BY Aisoon Srikum
10 Feb 22 5:04 pm

Martial Arts เมื่อศิลปะการต่อสู้ถูกใส่เข้าไปในโลกวิดีโอเกม

27 Views

Martial Arts หรือศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัว หลากหลายประเทศทั่วโลกก็จะมีศิลปะการป้องกันตัวที่แตกต่างกัน เช่นประเทศไทยก็อาจจะนึกถึงแม่ไม้มวยไทย จีนก็อาจจะเป็นกังฟู เกาหลีก็จะนึกถึงเทควันโด และศิลปะการต่อสู้ต่าง ๆ ก็ถูกหยิบมาใช้ในวิดีโอเกมอยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งที่มีการใส่ Martial Arts ลงไปในเกม ก็จะได้รับความสนใจและโดดเด่นเป็นอย่างมาก ดูอย่าง Sifu ที่เพิ่งเปิดตัวไปนี้ก็ย่อมได้ แต่วันนี้เราจะพาทุกท่านย้อนมาดูเกมเด่น และเรื่องราวสำคัญ ๆ ของ Martial Arts หรือศิลปะการต่อสู้ที่ถูกใส่เข้ามาในวิดีโอเกมกัน

จุดเริ่มต้น

ย้อนกลับไปสมัยที่เครื่องเล่นเกม 8 Bit ยังถือเป็นเครื่องที่แรงที่สุดในยุคนั้น คือช่วงปี 1970 ช่วงนั้นด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ศิลปะการต่อสู้ไม่ได้ถูกนำไปใส่ไว้ในเกมแนวอื่นมากนัก นอกเสียจากเกมแนว Fighting และเกมต่อสู้ในยุคนั้นจึงยังมีน้อยมาก ๆ อยู่ จนกระทั่งโลกเข้าสู่ยุคของเครื่อง Super Nintendo หรือ SEGA Genesis ที่เริ่มมีการเปิดตัวเกมอย่าง Street Fighter ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจเกมการต่อสู้มากขึ้น และลึกลงไปในการต่อสู้ก็หมายถึงศิลปะการป้องกันตัวหรือรูปแบบการต่อสู้ที่แต่ละตัวละครใช้ อย่างเช่น Street Fighter 2 ที่มีทั้งผู้ฝึกคาราเต้อย่าง Ryu ผู้ฝึกกังฟูอย่าง Chun-Li หรือแม้แต่ผู้ผสมผสานวิชาโยคะเข้ากับการต่อสู้อย่าง Dhalsim

หรือที่เอาชัดเจนที่สุดเลยในปี 1984 ที่มีการเปิดตัวเกมที่มีชื่อว่า Spartan X (หรือบางคนเรียกว่า Kung-Fu Master) หลายคนเห็นภาพแล้วอาจจะร้องอ๋อ เพราะนี่คือเกมแนว Side Scrolling ที่ให้เราเดินหน้าเตะต่อยศัตรู เพื่อไปช่วยคนรักจากการโดนลักพาตัวไป เกมนี้ถือเป็นเกมแรก ๆ เลยก็ว่าได้ ที่นำเอาศิลปะการต่อสู้ไปใส่ไว้ในเกมประเภทอื่นที่ไม่ใช่แนว Fighting ก่อนที่จะเริ่มมีเกมอื่น ๆ ตามมา ยกตัวอย่างเช่น Street of Rage, Golden Axe ที่แตกแขนงออกไปเป็นแนว Beat em’up อีกนั่นเอง

และที่โด่งดังมาก ๆ แฟน ๆ ในไทยยังต้องรู้จัก ก็คงจะหนีไม่พ้น Jackie Chan Stuntmaster อีกหนึ่งเกมเดินลุยสุดมันของเฉินหลง หากใครคิดถึงเกมนี้ ลองไปอ่านบทความนี้เพิ่มเติมกันดูได้ Jackie Chan Stuntmaster ยอดเกมเดินลุยแห่งตำนานของเฉินหลง

การใช้ดาราคนดัง หรือดัดแปลงจากภาพยนตร์มาร่วมโปรโมท

D7b1567d99f7fb271661493f16219bc4

เกมที่ใส่ Martial Arts เข้ามาในเกม ช่วงแรกนั้นจะใช้วิธีการนำเอาหนังดัง ๆ ในช่วงนั้นมาดัดแปลงเป็นวิดีโอเกม เพราะมันจะได้ฐานแฟนจากผู้ชมภาพยนตร์ในช่วงนั้นอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น Jet Li ที่มาเป็นตัวเอกในเกม Rise to Honor หรือแม้แต่หนังแอ็คชั่นจากเอเชียที่ไปผงาดบนเวทีบอกซ์ออฟฟิศโลกในตอนนั้น อย่าง Crouching Tiger, Hidden Dragon (พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก) ที่ถูกนำมาทำเป็นเกมด้วยเช่นกัน และเพราะการประสบความสำเร็จในระดับสากลของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ทำให้ทั่วโลก เริ่มกลับมาสนใจศิลปะการต่อสู้อีกครั้ง หลังจากบรูซ ลี เฉิดฉายไปในช่วงปี 70-80

