BY สฤณี อาชวานันทกุล
7 Sep 21 12:28 pm

Black Book: โชคลาง มนตรา และภูมิปัญญาพื้นบ้าน

14 Views

เสน่ห์อย่างหนึ่งของ Witcher ซีรีส์เกมสวมบทบาทหรือ RPG ชื่อดังค้างฟ้า อยู่ที่การบรรจงสร้างโลกและตัวละครสมจริงด้วยเรื่องราวน่าติดตาม เนรมิตขึ้นจากซีรีส์หนังสือแฟนตาซีชื่อเดียวกัน ซึ่งนักเขียนก็ประพันธ์โดยได้แรงบันดาลใจจากความเชื่อและตำนานพื้นบ้านของโปแลนด์แดนเกิดของเขา ซึ่งก็เป็นบ้านเกิดของ Projekt Red ทีมพัฒนา Witcher เวอร์ชันเกมเช่นกัน

“สัตว์ประหลาด” และ “ภูตผี” ต่างๆ ที่อาศัยในโลกของ Witcher ไม่ใช่สัตว์ประหลาดตามขนบ RPG ตะวันตกอย่าง ออร์ค ก็อบลิน ทรอล ฯลฯ ที่เราคุ้นเคยดี หากแต่กระโดดออกมาจากความเชื่อของชาวสลาฟ (Slav) ชนเผ่าเก่าแก่ในโปแลนด์และรัสเซียตะวันออกปัจจุบัน เรื่องราวของภูตผีปีศาจเหล่านี้ทั้งสนุกสนานและสะท้อนวิถีชีวิตของชาวสลาฟดั้งเดิมได้ดียิ่ง ตั้งแต่ คิคิโมรา ภูตตัวเมียที่สิงอยู่ในบ้าน วอดยานอย ภูตน้ำหน้ากบ หรือ รูซัลกา ภูตสาวที่ตายในแม่น้ำหรือทะเลสาบก่อนวัยอันควร วนเวียนอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่เธอตาย 

ใครที่คิดถึงโลกเร้นลับใน Witcher เกม Black Book นอกจากจะทำให้หายคิดถึงแล้ว ยังพาเราดำดิ่งยิ่งกว่าเคยลงไปในโลกของลัทธินับถือผี เวทมนตร์ โชคลาง และตำนานพื้นบ้านของชาวสลาฟในชนบทรัสเซีย ในศตวรรษที่ 19 ขณะที่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จากทุนนิยมอุตสาหกรรม อย่างเช่นสายโทรเลข เรือจักรไอน้ำ กำลังคืบคลานเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตและแม้แต่วิธีมองโลกของชาวบ้านไปอย่างไม่มีวันหวนคืน

Black Book เป็นผลงานชิ้นที่สองของ Morteshka สตูดิโออินดี้จากเมือง เปิร์ม (Perm) ทางตอนเหนือของรัสเซีย และพวกเขาก็ “จัดเต็ม” ให้เราได้ซึมซับกับวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ นิทาน และตำนานเก่าแก่ของชาวสลาฟอย่างเต็มอิ่ม ผ่านระบบการต่อสู้ร่ายเวทด้วยไพ่ (card battler) ที่สนุกมากและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง สลับกับการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงและน่าติดตามตลอดระยะเวลากว่า 30 ชั่วโมง

ในเกมนี้เราเล่นเป็น วาสิลิซา (Vasilisa) สาวน้อยที่คู่รักตายอย่างเป็นปริศนา และดังนั้นศพของเขาจึงถูกฝังนอกสุสานของโบสถ์ ซึ่งตามความเชื่อในศาสนาคริสต์สมัยนั้นก็เท่ากับว่า ดวงวิญญาณของเขาจะต้องตกนรกแทนที่จะได้ขึ้นสวรรค์ วาสิลิซาอยากทำทุกวิถีทางที่จะกอบกู้ดวงวิญญาณของเขาคืนมา ถ้าเธอเป็นชาวบ้านธรรมดาคงถอดใจไปแล้ว แต่โชคดีที่ อีกอร์ ปู่ของเธอ เป็นพ่อมดหมอผีชื่อก้อง เขาเต็มใจถ่ายทอดคาถาอาคมให้กับวาสิลิซา บอกเธอว่าต้องไปหา “คัมภีร์ดำ” (Black Book) คัมภีร์มนตร์ดำอันทรงพลัง เสาะหาอสูรและภูตผีปีศาจ ประกอบพิธีกรรมลึกลับเพื่อทำลายผนึกเจ็ดชั้นของคัมภีร์ดำ เล่มนี้ไปทีละชั้น เมื่อใดที่ทำลายผนึกทั้งหมดลงได้ เธอก็จะมีโอกาสเดินทางสู่นรก ลงไปทวงดวงวิญญาณของคู่รักกลับคืนมา

