BY KKMTC
26 Aug 20 7:24 pm

รู้จัก Cult Gaming เกมวัยรุ่นนิยมแต่สังคมไม่เข้าใจ

20 Views

สังคมคนเล่นเกมก็เหมือนคนชมภาพยนตร์ ที่บางกลุ่มชื่นชอบการเล่นเกมที่ไม่เป็นกระแส หรือเกมที่มีคำวิจารณ์แย่ ๆ เพื่อมองหาประสบการณ์การเล่นแบบใหม่ที่หาไม่ได้จากเกมอินดี้ และเกมทุนหนาระดับ AAA บทความนี้จะทำความรู้จักกับ Cult Gaming คนเล่นเกมแปลกที่ผู้ใหญ่หรือแม้แต่วัยรุ่นยังไม่เข้าใจ

Cult Gaming คืออะไร ?

ก็ต้องบอกก่อนว่า Cult Gaming นั้น ไม่ใช่คำศัพท์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด แต่เป็นศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มคนเล่นเกมด้วยกันเอง

โดยความหมายของ Cult Gaming ก็ตรงกับชื่อภาษาอังกฤษเลย คือหมายถึงคนที่ชอบเล่นเกมประหลาดที่ไม่โด่งดัง หรือตามกระแสเหมือน Grand Theft Auto, Death Stranding, Overwatch, The Last of Us และเกมระดับ AAA หรือเกมอินดี้อื่น ๆ อีกมากมาย

คนที่ติดตามเกมคัลท์ เหมือนกับคนติดตามภาพยนตร์คัลท์ คือพวกเขาจะหาเกมที่มีกระแสวิจารณ์ว่าเป็นเกมห่วย เกมที่เข้าถึงยาก หรือเกมที่ประสบความล้มเหลวในด้านยอดขาย เพื่อค้นหาองค์ประกอบเกมที่เปรียบเสมือนเป็น ‘เพชร’ ในกองขยะที่หลายคนต่างมองข้าม แล้วนำมาบอกต่อผ่านคอมมูนิตี้เกมหลายแห่ง จนทำให้กลายเป็นกระแสพูดคุยบนโลกอินเทอร์เน็ต หรือทำให้ผู้คนสนใจที่จะเล่นเกมดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเกมคัลท์ที่ ‘คาดว่า’ หลายคนน่าจะรู้จัก

ตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปลายปี 2010 มีเกมที่ไม่ประสบความสำเร็จหลายเกม ได้ถูกระบุเป็นเกม Cult Following ที่มีผู้ติดตามและชื่นชอบเป็นบางกลุ่ม ซึ่งนี่คือตัวอย่างเกมคัลท์ที่ยังคงมีการพูดถึงจนถึงทุกวันนี้

Big Rigs: Over the Road Racing

Big Rigs Over The Road Racing – นี่อาจเป็นเกม Cult Following ที่หลายคนน่าจะรู้จักมากที่สุด เพราะ YouTuber หลายรายไม่ว่าจะเป็น Angry  Video Game Nerd, Kenji1802 หรือ penguinz0 ได้เคยรีวิวเกมดังกล่าว เนื่องจากเป็นเกมที่สื่อต่างประเทศ Gamespot ได้ยกย่องเป็นเกมที่มีคะแนนรีวิวน้อยสุดในบรรดาเกมที่รีวิวมาทั้งหมด

แน่นอนว่าหลายคนไม่ปฏิเสธว่า Big Rigs Over The Road Racing เป็นเกม ‘คุณภาพแย่’ ที่เกินกว่าจะเรียกว่าเป็นเกมอย่างเต็มตัว แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิค และมีบั๊กสุดประหลาดมากมายในเกม เช่น บั๊กขับรถถอยหลังเร็วกว่าขับรถเดินหน้า หรือสามารถวิ่งทะลุวัตถุได้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ทำให้เกมดังกล่าวเริ่มกลายเป็นที่ชื่นชอบสำหรับหลายคนกับโด่งดังจนถึงทุกวันนี้

Deadly Premonition – เกมแนวสยองขวัญเอาตัวรอด Open World พัฒนาโดยทีมงานสัญชาติญี่ปุ่น Access Games โดยเกมออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2010 บน PlayStation 3, Xbox 360 และได้รับการพอร์ตลง PC ในปี 2010 และ Nintendo Switch ในปี 2019

แม้ตัวเกมมีกระแสตอบรับแย่ในด้านภาพกราฟิกตกยุค มีปัญหาด้านประสิทธิภาพ ระบบการต่อสู้ไม่สนุกสนาน แต่ด้วยเกมเพลย์ที่หลากหลาย มีการนำเสนอเนื้อเรื่องแปลกประหลาด และมีฉากหักมุมอย่างคาดไม่ถึง ทำให้ Deadly Premonition เป็นเกมที่มี Cult Following ติดตามบางส่วน รวมถึงถูกยกย่องเป็น ‘เกมแย่ยอดเยี่ยม’ จากสื่อเกมหลายแห่ง แม้เกมดังกล่าวประสบความล้มเหลวในด้านยอดขายอย่างใหญ่หลวงก็ตาม

