BY StolenHeart
6 Jun 19 12:42 pm

เช็คดูก่อนสาย ! กับวิธีการสังเกตอาการคนรอบตัวว่าติดเกมเกินไปหรือไม่

2 Views

ถ้าพูดถึงข่าวที่สร้างความตื่นตัวและเป็นกระแสต่อคนเล่นเกมในเดือนที่แล้วนั้น น่าจะหนีไม่พ้นเรื่องที่ทางองค์กรอนามัยโลกหรือ WHO ประกาศให้อาการติดเกมเป็นโรคอย่างเป็นทางการ ตามการจัดทำบัญชีจำแนกโรค ICD-11 ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2022 ซึ่งก็สร้างความตื่นตัวให้กับเหล่าผู้ปกครองและเกมเมอร์ทั่วโลกอย่างมากมาย จนต้องหันกลับมาเช็คดูพร้อมกับห้ามปรามไม่ให้มีการเล่นเกมในบางครอบครัวกันเลยทีเดียว

gaming-disorderแต่ก่อนที่จะวิตกกันไปมากกว่านี้ ผู้เขียนขอยกรายละเอียดที่ทางองค์กรอนามัยโลกระบุว่าไว้ ว่าอาการติดเกมที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคนั้นมีดังต่อไปนี้

  • มีการควบคุมพฤติกรรมในการเล่นเกมที่บกพร่อง (พิจารณาจากการเริ่มเล่น ระยะเวลา ความถี่ บริบทและอื่น ๆ ประกอบกัน)
  • มีแนวโน้มที่จะให้การเล่นเกมมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตเหนือกว่าสิ่งอื่น ๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีการเล่นเกมที่ยาวนานมากขึ้นจนส่งผลต่อสุขภาพและเกิดผลกระทบในด้านลบ เช่นทางด้านบุคลิกภาพ การใช้ชีวิตในสังคม การเรียน การงาน และอื่น ๆ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาการเหล่านี้เป็นปัญหาในเชิงที่รุนแรงและส่งผลต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพ เรียกง่าย ๆ ว่ามีการตัดสินใจที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ และสนใจแต่การเล่นเกมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

gaming disorderแต่ก็อย่าได้วิตกกังวลไป เพราะอาการเหล่านี้ถือเป็นอาการแบบร้ายแรงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง และแตกต่างจากผู้เล่นเกมทั่วไปที่ยังมีความรู้สึกแยกแยะความสำคัญในการใช้ชีวิตอื่น ๆ เช่นการกิน นอน ทำงาน หรือเรื่องอื่น ๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป ซึ่งจำนวนของคนที่เป็นโรคติดเกมจริง ๆ นั้นคิดเป็นจำนวนที่ 0.003% ถึง 1% ต่อจำนวนประชากรของโลกเท่านั้นเอง

ซึ่งถึงแม้จะมีการกำหนดให้อาการติดเกมเป็นโรค แต่หลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้และยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ เพราะอาการติดเกมนั้นอาจมีสาเหตุปัจจัยอื่นเกิดร่วมกัน เช่นความเหงาหรืออื่น ๆ ผสมปนกันจนกลายเป็นอาการป่วยทางจิตใจ และก็น่าจะมีการถกเถียงกันต่อไปในอนาคตข้างหน้า

แล้วอาการติดเกมจะสามารถรักษาได้หรือไม่ ?

จากอาการที่ทาง WHO ได้กำหนดเอาไว้ใน ICD-11 นั้นจะมีความคล้ายคลึงกับอาการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดอื่น ๆ ดังนั้นการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การรักษาที่ใช้ได้ผลดีที่สุดนั้นยังไม่สามารถฟันธงออกมาได้ ซึ่งก็ต้องพึ่งผลการสำรวจและการศึกษาในหลาย ๆ อย่างต่อไปในอนาคตด้วย

ซึ่งวิธีการรักษาเท่าที่มีปรากฏอยู่ในตอนนี้คือใช้แนวทางเดียวกับการรักษาโรคซึมเศร้า นั่นก็คือใช้การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมหรือที่เรียกกันว่า CBT เพื่อเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตให้แตกต่างไปจากเดิม ให้มีการหันเหออกจากพฤติกรรมเดิม ๆ หรือก็คือการติดเกมนั่นเอง แต่ก็ต้องมีการอาศัยผลวิจัยต่าง ๆ ประกอบกันไปด้วย

