BY KKMTC
22 Dec 21 6:10 pm

แฟนรอจนลืมว่าเคยมีตัวตน ! 6 เกมที่ใช้เวลาสร้างนานเกิน 10 ปี

3 Views

วิดีโอเกม คล้ายกับสื่อบันเทิงหลายประเภทที่ต้องใช้เวลาพัฒนานานเกินหนึ่งปีขึ้นไป เพื่อให้โปรเจกต์เสร็จสมบูรณ์แบบ แต่บางครั้ง อุปสรรคต่าง ๆ อาจทำให้การดำเนินสร้างโปรเจกต์ขาดความราบรื่น จนส่งผลทำให้ต้องยืดเวลาสร้างเกมนานเกิน 10 ปีขึ้นไปเหมือน 6 เกมเหล่านี้

Final Fantasy XV (10 ปี)

Final Fantasy XV เปิดตัวและเริ่มพัฒนาครั้งแรกในปี 2006 พร้อมประกาศจะลงเฉพาะในเกมคอนโซล PlayStation 3 เท่านั้น แต่หลังจากตัวเกมดำเนินการพัฒนาผ่านไป 6 ปี ทาง Square Enix ตัดสินใจเปลี่ยนให้เกมวางจำหน่ายลงคอนโซลเจเนอเรชันที่ 8 (PlayStation 4, Xbox One) พร้อมเปลี่ยนผู้กำกับเกมเป็น Hajime Tabata ซึ่งเข้ามาแทนที่ Tetsuya Nomura

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้เนื้อเรื่อง ฉากเซตติง และเนื้อหาตัวละครต้องมีการดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนใหม่ ซึ่งส่งผลทำให้การพัฒนาเกมต้องเวลาสร้างนานกว่าเดิม จนกระทั่งปี 2016 เกม Final Fantasy XV ได้ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในเกมคอนโซล PS4, Xbox One พร้อมทำยอดขายประสบความสำเร็จที่ 9.8 ล้านชุดทั่วทุกแพลตฟอร์ม แม้ตัวเกมจะโดนวิจารณ์ในด้านเนื้อเรื่องที่ไม่โดนใจแฟนก็ตาม

Prey (11 ปี)

Prey

Prey เป็นเกมแอ็คชัน-ผจญภัย ที่ผู้เล่นจะรับบทเป็น Domasi “Tommy” Tawodi ต้องช่วยเหลือแฟนสาว และปู่ของเขาที่โดนลักพาตัวไปโดยเหล่าเอเลี่ยน

เกมดังกล่าวเริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี 1995 แต่อย่างไรก็ตาม ทีมงานมีการเปลี่ยนเนื้อเรื่องกับฉากเซตติงใหม่หลายครั้ง จนส่งผลทำให้ตัวเกมใช้เวลาพัฒนานานกว่า 11 ปี แล้วออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี 2006

Prey มีกระแสตอบรับที่ดีมากในด้านระบบเกมเพลย์ และมีภาพกราฟิกสวยงามเกินมาตรฐาน รวมถึงเกมดังกล่าวถูกพัฒนาเป็นภาค Reboot โดยทีมงาน Arkane Studios ซึ่งเป็นทีมผู้สร้างเดียวกับ Dishonored และ DEATHLOOP

Mother 3 (12 ปี)

Mother 3 (หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า Earthbound) เริ่มต้นพัฒนาครั้งแรกในปี 1994 และมีกำหนดการวางจำหน่ายในปี 2000 แต่ต่อมา นักเขียนบทเกม Shigesato Itoi ออกมายืนยันว่า Mother 3 ถูกยกเลิกการพัฒนาอย่างเป็นทางการ หลังจากตัวเกมเลื่อนดีเลย์วันวางจำหน่ายหลายครั้ง

แม้ Nintendo จะให้เวลาพัฒนาเกมเพิ่มอีก 2 ปี เพื่อให้ตัวเกมวางจำหน่ายลงเครื่อง GameCube แต่ตอนนั้น โปรเจกต์เกมดังกล่าวเสร็จสิ้นเพียงแค่ 30% และเนื่องจาก Nintendo มุ่งเน้นพัฒนาเกมที่มีภาพกราฟิกสามมิติเป็นหลัก ก็ยิ่งทำให้การสร้าง Mother 3 ยากลำบากกว่าเดิม

แต่แม้ Mother 3 โดนยกเลิกการพัฒนาในปี 2000 แต่สุดท้าย ทีมงานตัดสินใจหันกลับมาสร้าง Mother 3 อีกครั้งในปี 2003 แล้วออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี 2006 สำหรับเครื่อง Game Boy Advance

Duke Nukem Forever (15 ปี)

