BY Zreast
8 Mar 21 9:31 pm

แนะนำแนวทางเล่นเกม เพื่อเก็บถ้วยรางวัล / ความสำเร็จแบบ 100% อย่างมีประสิทธิภาพ

195 Views

วิดีโอเกม เป็นสื่อที่ทุกคนสามารถเลือกแนวทางที่จะเล่นได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะทั้งเพื่อความบันเทิง, เปิดมุมมองใหม่ ๆ , สงบจิตสงบใจ หรือจะเล่นเพื่อสร้างความท้าทายให้กับตัวเองก็ได้เช่นกัน

เพราะบางทีแค่เล่นให้จบอาจจะยังไม่สาแก่ใจ นักพัฒนาเกมจึงใส่ระบบ “ถ้วยรางวัล / ความสำเร็จ” เข้ามาด้วย เพื่อให้เกมเมอร์สามารถแข่งกับตัวเองและไปให้ถึงจุดสูงสุดของเกมนั้น ๆ ได้

บางเกมก็อาจจะเก็บถ้วยง่าย แต่กับบางเกมก็ดูยากเหลือเกิน วันนี้เราเลยอยากช่วยเป็นอีกแรงเสนอแนะแนวทางที่จะทำให้ ‘คอมพลีท’ กับเกมที่คุณชื่นชอบอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสให้เล่นเกมได้อย่างมั่นใจ และไม่เสียเวลาเก็บถ้วยนานจนเกินไป จนหมดสนุกกับเกมนั้น ๆ ไปเสียก่อน

เพื่อให้ง่ายต่อการเรียก ในบทความนี้จะใช้คำว่า “ถ้วยรางวัล” แทนระบบความสำเร็จรวม ๆ จากทุกแพลตฟอร์ม

สำรวจจำนวนชั่วโมงที่ต้องเล่นโดยประมาณ

แต่ละเกมใช้จำนวนชั่วโมงการเล่นไม่เท่ากัน หากเป็น Open-World ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องอยู่กับเกมนั้น ๆ ไปนาน ถ้าเราสำรวจไว้คร่าว ๆ ก่อนว่าจะต้องใช้เวลาเล่นเท่าไรถึงจะจบ หรือถึงจะเก็บถ้วยครบ ก็จะช่วยให้สามารถวางแผนและเผื่อเวลาว่างมาเล่นได้ง่ายขึ้น

เว็บไซต์ HowLongToBeat.com เป็นตัวเลือกที่ดีให้เกมเมอร์ได้เข้ามาสำรวจชั่วโมงการเล่น โดยจะรวบรวมสถิติเชิงลึกมาสรุปให้ดูง่าย ทั้งตัวเลขชั่วโมงเฉลี่ย แสดงผลในรูปแบบตาราง และกราฟที่สวยงาม

อีกหนึ่งเว็บไซต์ที่เกมเมอร์สายล่าถ้วยรางวัลรู้จักกันดี ก็คือ PowerPyx ซึ่งรวบรวมไกด์ของแต่ละเกมไว้มากมาย และในไกด์หมวดถ้วยรางวัล ก็จะมีการจั่วหัว “Approximate amount of time to platinum” เอาไว้ ทำให้ทราบว่าเกมจะต้องใช้เวลาเล่นประมาณกี่ชั่วโมงจึงจะได้ถ้วยแพลตินัมมาครอบครอง แถมยังมีการจำแนกถ้วยรางวัลออกเป็นประเภทต่าง ๆ ให้ทำความรู้จักกับเกมได้แบบรวดเร็วด้วย

นอกจากนั้นก็ยังมี PSNProfiles ที่รวบรวมสถิติของเกมบนแพลตฟอร์ม PlayStation แต่ขณะเดียวกันก็สามารถดูข้อมูลเชิงลึกของถ้วยรางวัลได้ด้วย โดยจะอยู่ในหมวดหมู่ ‘Trophy Guides’ ซึ่งจะประเมินคะแนนความยาก, จำนวนรอบที่ต้องเล่น และชั่วโมงเอาไว้ให้ดูแบบชัดเจน

