BY TheStarrySky
5 Feb 20 12:37 pm

ทำความรู้จักกับ “Esports Tournaments” กติกา, กฏ และ รูปแบบการแข่งชนิดต่าง ๆ

2,696 Views

ในปี 2020 นี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครยังไม่รู้จัก หรือไม่เคยเห็นการแข่งขันกีฬา “Esports” อันเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาใหม่ที่กำลังจะมีบทบาทมากขึ้นอย่างมากในทศวรรษนี้ นักแข่ง, ทัวร์นาเม้นต์ และเกมต่าง ๆ ในตอนนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับดาราหรือรายการโชว์ที่มีแฟน ๆ นับล้านทั่วโลก รวมถึงเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเพียง 20 ปีที่ผ่านมา

เมื่อ Esports กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น วันนี้เราจึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญของวงการ นั่นก็คือ “ทัวร์นาเม้นต์” ที่ถูกจัดขึ้นในเกมต่าง ๆ ว่าจะมีรูปแบบ กฏ กติกา รายละเอียดอย่างไรบ้าง เรามาชมไปพร้อม ๆ กัน

Team Liquid: แชมป์ The International 2017 หนึ่งในการแข่งขัน Esports ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

รูปแบบของ Esports tournament

หากให้สรุปแบบง่ายและสั้นที่สุด Esports tournament ก็คือการแข่งขันที่มีไว้เพื่อให้แต่ละทีมได้ต่อสู้กัน “อย่างยุติธรรม” นั่นเอง โดยคำว่ายุติธรรมนี้ก็หมายรวมถึง การให้แต่ละทีมได้ต่อสู้กันจนปราศจากข้อสงสัย ว่าใครคือทีม/คนที่แข็งแกร่งที่สุดในการแข่งขัน การแข่ง Esports จึงมีรูปแบบมากมาย ตามลักษณะของแต่ละเกมที่แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะคำนึงถึงจำนวนผู้เข้าร่วม และเวลาที่ใช้แข่ง เป็นหลักว่าควรจะใช้วิธีไหนในการสร้างทัวร์นาเม้นต์ที่เหมาะสมที่สุด

ในการทำความเข้าใจกับรูปแบบของ Esports tournament เราจึงต้องแบ่งหัวข้อหลักออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ จำนวนการแข่ง, ชนิดการแข่ง, และ Play-off ซึ่งเป็นการแยกไปตามความสำคัญในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.จำนวนการแข่งขัน

ทุก ๆ การแข่งขัน Esports นั้น แน่นอนว่าจะต้องวัดกันที่ผลแพ้-ชนะ ของแต่ละคน หรือทีมต่าง ๆ ที่ร่วมรายการ โดยที่จำนวนครั้งที่จำเป็นต้องชนะเพื่อให้ผ่านเข้ารอบ หรือเป็นแชมป์ในการแข่งนั้น จะสัมพันธ์กับรูปแบบเกมที่กำลังแข่งอยู่ โดยในประวัติศาสตร์การแข่ง Esports ที่ผ่านมา จำนวนการแข่งที่เคย และมีการใช้อยู่เป็นประจำก็ได้แก่

  • Best of One (Bo1) – คือการแข่งแบบครั้งเดียวได้ผู้ชนะทันที มักจะเห็นในเฉพาะการแข่งในรอบแบ่งกลุ่มที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก, การแข่งในรอบ Knockout หรือการแข่งในกรณีที่มีผลเสมอเพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว
  • Best of Two (Bo2) – คือการแข่ง 2 ครั้ง มักพบเห็นได้บ่อยกว่า การแข่งในลักษณะนี้จะทำให้เกิดผลได้เพียง 2 แบบคือ 2-0 และ 1-1 ทำให้นิยมใช้ในรูปแบบการแข่ง Group Stage (จะอธิบายในข้อต่อไป)
  • Best of Three (Bo3) – การแข่งแบบมาตรฐานที่พบได้บ่อยที่สุด คือการแข่งจนกระทั่งได้คน/ทีมที่ชนะได้ 2 ครั้ง มักเกิดขึ้นในการแข่งแบบ Bracket stage และเกมที่ต้องใช้เวลาการเล่นค่อนข้างนาน หรือมีจำนวนการแข่งหลายรอบเป็นส่วนใหญ่
  • Best of Five (Bo5) – เป็นรูปแบบการแข่งขันที่ใหญ่และใช้เวลานานมาก (ราว 2-5 ชม.) ทำให้มักกจะได้เห็นในรอบ Final หรือ Knockout stages เท่านั้น โดยจะทำการแข่งให้ได้ผู้ที่ชนะ 3 ครั้งในการแข่งไม่เกิน 5 ครั้ง จึงจะได้ผู้ชนะอย่างแท้จริง เช่นรอบ Final ของ Dota และ CS:GO เป็นต้น
  • Best of Seven (Bo7) – เป็นรูปแบบการแข่งขันที่ใหญ่และใช้เวลานานเช่นกัน มักพบการแข่งในรูปแบบนี้ไม่บ่อยนักและมักจะเป็นรอบชิงชนะเลิศเป็นส่วนใหญ่ เป็นการแข่งหาผู้ที่ชนะได้ 4 ใน 7 ครั้งก่อน ถึงจะได้เป็นผู้ชนะที่แท้จริง โดยเกมที่จะใช้ระบบ Bo7 มักจะเป็นเกมที่มีระยะเวลาการแข่งไม่นาน เช่นเกมมือถือ (เช่น RoV และเกม Mobile MOBA ต่าง ๆ) หรือ Sports Game อย่าง Rocket League และ RanbowSix เป็นต้น

