BY BabeElena
11 Nov 18 4:36 pm

5 อุปสรรคสำคัญในการแปลวีดีโอเกมเป็นภาษาไทยสำหรับค่ายพัฒนาเกม

3 Views

เมื่อคุณอยากจะสัมผัสวีดีโอเกมได้อย่างครบรสและอยากจะเข้าถึงเนื้อหาได้แบบไม่ติดขัด ปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมากในการเสพเนื้อหาก็คือเรื่องของ “ภาษา” เพราะภาษานั้นจะทำให้เราสามารถรู้เรื่อง รับรู้ และอินไปกับเนื้อหาในวีดีโอเกมได้

แต่นั้นก็เพราะเหตุผลนี้แหละที่ทำให้เกมเมอร์ไทยหลาย ๆ คนมีปัญหาในการเข้าถึงสื่อวีดีโอเกม ด้วยเหตุผลเรื่องของ “กำแพงของภาษา” นั้นเอง และนั้นส่งผลให้เกมเมอร์บางคนอาจจะเล่นไม่รู้เรื่อง หรือไม่รู้เนื้อหาแบบที่ควรจะรู้ บางครั้งเราก็จะได้เห็นคำถามเชิง “ตรงนี้ให้ทำอะไรหรือครับ” ซึ่งนี่คือปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นกัน เพราะไม่ใช่ทุก ๆ คนที่จะเปิดใจรับกับการเรียนภาษา และไม่ใช่ทุก ๆ คนที่ต้องการจะศึกษาภาษาอังกฤษจากวีดีโอเกม

ทำให้เกมเมอร์เหล่านี้ต้องหาที่พื่งตัวใหม่ที่ช่วยทำให้พวกเขาสามารถซึมซับและอินไปกับวีดีโอเกมที่พวกเล่นได้มากขึ้น และคำตอบก็คือ “ภาษาไทยในวีดีโอเกม” ซึ่งแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นใครก็อยากให้มีภาษาไทยในตัวเกม แม้คุณจะเก่งหรือไม่เก่งภาษาอังกฤษก็ตาม เพราะมันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงศักยภาพของตลาดในบ้านเรา

แต่แน่นอนขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องของการแปลภาษาหรือการทำ “Lozalization” แล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะงานแบบนี้มาพร้อมกับอุปสรรคสำคัญมากมาย เพราะฉะนั้นทาง GamingDose จึงขอเสนอ 5 อุปสรรคสำคัญในการแปลวีดีโอเกมเป็นภาษาไทยสำหรับค่ายพัฒนาเกม ว่าจะมีปัจจัยหรืออุปสรรคอะไรที่ส่งผลต่อการพัฒนาตัวเกมให้มีภาษาไทยกันบ้าง ไปดูกันเลยครับ

ลูกเล่นของภาษาไทย ทั้งในเชิงโวหารและการออกแบบ

น่าจะเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ยาก เพราะโครงสร้างภาษาไทยนั้นถือว่าเป็นภาษาที่ขึ้นชื่อว่า “มีความซับซ้อน” เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสระสองชั้น และนั้นทำให้เรามักจะเห็นหลาย ๆ เกมมีการแสดงสระที่ผิดเพี้ยน เช่นสระลอย หรือสระทับซ้อน ซึ่งด้วยเหตุนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหาชวนปวดหัว ต่อการพัฒนาและการแปลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

และนอกจากเรื่องของโครงสร้างภาษาแล้ว เริ่องของ “โวหารภาพพจน์” ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนเช่นกัน เพราะบางคำของภาษาต้นฉบับ พอแปลเป็นไทยก็อาจจะไม่ได้ความหมาย แถมยังมีการเล่นคำเล่นลิ้นอีก และนั้นหมายความว่าเราจะต้องใช้ความหมายและโวหารให้เหมาะกับเซตติ้งเนื้อเรื่องและสภาพแวดล้อมภายในเกม ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างต้องใช้เวลาศึกษาถึงจะคุ้นชินและทำการแปลได้อย่างคล่องตัวได้เหมาะสม

