BY Aisoon Srikum
29 Dec 19 12:51 pm

“Survival” แนวเกมที่ผู้พัฒนาชอบนำมาหากินผ่านวิธี “Early Access”

51 Views

พูดถึง Early Access อาจจะเป็นระบบที่ผู้เล่นไม่ค่อยจะชอบกันสักเท่าไร เพราะมันเหมือนการส่งผลงานเกมที่ยังพัฒนาไม่เสร็จ ออกมาวางขายให้ได้เล่นกันล่วงหน้า เพื่อเก็บเงินจากยอดที่ขายได้ นำไปพัฒนาต่อ บางเกมก็ใช้เวลาไม่นาน ในขณะที่บางเกมกลับใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าตัวเกมจะสำเร็จ Full Game หรือบางเกมก็ถูกลอยแพ ทำเอาเสียเงินเปล่าก็มีให้เห็นกันถมเถ วันนี้เรามาพูดถึงแนวเกมยอดนิยมที่มักจะถูกหยิบนำมาสร้างเป็น Early Access กันมากที่สุด นั่นคือเกมแนวเอาชีวิตรอด หรือ Survival ทำไมมันถึงเป็นแนวยอดนิยมที่ถูกนำมาสร้างขายหากินมากที่สุดกันแน่ วันนี้เรามาลองมองหาคำตอบที่พอจะมีความเป็นไปได้กัน

ยุคสมัยแห่งเกมแนว Survival

เกมแนว Survival เริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ช่วงหลายปีก่อน มันเป็นที่สนุก ตื่นเต้น ลุ้นระทึก เมื่อเราเกิดมาโดยไม่มีอะไรเลย สิ่งที่เราต้องทำ คือออกหาวัตถุดิบ ทรัพยากร สร้างที่พัก ก่อนที่จะต้องหาน้ำ อาหาร ซึ่งบางเกมก็จะมีเป้าหมายในการเล่นที่แตกต่างกันไป บางเกมอาจจะมีเนื้อเรื่อง บางเกมก็ Sandbox ให้อิสระกับผู้เล่นมากที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่าผู้เล่นอาจจะขาดเป้าหมายในการเล่นไป

เราไม่อาจบอกได้ว่าเกมไหนกันแน่ที่จุดกระแสเกมแนว Survival ขึ้นมา แต่ปัจจุบันเกมดัง ๆ ที่เป็นแนวนี้ก็มีมากมายทั้ง Minecraft , 7 Days to Die , RUST หรือแม้กระทั่ง Ark : Survival Evolved ที่ยังอยู่ยงคงกระพันมาจนทุกวันนี้ และเพราะแนวเกมที่เข้าถึงง่าย สนุก เพลิดเพลิน และเล่นกับเพื่อนก็ดี เล่นโซโล่ก็ได้ เกมแนวนี้จึงเป็นที่นิยมเสมอมา

เมื่อเข้าถึงง่าย ความมักง่ายจึงบังเกิด

หลังจากที่เกมแนวนี้ประสบความสำเร็จขึ้นมาอย่างมากมายจากหลากหลายเกม ผู้พัฒนาที่คิดจะหากินกับวิธีการทำเกมแบบนี้จึงเริ่มทยอยงอกขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แล้วทำไมเกมแนว Survival ถึงเป็นแนวที่นิยมนำมาทำเป็นเกมประเภท Early Access ?

คำตอบคือเพราะมันง่ายและดึงดูดคนมากกว่า ต้องยอมรับว่าเกมแนวปลูกผัก ทำฟาร์ม ที่ Co-op ได้ หรือเอาตัวรอด เช่นช่วยกันหาน้ำ หาอาหาร เล่นด้วยกัน มันมีแรงดึงดูดที่ดีกว่ามาก ในการจะขายกลุ่มผู้เล่นสักกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนรักการเล่นเกมแบบ Multiplayer เป็นชีวิตจิตใจ

และเกมแนว Survival อาจจะยังไม่ต้องใส่คอนเทนต์อะไรเข้าไปมากมาย เพียงสร้างฉากหลังที่ไม่ต้องเซ็ทอะไรมาก โลกเกิดเชื้อไวรัส ซอมบี้บังเกิด หรือหายนะธรรมชาติ ทำให้ผู้เล่นต้องเอาตัวรอด แค่นี้คุณก็สามารถสร้างเกม Survival ขึ้นมาได้แล้ว จากนั้นจะอัพเดทหรือพัฒนาอะไรใส่เข้ามาเพิ่มเติมค่อยว่ากันอีกทีนึง