2. รอบแบ่งกลุ่ม (Group stages)

ถัดจากเรื่องจำนวนการแข่งขัน ต่อมาคือในส่วนของวิธีที่จัดให้แต่ละคนได้แข่งกันอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ทัวร์นาเม้นต์แบบมาตรฐานจึงจำเป็นที่ต้องมีการแข่งในลักษณะของ Group stage ก่อนเสมอ (บางครั้งอาจเรียกว่า การแข่งแบบ Play-in) เพื่อทำการคัดทีมต่าง ๆ มากมายให้เหลือเพียงไม่กี่ทีมก่อนที่จะเข้าสู่รอบ Play-off ต่อไป

การแข่งในรอบแบ่งกลุ่มนี้มีความสำคัญมาก  เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมมีโอกาสเท่า ๆ กันที่จะได้เข้าไปสู่รอบที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกับทีมเล็ก, ทีมหน้าใหม่ที่พึ่งลงแข่งครั้งแรก เป็นต้น

การแข่งรอบแบ่งกลุ่มจะเริ่มจากการแบ่งผู้เล่นออกเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ 2 ขึ้นไปเท่า ๆ กัน แล้วให้แต่ละคน/ทีมในกลุ่มนั้นทำการแข่งกันเอง คนได้ผู้ชนะประจำกลุ่ม ในจำนวนและวิธีที่แตกต่างกันไปในแต่ละเกม การแข่งในลักษณะนี้จึงทำให้ทุกทีมได้มีโอกาสได้แสดงฝีมือได้ 2-4 ครั้ง และเจอทีมอื่น ๆ อย่างน้อย 1-3 ทีมเป็นอย่างน้อยเสมอ ทำให้การแข่งมีสีสันและมีคุณค่าทั้งต่อตัวผู้เล่นและผู้ชม เพราะหากแข่งในรูปแบบ Knock-out เลย บางทีมหรือนักแข่งบางคนอาจจะได้แข่งเพียงครั้งเดียว หรือกับแค่ทีมเดียวเท่านั้นตลอดทัวร์นาเม้นต์

ทั้งนี้ การแข่งแบบ Group stage นี้ก็มีรูปแบบมาตรฐานที่พบเห็นได้บ่อย 4 แบบ ได้แก่

  • Round Robin : เป็นการแข่งที่เรียกง่าย ๆ ว่า “แข่งแบบพบกันหมด” โดยทุกคน/ทีม จะได้เจอกัน 1 ครั้ง มักเกิดขึ้นในรอบแบ่งกลุ่มที่มีจำนวนคน/ผู้เล่นในกลุ่ม 3 ทีมเป็นอย่างน้อย และมักจะแข่งในรูปแบบ Bo1 หรือ Bo3 เพื่อความรวดเร็วในการตัดสิน
  • Double Round Robin : เหมือนกับ Round Robin ทุกประการ แต่จะทุกทีมจะเจอกัน 2 ครั้งเป็นอย่างต่ำแทน เสมือนกับการแข่งแบบเหย้า-เยือน ของกีฬาอื่น ๆ นั่นเอง ตัวอย่างเกมที่ใช้การแข่งประเภทนี้คือ RoV Pro League เป็นต้น

