำเสนอ Artstyle สองรูปแบบ อย่าง “Light World” กับ “Dark World” ที่ทั้งสองโลกถึงแม้จะมีโครงสร้างที่คล้าย ๆ กัน แต่ด้วยการออกแบบและเซตติ้งระหว่างสองโลกนี้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า “สองโลกนี้แตกต่างกันจริง ๆ”

ซึ่งหาก Deltarune จงใจจะให้ผู้เล่นได้ความรู้สึกแบบนี้ล่ะก็ เราต้องขอชมคุณ Toby Fox เลยว่า “เจ๋งมาก” เพราะบ่อยครั้งเรามักจะมองว่า “เกม ๆ นึงควรมีอาร์ตสไตล์แบบเดียว” ด้วยความเข้าใจที่ว่าหากเกมๆ นึงมันมีหลาย ๆ อาร์ตสไตล์แล้ว มันจะดูล้น ๆ และไม่เข้ากัน แต่กับ Deltarune มันกลับลงตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย

Delta Rune

แต่แน่นอน Deltarune ไม่ใช่เกมสำหรับทุกคน

ถึงแม้เราจะได้อธิบายถึงความดีงามของ Deltarune มาตลอดทั้งบทความ แต่ทางผู้เขียนต้องขอยอมรับว่า ถึงทางผู้เขียนจะสามารถรู้ถึงความดีงามและความใส่ใจของเกมนี้ได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนกลับรู้สึกระหว่างการเล่นก็คือ “เล่นแล้วจะหลับ” คือผู้เขียนรับรู้ได้ว่าเนื้อเรื่องเกมนี้ดีมาก เพลงประกอบดีมาก ระบบต่อสู้ก็ดีงาม แต่ด้วยความที่ตัวผู้เขียนเป็นคนที่สมาธิค่อนข้างสั้น ทำให้ระหว่างการเล่นอาจจะมีอาการเพลียหรือง่วงบ้าง แต่คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อผู้เขียนก็ได้ เพราะบางทีอาการง่วงมันก็อาจจะการนอนหลับที่ไม่เพียงพอแหละ

อย่างไรก็ตาม Deltarune ก็ไม่ใช่เกมสำหรับทุกคนอย่างแน่นอน เพราะเกมนี้อาจจะไม่เหมาะกับสายเสพกราฟิกมากกว่างานศิลป์ อาจจะไม่เหมาะผู้ที่ชื่นชอบเกมเพลย์ที่ล้ำยุค หรืออาจจะไม่เหมาะกับผู้เล่นสาย Casual ที่ต้องการความชิลล์และความกินง่าย เพราะ Deltarune ก็ถือว่าเป็นเกมที่ที่มีความยากในระดับนึงเลยทีเดียว และต้องอาศัยการอ่านเนื้อเรื่อง เพราะตัวเกมไม่มีการใช้เสียงพากย์ อ่านล้วน ๆ เลย

แต่อย่างไรก็ดี หากคุณไม่มีปัญหาเรื่องกราฟิกหรือสิ่งที่เกมนี้นำเสนอล่ะก็ Deltarune จะพร้อมมอบประสบการณ์อันแสนวิเศษและอิ่มเอมให้กับคุณ โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นแฟน Undertale อยู่แล้ว หากคุณได้เล่นเกม ๆ นี้ คุณจะรู้สึกฟินและขนลุกกับสิ่งที่เกมนี้นำเสนอและมอบให้กับคุณอย่างแน่นอนครับ

Delta Rune

โดยรวมแล้ว Deltarune นั้นเป็นอีกหนึ่งวีดีโอเกมที่ถึงแม้จะเปิดตัวแบบกระทันหัน แต่ด้วยตัวเกมเดโม่ที่ถูกนำเสนอได้อย่างน่าสนใจและมีการพัฒนาจากเกมก่อนหน้าของคุณ Toby Box ทำให้ Deltarune ถือว่าเป็นเกมอินดี้อีกเกมนึงที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากแบบไม่ต้องสงสัย ด้วยการหยิบกลิ่นอายและนำเสนอ Undertale ในรูปแบบใหม่ที่แฟน ๆ ไม่เคยลิ้มลองกันมาก่อน บวกกับความลงตัวและความใส่ใจแล้วก็ยิ่งช่วยทำให้ Deltarune นั้นดีงามเข้าไปอีก

อย่างไรก็ดี นี่คือความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนและเป็นความคิดเห็นต่อตัวเกม “เดโม่” เท่านั้น ส่วนตัวเกมตัวเต็มอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย และอาจจะออกมาดีหรือแย่ก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น Deltarune จะสามารถก้าวผ่านและสร้างมาตรฐานใหม่จากผลงานเดิมอย่าง Undertale ได้หรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นตัวพิสูจน์ครับ

SHARE

BabeElena

Back to top