หากพูดถึงเกม FPS ในอดีตที่สร้างความผิดหวังให้แฟน ๆ หลายคน และเป็นภาคที่ทำให้แฟรนไชส์ระดับเทพต้องปิดตัวลง คงไม่มีทางหนีพ้น Duke Nukem Forever ที่ตัวเกมใช้เวลาพัฒนานานกว่า 15 ปี แต่ผลลัพธ์ออกมากลับกลายเป็นเกมเจ๊งไม่เป็นท่า

Duke Nukem Forever เป็นภาคต่อของ Duke Nukem 3D ที่ตอนแรกมีกำหนดการวางจำหน่ายในปี 1994 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการดำเนินพัฒนาโปรเจกต์สะดุด ขาดความราบรื่น รวมถึงมีการเปลี่ยนทีมพัฒนาเกมหลายครั้ง ทำให้เกมดังกล่าวถูกเลื่อนดีเลย์การวางจำหน่ายนานเกินถึง 10 ปี

แม้ Duke Nukem Forever พัฒนาเสร็จสิ้น แล้วออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี 2011 แต่ตัวเกมกลับมีกระแสตอบรับที่ไม่ค่อยดี เนื่องจากระบบเกมเพลย์ตกยุค การนำเสนอขาดความแปลกใหม่ และมุกตลกในเกมก็จืดชืด ทำให้ Duke Nukem Forever เป็นกรณีตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการให้เวลาสร้างเกมนานเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อคุณภาพเกมได้เช่นกัน

Star Fox 2 (20 ปี)

Star Fox 2 เป็นภาคต่อเกมแนวยิงอวกาศ ที่ตอนแรกมีกำหนดการวางจำหน่ายในปี 1995 แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจาก Nintendo กังวลว่าตัวเกมจะมีกระแสตอบรับไม่ดีหรือเงียบเหงา เพราะเกมยุคนั้นเริ่มมีภาพกราฟิกแบบ 3 มิติแล้ว ทำให้ Nintendo ตัดสินใจหยุดการพัฒนา Star Fox 2 เป็นเวลาชั่วคราว ทั้งที่โปรเจกต์เสร็จสิ้นไปแล้ว 95% แล้วจากนั้น ก็ให้นักพัฒนาเกมหันมามุ่งเน้นสร้างเกมคอนโซลเจเนอเรชันใหม่อย่าง Nintendo 64 กับเกม Star Fox 64 แทน

แม้ Star Fox 64 จะประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น อย่างไรก็ตาม Star Fox 2 กลับกลายเป็นเกมที่โดนทอดทิ้งไว้ข้างหลัง แล้วไม่ได้มีการปล่อยวางจำหน่ายเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งปี 2017 เกมดังกล่าวได้เปิดให้เล่นอย่างเป็นทางการผ่านเกมคอนโซล Super NES Classic Edition และ Nintendo Switch ในปี 2019

แม้นิตยสารเกมหลายเล่มระบุว่า Star fox 2 โดนยกเลิกการพัฒนาตั้งแต่ช่วงกลางปี 1995 แต่ Dylan Cuthbert โปรแกรมเมอร์ที่มีส่วนร่วมในการสร้างเกม ยืนยันว่า Nintendo ไม่เคยมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า Star Fox 2 ถูกยกเลิกการพัฒนาแล้ว ฉะนั้นสื่อบางแห่ง จึงมองว่าสถานะของเกมดังกล่าวตั้งแต่ปี 1995 ถึงปี 2017 ยังถือว่าเป็นเกมที่กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา หรือ หยุดการพัฒนาเป็นเวลาชั่วคราวเท่านั้น

Star Citizen (2010 และดำเนินการสร้างต่อไป)

Star Citizen

Star Citizen นอกจากเป็นเกมที่มียอดระดมทุนมากที่สุดใน Kickstarter แล้ว ก็อาจเป็นเกมที่ใช้ต้นทุนในการสร้างแพงที่สุด ด้วยงบประมาณการสร้างเกมราว 185,000,000 เหรียญฯ (นับเฉพาะยอดโดเนทเท่านั้น) และเนื่องจากเกมยังไม่ออกวางจำหน่าย ก็คาดต้นทุนในการสร้างมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ Star Citizen โดนวิจารณ์อย่างหนัก เพราะตัวเกมเลื่อนวางจำหน่ายเกมหลายครั้ง จนหลายคนเชื่อว่าเป็นโปรเจกต์ขายฝัน แต่หลังจากทีมงานได้ปล่อยตัวทดลอง Early Access ให้เหล่าผู้โดนทได้เล่นล่วงหน้า เกมมอร์หลายคนก็รู้สึกประทับใจในด้านการออกแบบยานอวกาศ รวมถึงระบบการขับยาน การใช้อาวุธ การออกแบบดวงดาว และการผจญภัยอวกาศอันกว้างใหญ่ที่ทำออกมาได้ดีเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

Star Citizen เริ่มต้นพัฒนาครั้งแรกในปี 2010 และปัจจุบัน เกมดังกล่าวยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top