ความท้าทายอยู่ที่ว่า ระหว่างที่เดินเส้นทางสายมืดนี้ วาสิลิซาเองจะก่อกรรมทำเข็ญ สะสมบาปหนาจนตัวเธอเองนั่นแหละที่จะต้องตกนรกโลกันตร์หรือเปล่า 

Black Book เนรมิตโลกของชาวสลาฟในชนบทรัสเซียในศตวรรษที่ 19 อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ นี่คือโลกที่ชาวบ้านทุกคนกลัวเกรงพระเจ้าในศาสนาคริสต์ และกลัวภูตผีปีศาจในลัทธินับถือผีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นี่คือโลกที่มนุษย์อยู่ร่วมกับผีสางนางไม้ และภูตก็มีหลากหลายรูปแบบและนิสัยใจคอไม่ต่างจากมนุษย์ ด้วยความที่เป็นแม่มด เราในเกมคือวาสิลิซาสามารถมองเห็นและพูดคุยกับภูตผีได้ทุกตน และสามารถดึงภูต (chorts) ในเกมมาทำงานให้เรา ไม่ต่างจากขุนแผนใช้งานกุมารทอง ส่งบรรดาภูตไป “แกล้ง” และ “สาปแช่ง” ชาวบ้านด้วยวิธีต่างๆ นานา นี่เป็นวิธีหาเงินวิธีหนึ่งในเกม แต่ทุกครั้งที่ส่งภูตไปแกล้งใครก็ตาม “บาป” ของเราก็จะพอกพูน (แสดงเป็นตัวเลขทางมุมซ้ายบนของจอ) เมื่อสะสมบาปมากถึงจุดหนึ่ง เราก็อาจถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงฉากจบหนึ่งในหลายฉากของเกม 

บรรดาภูตผีทั้งหลายที่มาทำงานให้เรานั้นอยู่ไม่สุข ถ้าเราไม่ส่งพวกมันไปแกล้งชาวบ้าน (เพราะไม่อยากสะสมบาปมากเกินไป) ภูตก็จะหันมาแกล้งเราแทน ผลลัพธ์ของการแกล้งคือเราจะมีพลังในฉากต่อสู้น้อยลง เช่น โดนพิษเล่นงาน ไพ่มีค่าพลังโจมตีน้อยลง ฯลฯ อย่างไรก็ดี เมื่อเราอัพเลเวล (level) ได้สูงขึ้น เราก็สามารถเลือกสกิลที่ลดทอนผลกระทบได้ เช่น ส่งภูตไปทำงานไร้สาระ (ไม่เพิ่มบาป) และการช่วยเหลือชาวบ้านในเกมหลายครั้งก็ช่วยลดบาปของเราลงได้  