การแข่งแบบ Round Robin ถือเป็นการแข่งแบบ Group Stage ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะการที่ทุกทีมได้พบกัน และสะดวกกับผู้จัดที่สามารถทำให้ทุกทีมได้แข่งอย่างเท่าเทียมกันและรวดเร็ว รวมถึงในเรื่องการแบ่งรายการเพื่อถ่ายทอดสดได้ง่ายอีกด้วย แม้จะมีข้อเสียบางประการ เช่น หากมีการแบ่งกลุ่มมากกว่า 1 กลุ่ม ทีมที่อยู่คนละกลุ่มกันจะอาจไม่มีโอกาสได้เจอกันเลย หรือการที่มีทีมใหญ่เจอทีมเล็ก ที่อาจจะดูไม่ยุติธรรม หรืออาจดูสนุกน้อยลงบ้าง เป็นต้น

การแข่งขัน RoV Pro League Season 4: Double Round Robin

  • Swiss Round : เป็นการแข่งในรูปแบบที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยแนวคิดของการทำ Swiss Round ได้มาจากการแข่งกีฬาอย่างหมากรุก ที่มีผู้เล่นกว่าร้อยคนในการแข่งครั้งเดียว โดยผู้เล่น/ทีม จำนวนมากนี้จะทำการจับสลากเพื่อพบกันเป็นคู่ ๆ และแข่งในรูปแบบ Bo1, Bo2 หรือ Bo3 การแข่งในลักษณะนี้ จะทำให้ทุก ๆ ครั้งที่แข่ง จะมีผู้เล่นลดลงครึ่งนึ่งเสมอ แต่ก็อาจจะมีความแตกต่างกันบางในรายละเอียด เช่น
    •  Swiss Round แบบปรกติ ผู้แพ้จะตกรอบทันที ผู้ชนะที่เหลือจะแข่งกันเช่นเดิมไปเรื่อย ๆ จนเหลือผู้เล่น/ทีม ไม่กี่ทีม แล้วจึงแข่งในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อหาผู้ชนะต่อไป มักใช้ในกรณีที่มีผู้แข่งจำนวนมากและเวลาจำกัด
    • Swiss Round แบบกลุ่ม คือการแข่งแบบปรกติก่อน 1 ครั้ง แล้วในรอบที่สอง จะเป็นการจับสลากเจอกันเองระหว่างผู้ชนะ-ผู้ชนะ และ ผู้แพ้-ผู้แพ้ ในรอบที่ผ่านมา โดยอาจจะแข่งในลักษณะนี้กี่ครั้งก็ได้ แล้วจึงหาผู้เข้ารอบโดยวิธีนับคะแนนหรือผลแพ้ชนะ การแข่งรูปแบบนี้จะทำให้ผู้เล่น/ทีม ได้มีโอกาสเจอกันมากขึ้น

หากใครที่อยู่ในวงการของการ์ดเกม ก็คิดว่าคงจะคุ้นเคยกับระบบ Swss Round เป็นอย่างดีแน่นอน, Hearthstone ที่เป็นเกมการ์ดจึงใช้ระบบนี้ในการแข่งบ่อยครั้ง เกมประเภท fightings, simulators และ Board game ต่าง ๆ ก็นิยมใช้วิธีการแข่งนี้ แต่ในเกมทั่วไปที่ทุกคนรู้จักอย่าง CS:GO ก็มีการแข่งในลักษณะนี้เช่นกัน (มักใช้กับการแข่งแบบ 16 ทีมขึ้นไป)

ตัวอย่างของการแข่งแบบ Swiss Round แบบกลุ่ม

  • GSL System : เป็นการแข่งแบบพิเศษที่มีความซับซ้อนเล็กน้อย กล่าวคือ จะมีการแบ่งทีมเป็นกลุ่มละ 4 คน/ทีม แล้วจึงจับให้แข่งกันเองในกลุ่ม ทำให้ได้ผู้ชนะและผู้แพ้อย่างละคู่ จากนั้นจึงทำการแข่งกันเองในคู่นั้นอีกครั้ง
    • ในคู่ผู้ชนะ คน/ทีมที่ชนะจะได้เป็นแชมป์กลุ่ม ผ่านเข้ารอบต่อไปทันที ผู้แพ้จะหล่นลงไปเจอผู้ชนะในคู่ผู้แพ้
    • ในคู่ผู้แพ้  คน/ทีมที่ชนะจะขึ้นไปเจอกับผู้แพ้ของคู่ผู้ชนะ เกิดเป็นการแข่งรอบที่ 3 สำหรับผู้ที่แพ้ในรอบนี้จะตกรอบทันที
    • ในรอบที่ 3 ผู้แพ้จะตกรอบทันที ส่วนผู้ชนะก็จะขึ้นไปเจอกับแชมป์กลุ่ม

