BY StolenHeart
21 Oct 18 4:55 pm

Tool-Assisted และ Speedrun อีกโลกหนึ่งของการพิชิตเกมในแบบที่คาดไม่ถึง

67 Views

โดยปกติแล้วผู้เล่นอย่างพวกเราส่วนใหญ่มักจะเพลิดเพลินกับวิดีโอเกมในแบบที่ทางผู้พัฒนาเกมอยากให้เราเล่นกันมากกว่า แต่ก็ยังมีการเล่นอีกแบบหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบและมักหามาดูอยู่เสมอด้วยความน่าทึ่งของมัน แม้จะมันจะเป็นการเห็นที่ค่อนข้างแหกกฎเกณฑ์ไปมากแต่ก็ประทับใจเสมอ ซึ่งนั้นก็คือการเล่นเกมแบบ Speedrun และใช้ Tool-Assisted นั้นเองครับ

แล้ว Tool-Assisted คืออะไร? อธิบายสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ คือการใช้โปรแกรมช่วยเล่นเพื่อโชว์ให้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรในเกมได้บ้าง โดยการใช้ทั้งอุปกรณ์เซ็ทติ้งให้กดตามคำสั่งที่ตั้งเวลาไว้ล่วงหน้า ใช้โปรแกรม Emulator หน่วงเวลาให้ช้าลงหรือย้อนเวลากลับไป เพื่อดูว่ารูปแบบศัตรูในเกมจะทำอย่างไรต่อไป ที่น่าทึ่งคือสามารถย้อนดูและแก้ได้แบบทีละเฟรมเลยทีเดียว

ซึ่งจุดประสงค์ที่เหล่าผู้สร้างคลิปหรือเล่นแบบ Tool-Assisted นั้นไม่ใช่เพื่อให้เล่นเกมได้ง่ายขึ้น หากแต่เป็นการโชว์ว่าเกมสามารถทำอะไรได้บ้างในแบบที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้ เพราะด้วยความสามารถของโปรแกรมอุปกรณ์ที่นำมาใช้ทำให้เราได้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรกับเกมได้บ้าง ทั้งนี้ทั้งจะไม่มีการแก้ไขค่าสถิติของเกมด้วยโปรแกรมหรืออุปกรณ์อื่น ๆ แบบเดียวกับ Trainer ที่เอาไว้ใช้โกงเกม แต่อาจจะมีการใช้ Bug หรือ Glitch ของเกมเพื่อให้ผ่านด่านได้ไวขึ้น ผู้จัดทำคลิป Gameplay ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะบอกเสมอว่าคลิปที่สร้างขึ้นนั้นใช้งาน โปรแกรม Tool-Assisted ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ เพื่อป้องกันข้อครหา

คลิปโชว์การเล่นเกม Capcom vs SNK 2 แบบ TAS ที่โชว์ความโหดแบบไม่ใช่แค่เล่นให้ผ่านเท่านั้น

สำหรับในโลกของเกมต่อสู้ก็มีการใช้งานโปรแกรมหรืออุปกรณ์เพื่อทำคอมโบหรือโชว์อะไรแปลก ๆ ให้เราได้เห็นกันอยู่เสมอ แต่โดยมากมักจะเป็นการทำคอมโบในแบบที่มนุษย์ส่วนใหญ่กดกันไม่ได้ด้วยมือกันมากกว่า และแน่นอนว่าจะมีการกำกับไว้ด้วยว่าคอมโบในคลิปนี้ใช้โปรแกรมช่วย แบบนี้เป็นต้น

ต้นกำเนิดของการเล่นเกมแบบ Tool-Assisted นั้นมาจากในช่วงปี 1999 ที่ตอนนั้นเริ่มการท้าทายกันเองในกลุ่มชุมชนคนเล่นเกมว่าใครจะเคลียร์เกม DOOM ภาคแรกสุดได้ไวกว่ากัน และก็มีบุคคลนามว่า Aurican ได้ปล่อยตัวเกมเวอร์ชั่นดัดแปลง Source Code ของเกม ให้ผู้เล่นสามารถบันทึกไฟล์ Demo แบบ Slow Motion ได้ และหลังจากนั้น Esko Koskima, Peo Sjoblom และ Joonatan Donner สามสหายก็ได้เปิดเว็บไซด์สำหรับแชร์การเล่นแบบ Speedrun ที่มีการใช้ Tool-Assisted เป็นตัวช่วยขึ้น และชุมชนผู้เล่นที่ชื่นชอบการ Speedrun และ Tool-Assisted ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะเน้นไปที่ความบันเทิงมากกว่าแข่งขันกันทำเวลามากกว่า