เราจะใช้เวลาส่วนใหญ่ใน Black Book สลับฉากระหว่างการต่อสู้กับภูตผีปีศาจ กับการเดินทางท่องไปตามที่ต่างๆ เพื่อหาทางทำลายผนึกและควานหาชิ้นส่วนของพิธีกรรม การต่อสู้ในเกมนี้ใช้วิธีให้เราจั่วไพ่ร่ายคาถา คล้ายกับเกมอย่าง Slay the Spire, Griftlands หรือ Monster Train แต่เน้นเรื่องราวมากกว่ามาก และมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ตรงตามธีมหมอผี เช่น เราสามารถทำคอมโบแรงๆ ด้วยการเลือกผสมไพ่ที่มี  “คำพิเศษ” อย่าง well-versed ซึ่งจะเพิ่มค่าพลังอีก 1 ต่อไพ่ทุกใบที่มีสีตรงกับไพ่ใบนั้นๆ หรือ style เพิ่มพลังพิเศษถ้าไพ่ทุกใบที่เลือกมีสีเดียวกัน ยิ่งเราทำลายผนึกในเกมได้ เราจะยิ่งได้เข้าถึงไพ่สำรับใหม่ๆ ที่มีพลังมากกว่าเดิม แต่ในเมื่อทั้งกองจั่วที่ใช้การต่อสู้มีไพ่ได้อย่างมากเพียง 33 ใบ การเลือกว่าจะใช้ไพ่ใบไหนดีให้เหมาะกับสถานการณ์ ก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่งของ Black Book โดยเฉพาะในเมื่อฉากหลังๆ เราจะไม่ได้ต่อกรกับภูตผีปีศาจอย่างเดียว แต่จะประมือกับพ่อมดหรือแม่มดคนอื่นที่ร่ายเวทเหมือนกันด้วย

ความสนุกอีกระดับของระบบการต่อสู้ใน Black Book คือ การต่อสู้บางครั้งจะเป็นพัสเซิลหรือปริศนาให้เราแก้ ซึ่งในเกมนี้เรียกว่า “battle puzzles” ในฉากเหล่านี้เราต้องจัดการศัตรูทุกตัวให้หมดก่อนที่เวลาจะหมด (เช่น ภายในสองตา สามตา หรือตัวเลขอื่นที่เกมกำหนด) โดยใช้เฉพาะไพ่ที่เกมเลือกมาให้เราใช้เท่านั้น พัสเซิลการต่อสู้เหล่านี้นอกจากจะสนุกมากแล้ว ยังเป็นวิธีเรียนรู้ความสามารถของไพ่ และทำให้เราเห็นลู่ทางที่จะไปทำคอมโบเจ๋งๆ ต่อไป

Black Book อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความเร้นลับ ตำนาน และมนตราที่ตรงตามประวัติศาสตร์ชาวสลาฟ ตัวละครแทบทุกตัวที่เราคุยด้วยในเกมล้วนมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ และโชคลางก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แน่นอนสิว่ามีภูตมาสิงอยู่ในบ้านเธอ เพราะเธอลืมหันหน้าไปทางทิศตะวันตกก่อนกินข้าวเย็น แน่นอนสิว่าเธอโดนภูตแกล้ง เพราะเธอไม่ได้โยนเหล้าวอดก้าและขนมปังลงไปในทะเลสาบเพื่อเอาใจภูต และก็แน่นอนว่าแขกเหรื่อที่มาร่วมฉลองงานแต่งงานจะกลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่า เพราะมีพ่อมดร่ายเวทก่อกวน อยากคว้าคัมภีร์ดำมาเป็นของตัวเอง 

เวลาในเกมราวครึ่งหนึ่งเราจะหมดไปกับการต่อสู้ด้วยไพ่ อีกครึ่งหนึ่งอ่านเรื่องราวของวาสิลิซา ตัดสินใจว่าจะช่วยชาวบ้านคนไหนต่อไปดี เล่นเกมไพ่ในเกมไพ่ (Durak เกมไพ่ยอดนิยมในรัสเซีย) รวมถึงนิทานและตำนานพื้นบ้าน (เรียกว่า “ไบลิชกา”) ที่เติมเต็มโลกเร้นลับของชาวสลาฟในศตวรรษที่ 19 ให้โลดแล่นมีชีวิต 

โลกที่ผีสางนางไม้ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ เจ้าที่ประจำบ้านและภูตประจำโรงนา อยู่คู่กันกับเทพและมารในศาสนาคริสต์ได้อย่างไม่เคอะเขิน และหมอผีก็เป็นอาชีพที่คนทั้งยำเกรงและพึ่งพา เพื่อสร้างความมั่นใจและปัดเป่าเรื่องร้ายๆ ในชีวิตประจำวัน

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top