ในช่วงที่ผ่านมา GSL System ค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น  เพราะสามารถตัดปัญหาของการแข่งแบบ Round Robin ที่เคยกล่าวไปได้พอดีสมควร (ทำให้ทุกทีมมีโอกาสพบกันมากขึ้น และใช้เวลาแข่งลดลง) เสมือนกับการแข่งแบบ Play-off ในรอบแบ่งกลุ่ม ตัวอย่างเกมที่ใช้วิธีนี้ก็เช่น Dota 2 และ CS:GO เป็นต้น

ตัวอย่างการแข่งแบบ GSL System

3. รอบ Playoff 

การแข่งรอบ Playoff หรือ knockout stages ในบางแห่งก็เรียกว่าการแข่งแบบ Olympic system คือการแข่งในระดับชิงชนะเลิศ และจะเกิดขึ้นหลัง Group Stage เสมอ (ในกรณีที่มี) เป็นการแข่งที่มีเอกลักษณ์คือ “Bracket” หรือก็คือสายบน-สายล่าง ที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ถือเป็นการแข่งที่สำคัญที่สุดของ Tournament หนึ่ง ๆ ทำให้ในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า “Main Event” ได้ด้วย การแข่งในรอบ Playoff จะมีเพียง 2 รูปแบบย่อยหลัก ๆ คือ Single และ Double elimination

  • Single Elimination : คือการแข่งแบบ “แพ้คัดออก” โดยจะไม่มีการตกลงไปสายล่างอีก เนื่องจากผ่านการแข่ง Group Stage มาแล้ว ถือเป็นการแข่งที่ตรงไปตรงมาที่สุดและต่อสู้กันดุเดือดที่สุด เพราะทุกทีมจะไม่มีโอกาสแก้ตัวเลยในการแข่งรูปแบบนี้ โดยมักจะแข่งแบบ Bo3 หรือ Bo5
  • Double Elimination : เป็นรูปแบบที่ได้รับนิยมมากกว่า การแข่งจะเริ่มขึ้นโดยมีผู้ที่อยู่ในสายบน (Upper bracket) และสายล่าง (Lower bracket) ผู้ชนะในสายบนจะได้ไปต่อในสายเรื่อย ๆ ส่วนผู้แพ้จะตกลงไปสายล่าง การแข่งในสายล่างหากแพ้จะตกรอบทันที ผู้ที่อยู่สายล่างจะแข่งไปเรื่อย ๆ จนได้แชมป์สายล่าง เพื่อไปเจอกับแชมป์สายบนในที่สุด

การแข่งลักษณะนี้ทำให้ทีมที่อยู่สายบนได้เปรียบที่ต้องแข่งน้อยกว่า ทำให้เห็นและมีเวลาปรับตัว/ปรับแผนสำหรับคู่ต่อสู้ที่จะเจอรอบต่อไปมากขึ้น ส่วนทีมสายล่างจะได้เปรียบที่ได้แข่งมากกว่า ทำให้เจอกับทีมต่างๆ และเก็บข้อมูลได้ดีกว่า แลกกับกำลังกายและกำลังใจที่อาจถดถอยไปในการแข่งหลายครั้ง เมื่อการต่อสู้ของแชมป์สายล่างและสายบนในรอบ Final จบลง เราก็จะได้ผู้ชนะในที่สุด

การแข่ง The International 2019 ที่มี OG เป็นผู้ชนะ เป็นการแข่งแบบ Double Elimination จะเห็นว่าสายบนนั้นมีจำนวนแข่งน้อยกว่ามาก

ทั้งนี้ ยังมีการแข่ง Playoff ในรูปแบบที่ซับซ้อนกว่าอย่าง “Triple Elimination” อยู่ด้วย ซึ่งหาชมได้ยากกว่า เพราะเกิดขึ้นได้แค่บางเกมที่มีผู้เข้ารอบ Playoff จำนวนมากเท่านั้น เช่นเกมประเภทการ์ด (Hearthstone, MTG, Gwent) หรือเกมประเภทต่อสู้  (Street Fighter, Mortal Combat, Tekken) และเกม Simulator ต่าง ๆ เป็นต้น

4. ระบบ League คืออะไร ?