ในปี 2019 นี้เราเห็นหลายเกมที่สร้างขึ้นด้วยความมักง่ายอยู่หลายเกม เช่น Invasion 2037 หรือแม้แต่ RE:Legend ที่มีมาตรฐานสูงขึ้นมาหน่อย แต่ตัวเกมก็ยังทำให้ผู้เล่นหลายคน รวมทั้งเหล่า Backers ที่สนับสนุนกันมาแต่แรกนั้นต้องผิดหวังไปตาม ๆ กัน แม้ว่าเราอาจจะตัดสินได้ไม่เต็มปากนัก แต่ประสบการณ์อันเลวร้ายของเกมแนว Early Access นั้น มีให้เราเห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น Dead Sea เกมที่คนไทยไม่เคยลืมเลือนถึงวีรกรรมลอยแพครั้งใหญ่ หรือล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ อย่าง Day of Dragons ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการขายฝันครั้งใหญ่ของทีมผู้พัฒนาอีกครั้ง

มีเนื้อเรื่องให้จบไป หรือเป็น Sandbox ให้เล่นแบบไร้ขีดจำกัดดี ?

โจทย์ใหญ่สำหรับเกมแนวเอาชีวิตรอด คือ เกมควรจะมีเนื้อเรื่องดีหรือไม่ เพราะบางเกม ความเป็น Sandbox ไร้ขีดจำกัดของมันจะเกิดปัญหาคือ ผู้เล่นอิ่มตัว และไม่รู้จะเล่นไปทำไม แต่ถ้ามีเนื้อเรื่อง การเอาตัวรอดของมันก็จะถูกย่อสเกลลงมา และอาจตัดโหมด Multiplayer ทิ้งไปเลย แต่ก็มีบางเกมที่หาจุดลงตัวให้มันได้ดีเหมือนกัน

สำหรับเกมที่ไม่มีเนื้อเรื่อง คอนเทนต์ในช่วง Early Access นั้นจะทำได้ค่อนข้างง่าย อย่างมากก็แค่อัพเดทเพิ่มบางส่วนเข้าไป แต่การทำแบบมีเนื้อเรื่องนั้นก็กะช่วงเวลาในการอัพเดทได้ยากเหมือนกัน ถ้าปล่อยช่วงนานเกินไป ผู้เล่นก็อาจจะเบื่อเอาได้ และไม่กลับมาเล่นเกมอีก

สุดท้ายมันจึงอยู่ที่ตัวผู้พัฒนาจริง ๆ ว่าพวกเขามีแผนจะจัดการอัพเดทยังไงกับเกมของตัวเอง และมันคงไม่สามารถตอบโจทย์ให้ผู้เล่นทุกคนทุกประเภทได้อยู่แล้ว

เราจะได้เห็นเกมแนวเอาชีวิตรอดกันอีกเยอะแน่นอน

เชื่อเถอะว่าแม้จะผ่านมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วในช่วงยุครุ่งเรืองของเกมแนวนี้ แต่ใครจะเชื่อว่าในอนาคตเราจะเจอเกมแนวนี้อีกมากมาย เลยทีเดียว เพราะตราบใดที่มันยังเป็นช่องทางการหาเงินง่าย ๆ เราก็ยังคงต้องเจอวิธ๊การหากินแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเราจึงต้องเป็นคนเลือกพิจารณาการซื้อเกมแต่ละเกมด้วยตัวเอง แม้ว่าบางเกมจะเปิดตัวได้น่าเชื่อถือ ดูดีแค่ไหน แต่ตราบใดที่เป็น Early Access มันก็ยังคงความไม่น่าไว้วางใจนัก จะโทษผู้บริโภคก็ไม่ได้ เพราะเหล่าผู้พัฒนาเอง หรือคนในวงการก็มีส่วนในการดิสเครดิตวงการตัวเองหลายครั้ง

สุดท้ายแล้วเราจะเลือกเกมไหนมาเล่น ก็สุดแล้วแต่ความสุขของเราในการจ่าย แต่ถ้าโชคร้ายไปเจอเกมที่ถูกลอยแพ เราก็คงทำได้แต่เอาหัวเข่ามาเช็ดน้ำตาตัวเองเท่านั้น

Aisoon Srikum

Back to top