รู้แต่เนิ่น ๆ ว่าถ้วยรางวัลใดที่ Glitch หรือมีโอกาสพลาดได้

ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ PowerPyx หรือ PSNProfiles ก็จะมีการจำแนกให้ดูว่ามีถ้วยใดที่ผู้เล่นอาจพลาดได้ โดยที่การพลาดนี้มีหลายรูปแบบ อาจจะพลาดไปในการเล่นรอบนั้น ๆ และต้องกลับมาเล่นใหม่, พลาดแล้วพลาดเลย ต้องเริ่มเซฟใหม่สถานเดียว หรืออาจจะเป็นถ้วยที่สามารถ Glitch / บั๊ก จนทำให้ผู้เล่นพลาดไปได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรจะต้องศึกษาเอาไว้ตั้งแต่เริ่มเกม เพราะหากเกมไหนที่ไม่มีถ้วยบั๊กเลยก็ถือว่าดีไป แต่ถ้าเกิดมี แล้วบังเอิญว่าเราเล่นไปเข้าเงื่อนไขจนเจอบั๊กพอดี ก็คงหัวร้อนอยู่ไม่น้อยถ้าต้องกลับมาเริ่มเซฟใหม่

ระดับความยาก มีผลต่อการได้ถ้วยรางวัลหรือไม่

กับบางเกมอย่าง Resident Evil จะมีถ้วยรางวัลที่คุณต้องเล่นให้จบที่ระดับความยากต่าง ๆ ซึ่งหากเริ่มเล่นรอบแรกไปแบบไม่ตรงเงื่อนไข ก็ทำให้ต้องกลับมาเล่นใหม่อีกรอบไปเลย ดังนั้นการมาสำรวจตรงนี้ไว้ก่อนก็จะช่วยให้เกมเมอร์วางแผนได้ถูก

สำหรับบางเกมอาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นปรับระดับความยากไปมาได้ในระหว่างการเล่น ตรงจุดนี้จะช่วยให้คุณสามารถเริ่มต้นที่ความยากที่เหมาะสม และท้าทายกับตัวเองไปก่อนได้ จากนั้นค่อยกลับมาปรับความยากให้ตรงกับเงื่อนไขทีหลัง

โดยส่วนใหญ่แล้วกับเกม Open-World ความยากมักจะไม่มีผลต่อถ้วยรางวัล ทำให้เราสามารถเลือกปรับลงมาให้ง่ายขึ้น กับบางจุดที่ต้องการจะเอาถ้วยรางวัลมาให้ได้จริง ๆ แล้วค่อยปรับกลับทีหลังก็ยังได้

สามารถย้อนกลับมาเล่นซ้ำได้หรือไม่

หากเรารู้ว่าเกมที่จะเล่น มี Chapter Select ให้หลังเล่นจบ ก็หมายความว่าในการเล่นรอบแรกแทบจะไม่ต้องพะวงอะไรเลยว่าจะพลาดได้ถ้วยไหนไป เพราะสามารถย้อนกลับมาเก็บทีหลังได้ ปล่อยให้ได้หลับตาเสพเนื้อเรื่องกันเพลิน ๆ ไปก่อน (ส่วน Open-World มักไม่มีปัญหากับเรื่องนี้อยู่แล้ว)

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Final Fantasy VII Remake / DOOM (2016) ซึ่งนอกจากจะมีให้เลือก Chapter แล้ว ตัวเกมยังบอก Collectible ที่เก็บได้ขณะนั้นไว้ด้วย ยิ่งสะดวกต่อการตามเช็คว่าใน Chapter นั้นเก็บของครบหรือยัง ซึ่งถ้าไม่มีจุดอำนวยความสะดวกตรงนี้มาให้ นั่นหมายความว่าคุณอาจจะลืมได้ว่า Chapter นั้น ๆ เก็บของครบไปแล้ว และเสียเวลาเล่นไปฟรี ๆ อีกรอบหนึ่ง