แล้วระบบ League คืออะไร ทำไม Dota 2 ที่จัดการแข่งมาแล้วเกือบสิบปีถึงพึ่งมาตั้งระบบนี้เป็นของตัวเอง หากจะกล่าวโดยสรุปก็คือ League (ลีก) เป็นรูปแบบการจัดระบบการแข่งขัน ที่เป็นคนละส่วนกับวิธีจัดการแข่งดังที่กล่าวไป 3 ข้อด้านบน โดยที่การแข่งนั้นจะใช้ระบบลีกหรือไม่ก็ได้ แต่ทุก ๆ การแข่งจะต้องจัดตามวิธีที่ได้กล่าว 3 ข้อที่ผ่านมา แบบใดแบบหนึ่งหรือมากว่า

Dota 2 กำลังจะมีระบบลีกอย่างเป็นทางการ ในชื่อ Regional Leagues หลังจากที่ใช้ระบบ DPC เพียงอย่างเดียวมานาน

ระบบ League จะช่วยทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกมสามารถเข้าถึงและพบหากันได้ง่ายขึ้น ทั้งเกม, ทีมนักแข่ง, ผู้จัดงาน รวมถึงผู้ชม และยังทำให้เกมมีการแข่งที่เป็นระบบระเบียบ มีวันเวลาในการแข่งที่ชัดเจนมากขึ้น

ในบางลีก ตัวเกมสามารถใช้นักแข่งในลีกเพื่อโปรโมตตัวเองได้ (รวมถึงการโปรโมตตัวเองของนักแข่งด้วย) และนักแข่งก็ได้รับเงินเดือนจากทางผู้จัดในระหว่างแข่งขันในลีกด้วย ผู้ชมยังสามารถสนับสนุนทั้งเกมและผู้เล่นได้โดยตรงตามแต่ที่ผู้ให้บริการเกมจะจัดหาให้ (เช่นการขาย item ในเกม/นอกเกม ที่เป็นแบรนด์ของแต่ละทีม) ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความมั่นของของ Esports ในแต่ละเกม เพราะการพัฒนาของลีก จะช่วยทำให้ทุกส่วนที่กล่าวมาพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

League จะวางการแข่งขันอย่างเป็นระบบ มีการเลื่อนชั้น ตกชั้น ทำให้มีทีมเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ทำให้ภาพรวมของการแข่งเกมสนุกขึ้นไปอีกระดับ เพราะเกมจะดูเป็นการแข่งขันที่แท้จริงมากขึ้น (ใกล้เคียงกับกีฬาที่แท้จริงมากขึ้น) ระบบลีกยังทำให้ผู้สปอนเซอร์สามารถหาทีมจะร่วมสนับสนุนได้ง่ายขึ้นจากการดูผลงานในการแข่งขัน

ถึงแบบนั้น ระบบนี้ก็ยังถือว่ามีจุดด้อยอยู่คือ การเข้าร่วมลีกนั้นมักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ค่าแรกเข้า” อันเป็นเงินที่ทีมจะจ่ายให้ League เพื่อซื้อ “Slot” ของตัวเอง ซึ่งตรงนี้ทำให้ลีกของ Esports และกีฬายังมีความแตกต่างกันพอสมควร ราคาค่าแรกเข้านี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับทางผู้จัดที่จะเป็นคนกำหนด ซึ่งใน League ใหญ่อย่างเช่นของ CS:GO และ Overwatch ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงถึงระดับล้านเหรียญ ตรงนี้เองที่ปิดโอกาสของทีมขนาดเล็กที่ แม้จะมีฝีมือแต่ไม่สามารถหาสปอนเซอร์ได้ไปแล้วหลายราย อย่างเช่นกับกรณีที่เกิดขึ้นใน RoV Pro League ของประเทศไทย ที่ทีม Ramavana ไม่สามารถเข้าร่วม Pro League Season 2020 ได้ เนื่องจากไม่มีเงินชำระค่าแรกเข้านี้นั่นเอง

ก็ถือว่าครบกันแล้วสำหรับรายละเอียดของการแข่งขันแบบทัวร์นาเม้นต์ของกีฬา Esports จะเห็นได้ว่า ระบบทั้งหมดนี้ ก็คือการนำระบบการแข่งของกีฬาและการแข่งขันต่าง ๆ มาปรับเปลี่ยน ผสมผสานตามความเหมาะสมของแต่ละเกม ทำให้เกิดการแข่งที่สนุกทั้งผู้ชมและเป็นธรรมกับผู้เล่นขึ้นมา ในอนาคตเมื่อวงการนี้เติบโตมากขึ้น เราก็อาจจะได้เห็นรูปแบบการเล่นที่แปลกใหม่มากว่านี้อีกก็เป็นได้ ก็ต้องติดตามชมกันต่อไป

esports

Source : esportsranks.com, egamersworld.com, britishesports.org

SHARE

Pathiphan Tepinta

Back to top