เนื้อหาเกมที่มหาศาล ต้องใช้เวลาและทักษะเป็นอย่างมากในการแปล

ถือว่าค่อนข้างสมเหตุสมผลพอสมควร เพราะยิ่งตัวเกมมีเนื้อหาเยอะมากเท่าไหร่ จำนวนเนื้อหาที่ต้องทำการแปลก็ย่อมแปรผันไปตามเนื้อหาของเกมเท่านั้น และนั้นอาจจะหมายถึงเนื้อหาจำนวนมหาศาลที่ต้องทำการแปลออกมา

ปัญหานี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคหนักหนา สำหรับเกมที่เน้นเกมเพลย์และไม่ค่อยมีเนื้อเรื่องอะไรมาก แต่สำหรับเกมแนว Sandbox ที่มีเนื้อหาและคอนเทนต์เยอะ ๆ และเกมที่เน้นเนื้อเรื่องจนมีจำนวนบทหนาราวกับหนังสือพจนานุกรมแล้วนั้น ย่อมเป็นอุปสรรคหนักในการแปลภาษาในตัวเกมอย่างแน่นอน เพราะนั้นหมายความว่าเราจะต้องใช้ “ทีมแปลมืออาชีพ” โดยพวกเขาต้องใช้เวลาและใช้ทักษะในการแปลภาษาให้ออกมาสมบูรณ์ เพราะงานแบบนี้จะให้มีฝีมืออย่างเดียวนั้นก็ทำไม่ได้ เวลาที่มีให้ก็ต้องนานพอที่จะทำออกมาได้ดีและสมบูรณ์

เกมเมอร์บ้านเรายังไม่ให้การสนับสนุนที่ดี “มากพอ”

หลาย ๆ คนที่ได้อ่านแล้วอาจจะตกใจ ว่าเอ๊ะ !! มันไม่น่าจะจริงนี่ เพราะ Sony ก็มาแล้ว Steam ก็มีการใช้ค่าเงินไทยแล้ว และหลาย ๆ เกมที่พักหลัง ๆ ก็เริ่มมีภาษาไทยมาให้เล่นกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น PUBG, Dead by Daylight, The Quiet Man, Secret of Mana, Cat Quest หรือแม้กระทั่งเกมเกรด AAA อย่าง Sekiro : Shadow Die Twice ก็มีการจัดทำแปลภาษาไทยออกมาแล้ว

ซึ่งเอาจริง ๆ มันก็อาจจะถูกที่ข้อนี้อาจจะไม่จริง แต่ต้องใช้ประโยคว่า “เริ่มมีความเป็นจริงที่น้อยลงเรื่อย ๆ แต่ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลง” เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าประเทศเราสำหรับวีดีโอเกมแล้วยังไม่ใช่ตลาดใหญ่ยักษ์อะไร ถึงแม้เราจะสนับสนุนระดับที่มีหลาย ๆ ค่ายเรื่มมาทำตลาดในบ้านเรา แต่กลับเรื่องของการแปลภาษาหรือเรื่องของการ Localization แล้วยังคงมีปริมาณที่น้อยอยู่ โดยเป็นเหตุมาจากการสนับสนุนจากเกมเมอร์ชาวไทยที่อาจจะยังไม่เพียงพอนั้นเอง

ซึ่งในจุด ๆ นี้ ในฐานะที่พวกเราเป็นเกมเมอร์ที่อยากจะสนับสนุนให้ค่ายเกมนานาชาติให้ความสนใจกับตลาดเกมในบ้านเรา และกำลังซื้อของเกมเมอร์ในบ้านเรา จากเดิมที่เราเริ่มทำได้ดีในจุดนี้และดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ก็ขอให้ทำดี ๆ ยิ่งขึ้นไปอีก โดยเรามีวิธีที่จะช่วยสนับสนุนค่ายเกมได้แบบมีประสิทธิภาพ ก็คือ การซื้อวีดีโอเกมในรูปแบบของ “มือหนึ่งราคาเต็ม” กันให้เยอะ ๆ แต่ถ้าหากคุณไม่มีกำลังทรัพย์ที่มากพอ การซื้อวีดีโอเกมในช่วงลดราคา ก็สามารถช่วยได้เช่นกันครับ