Deadly Premonition 2 : A Blessing in Disguise คือเกมภาคล่าสุดที่ลงให้กับ Nintendo Switch และแน่นอนว่าเกมดังกล่าวก็ยังคงรักษามาตรฐานความคัลท์ได้เหมือนเดิม ด้วยเนื้อเรื่องกับตัวละครสุดกาว กับปัญหาด้านประสิทธิภาพที่ประสบเจอเหมือนในภาคแรก

ทำไมเกมเมอร์จึงชื่นชอบเกมคัลท์

Postal 4

ถ้าหากคุณเล่นเกมคุณภาพดี คุณคาดหวังว่าจะต้องได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับมา ถ้าคุณเล่นเกมที่คิดว่าดี แต่พอได้เล่นจริงกลับไม่ชอบเกม คุณจะรู้สึกผิดหวัง แต่ถ้าหากคุณเล่นเกมคัลท์ คุณจะต้องคาดหวังถึง ‘ประสบการณ์ที่สุดโต่ง สุดขั้ว และคาดไม่ถึง ‘ จากการเล่นเกม นี่อาจจะเป็นประโยคที่กล่าวอธิบายคุณสมบัติของเกมคัลท์ได้ดีที่สุด

หากอ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยติดตามกระแสเกมคัลท์มาก่อน สาเหตุหลักที่เกมคัลท์น่าสนใจ เพราะว่าเกมดังกล่าวให้ประสบการณ์การเล่นเกมที่ใหม่เอี่ยม ที่ไม่สามารถหาได้จากเกมต้นทุน AAA และเกมอินดี้ในท้องตลาด ไม่ว่าเกมคัลท์นั้นจะมีคุณภาพแย่หรือดีก็ตาม

เกมคัลท์ที่ส่วนตัวเคยติดตามกับเล่น (ไม่จบ) อย่าง Deadly Premination, Postal และ Killer 7 ก็ต้องบอกเลยว่าทั้งสามเกมล้วนเป็นเกมที่มีเอกลักษณ์สุดขั้วไม่เหมือนใคร ยกตัวอย่าง Deadly Premination เป็นเกมสยองขวัญเนื้อเรื่องเกรด B ที่มีตัวละครเหมือนดมกาวหลายคน, Postal คือเกม FPS แอ็กชัน-ผจญภัยที่มีเนื้อหารุนแรง และเนื้อเรื่องสุดโรคจิต จนเป็นหนึ่งในเกมที่มีประเด็นถกเถียงในวงการเกมที่ถูกพูดถึงตลอดกาล ส่วน Killer 7 คือเกมที่นำเสนอฉากคัตซีนสุดเก๋ แต่เนื้อเรื่องกลับมีความซับซ้อนเกินไป จนแม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่ามันมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรกันแน่

Killer 7

แม้ทั้งสามเกมจะมีกระแสตอบรับจากเกมเมอร์และสื่อเกมต่างประเทศที่เอนเอียงไปในทิศทางที่ไม่ชอบ เนื่องจากนำเสนอเนื้อหา หรือระบบเกมเพลย์แปลกประหลาด หลุดโลกเกินไปจนหลายคนไม่สามารถเข้าถึง แต่แน่นอนว่าผู้เล่นบางคนก็รู้สึกชื่นชอบเกมดังกล่าว เนื่องจากเกมเหล่านั้นได้มอบประสบการณ์การเล่นเกมแบบใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่นักที่วิดีโอเกมคัลท์ส่วนใหญ่ มักถูกระบุว่าเป็น ‘เกมอาร์ต’ หรือ ‘เกมสำหรับงานศิลปะ’ ที่กล้านำเสนอไอเดียแตกต่างจากเกมอื่น

Cult Gaming ในปัจจุบัน

Shaq Fu

Shaq Fu

น่าเสียดาย เกมคัลท์ในยุคปัจจุบันเริ่มหาเล่นยากขึ้นไม่เหมือนในอดีต เนื่องจากวิดีโอเกมกลายเป็นธุรกิจสื่อบันเทิงชั้นนำระดับโลก ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งคอยให้สนับสนุนเรื่องการให้งบประมาณสร้าง เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์ หรือการนำเสนอแนวคิดที่แหวกแนวจะถูกปิดกั้น เนื่องจากมีผลกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ส่งผลทำให้เกมยุคนี้ มีการควบคุมคุณภาพและไอเดีย เพื่อวิดีโอเกมสามารถทำรายได้ให้มากที่สุด

แต่ถึงอย่างนั้น คอมมูนิตี้ Cult Gaming ก็ยังคงดำเนินได้ต่อไปในฐานะเป็นกลุ่มคนเล่นเกมเฉพาะกลุ่ม ที่สามารถพบเห็นบทสนทนาได้ตามเว็บบอร์ดเกมต่าง ๆ หรือช่อง Reddit ถึงแม้เกมคัลท์อาจจะไม่เหมาะสำหรับทุกคน ถ้าหากคุณต้องการรับประสบการณ์การเล่นเกมที่ ‘คาดหวังในสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน’ ละก็… ผมมั่นใจว่าเกมคัลท์ต่าง ๆ จะสามารถเปิดโลกทัศน์ของวิดีโอเกมของคุณได้กว้างขึ้นไม่มากก็น้อย

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top