แต่ปัญหาของการทำเกมที่มีระบบ Martial Arts ในยุคแรกเริ่มเลยก็คือ ความดุดัน และความลุ่มลึกของการต่อสู้ที่ทางผู้พัฒนาในช่วงนั้นหลายคนยอมรับว่ามันทำได้ยากมาก การก้าวข้ามความหนักแน่นของการปล่อยหมัดหรือการต่อสู้ระยะประชิด แต่ในตอนนั้นเอง ที่ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์หนังจีนอย่าง หยวนหวูปิง ได้เข้ามาทดลองทำภาพยนตร์จีนแบบใหม่ โดยใช้รูปแบบของ Wuxia หรือแนววิถีกำลังภายใน ที่ทำให้การต่อสู้ลื่นไหล ปราดเปรียวมากยิ่งขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเกมได้อานิสงส์จากส่วนนี้ และหลุดจากกรอบที่ว่า เกม Martial Arts ต้องเน้นต่อยตีอย่างดุดัน แต่มันมีความนุ่มนวล มีความคล่องแคล่วในการต่อสู้ได้ ทำให้การทำเกมก็ทำง่ายขึ้นด้วย และช่วงนั้นเองที่เกมอย่าง Shenmue และ Jade Empire ได้ถือกำเนิดขึ้น และทั้งสองเกมนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล

ต้มยำกุ้ง เกมศิลปะการต่อสู้ของไทยในตำนาน

แต่ถึงแม้ว่าการประสบความสำเร็จของ Shenmue และ Jade Empire จะประสบความสำเร็จ แต่เพราะมันเป็นเกมการเล่นแบบเฉพาะกลุ่มมาก ๆ ทำให้ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจเกมแนวนี้มากนัก แต่ในช่วงปี 2005 ในประเทศไทยเองก็มีเกมที่ใส่ศิลปะการต่อสู้ของตัวเองเข้าไป แม้จะเป็นวิดีโอเกมเพื่อโปรโมทภาพยนตร์ก็ตาม และเชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง กับ Tom-Yum-Goong: The Game

ตัวเกมในตอนนั้น ได้ให้ จา พนม นักแสดงนำของหนังมาร่วมรับบทนำในเกมอีกด้วย และยังออกแบบท่าทางการต่อสู้ของตัวละครในเกม ที่มีแม่ไม้มวยไทยให้เลือกใช้งานกว่า 30 กระบวนท่า โดยใช้เทคโนโลยีใส่เข้าไปในเกมให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะทำได้ในตอนนั้น และด้วยขีดจำกัดทางด้านเทคโนโลยีและทีมทำเกมในตอนนั้น ตัวเกมนำเสนอออกมาในรูปแบบเกมเส้นตรง และใช้มุมกล้องแบบล็อคคล้าย ๆ Resident Evil แถมยังได้ทีมพากย์พันธมิตรมารับหน้าที่ลงเสียงภาษาไทยภายในเกมอีกด้วย

แม้มันจะไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมายเหมือนกับเวอร์ชั่นหนัง แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่า หากพูดถึง Martial Arts แล้วล่ะ ต้มยำกุ้ง เป็นทั้งหนังและเกมที่ทำให้ประเทศไทยโดดเด่นอย่างมาก ณ เวลานั้นเลย เสียดายที่ปัจจุบันหาเล่นได้ค่อนข้างยากแล้ว

Martial Arts ในวิดีโอเกมยุคปัจจุบัน

ในช่วงหลัง ๆ มานี้ เกมแนว Martial Arts อาจจะน้อยลงไปบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ออกมาทีก็โดดเด่น ดึงดูดสายตาแฟนเกมได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น Sleeping Dogs ที่ออกมาในปี 2012 ที่ทำเอาแฟนเกมต้องว้าว เพราะนอกจากการที่มันเป็นเกม Open World และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม คล้าย ๆ กับ GTA แต่เน้นการต่อสู้ด้วยหมัดเท้าเข่าศอก และศิลปะการต่อสู้ของจริงที่ทำให้เกมเพลย์การเล่นสนุกเกินกว่าเกมใด ๆ ในยุคนั้น ๆ

แต่ไม่รู้เพราะอะไร แม้มันจะมีแฟน ๆ ชื่นชอบมากแค่ไหน เกมแนวนี้ก็มีให้เล่นน้อยเสมอ แต่อย่างเช่นเกมล่าสุดอย่าง SIFU ที่ถือว่าเป็นการนำเอา Martial Arts กลับมานำเสนอใหม่อีกครั้ง และใส่ความยากเข้าไปด้วย ให้สมกับความเป็นกังฟูจริง ๆ และเกมก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากเช่นกัน ไม่แน่ว่าการเปิดตัวที่ดีของ SIFU นี้ อาจจะทำให้การใส่ Martial Arts กลับมาเฟื่องฟูในวงการเกมอีกครั้งก็เป็นไปได้

SHARE

Aisoon Srikum

Back to top