งบประมาณที่ต้องใช้สูงมาก และอาจจะไม่คุ้มค่าต่อค่ายเกม

คุณรู้หรือไม่ ?? งานแปลภาษานั้นเป็นงานที่มีเรตราคาที่สูงมาก โดยเฉพาะกับการแปลภาษาในวีดีโอเกมที่มีรายละเอียดและเนื้อหาเป็นหลักร้อย-หลักพันบรรทัด และนั้นหมายความว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการจ้างทีมแปลภาษาก็ยิ่งสูง และหากยิ่งต้องการให้งานแปลออกมาดูสวยไร้ที่ติ ก็ยิ่งทวีค่าใช้จ่ายเข้าไปอีก

ซึ่งตัวเหตุผลนี้ไม่ได้เป็นแค่กับภาษาไทยเท่านั้น ภาษาญี่ปุ่น และภาษารัสเซียก็น่าจะมีสภาพไม่ต่างกัน เนื่องจากว่างานแปลนั้นไม่ใช่งานที่ง่ายแบบที่แค่โยนสคริปต์ลงไปใน Google Translate ก็แปลได้แล้ว ซึ่งมันไม่ใช่แบบนั้นแน่นอน เพราะมันจะมีเรื่องของความเหมาะสม เรื่องของโวหาร และเรื่องของรูปประโยค ที่ภาษาไทยจะมีความแพรวพราวและลูกเล่นค่อนข้างที่จะเยอะ และแน่นอนนั้นเท่ากับว่าเราต้องใช้ “ทีมแปลภาษา” ที่เชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งในประเทศไทยถือว่าหาจ้างหรือหาคอมมิชชั่นได้ยากมากเลยทีเดียว

และด้วยเหตุนี้ ทำให้ทางค่ายเกมมักจะไม่ค่อยลงทุนกับการแปลภาษาไทยซักเท่าไหร่นัก นั้นก็เพราะว่าการลงทุนนั้นย่อมมีความเสี่ยงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับยุคนี้ที่วีดีโอเกมกับธุรกิจกำลังเกี๊ยวภาราสีกันอย่างโจ่มแจ้งจนเป็นที่ยอมรับ ทางค่ายเกมอาจจะมองว่า “อาจจะไม่คุ้ม” รึเปล่า หากยอดขายเกมในประเทศไทยที่มีการจัดทำการแปลนั้นกลับทำยอดขายได้ไม่ดี นี่ยังไม่รวมถึงอุปสรรคในเรื่องของการ “เข้ารหัสภาษา” ที่หากตัวเกมมันไม่ได้รองรับตั้งแต่แรกก็ต้องรื้อและอัพระบบใหม่กันเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นเราจึงจะได้เห็นภาษาไทยในรูปแบบของ “Fan Translation” กันมากกว่า อาทิเช่น Fallout 4, The Witcher 3, Stardew Valley, Don’t Starve และเกมอื่น ๆ อีกเพียบ ที่ทีมงานที่แปลก็ล้วนเป็นแฟนเกมนี้และทำตัว Mod ภาษาไทยมาแจกจ่ายให้กับผู้เล่นอื่น ๆ ด้วยงบประมาณที่น้อยนิดบวกกับใจรักที่มีต่อเกมที่เขาเล่น

ความร่วมมือของเกมเมอร์กับการขัดเกลาภาษาภายในเกม

เวลาคุณทำงานออกมาสักชิ้น แล้วคุณโดนวิจารณ์ว่างานของคุณนั้น “ไม่ดี” สิ่งที่คุณจะทำคือการโต้กลับ หรือการนำคำวิจารณ์ไปแก้ไขผลงานของตนเองล่ะ ?? แน่นอนว่าหากขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์แล้วต้องเป็นข้ออย่างหลังอย่างแน่นอน แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คุณจะรับคำวิจารณ์ได้รึเปล่า ปัญหามันอยู่ที่ “คุณจะหาประโยชน์จากคำวิจารณ์” นั้นได้ไหม ??