คลิปการเล่นแบบ Speedrun ที่ใช้ Tool-Assisted นั้นเริ่มฮือฮาขึ้นหลังจากนั้นหลายปี ในปี 2003 มีผู้เล่นชาวญี่ปุ่นโชว์เทพเล่นเกม Super Mario Bros 3 จบภายใน 11 นาทีโดยไม่ตายแม้แต่ตัวเดียว โดยในคลิปนั้นนอกจากจะโชว์การใช้ขลุ่ยข้าม World ที่เป็นไอเท็มลับของเกมในภาคนั้นแล้ว ยังโชว์การหลบพลิ้วที่น่าทึ่งที่สุดให้เราได้เห็นกันแบบไม่มีหยุดอีกด้วย ก่อนที่หลังจากนั้นจะมีคนเฉลยในภายหลังว่าผู้จัดทำวิดีโอได้ใช้โปรแกรมช่วยเหลือเพื่อให้สามารถทำในสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าก็มีกระแสด้านลบออกมามากมายเพราะหลายคนที่เห็นครั้งแรกต่างก็คิดว่าคลิปนี้มาจากฝีมือการเล่นแบบสด ๆ จริง ๆ โดยไม่ใช้ตัวช่วยใด ๆ จนกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์สมัยนั้นอย่างใหญ่โตที่สุดครั้งหนึ่งทีเดียว แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็มีคนที่ชื่นชอบในการเล่นลักษณะนี้อยู่พอสมควร และยังมีคลิปวิดีโอที่เล่นเกมแบบ Speedrun ด้วยการใช้ Tool-Assisted ออกมาให้ดูกันอย่างสม่ำเสมอ

คลิป Speedrun 11 นาทีของผู้เล่นชาวญี่ปุ่นที่ใช้ Tool-Assisted จนกลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อปี 2003

ปัจจุบันนี้การเล่นเกมด้วย Tool-Assisted ยังคงมีให้พบเห็นได้บ่างทั้งจากผู้เล่นสาย Speedrun บางคน แต่ในกลุ่มชุมชนผู้เล่นและจัดอันดับการเล่นนั้นจะมีการแบ่งชัดเจนว่าเป็นการเคลียร์เกมแบบ Speedrun แบบไหนบ้าง ซึ่งโดยมากการเล่นแบบ Speedrun จะวัดกันที่การเล่นแบบ Real Time Attack ที่ไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น และแบ่งแยกย่อยไปอีกคือการจบเกมแบบเร็วที่สุดทั้งแบบที่ไม่ใช้ Glitch ของเกม กับแบบที่ใช้ทุกวิถีทางเพื่อจบเกมให้เร็วที่สุด โดยมีการบันทึกสถิติเป็นเรื่องราวที่เว็บไซด์ speedrun.com แบ่งหมวดหมู่ชัดเจนว่าผู้เล่นคนนั้นจบเกมแบบไหนบนเครื่องอะไร และตัวเกมเป็นแบบ Rom Hack หรือไม่ และเก็บรายละเอียดในตัวเกมไปสมบรูณ์แค่ไหน

ส่วนสำหรับผู้อ่านที่สนใจในการทำ Gameplay แบบ Tool-Assisted ตอนนี้ก็ยังพอหาตัว Emulator กับ Rom Hack เพื่อมาสร้างคลิปของตัวเองได้ตามเว็บไซด์ของผู้พัฒนา Emulator บางเจ้า และถ้าใครสงสัยว่าคลิปการเล่นเกมที่ดูเวอร์ ๆ นั้นเป็นการเล่นจริง ๆ หรือใช้อุปกรณ์ช่วย ก็สามารถสังเกตได้จากชื่อคลิปที่เป็นคำว่า TAS หรือ Tool-Assisted Superplay กำกับไว้ด้วยนะครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง – Wikipedia

TASvideo.com

speedrun.com

Basic Fighting Game TAS Etiquette: General Guidelines – Combovid.com

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top