สำหรับเกมที่ไม่สามารถย้อนกลับมาได้ เล่นจบแล้วจบเลย ก็จะทำให้ผู้เล่นต้องระวังตัวอย่าเพิ่งปราบบอสตัวสุดท้ายแล้วเข้าสู่ฉากจบ แต่ต้องเซฟสำรองไว้ก่อน หรือกลับไปวิ่งเก็บถ้วยที่จำเป็นให้หมดก่อนแล้วค่อยจบเกม ซึ่งถึงแม้เกมสมัยใหม่จะมีลักษณะนี้อยู่น้อยแล้ว แต่กับเกมจากฝั่งญี่ปุ่นก็ยังมีพบเห็นอยู่ และถ้าได้รู้ไว้ล่วงหน้าก่อนก็น่าจะดีกว่า

เช็คจำนวนรอบขั้นต่ำที่จะทำให้เก็บถ้วยรางวัลครบ

สำหรับเกมที่มีระบบ New Game+ จะมีความเป็นไปได้ว่าคุณต้องกลับมาเล่นซ้ำหลายรอบ เพื่อทำให้ได้ไอเท็ม / ฉากพิเศษที่หาไม่ได้ในรอบแรก / ต้องเก็บฉากจบให้ครบทุกแบบ ตรงส่วนนี้ยกตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือเกม Souls Series ที่ Soul ของบอสหนึ่งตัว สามารถนำไปสร้างอาวุธ / เวทย์ได้มากกว่า 1 และสืบเนื่องจากการเล่นแต่ละรอบเราปราบบอสได้แค่ครั้งเดียว ทำให้การจะเก็บทุกอย่างให้ครบ ต้องไปขึ้น New Game+ แล้วปราบบอสใหม่อีกรอบ แน่นอนว่าต้องระวังมาก ๆ ไม่กดใช้ Soul เล่นหรือเผลอโยนทิ้งไป เพราะนั่นจะหมายถึงว่าคุณต้องเริ่มรอบใหม่แล้วสู้กับบอสใหม่ทันที

ส่วน Sekiro จะมีทั้งเรื่องการเก็บฉากจบในรูปแบบต่าง ๆ ที่แม้จะใช้วิธี Backup เซฟเกมมาช่วยได้ แต่ก็ยังต้องเล่นมากกว่า 1 รอบอยู่ดี รวมถึงจะมีไอเท็มอัปเกรดระดับสูงสุดของเกมอย่าง Lapis Lazuli (ไพฑูรย์แห่งต้นกำเนิด) ที่ในการเล่น 1 รอบเราจะได้มาไม่เพียงพอให้อัปเกรดและปลดล็อคถ้วย ดังนั้นจึงต้องมีการขึ้นรอบใหม่เพื่อรีเซ็ตจำนวนและกลับมาเก็บไอเท็มเหล่านี้อีกครั้ง

สำรวจโหมด Multiplayer

บางที โหมด Multiplayer ก็คืออุปสรรคที่น่ากลัวที่สุดสำหรับสายล่าถ้วยรางวัล

ยิ่งกับเกมเก่า ๆ แล้ว ก็อาจจะต้องวัดใจกันหนักว่าเกมจะร้างไปแล้วหรือยัง จะหาห้องเจอหรือไม่ ซึ่งกับบางเกมแค่ลุ้นให้หาห้องเจอยังไม่พอ ยังต้องทำอย่างอื่นเพิ่มเติมให้ครบตามเงื่อนไขอีกด้วย

ดังนั้นบางเกม ทีมงานก็จะใส่ถ้วย Multiplayer มาให้มีเงื่อนไขปลดได้ง่าย เพื่อให้ผู้เล่นไม่ต้องกังวลตรงจุดนี้มาก

แต่กับบางเกมก็ไม่ใช่อย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น The Last of Us ที่มีรูปแบบการเล่น Multiplayer อันทรหดถึง 12 สัปดาห์ (ในเกม) และต้องเล่นอย่างต่ำ 186 แมตช์เพื่อปลดล็อคถ้วย โดยระหว่างทางจะมีเงื่อนไขของ Survivor เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือหาก Survivor ตายหมด (จำนวนเหลือ 0) ผู้เล่นก็จะต้องไปเริ่มต้นตั้งแต่สัปดาห์แรกใหม่