เช่นเดียวกับเรื่องของการแปลภาษา ที่หลาย ๆ เกม ทางผู้เขียนก็ต้องพูดกันตรง ๆ ว่ามีการแปลที่ผิดเพี้ยนและค่อนข้างจะมั่วพอสมควร ซึ่งก็แน่นอนครับ ในแง่ของการ Localization แล้ว เวลาเขาแปลภาษาให้และอยากให้คนมาเช็คการแปลของพวกเขา เขาไม่ได้อยากรู้แค่ว่า “เขาแปลมั่ว” เฉย ๆ นะครับ แต่เขาอยากรู้ว่า “เขาแปลมั่วตรงไหน” ซึ่งอย่างที่เราเห็น ๆ กัน เกมเมอร์หลาย ๆ คนมักจะตัดพ้อว่า “แปลมั่วอะ แปลทำไม” แต่กลับไม่ให้คำแนะนำแก้ไขไปให้ทางทีมพัฒนาซะอย่างงั้น ซึ่งบางเคสทางผู้เขียนเข้าใจนะครับ ว่าอาจจะเป็นเรื่องกำแพงของภาษาแหละ เพราะถึงตัวเกมจะมีการทำ Localization เป็นภาษาไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีพนักงานซัพพอร์ตภาษาไทยมารองรับจุด ๆ นี้ ทำให้ตัวของคุณอาจจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการแจ้งจุดที่ผิดพลาดในการแปล

ซึ่งถึงแม้จะมีแฟนเกมบางกลุ่มที่อุทิศเวลาของตนเองเพื่อทำการเช็คภาษาและช่วยทางทีมพัฒนาขัดเกลา แต่ของแบบนี้มันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากจิตอาสาครับ เพราะทุก ๆ คนสามารถช่วยคนละไม้คนละมือได้ หากเห็นตรงไหนแปลมั่วหรือแปลผิดเพี้ยน ก็สามารถส่งรายงานไปได้เลย หรือจะไปรายงานกับทีมอาสาสมัครเหล่านั้นและให้พวกเขารวบรวมไปแจ้งก็ได้ โดยสิ่งที่เราได้ไม่ใช่แค่เรื่องของความถูกต้องในการแปลภาษาเท่านั้น แต่เราจะได้ทั้งทักษะภาษาอังกฤษ และได้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมเกมที่คุณได้ร่วมด้วยครับ

และทั้งหมดนี้ก็คือ 5 อุปสรรคสำคัญกับการแปลภาษาไทยในวีดีโอเกม ซึ่งด้วยอุปสรรคเหล่านี้แล้ว ทำให้เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นการทำ Localzation โดยการแปลวีดีโอเกมให้เป็นภาษาไทย เพราะถึงแม้มันจะเป็นเพียงแค่งานแปล แต่มันก็ไม่ใช่งานที่ง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะต้องใช้ทุนและทรัพยากรในการแปล โดยจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าด้วย ทำให้มักไม่ค่อยมีค่ายเกมทำการแปลวีดีโอเกมของพวกเขาให้เป็นภาษาไทยซักเท่าไหร่นัก

แล้วคุณล่ะ ?? คิดว่าการแปลวีดีโอเกมให้เป็นภาษาไทยนั้น มีอุปสรรคหรือเหตุผลนอกเหนือจากที่ผู้เขียนรึเปล่า หรือเหตุผลที่ผู้เขียนยกมามีตรงไหนที่ผิดพลาดและสามารถอธิบายเพื่มเติมได้ ลองแสดงความคิดเห็นไว้ได้เลยครับ

SHARE

BabeElena

Back to top