คำอธิบายเกี่ยวกับการบำบัดด้วย CBT หรือการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมแบบง่าย ๆ

แม้ในตอนนี้จะยังไม่มีวิธีการรักษาอาการติดเกมได้แบบ 100% แต่ทางวงการแพทย์ยังคงหาทางรักษาอย่างมีประสิทธิภาพอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปว่า อาการติดเกมนั้นยังเหมือนเป็นของใหม่ที่หลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจถึงอาการและความร้ายแรงของมัน เหมือนกับโรคซึมเศร้าที่เริ่มมีความเข้าใจกันมากขึ้นในยุคนี้ ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว และมีผู้รู้คอยอธิบายอย่างชัดเจน

และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนรอบตัวของเรากำลังเผชิญหน้าหรือมีความเสี่ยงที่จะมีอาการติดเกม?

เรื่องนี้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่ชื่นชอบการเล่นเกมนั้นน่าจะเป็นกังวลในเรื่องนี้มากที่สุด เพราะเด็กสามารถซึมซับข้อมูลต่าง ๆ ได้รวดเร็วโดยที่ไม่มีการกลั่นกรองหรือใช้วิจารณญาณที่ดีพอ อะไรที่สนุกและชอบก็อยากจะทำซ้ำ ๆ เรื่อย ๆ และเมื่อไม่มีการดูแลหรือควบคุมที่ดี ก็อาจพัฒนาเป็นอาการป่วยได้

gaming disorderเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ง่ายถ้าหากผู้ปกครองมีความรับผิดชอบต่อบุตรหลานของตัวเอง หรือคนรอบตัวก็สามารถสังเกตอาการผิดปกติที่ว่านี้ได้ไม่ยากดังนี้

  • พบว่าเพื่อนหรือบุตรหลานของตนมีอาการอิดโรยหรือเซื่องซึม มีอาการง่วงตลอดเวลา
  • พฤติกรรมหรือการพูดคุยเปลี่ยนไปจากเดิม โดยหัวข้อเรื่องที่คุยจะมีแต่เรื่องที่ตนเองสนใจหรือเรื่องเกมเพียงอย่างเดียว
  • ขาดงานหรือไม่ยอมไปเรียน รวมไปถึงละเลยการดูแลสุขภาพหรือจัดการบุคลิกของตนเอง

ซึ่งถ้าพบเห็นอาการดังกล่าวนี้ ก็ควรต้องพาบุตรหลานหรือคนใกล้ตัวไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที ส่วนวิธีการป้องกันเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครองนั้น สามารถทำได้ดังนี้

  • สังเกตพฤติกรรมการเล่นเกมของบุตรหลาน ว่ามากเกมไปหรือไม่ ถ้าหากมากเกินไปก็ควรมีการควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิด
  • ชักชวนให้ไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เสริมสร้างสุขภาพและกล้ามเนื้อ เช่นการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา
  • กำหนดเงื่อนไขสำหรับการเล่นเกมอย่างเป็นระบบ เช่นกำหนดให้เล่นได้วันละ 1 – 2 ชั่วโมง โดยที่จัดการเรื่องการเรียนและงานบ้านเรียบร้อยไปแล้ว
  • มีความเข้าใจในเกมที่เขาเล่น ไม่มีการบังคับขู่เข็ญมากจนเกินไป เช่นในเกมบางแนวที่ไม่สามารถกดหยุดเกมได้ระหว่างเล่น และต้องเล่นให้จบรอบเช่นแนว MOBA ทั้งหลาย เป็นต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้ในภายหลัง

ในช่วงท้ายนี้ ผู้เขียนนั้นอยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่า วิดีโอเกมนั้นแม้จะเป็นสื่อที่ทรงพลัง ให้ทั้งความสนุกและความรู้แก่ผู้เล่นอย่างมากมาย แต่ถ้าหากปราศจากการควบคุมดูแลที่ดี มันก็สามารถกลายเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน การรักษาสมดุลของชีวิตให้พอดีทั้งในเรื่องการงานและการใช้ชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่าลืมดูแลคนใกล้ตัวและตัวเองกันให้ดี อย่าให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอิทธิพลเหนือชีวิตของเรามากจนกลายเป็นผลเสียจะดีที่สุดครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: How to know if your child is addicted to video games and what to do about it – The Conversation.com

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top