โดยรวมแล้ว ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าเกมที่จะเล่นมีถ้วยจาก Multiplayer และตัวเกมมีอายุค่อนข้างมาก / มีภาคต่อ ก็อาจจะต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดีก่อน เพราะมีโอกาสสูงมาก ที่จะต้องมาติดแหง็กอยู่กับถ้วย Multiplayer นี้

มีถ้วยที่ต้องใช้ดวง / ต้องฟาร์มเยอะหรือไม่

ในบรรดาถ้วยรางวัลทั้งหมด ส่วนที่น่าปวดหัวก็คงหนีไม่พ้นถ้วยที่ต้องวัดดวงเพื่อให้ได้มา ไม่ว่าจะเป็นการหาของแรร์จากการดรอป (ตัวอย่างเช่น การเก็บ Soul Core ให้ครบ ใน Nioh 2) หรือการเสี่ยงโชคกับ RNG ในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเราบอกไม่ได้เลยว่ามันจะไปจบตอนไหน และมีโอกาสที่จะเบื่อกับเกมที่เล่นไปก่อนได้ง่าย ๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือ Monster Hunter World / Iceborne ซึ่งบรรดาฮันเตอร์ทราบกันดีว่าเกมนี้ต้องพึ่งพาดวงมากขนาดไหน กับการตามล่ามอนสเตอร์ไซส์เล็ก และไซส์ใหญ่ให้ครบ โดยถึงมันจะพอใช้วิธีสังเกตขนาดก่อนล่า, เลือกเปิดเควสต์ให้เหมาะสมได้ แต่สุดท้ายก็ยังต้องกินระยะเวลานานมากอยู่ดีเป็นหลักหลายร้อยชั่วโมง ซึ่งถ้าเกมใดที่มีถ้วยรางวัลเกี่ยวกับการสุ่มเช่นนี้ ก็ให้เผื่อเวลาล่วงหน้าไว้ยาว ๆ ในการเล่นได้เลย

เล่นอย่างไรให้สนุกไปด้วย และเก็บถ้วยไม่น่าเบื่อ

หลัก ๆ แล้วควรเช็ค 2 เรื่อง

  • เกมนั้นสามารถย้อนกลับมาเล่นอีกหลังจบไปแล้วได้
  • เกมไม่มีถ้วยรางวัลบั๊กให้ต้องคอยระวัง

เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถเล่นได้ตามใจอิสระ โดยที่ไม่ต้องกังวลอะไรเลยในรอบแรก ส่วนการเก็บถ้วยรางวัล ค่อยปล่อยให้เป็นเรื่องหลังเล่นจบไปแล้ว

ซึ่งถ้าเกมไหนใจดี รอบแรกเราจะสามารถหลับตาเล่นโดยที่ไม่ต้องคอยเปิดไกด์อ่านให้เจอสปอยล์จนเสียอรรถรส และก็ยังคงเอนจอยกับมันได้อย่างเต็มที่

เมื่อเล่นจบแล้ว คุณยังอาจได้ค้นพบกับเนื้อหาใหม่ ๆ ที่เกมซ่อนไว้อีกมากมาย ซึ่งหากทางผู้พัฒนาออกแบบระบบถ้วยรางวัลมาดี มันก็จะเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้เล่นได้เข้าถึงเนื้อหาที่เกมทำไว้อย่างครบถ้วน และมั่นใจได้ว่าเราจะ ‘คอมพลีท’ เกมนี้ไปแบบไม่มีอะไรตกค้างอีก

ดังนั้น การศึกษาถ้วยรางวัลของแต่ละเกมไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย ซึ่งถ้ามันช่วยให้ประหยัดเวลาการเล่นขึ้นได้ก็มีแต่จะยิ่งคุ้มค่า ไม่เบื่อกับเกมเร็วจนเกินไป

จนบางที ต่อให้เก็บถ้วยรางวัลไปครบ 100% แล้ว ก็ยัง ‘ไม่อิ่ม’ แถมยังอยากจะเล่นต่อด้วยความสนุกอีกเรื่อย ๆ ก็เป็นได้เช่นกัน

SHARE

Satthathan Chanchartree

ฟ่าง - Content Writer

Back to top